“ชุมชนจารู” เทศบาลนครยะลา รวมพลังขึ้นป้ายประกาศห้ามซื้อขายน้ำกระท่อม พร้อมสารเสพติดทุกชนิด หลังเยาวชนฟันน้ำนมติด “สี่คูณร้อย” งอมแงม
เส้นทางสาย 410 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410) ช่วงปัตตานี-ยะลา ก่อนเข้าตัวเมืองใต้สุดแดนสยาม ผู้ใช้รถใช้ถนนจะเจอกับจุดตรวจจุดสกัดที่มีชื่อว่า “ด่านขุนไวย์” ด่านใหญ่ที่สุดก่อนเข้าเขตเทศบาล ห่างจากค่ายสิรินธร ศูนย์บัญชาการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ราวๆ 1 กิโลเมตร
ห่างจากด่านนี้ 200 เมตร เป็นชุมชนจารู ตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา บริเวณริมถนนบนทางเท้ามีร้านขายใบกระท่อมตั้งเป็นเต็นท์ 2 ร้าน โดยจะเริ่มเปิดขายทุกวันตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงเวลาประมาณตี 4 ของวันรุ่งขึ้น
โดยในเวลากลางคืนประมาณ 1 ทุ่มเป็นต้นไป จะมีพ่อค้านำกัญชามาปูผ้าใบวางขายริมฟุตบาทอีกหลายเจ้า
เป็นที่รู้กันว่าบริเวณดังกล่าว เป็นตลาดค้าขายใบกระท่อมและกัญชาของจังหวัดยะลา ใครอยากได้กัญชาและน้ำกระท่อมดีๆ ต้องไปซื้อที่ชุมชนจารู ตลาดเก่าแห่งนี้ โดยมีการค้าขายมานานกว่า 3 ปีมาแล้ว แถมยังซื้อง่ายขายคล่อง แค่ลูกค้าจอดรถเดินเข้าไปสอบถามหาซื้อน้ำกระท่อม หรือลูกค้าจะนั่งดื่มน้ำกระท่อม ยืนสูบกัญชา เพื่อลองรสชาติแบบเท่ๆ โดยไม่ต้องสนใจสายตาใครก็สามารถทำได้ ไม่ต่างอะไรกับดินแดนเสรี
ทุกวันนี้มีลูกค้าทั้งหญิงและชาย ไม่เว้นแม้แต่เยาวชน เข้าไปซื้อหาสารเสพติดได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
ทั้งๆ ที่จุดตรวจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็อยู่แค่เอื้อม แต่เพราะกฏหมายเปิดช่องให้กระท่อม กัญชาไม่เป็นยาเสพติด จึงทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีข้อจำกัดในการเข้าตรวจสอบและจับกุม เพราะเกรงจะมีปัญหาถูกฟ้องกลับตามมา เนื่องจากกฎหมายควบคุมก็ไม่มีความชัดเจน
ชาวบ้านชุมชนจารู เล่าว่า เมื่อ 3 ปีก่อน มีคนมาขายใบกระท่อมแค่เจ้าเดียวเท่านั้น โดยขายเฉพาะใบกระท่อม ซึ่งปลดล็อก ไม่ผิดกฎหมายไปแล้ว แต่ไม่มีการขายน้ำกระท่อม จึงยังไม่มีลูกค้ามากเท่าไร ก็เคยตักเตือนว่ากล่าวกับผู้ค้าขายใบกระท่อม ให้ไปขายในอาคารดีกว่า หรือเข้าไปขายในซอย รู้ว่ากฏหมายอนุญาตให้ขายได้ แต่เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดยะลา จึงไม่ควรขายประเจิดประเจ้อ
“เราก็เป็นชาวมุสลิมที่ศาสนาบัญญัติไม่ให้เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด ถึงแม้ทางกฏหมายบ้านเมืองจะอนุญาตก็ตาม ในทางศาสนาอิสลามนั้นยังคงบาปเช่นเดิม และไม่อนุมัติให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด”
ชาวบ้านชุมชนจารู เล่าอีกว่า แม้จะว่ากล่าวตักเตือน แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น ถึงวันนี้ยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ขาย และจำนวนผู้ซื้อก็มากขึ้นเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนก็ไปซื้อใบกระท่อม ซื้อกัญชา เพราะเข้าถึงง่าย หาซื้อได้ง่าย เกิดผลกระทบในชุมชน ทำให้เยาวชนมีการใช้สารเสพติดมากขึ้น มีการลักเล็กลักขโมยน้อย ชาวชุมชนจารูต้องอยู่อย่างระมัดระวังตลอดเวลา
นายอิบรอเฮม ดือราแม ประธานชุมชนจารู กล่าวว่า ชุมชนมองถึงผลกระทบจากการค้าขายกระท่อมเสรี กัญชาเสรี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่อ้างว่ามอบความสุขให้กับประชาชน แต่ขัดกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม จึงต้องพยายามแก้ไขปัญหาอย่างระมัดระวัง
ในเคสของผู้ขายใบกระท่อมและกัญชาในพื้นที่ชุมชนจารู ทางชุมชนได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ค้า ตักเตือนหลายครั้งเพื่อไม่ให้ขายริมทาง บนฟุตบาท เพราะเส้นทางนี้เป็นหน้าตาของจังหวัดยะลา เข้าเมืองก็จะเห็นซุ้มขายกระท่อม ขายกัญชา มองแล้วไม่สวยงาม และสวนกระแสคำขวัญที่ว่า “ยะลาเมืองสะอาด” แต่หน้าตาเต็มไปด้วยยาเสพติด
“เมื่อผู้ค้าใบกระท่อมไม่ยอมย้ายไปขายที่อื่น ทางชุมชนจารูจึงได้รวมพลังกดดัน โดยขึ้นป้ายขนาดยักษ์ ข้างซุ้มขายใบกระท่อม โดยมีข้อความว่า ‘เราชุมชนจารู ตลาดเก่ายะลา ขอประกาศไม่อนุญาตซื้อขายน้ำกระท่อม ใบกระท่อม และสิ่งเสพติดทั้งหลายในที่ดินแปลงนี้ ชุมชนนี้ และบริเวณตลาดเก่า’ เพื่อเป็นการกดดันผู้ค้าและผู้ซื้อใบกระท่อมไม่ให้ซื้อขายกันในพื้นที่ชุมชนจารูอีกต่อไป และแสดงให้เห็นว่าชาวชุมชนจารูจะร่วมกันปกป้องชุมชน ลูกหลาน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดทั้งหลาย”
นายรุสลัน สาและ สมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา เขต 1 กล่าวว่า ชุมชนจารูเป็นพื้นที่รับผิดชอบของตน ในเรื่องที่มีผู้ค้าขายใบกระท่อมและกัญชาในชุมชนจารู เราได้หารือกับทุกภาคส่วน ทั้งราชการและ เอกชน เพื่อหาข้อสรุปว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการค้าขายแบบเสรีเกินไป และสิ่งที่ดีที่สุดคือให้เจ้าหน้าที่รัฐว่ากล่าวตักเตือน ไม่ให้มีการขายในที่ชุมชน หรือขายได้ในสถานที่มิดชิด เพื่อป้องกันผลกระทบหลายๆ อย่างที่จะตามมา
แต่เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานก็บอกว่า ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะติดกฎหมายที่รัฐเปิดช่องสำหรับขายใบกระท่อมและกัญชา ทำให้ชุมชนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง (ปัจจุบันกฎหมายห้ามชัดเจนเฉพาะน้ำใบกระท่อม หรือน้ำที่แปรรูปจากใบกระท่อม)
“พวกเราชาวชุมชนจารู เมื่อพึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้ จึงได้ประชุมกันเพื่อหาวิธีกดดันไม่ให้ผู้ค้าใบกระท่อม กัญชา มาขายในชุมชนของเรา เพราะที่มาขายทั้งหมดนั้นเป็นคนนอกพื้นที่ ต่างอำเภอ และวิธีการกดดันที่ดีที่สุดคือ การรวมพลังของคนในชุมชน ลุกขึ้นมาต่อต้าน เพื่อไม่ให้ลูกหลานของชุมชนในอนาคตตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด เราไม่ต้องการความรุนแรง แต่ชุมชนจะกดดันทางกฏหมายและใช้การพูดคุยไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ขายใบกระท่อมและกัญชาจะออกจากชุมชนจารูไป”
“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ทำให้มีผู้ค้าขายใบกระท่อมบางรายย่ามใจ สอดไส้ขายยาบ้าอีกด้วย โดยมีการเอายาบ้าไปแอบใต้ต้นไม้ด้านหลังซุ้มขายใบกระท่อม เมื่อลูกค้าต้องการยาบ้า จ่ายเงินเสร็จ ผู้ขายก็จะไปเอายาบ้าที่แอบเอาไว้มาให้ลูกค้า” สมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา แฉข้อมูล
ทีมข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าตำรวจสายตรวจในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ว่ามีคำสั่งพิเศษเข้มงวดในการดูแลผู้ค้าขายใบกระท่อมและกัญชาในพื้นที่อย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่มีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือกฏหมายการจำหน่ายใบกระท่อมและกัญชา
ในส่วนของกระท่อม ห้ามจำหน่ายเป็นน้ำกระท่อม ส่วนกัญชาห้ามจำหน่ายส่วนที่เป็นดอก ทั้ง 2 ชนิดห้ามจำหน่ายแก่เยาวชน และห้ามจำหน่ายใกล้สถานศึกษา เจอพร้อมจับทันที
แต่ถ้าถามชาวชุมชนจารูแล้ว คำมั่นจากเจ้าหน้าที่ ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นจริง!