แม้ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2564 ได้ปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด และต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พืชกระท่อมก็ไม่ได้มีสถานะเป็นยาเสพติด
ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านได้ รวมไปถึงการซื้อขายใบกระท่อมก็ไม่ผิดกฎหมาย
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การต้มน้ำใบกระท่อมขายนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 และ 430 ออกตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ว่าด้วยเรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่ง “กระท่อมสารสกัด” เป็นหนึ่งในบัญชีแนบท้ายรายการที่ 52 ที่ยังถูกจำกัดในการห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
แต่ที่ผ่านมาก็ยังคงเห็นการแพร่หลายของร้านขายน้ำต้มใบกระท่อม ตามริมถนน ตามข้างทาง และที่สาธารณะ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก คาดว่ามีทั้งทราบและไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินการการปราบปรามจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนโยบายปราบยาเสพติดให้เห็นผลภายใน 1 ปี (ควิกวิน)
@@ จับ-ปิด ร้านขายน้ำต้มใบกระท่อม 278 เป้าหมาย 7 จังหวัดใต้
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 (ป.ป.ส.ภาค 9) ได้สรุปผลการดำเนินการกับร้านจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างทั้งหมด เป้าหมาย 278 จุด โดยแยกเป็น
จ.สงขลา 131 เป้าหมาย ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย (จับกุม+ตักเตือน) 59 ราย ปิดร้านจำหน่าย 72 ร้าน และดำเนินการนอกเป้าหมาย 171 ราย
จ.สตูล 68 เป้าหมาย ปิดร้านจำหน่าย 68 ร้าน
จ.ยะลา 39 เป้าหมาย ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย (จับกุม+ตักเตือน) 10 ราย ปิดร้านจำหน่าย 29 ร้าน
จ.ปัตตานี 26 เป้าหมาย ปิดร้านจำหน่าย 26 ร้าน
จ.นราธิวาส 10 เป้าหมาย ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย (จับกุม+ตักเตือน) 6 ราย ปิดร้านจำหน่าย 4 ร้าน
จ.ตรัง 2 เป้าหมาย ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย (จับกุม+ตักเตือน) 2 ราย และดำเนินการนอกเป้าหมาย 4 ราย
จ.พัทลุง 2 เป้าหมาย ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย (จับกุม+ตักเตือน) 2 ราย และดำเนินการนอกเป้าหมาย 1 ราย
@@ ปราบยาเสพติด “นโยบายควิกวิน”
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงปัญหาร้านขายน้ำต้มใบกระท่อม ซึ่งแพร่หลายอย่างมากในพื้นที่ภาคใต้ว่า มีการเสนอจากเจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดว่าต้องเร่งดำเนินการเรื่องของน้ำกระท่อมที่มีการวางขายตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้มีการพูดคุยและได้ข้อตกลงว่า ต้องไปดำเนินการในแต่ละพื้นที่ เพราะน้ำกระท่อมที่มีการวางจำหน่ายล้วนมีความผิดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีการวางจำหน่ายอย่างเด็ดขาด
“ถ้าเป็นการใช้ในครัวเรือนต่างๆ คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้านำมาขายตามท้องถนน ข้างทาง เปิดท้ายรถขายน้ำกระท่อม สิ่งนี้เราต้องดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากนี้คาดว่าการจำหน่ายน้ำกระท่อมจะลดลงเยอะมาก เพราะเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทุกจังหวัดได้มีการร่วมมือกันปราบปรามน้ำกระท่อมกันมากขึ้น”
แม่ทัพภาค 4 กล่าวอีกว่า ปีนี้ยาเสพติดคือปัญหาอันดับแรกที่จะทำ และยังเป็นนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 5 ที่จะทำในปีนี้ โดยจะมีการทำต่อเนื่อง ซึ่งปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนไปและเกิดความพอใจในระดับหนึ่ง ปีนี้จะต้องเพิ่มศักยภาพในเรื่องของการบำบัดยาเสพติดและการป้องกันในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของยาเสพติดจำนวนมาก
@@ “ปลูก กิน เคี้ยว ต้มดื่มเอง” ทำได้ แต่ห้ามแปรรูป-จำหน่ายน้ำกระท่อม
“ทีมข่าวอิศรา” สรุปให้ฟังอีกครั้ง กฎหมายปลดล็อกเฉพาะ “พืชกระท่อม” ให้ ปลูก กิน เคี้ยว ต้มดื่มเองได้
แต่การนำ “น้ำกระท่อม” ไปแปรรูปโดยไม่ขออนุญาต ยังมีความผิด และมีข้อจำกัดในการจำหน่าย
- กรณีแปรรูปเฉยๆ โดยไม่ได้ขออนุญาต อาจผิด พ.ร.บ.อาหาร และ/หรือ พ.ร.บ.ยา ทั้งยังห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงสตรีมีครรภ์
- กรณีไปผสมเป็นยาเสพติด หรือผสมสารเสพติดอื่น เช่น สี่คูณร้อย ผิดประมวลกฎหมายยาเสพติด
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่งสัญญาณไปที่สำนักงาน ป.ป.ส. ให้เร่งคุมเข้ม จัดระเบียบ พวกจำหน่ายน้ำกระท่อมกันเกร่อริมถนน และเน้นพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสี่คูณร้อยระบาดอยู่แล้ว ก็จะประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุมพิเศษ”
@@ ทลายโรงงานผลิตน้ำกระท่อมย่านหัวหมาก ของกลางอื้อ!
อีกด้าน ในพื้นที่นครบาลและปริมณฑล ตำรวจก็ลุยจับต่อเนื่อง
ต้นสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี หรือ กก.ดส. นำกำลังบุกทลายโรงงาน บริษัทคราฟโซดา ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำกระท่อม มียี่ห้อชัดเจน และมีการให้ดารา เน็ตไอดอล รีวิวกันโจ๋งครึ่ม ยึดของกลางได้จำนวนมาก
ต่อมาวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ. ตำรวจขยายผลต่อ ทลายโรงงานย่านหัวหมาก พบน้ำกระท่อมบรรจุขวดพร้อมจำหน่ายจำนวนมาก และยังมีขวดเปล่ารอบรรจุอีกถึง 30,000 ขวด
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเน้นเป็นพิเศษ เพราะต้องระมัดระวัง เมื่อมีการนำน้ำกระท่อมไปอัดแก๊ส บรรจุขวด จำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ เด็กและเยาวชนก็จะเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งการจำหน่ายให้เด็กก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว และบางกรณีผู้บริโภคอาจไม่ทราบว่าเครื่องดื่มนั้นผสมน้ำกระท่อม จึงถือว่าอันตราย
@@ ป.ป.ส.แจงครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ยังมีโทษทั้งคุกทั้งปรับ
ด้านเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ที่รับผิดชอบงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อธิบายและขยายความกรณีการครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ค้า ว่า เรื่องนี้มีการสื่อสารกันไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าถ้าครอบครองยาบ้าจำนวน 5 เม็ดไม่ผิด เพราะจะเป็นการครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งในความจริงแล้วถ้าเป็นข้อหาเป็นผู้เสพ ก็จะมีโทษจำคุก 1 ปี แม้ไม่มีของกลางยาเสพติดอยู่กับตัวเลย แต่ถ้ามียาเสพติดด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
ส่วนที่มีการระบุทิศทางนโยบายให้ผู้เสพคือผู้ป่วยนั้น หมายการให้โอกาสสำหรับผู้กระทำความผิดให้ได้รับการเข้าบำบัดเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ว่ามียาบ้าในครอบครองแล้วไม่มีความผิด ยืนยันว่ายังมีความผิดทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และมีโทษปรับอีกด้วย
@@ ที่ปรึกษานายกฯ ออกโรงแจงยาบ้า 5 เม็ด อาจผิดฐานผู้ค้า
อีกคนหนึ่งที่ออกมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ คือ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอแจงข้อกฎหมายกรณีการมียาบ้า 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ดังนี้...
ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เป็นกฎหมายให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิผู้กระทำความผิด โดยคัดกรองผู้กระทำผิดว่า เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย หรือผู้ติดยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องพิสูจน์การกระทำผิดต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อัยการก็ต้องใช้ดุลพินิจในการเลือกฟ้องคดีให้ถูกต้องสมเหตุสมผลกับพฤติการณ์ และศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีตามพยานและหลักฐาน
ในภาพรวมคือทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ต้องหา
ประเด็นมียาบ้าไว้ในครอบครองจำนวนไม่เกิน 5 เม็ดเพื่อเสพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2567 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาบ้า) เพื่อเสพ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง (ไม่เกิน 5 เม็ด) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
มาตรา 164 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาบ้า) เพื่อเสพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 107 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งตามมาตรา 107 วรรคสอง เป็นการ “ครอบครองเพื่อเสพโดยบทสันนิษฐานของกฎหมาย” (การครอบครองยาเสพติดไม่เกินจำนวน 5 เม็ด ที่กำหนดในกฎกระทรวงสาธารณสุข) เป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด อย่าเข้าใจว่ามียาบ้า 5 เม็ดแล้วจะถือว่าเป็นผู้เสพเสียทุกรายนั้น ไม่ถูกต้อง กฎหมายมีผลเพียงเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้เจ้าหน้าที่ที่จะต้องนำพยานหลักฐานสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น
“อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมผู้ต้องหาที่มียาบ้าไว้ในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ผู้ต้องหาได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพโดยบทสันนิษฐานของกฎหมาย แต่เมื่อข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานหักล้างได้ว่า ผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อการค้า ผู้ต้องหาย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน แต่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ค้าซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ใช่ผู้เสพ” นายพิชิต ระบุ