"...ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อตรวจสอบ โครงการ Roadshow ชุดแรก คณะกรรมการตรวจสอบสรุปผลว่า การจัดจ้างทำถูกต้องตามระเบียบพัสดุ ชุดสอง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดขึ้นมา สรุปผลว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดกระทำละเมิดให้เกิดความเสียหาย ซึ่งศาลฯ เห็นว่าประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นประเด็นสำคัญ และทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนี้ต่อ จึงทำให้คดีนี้ ถือเป็นอันยุติไป..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่อุทธรณ์คดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล , นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) , บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) , นายระวิ โหลทอง จำเลยที่ 1-6 กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกราย เนื่องจากไม่พบว่ามีเจตนาในการเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ไปก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า สาเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนี้ เนื่องจากในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการไต่สวน คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จ่ายค่าดำเนินโครงการและมีการตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิด ผลสรุปไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งศาลฯ เห็นว่าไม่เกิดความเสียหายใดๆ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษายกฟ้องจำเลยทุกรายในคดีนี้ พบว่า มีการระบุอยู่ในหน้า 62 เกี่ยวกับการพิจารณาความผิดของ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ซึ่งศาลฯ เห็นว่า จากพยานหลักฐานต่างๆ ยังฟังไม่ได้ว่า มีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแล ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลตามที่ควรจะเป็นอันจะแสดงว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหาย
โดยศาลฯ ระบุว่า "...ประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมาพลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการโครงการ Roadshow ตามคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2558 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2559 ตามเอกสารหมาย จ.101 แผ่นที่ 2899-2900 คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 พลเอกวิลาศ จึงลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้รับจ้าง ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สบก.(กบพ.) 772/2558 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2558 เอกสารหมาย จ.106 แผ่นที่ 2940-2946 ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เอกสารหมาย ล.1/31 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาพิเศษโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายให้แก่จำเลยที่ 4 พยานหลักฐานทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเกี่ยวกับการขออนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 40,000,000 บาท..." (ดูเอกสารคำพิพากษาประกอบ)
ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ข้อมูลยืนยันเพิ่มเติมสำนักข่าวอิศราว่า ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อตรวจสอบ โครงการ Roadshow ชุดแรก คณะกรรมการตรวจสอบสรุปผลว่า การจัดจ้างทำถูกต้องตามระเบียบพัสดุ ชุดสอง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดขึ้นมา สรุปผลว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดกระทำละเมิดให้เกิดความเสียหาย ซึ่งศาลฯ เห็นว่าประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นประเด็นสำคัญ และทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนี้ต่อ จึงทำให้คดีนี้ ถือเป็นอันยุติไป
นอกจากนี้ ยังเคยมีข่าวปรากฏว่า ในขั้นตอนการฟ้องร้องคดีนี้ ก่อนหน้านี้ อัยการสูงสุด (อสส.) เห็นควรไม่สั่งฟ้องให้ หลังคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. พิจารณารายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่า ในช่วงหลังจากที่กลุ่มเอกชนประกอบธุรกิจสื่อ ได้ทำหนังสือทวงถามการจ่ายเงินว่าจ้างในโครงการฯ นี้ หลังจากที่จัดงานเสร็จสิ้นแล้ว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่พล.อ. วิลาศ อรุณศรี ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและอ้างว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบพัสดุ จึงมีการจ่ายเงินให้ไป ซึ่งคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. เห็นว่าเป็นข้อมูลสำคัญ และทำให้สำนวนการคดีนี้มีความไม่สมบูรณ์ ก่อนจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีตามมาดังกล่าว ป.ป.ช.จึงต้องยื่นฟ้องคดีเอง
พล.อ.วิลาศ อรุณศรี
กล่าวสำหรับพลเอก วิลาศ อรุณศรี หรือ บิ๊กอ้อ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการตัดสินคดีนี้ ของ ศาลฯ รวมไปถึงการลงมติ ไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ของ ป.ป.ช. ดังกล่าว
ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับพล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการ ในคณะกรรมการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 210/2559 กรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย thailand 4.0 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 194/2560 อดีตราชองครักษ์พิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งเป็น อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาลในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อดีตผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายการข่าวด้วย
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเบื้องหลังมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์คดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด ในขณะนี้
ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีคดีค้างใดๆ เหลืออยู่ในชั้น ป.ป.ช.อีกต่อไป
อ่านประกอบ :