"...การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow 12 จังหวัด มิใช่เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้นำงบประมาณ จำนวน 40,000,000 บาท และ 200,000,000 บาท มาใช้จ่ายในโครงการ Roadshow โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและแก่ทางราชการ หรือโดยทุจริต..."
กรณี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกราย เนื่องจากไม่พบว่ามีเจตนาในการเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง และได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเฉพาะคดีนี้
สำนักข่าวอิศรา สรุปและเรียบเรียงคำพิพากษาจำนวน 70 หน้า ในส่วนคำวินิจฉัยของศาลมานำเสนอต่อสาธารณชน ดังนี้
คดีหมายเลขดำที่ อม. 2/2565
คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2567
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
วันที่ 4 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2567
ระหว่าง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ 1
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ 2
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ที่ 3
บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ที่ 4
บริษัทสยามสปอร์ต ชินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ 5
นายระวิ โหลทอง ที่ 6 จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
โดยคดีนี้ศาลมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย 7 ประการ ได้แก่
1. โจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
2. การที่โจทก์ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่เรียกพยานที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างมาไต่สวนเพิ่มเติม เป็นการชอบด้วยกฎหมาย และสำนวนการไต่สวนของโจทก์นำมาเป็นหลักในการพิจารณาได้หรือไม่
3. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลาง จำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4. การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow 12 จังหวัด เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยซน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบประมาณ จำนวน 40,00,000 บาท และ 200,000,000 บาท มาใช้จ่ายในโครงการ Roadshow โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริต ตามฟ้องหรือไม่
5. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่
6. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) อันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
7. จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
@ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า การดำเนินคดีในระบบไต่สวน เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องตรวจคำฟ้องว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 แล้วว่า ฟ้องโจทก์ข้อหาอื่นนอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม โดยมีข้อความที่เป็นการกล่าวหา และระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหานี้ซ้ำอีก
@ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่โจทก์ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่เรียกพยานที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างมาไต่สวนเพิ่มเติม เป็นการชอบด้วยกฎหมาย และสำนวนการไต่สวนของโจทก์นำมาเป็นหลักในการพิจารณาได้หรือไม่
เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.123 แผ่นที่ 3027 จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เอกสารหมาย จ.124 แผ่นที่ 3046 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขี้แจงแก้ข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2562 อ้างพยานบุคคล 6 คน
ส่วนจำเลยที่ 2 มีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2563 อ้างพยานบุคคล 16 คน ซึ่งขณะนั้นมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของพนักงานไต่สวน พ.ศ. 2550 ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างได้
หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอให้คณะกรรมการไต่สวนเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานก็ชอบที่จะร้องขอภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาตามบทบัญญัติและระเบียบดังกล่าว คือ วันที่ 6 ธันวาคม 2562 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ตามลำดับ แม้จำเลยที่ 1 จะร้องขออ้างพยานบุคคลมาในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2562 แต่ปรากฎว่าหนังสือฉบับดังกล่าวได้รับการรับรองจากโนตารีปับลิก เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ต่อมาสำนักบริหารกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ลงรับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งร้องขอให้เรียกพยานบุคคลเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562
ส่วนจำเลยที่ 2 ร้องขออ้างพยานบุคคลมาในหนังสือขี้แจงแก้ข้อกล่าวหาลงวันที่ 3 มกราคม 2563 ตามเอกสารหมาย จ.133 แผ่นที่ 3444 - 3482 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร้องขอเกินกว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา จึงเป็นการร้องขอเกินกำหนดเวลา เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยมูลความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีดุลพินิจที่จะไม่ไต่สวนพยานเพิ่มเติมตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร้องขอได้
แม้ต่อมาอัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยระบุให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยสอบพยาน 8 ปากดังกล่าวด้วย แต่โจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีนี้สมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องคดีได้แล้วจึงไม่จำต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก ก็เป็นดุลพินิจของโจทก์ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของพยานหลักฐานว่าเพียงพอที่จะดำเนินคดีแล้วหรือไม่ ซึ่งโจทก์และอัยการสูงสุดย่อมมีความเห็นแตกต่างกันได้ และเมื่อไม่อาจหาข้อยุติได้ โจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องคดีเอง ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 77 วรรคสาม
@ การไต่สวนของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกกล่าวหานอกเหนือไปจากที่ปรากฎในสำนวนการไต่สวนของโจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยมิได้ผูกพันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์สรุปในสำนวนของโจทก์ ดังนั้น การสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นของโจทก์จะถูกต้องหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมหรือไม่ จึงไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การไต่สวนของโจทก์เสียไป
ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีสิทธิที่จะโต้แย้งและนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนของโจทก์ได้ ดังนั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงนำสำนวนการไต่สวนของโจทก์มาเป็นหลักในการพิจารณาได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 วรรคสอง
นอกจากนั้น คดีนี้มีการไต่สวนพยานบุคคลมากถึง 42 ปาก บ่งชี้ว่ามิได้เป็นการไต่สวนอย่างเร่งรีบรวบรัดแต่อย่างใด และเมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว โจทก์ได้เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังปรากฎว่าโจทก์ลงมติมีความเห็นแยกเป็น 4 ฝ่าย โดยฝ่ายที่หนึ่งและฝ่ายที่สี่รวม 5 เสียงเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา แสดงให้เห็นว่ากรรมการแต่ละคนได้ใช้ดุลพินิจและตัดสินใจชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่เป็นธรรมและมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังที่อ้าง
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถอ้างนายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ กับนางปนัดดา เลี้ยวรุ่งโรจน์ เป็นพยานได้ เพราะบุคคลทั้งสองให้ถ้อยคำครั้งแรกโดยมิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอ (Presentation) แต่ต่อมาภายหลังให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมดังกล่าว จึงเป็นพิรุธว่าเป็นการกลับคำให้การเพื่อให้กันตัวเป็นพยาน ซึ่งต่อมาโจทก์ลงมติว่าบุคคลทั้งสองไม่มีมูลความผิดทางอาญานั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ใดเป็นผู้จูงใจให้คำมั่นสัญญาเพื่อให้นายพงษ์ศักดิ์และนางปนัดดาให้ถ้อยคำผิดไปจากความจริงหรือตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1
ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากรายงานการไต่สวนของโจทก์ว่า โจทก์มีมติเห็นชอบไม่กันนายพงษ์ศักดิ์และนางปนัดดาไว้เป็นพยาน ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่นายพงษ์ศักดิ์และนางปนัดดาสมัครใจให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของตนเอง และไม่อาจอนุมานได้ว่าเจ้าพนักงานจูงใจให้นายพงษ์ศักดิ์และนางปนัดดาให้ถ้อยคำดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง จึงมิได้เป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจหรือมีคำมั่นสัญญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม โจทก์ย่อมอ้างนายพงษ์ศักดิ์และนางปนัดดาเป็นพยานได้ ส่วนจะรับฟังคำพยานดังกล่าวได้เพียงไรหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง การไต่สวนของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน
@ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลาง จำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงทางไต่สวนฟังได้ว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการโครงการ Roadshow ตามกำหนดเวลาที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมกัน นอกจากนั้นได้ความจากนายกรณินทร์ นายพงษ์ศักดิ์ และนางปนัดดา เสี้ยวรุ่งโรจน์ ซึ่งขณะเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานหัวหน้าฝ่ายพัสดุ สำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี พยานโจทก์ที่เบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานดำเนินจัดทำโครงการ Roadshow จึงยังไม่ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวไว้ ทั้งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีงบประมาณก่อนไปพลางก่อนได้ โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy) ได้บรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หมวดงบรายจ่ายอื่น ค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล จำนวน 500,000,000 บาท เพื่อจะนำมาใช้เป็นงบประมาณในการดำเนินงาน อันรวมถึงโครงการ Roadshow แต่ปรากฎว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ประกาศใช้ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงมิอาจใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้
จึงเห็นได้ว่า กรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มาดำเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีเหตุที่จะต้องใช้จ่ายงบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือได้รับงบประมาณแล้วไม่เพียงพอและไม่อาจปรับแผนดำเนินการหรือใช้เงินงบประมาณอื่นได้ ย่อมเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้ใช้งบกลางจึงเป็นการดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552
ส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่า ผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ทั้งสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอแนะว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวตกไป ทำให้โครงการไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่เวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การออกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน นั้น
เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่าร่างพระราชบัญญัตีให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยยังมิได้มีผู้ใดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องและผ่านมติคณะรัฐมนตรีมาแล้วโดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่ารัฐบาลมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไม่ได้ขอตั้งงบประมาณรองรับไว้เพื่อการดังกล่าว สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ ในกรอบวงเงิน 40,000,000 บาท ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0705/23957 ลงวันที่ 19 กันยายน 2556
กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าสามารถอนุมัติได้ตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 3 - 4/6557 ว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ตราขึ้นโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วนก็ตาม แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุแล้ว
ทั้งศาลรัฐธรรมนูญคงวินิจฉัยเพียงว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อนุญาตให้จ่ายเงินแผ่นดินโดยไม่ได้กระทำตามที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายที่เกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง อีกทั้งมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และเมื่อการใช้จ่ายเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัติบับนี้ไม่ได้ดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญมีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงมิได้มีประเด็นวินิจฉัยโดยตรงว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และโครงการ Roadshow เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ และไม่ได้วินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด ดังนั้น การที่บุคคลใดจะรับผิดทางอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาจากการกระทำและเจตนาของบุคคล จากพยานหลักฐานในคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการ Roadshow ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
@ มีเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินโครงการ Roadshow ที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมา
ที่โจทก์กล่าวหาว่า วัตถุประสงค์และพื้นที่จัดโครงการ Roadshow บางส่วนซ้ำซ้อนกับโครงการที่กระทรวงคมนาคมจัดทำแล้วเมื่อระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2556 โดยจำเลยที่ 1 เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการดังกล่าวจึงต้องรู้ถึงข้อเท็จจริง นั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนได้ความว่าเดิมกระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดทำโครงการนิทรรศการ Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก นิทรรศการของประชาชน และโครงการจ้างสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร วงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 41,960,381 บาท
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ในส่วนภูมิภาค ช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2556 ที่จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดพิษณุโลก วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,371,200 บาท ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว วาระที่หนึ่ง (ขั้นรับหลักการ) วันที่ 28-29 มีนาคม 2556 ต่อมามีการริเริ่มโครงการ Roadshow โดยมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมโครงการสำคัญ ๆ ของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
เห็นว่าแม้โครงการ Roadshow จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่ 2 จังหวัดแรก คือ จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังปรากฎว่าโครงการ Roadshow มีภารกิจครอบคลุมมากกว่าเดิม เช่น การกระจายความเจริญ สร้างเมืองใหม่ ผังเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตร พาณิชย์ บริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนางสาวดุจดาว เจริญผล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และนายชัชชาติ ว่า เนื้องานและรูปแบบการจัดโครงการ Roadshow ในพื้นที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมามีขนาดใหญ่กว่าและงบประมาณมากกว่าที่กระทรวงคมนาคมจัดขึ้น ทำให้โครงการ Roadshow มีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากนอกเหนือจากกระทรวงคมนาคม เพราะการทำโครงสร้างพื้นฐานมีผลกระทบต่อหลากหลายภาคส่วน และยังปรากฎอีกว่าโครงการของกระทรวงคมนาคมที่จัดในส่วนภูมิภาคที่จังหวัดหนองคายใช้งบประมาณ 4,505,490 บาท และที่จังหวัดนครราชสีมาใช้งบประมาณ 2,999,825 บาท ส่วนโครงการ Roadshow ใช้งบประมาณจังหวัดละประมาณ 20,000,000 บาท ย่อมถือไม่ได้ว่าทั้งสองโครงการดำเนินการซ้ำซ้อนกัน กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินโครงการ Roadshow ที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมาตามนโยบายรัฐบาลและตามการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้
ส่วนโจทก์กล่าวหาว่าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศมิได้บรรลุผลสำเร็จ ทำให้การใช้งบประมาณโครงการ Roadshow เกิดความสูญเปล่า นั้น เห็นว่า กรณีจะฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากกฎหมายและระเบียบแบบแผนโดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้กระทำได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนทางราชการรวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ด้วยความเชื่อโดยสุจริตและมีเหตุผลสอดคล้องกับสภาวการณ์และข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้ว กรณีย่อมไม่อาจถือว่าผู้นั้นกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ อันมีผลให้ต้องรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด
@ จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 ฝืนดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายโครงการ Roadshow ไปโดยไม่คำนึงว่าจะเกิดความเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ
นอกจากนั้นไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความเกี่ยวพันเป็นพิเศษอย่างใดอันจะทำให้เห็นว่าการอนุมัติงบกลางเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 พยานหลักฐานทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการอนุมัติให้ใช้งบกลาง โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่โจทก์ฟ้อง
@ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลาง จำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า ขณะจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยเข้าร่วมการเปิดงานโครงการนิทรรศการ Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลกที่กระทรวงคมนาคมจัดขึ้น ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการ Roadshow อย่างไร ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ตามบันทึกข้อความ ที่ สบก (กผง.) 830/2556 ลงวันที่ 18 กันยายน 2556 เอกสารหมาย จ.37 แผ่นที่ 1210-1212 ตามลำดับชั้นเท่านั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 6 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการใช้งบกลางเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและแก่ทางราชการ หรือโดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow กับเป็นผู้เสนอเรื่องขออนุมัติใช้งบกลาง โดยสั่งการให้นายพงษ์ศักดิ์จัดทำบันทึกเสนอขอใช้งบกลางให้จำเลยที่ 3 ลงนามตามเอกสารหมาย จ.41 ก็ตาม แต่มูลเหตุที่ทำให้ต้องเสนอขอใช้งบกลาง จำนวน 40,000,000 บาท เป็นผลมาจากการไม่สามารถใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทัน โดยจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากนายพงษ์ศักดิ์ภายหลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดเวลาดำเนินโครงการ Roadshow ไว้แล้ว
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 เสนอขออนุมัติใช้งบกลางจึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่ของตน เพื่อจะให้โครงการ Roadshow สำเร็จลุล่วงไปได้เท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือมิได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือมีเจตนาทุจริตในการขออนุมัติใช้งบกลาง
พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาดำเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่มีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
@ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow 12 จังหวัด เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยซน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบประมาณ จำนวน 40,00,000 บาท และ 200,000,000 บาท มาใช้จ่ายในโครงการ Roadshow โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริต ตามฟ้องหรือไม่
ก่อนอื่นจะพิเคราะห์ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่
สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากนายพงษ์ศักดิ์ นางปนัดดา นายสรายุทธ มหวลีรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามสปอร์ตมีเดีย แมเนจเม้นท์ จำกัด นางสาวคัทริน สุรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าว พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม และสอบถามรายละเอียดโครงการรวมถึงทักท้วงให้แก้ไขรูปแบบของงานที่นำเสนอ (Presentation) ที่จำเลยที่ 4 นำมาเสนอ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าประชุมอีกครั้งด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมการนำเสนอรูปแบบของงานโครงการ Roadshow จริง
แต่เมื่อคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการมอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการ Roadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงานที่นำมาเสนอได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสรายุทธว่า จำเลยที่ 1 สอบถามว่านิทรรศการที่นำเสนอประชาชนจะรับรู้และเข้าใจโครงการได้ใช่หรือไม่ และการประชาสัมพันธ์โครงการนี้จะสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึงใช่หรือไม่
นางปนัดดาเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ซักถามเกี่ยวกับการจัดงานตามที่นำเสนอ ผู้นำเสนอก็ตอบเกี่ยวกับรูปแบบการจัดงาน นายพงษ์ศักดิ์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ติติงเรื่องทางเข้าออกและกิจกรรมที่จัดภายในงาน ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงมิได้ผิดปกติหรือนอกเหนือไปจากการติดตามงานที่ดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับมูลเหตุที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเอกชนเข้ามานำเสนอรูปแบบและขั้นตอนการจัดงานโครงการระหว่างการประชุมเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงรายเดียวนั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ประชุมเตรียมการอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วได้ข้อสรุปว่าเป็นการเกินขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงพิจารณาสรรหาให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามานำเสนองานต่อที่ประชุม อีกทั้งการนำเสนองานในชั้นนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณากำหนดรูปแบบของงาน ซึ่งไม่ปรากฎว่ารูปแบบงานที่จำเลยที่ 4 นำเสนอได้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือมีเงื่อนไขพิเศษที่เป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นไม่ให้เข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ทั้งนายสรายุทธเบิกความว่า รูปแบบของงานที่นำเสนอ (Presentation) เป็นการใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยนต์ (Powerpoint) นำเสนอว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และนางสาวคัทรินพยานโจทก็เบิกความว่า งานที่นำเสนอเป็นการนำเสนอในภาพรวมของโครงการเท่านั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าระหว่างการประชุมจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า
ส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่า ในระหว่างขั้นตอนขออนุมัติใช้งบกลาง จำเลยที่ 4 มีหนังสือที่ ฆณ.10-0555/2556 ลงวันที่ 23 กันยายน 2556 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยแจ้งว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้จัดทำโครงการ ซึ่งจะมีการจัดงานรวมทั้งสิ้น 12 จังหวัด พร้อมกำหนดวันเวลาและสถานที่การจัดงานของแต่ละจังหวัด จึงขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ
@ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้า
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการ Roadshow โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชนให้มาร่วมงานและลงทะเบียนสื่อมวลชนที่มาทำข่าวในงาน รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้างอนาคตไทย 2020 นั้น การดำเนินการดังกล่าวมีใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจหรือให้การรับรองการดำเนินการเช่นว่านั้นด้วย อีกทั้งการดำเนินการนั้นล้วนเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละส่วน กรณีจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดจะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
พยานหลักฐานทางไต่สวนนอกจากนี้ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องสั่งการหรือใช้อำนาจครอบงำหรือสมคบกับผู้มีหน้าที่ในขั้นตอนการเสนอราคาและจัดซื้อจัดจ้างโครงการ Roadshow ด้วยประการอื่นใด ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้า
@ จำเลยที่ 2 ตกลงกำหนดจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ Roadshow
สำหรับจำเลยที่ 2 แม้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 151/0556 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 และมีอำนาจอนุมัติให้สั่งจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 66 แต่ก็เป็นหน้าที่ทั่วไป โดยจำเลยที่ 2 มิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow โดยตรง ทั้งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 242/2556 ลงวันที่ 3 กันยายน 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศ มีจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ ส่วนจำเลยที่ 2 จะได้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับรูปแบบของงานที่นำเสนอ (Presentation) ดังที่นายพงษ์ศักดิ์เบิกความหรือไม่ ก็มิใช่เป็นการสั่งการหรือใช้อำนาจอย่างผิดปกติ เพียงแต่เป็นการร่วมประชุมเช่นเดียวกับบุคคลอื่นเท่านั้น
ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการ Roadshow โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่อนุมัติหลักการจัดโครงการ ตามบันทึกข้อความสำนักบริหารกลาง ลงวันที่ 30 กันยายน 2556 อนุมัติให้จ้างจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดทำโครงการ ตามบันทึกข้อความสำนักบริหารกลาง ด่วนที่สุด สบก.(กบพ) 2794/2556 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ตามเอกสารหมาย จ.53 แผ่นที่ 2118 - 2121 และอนุมัติให้จ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 จัดทำโครงการ ตามบันทึกข้อความสำนักบริหารกลาง ด่วนที่สุด สบก.(กบพ) 2925/2556 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 และบันทึกข้อความสำนักบริหารกลาง ด่วนที่สุด สบก.(กบพ) 2926/2556 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 เท่านั้น ส่วนขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินโครงการเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผู้รับผิดชอบโครงการต้องตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกลงกำหนดจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ Roadshow
ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนได้ความว่า เมื่อประมาณปลายเดือน สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 3 เป็นประธานการประชุมเตรียมการอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือและวางกรอบการดำเนินโครงการ Roadshow จนนำไปสู่การให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมงานสภาพัฒน์ ทีมงานกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชัชชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวเรือหลัก และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแนวทางการสรรหาเอกชนมาดำเนินการมิใช่ข้อสั่งการของจำเลยที่ 3 โดยลำพังแต่ผู้เดียว แต่เป็นข้อสรุปร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในที่ประชุมว่าเป็นการเกินขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับที่นางปนัดดา และนายอิทธิพงศ์ งามแดน ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มผลิตสื่อและเทคโนโลยี สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พยานโจทก์ เบิกความทำนองเดียวกันว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไม่เคยจัดงานลักษณะนี้
นอกจากนั้นโครงการของกระทรวงคมนาคมที่จัดทำแล้วซึ่งมีขอบเขตของงานน้อยกว่าโครงการ Roadshow เป็นอันมากก็ยังได้ใช้วิธีการจ้างเอกชนมาดำเนินโครงการ ดังนั้น ลำพังการที่จำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมพิจารณาให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ส่วนข้อเท็จจริงที่นายสรายุทธ พยานโจทก์ เบิกความว่า พยานได้รับแจ้งจากนักข่าวของจำเลยที่ 5 ว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีงานจ้างดำเนินโครงการ Roadshow พยานโทรศัพท์ติดต่อไปยังนายฐากูร บุนป่าน กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 4 เพื่อนัดหมายไปสอบถามรายละเอียดโครงการด้วยกัน เมื่อไปพบจำเลยที่ 3 ที่ทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่ 3 บอกว่า ถ้าสนใจงานนี้ให้กลับไปรวบรวมผลงานในอดีตมาเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยให้ประสานกับทีมงานจำเลยที่ 3 ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ร่วมด้วย 4 ถึง 5 คน พยานส่งผลงานในอดีตให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง ต่อมาได้รับแจ้งจากนายฐากูรว่าข้อมูลผลงานที่ส่งไปอยู่ในข่ายมีสิทธินำเสนองาน โดยให้จัดทำรูปแบบของงานมาเสนอ (Presentation) นั้น
เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปรวบรวมผลงานในอดีตมาเสนอ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow ตรวจสอบก่อนเสนอต่อที่ประชุมได้ ที่นายสรายุทธเบิกความอีกว่า พยานและนายฐากูรเร่งประชุมเพื่อจัดทำรูปแบบงานให้ตรงกับข้อกำหนดของโครงการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกำหนด เมื่อแล้วเสร็จได้นำส่งรูปแบบของงานให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตรวจสอบ และแก้ไขงานให้ตรงกับรายละเอียดโครงการ ขณะนั้นพยานทราบรายละเอียดโครงการว่าจะจัดขึ้นที่ใด จังหวัดใด โดยพยานและนายฐากูรช่วยกันแบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำรูปแบบของงานที่จะนำเสนอ (Presentation) ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2556 พยานไปร่วมประชุมเพื่อนำเสนอรูปแบบของงาน
นางสาวคัทริน พยานโจทก์ เบิกความว่า พยานร่วมประชุมกับจำเลยที่ 4 ที่สำนักงานจำเลยที่ 4 ถนนประชาชื่น เพื่อตกลงถึงรูปแบบการจัดงานนิทรรศการ โดยมีนายฐากูรเป็นแม่งานหลัก เนื่องจากต้องจัดงานให้เป็นไปตามรูปแบบงานเดียวกัน วันดังกล่าวจำเลยที่ 4 และบริษัทสยามสปอร์ตมีเดีย แมเนจเม้นท์ จำกัด แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำรูปแบบของงานที่นำเสนอ (Presentation) การประชุมทุกครั้งมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก นั้น เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จัดทำรูปแบบของงานมาเสนอต่อที่ประชุมดังกล่าว เป็นการกระทำโดยเปิดเผยแก่บุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เองจะต้องเป็นผู้อนุมัติจ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในภายหลังจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง กรณีจึงมีเหตุผลเชื่อได้ตามที่นายสรายุทธเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 จัดทำรูปแบบของงาน (Presentation) มาเสนองานในฐานะของผู้มาเสนองานรายหนึ่ง
ดังนั้น แม้ที่ประชุมจะเห็นชอบงานที่จำเลยที่ 4 นำเสนอก็มิได้เป็นการผูกมัดให้ต้องเลือกจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างไปด้วย ขั้นตอนนี้จึงเป็นเพียงการเชิญบุคคลมาร่วมประชุมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดรูปแบบและแผนการประชาสัมพันธ์โครงการอันอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 242/2556 ลงวันที่ 3 กันยายน 2556 โดยเฉพาะระหว่างประชุมจำเลยที่ 3 มิได้พูดหรือกระทำการอันใดในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบงานของจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 จะนำเสนองานแต่เพียงรายเดียว แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้มีอาชีพรายอื่นสนใจมาเสนองานแล้วถูกกีดกันมิให้แข่งขันกับจำเลยที่ 4 แต่อย่างใด
ส่วนข้อที่ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตกลงแบ่งจังหวัดกัน ก็เป็นแค่การแบ่งงานกันเองในขั้นตอนการจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เท่านั้น จึงหาใช่เป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาว่าแต่ละบริษัทจะรับจ้างทำโครงการที่จังหวัดใด อันจะถือเป็นการหลีกเสี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
นอกจากนั้นยังปรากฏว่า ภายหลังจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 นำเสนอรูปแบบของงาน (Presentation) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 แล้ว มีการกำหนดงานแถลงข่าวโครงการ Roadshow ในวันที่ 26 กันยายน 2556 อันเป็นระยะเวลากระชั้นชิด การที่จำเลยที่ 3 มิได้รอให้มีผู้อื่นเข้ามาแข่งขันเสนองานก่อนจึงฟังไมได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ส่วนที่นายพงษ์ศักดิ์เบิกความว่า จำเลยที่ 4 นำเสนองานต่อจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่อมาการประชุมครั้งที่ 6 นายกรณินทร์ หน้าห้องจำเลยที่ 3 พาเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 4 ไปแนะนำกับนายพงษ์ศักดิ์ว่าจำเลยที่ 4 จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานในโครงการ นั้น คงเป็นการเบิกความไปตามความเข้าใจของพยานเองที่เห็นจำเลยที่ 4 นำเสนอรูปแบบของงานแล้วเข้าใจว่า จำเลยที่ 3 กำหนดตัวผู้รับจ้างดังที่ได้เบิกความตอนแรก ซึ่งนายสรายุทธเบิกความว่า พยานนำงานไปนำเสนอ(Presentation) เมื่อวันที่ 60 กันยายน 2556 แต่ทางไต่สวนได้ความว่า นายกรณินทร์ ช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 5 กันยายน 2556 แสดงว่านายกรณินทร์ย้ายไปก่อนที่จะมีการเสนองานของจำเลยที่ 4 แล้ว
ดังนั้นที่นายกรณินทร์เบิกความยืนยันว่าไม่เคยเข้าประชุมและพาเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 4 ไปแนะนำกับนายพงษ์ศักดิ์จึงรับฟังได้ ส่วนที่นายพงษ์ศักดิ์ให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 อ้างว่า จำเลยที่ 3 เรียกไปพบที่ห้องทำงานเรื่องเงินที่จะนำไปใช้จ่ายในโครงการ แล้วจำเลยที่ 3 บอกพยานว่าจะให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้จัดโครงการ โดยมีนายกรณินทร์อยู่ด้วย นั้น ถ้อยคำนี้เพิ่งปรากฎภายหลังจากที่นายพงษ์ศักดิ์ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของตนแล้ว ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงสงสัยว่าจะเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่
แม้นายพงษ์ศักดิ์เบิกความตอนหลังยืนยันว่า จำเลยที่ 3 บอกพยานเช่นนั้น แต่นายกรณินทร์เบิกความว่าไม่เป็นความจริงอันเป็นลักษณะพยานเบิกความยันกัน ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพิเคราะห์ด้วยความระมัดระวัง คำเบิกความของนายพงษ์ศักดิ์จึงมีน้ำหนักลดน้อยลง ที่นางสาวนัทรียา เบิกความว่า หลังการประชุมของนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 เดินมาที่โต๊ะด้านหลังห้องประชุมที่ผู้อำนวยการสำนักโฆษก (นางนันทิกาญจน์ สวัสดิ์ภักดี พยาน และนางสาวปวีณา ปริวัฒนศักดิ์ นั่งอยู่เป็นกลุ่ม และพูดว่า รู้แล้วใช่มั้ยว่าจะมีงานโรดโชว์จัดนิทรรศการ ให้ลองพิจารณาบริษัทมติชน ดูนะว่ามีศักยภาพเป็นผู้รับจ้างจัดงานหรือไม่ นั้น นางนันทิกาญจน์และนางสาวปวีณาซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกัน แต่กลับมิได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว คำเบิกความของนางสาวนัทรียาจึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งคำพูดของจำเลยที่ 3 เป็นเพียงให้พิจารณาศักยภาพของจำเลยที่ 4 เท่านั้น มิได้พูดเจาะจงให้นางสาวนัทรียาต้องเลือกจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ครอบงำสั่งการหรือจูงใจให้นางสาวนัทรียายอมรับการเสนอราคาของจำเลยที่ 4 เพื่อให้เป็นผู้รับจ้างดังที่โจทก์อ้าง
ส่วนที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือที่ ฆณ.10-0555/2556 ลงวันที่ 23 กันยายน 2556 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยแจ้งว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้จัดทำโครงการ จึงขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ นั้น เห็นว่า เมื่อที่ประชุมเห็นชอบรูปแบบของงานที่จำเลยที่ 4 นำเสนอและกำหนดงานแถลงข่าวโครงการ Roadshow แล้ว ย่อมทำให้จำเลยที่ 4 เข้าใจว่าจะได้รับเลือกเป็นผู้รับจ้างดำเนินโครงการ ประกอบกับโครงการ Roadshow จะเริ่มดำเนินการวันที่ 4 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 4 จึงเร่งรีบมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
โดยทางไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าว และจำเลยที่ 3 เบิกความว่า เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้แล้ว ดังนั้น จึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 4 โดยพลการเองฝ่ายเดียว จะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ได้ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือของจำเลยที่ 4 แล้ว เป็นเพียงการขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ โดยมิได้ระบุว่าจำเลยที่ 4 จะปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาของผู้รับจ้างโดยตรงอันเป็นการเข้าทำการงานแล้วตั้งแต่ก่อนทำสัญญาจ้าง ฉะนั้น ข้อความที่ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้จัดทำโครงการนั้น คงมุ่งหมายเพียงว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับมอบหมายให้จัดทำรูปแบบของงานโครงการเท่านั้น
@ รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้า
ส่วนกรณีวันที่ 26 กันยายน 2556 มีพนักงานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ช่วยประสานงานสื่อมวลชนให้มาร่วมงาน นั้น ข้อเท็จจริงทางไต่สวนได้ความเพียงว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยดำเนินการ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อสั่งการของจำเลยที่ 3 สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้างอนาคตไทย 2020 นั้น เป็นผลมาจากการที่ที่ประชุมได้เห็นชอบรูปแบบของงานที่นำเสนอ (Presentation) ตามที่จำเลยที่ 4 นำเสนอ ซึ่งจำเลยที่ 4 มีสิทธิที่จะให้ใช้โลโก้นั้นได้ และการยอมให้ใช้ผลงานที่นำเสนอก็หาใช่ว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ตกลงจ้างเสียก่อนเสมอไป พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กำหนดตัวจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า
และที่นางปนัดดาเบิกความว่า ก่อนคดีนี้เมื่อมีการใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้แล้วทุกโครงการนั้น ก็เป็นการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ Roadshow ทั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยจัดโครงการใหญ่ในลักษณะนี้มาก่อน กรณีจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเปรียบเทียบเพื่อใช้พิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ 3 ได้
นอกจากนั้นเมื่อคำนึงถึงว่าการให้จำเลยที่ 4 นำเสนองานต่อที่ประชุมนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจะพิจารณาเฉพาะเรื่องรูปแบบของงาน ซึ่งมิใช่เป็นขั้นตอนการกำหนดตัวผู้รับจ้าง แม้ที่ประชุมเห็นชอบกับงานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 อันอาจเป็นข้อแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความพร้อมดำเนินโครงการ Roadshow ก็ตาม แต่เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของที่ประชุมหาใช่เป็นเจตนโดยตรงของจำเลยที่ 3 ไม่ ทั้งการจะได้รับการว่าจ้างหรือไม่ยังต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ก่อน หากจำเลยที่ 3 มีเจตนามาแต่แรกที่จะกำหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้า จำเลยที่ 3 ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเพื่อให้สมดังเจตนา แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากนายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ ประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และนางสาวปวีณา ปริวัฒนศักดิ์ กรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษต่างเบิกความยืนยันว่า ไม่มีบุคคลใดสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้าง ดังนี้ พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow อันเป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนดำเนินการขั้นตอนการจัดจ้าง โดยเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามฟ้อง โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริต
@ ปัญหาที่ต้องพิเคราะห์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 ระบุว่า การจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ การจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ
(2) เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นต้องถอดตรวจ ให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อม เครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
(3) เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ
(4) เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ
(5) เป็นงานที่จำเป็นต้องการจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม (Repeat Order)
(6) เป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี
เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อน สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ Roadshow แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 6 นั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนได้ความจากนางปนัดดา พยานโจทก์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 สำนักงบประมาณแจ้งว่าจำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลาง และจำเลยที่ 3 อนุมัติหลักการโครงการ พยานจึงตั้งเรื่องที่จะดำเนินการในส่วนของการพัสดุต่อไป พยานเห็นว่าโครงการจะจัดขึ้นใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2556 และจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลากระชั้นชิด จึงต้องเสนอบันทึกจัดจ้างดำเนินโครงการโดยวิธีพิเศษ เพราะจะสอบราคาหรือประกวดราคาไม่ทันแน่นอน โดยเริ่มจากการจัดทำบันทึกสำนักบริหารกลาง ด่วนที่สุด ที่ - ลงวันที่ 30 กันยายน 2556 ขออนุมัติหลักการดำเนินการในวงเงิน 40,000,000 บาท เสนอ
จำเลยที่ 3 ลงนามเพื่อเสนอไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 อนุมัติในวันเดียวกัน และนายพงษ์ศักดิ์ เบิกความว่า เมื่อพิจารณาจากลำดับการดำเนินงานและเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) อีกทั้งเงื่อนเวลาดำเนินการ เห็นได้ว่าระยะเวลาเร่งด่วนและกระชั้นชิดเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ สำนักบริหารกลางจึงเสนอบันทึกข้อความขออนุมัติจ้างจัดโครงการ Roadshow ต่อจำเลยที่ 3 โดยระบุว่าจะดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สบก.(กบพ) 2792/2566 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงนามอนุมัติในวันเดียวกัน
เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความดังกล่าวไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มหรือใช้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าเป็นการพิจารณาและเสนอของเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาตามลำดับชั้น แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุมัติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่เพียงแต่ลงนามอนุมัติผ่านไปตามความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ได้ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าการจัดจ้างโครงการ Roadshow เข้าเงื่อนไขว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3)
@ ไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้จัดจ้างโครงการ Roadshow โดยทุจริตตามฟ้อง
พยานหลักฐานทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นงานเร่งด่วน และเมื่อกรณีเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วนหากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่นางปนัดดาเบิกความว่า คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษพิจารณาเสนอจ้างจำเลยที่ 4 ทั้งที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางยังประชุมไม่แล้วเสร็จ และบันทึกรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษส่งมาถึงพยานเมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงต้องเสนอวันที่ 6 ตุลาคม 2556 โดยลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2556 นั้น
เมื่อนางปนัดดาเป็นหัวหน้าฝ่ายพัสดุ มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงตามสายงาน ได้เกษียนข้อความว่า ตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะส่วนราชการเจ้าของโครงกรได้ศึกษาด้วยความรอบคอบมาเป็นอย่างดีแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่า การส่งหนังสือมาให้อนุมัติจะไม่ใส่วันที่มาให้ก่อน จำเลยที่ 2 จึงลงนามโดยไม่ได้ลงวันที่เอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหรือไม่สนใจความถูกต้องของเอกสาร จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พยานหลักฐานทางไต่สวนไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้จัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 40,000,000 บาท เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือโดยทุจริตตามฟ้อง
@ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการขออนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 40,000,000 บาท
สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 242/2556 แต่คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาเฉพาะเรื่องการพิจารณารูปแบบงานโครงการและรับทราบผลการดำเนินงาน ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกันกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่ต้องดำเนินการ และเนื่องจากเป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 151/2556 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา
ดังที่นายลิขิต อุไรรางกูล พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุรักษาการในตำแหน่งนักวิชาการชำนาญการพิเศษ กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง เบิกความว่า เรื่องใดที่ไม่ได้กำหนดในแผนงานไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการที่พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนมีความเหมาะสมที่จะใช้วิธีพิเศษได้ จึงไม่เคยมีหน่วยงานใดขอหารือกรณีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) มายังกรมบัญชีกลาง ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้น ก็เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง เมื่อกรณีนี้เป็นการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) จึงย่อมเชิญผู้มีอาชีพรับจ้างโดยตรงนั้นมาเสนอราคาตามระเบียบฉบับดังกล่าว ข้อ 58 (1 ได้ และแม้จำเลยที่ 4 จะเสนอราคาเพียงรายเดียว แต่กรณีไม่ปรากฎว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากนายพิไชย โอบายะวาทย์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกำหนดราคากลาง กับนางโศภิษฐ์ ทองคำชู เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน กลุ่มแผนงานและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายอิทธิพล งามแดน นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกำหนดราคากลาง เบิกความสอดคล้องกันว่า ไม่มีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลาง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการพิจารณากำหนดราคากลางด้วย
ที่นางปนัดดาเบิกความว่า ขณะเสนอจำเลยที่ 3 นั้น คณะกรรมการกำหนดราคากลางยังประชุมยังไม่เสร็จ แต่เมื่อกระบวนการจัดจ้างต้องเสร็จก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2556 พยานจึงเสนอบันทึกรายงานการขอซื้อขอจ้างโดยไม่ได้ระบุราคากลาง แต่ระบุวงเงิน 40,000,000 บาท ทำให้รายงานคณะกรรมการกำหนดราคากลางไม่ได้ระบุเลขที่ ส่วนที่ต้องลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เพื่อให้เป็นไปตามลำดับที่จะต้องมีราคากลางก่อนการจัดจ้าง นั้น จำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ลงนามไปเนื่องจากผ่านการกรองโดยนางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารซึ่งทำงานมานานและจำเลยที่ 3 ไว้วางใจ ภายหลังนางสาวเรณูแจ้งว่ามีข้อผิดพลาด จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าเป็นเรื่องข้อผิดพลาดตามปกติ
เห็นได้ว่า การลงวันที่ย้อนหลังเป็นการกระทำของนางปนัดดาเอง แม้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow และเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจพิจารณาว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเหมาะสมที่จะใช้วิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) หรือไม่ จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการก็ตาม แต่เมื่อนางปนัดดาระบุในเอกสารว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ และนางสาวเรณูตรวจสอบไม่พบความผิดพลาด ทั้งจำเลยที่ 3 ต้องเร่งพิจารณาเพราะเป็นกรณีเร่งด่วน จึงมีเหตุให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าดำเนินการต่อไปได้
ส่วนที่นางปนัดดาเบิกความว่า บันทึกรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษลงสารบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2556 พยานเสนอต่อจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 พิจารณาอนุมัติและเสนอไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ - อนุมัติเห็นควรจ้างจำเลยที่ 4 โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวันเดียวกันคือวันที่ 1 ตุลาคม 2556 อันแสดงว่าจำเลยที่ 3 มิได้ลงนามย้อนหลัง แต่นางปนัดดากลับเบิกความใหม่ว่า เอกสารบันทึกรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษส่งมาถึงพยานเมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงต้องเสนอวันที่ 2 ตุลาคม 2556 คำเบิกความของนางปนัดดาจึงไม่อยู่กับร่องกับรอยไม่อาจรับฟังได้
ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่างปฏิบัติงานอย่างเร่งรีบภายในวันเดียวนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานเพื่อให้ทันเวลาที่ผู้บริหารกำหนดไว้ ดังเห็นได้จากที่นางปนัดดา เบิกความว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเคยดำเนินการรวดเร็วลักษณะแบบนี้มาบ้างแต่วงเงินไม่มาก ตรงกันข้ามข้อเท็จจริงกลับได้ความจากนางสาวนัทรียาเบิกความว่า ไม่มีผู้ใดแทรกแซงคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับจ้าง การดำเนินการดังกล่าวจึงหาใช่เกิดขึ้นจากการสั่งการของจำเลยที่ 3 ไม่
นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ต่อมานางสาวประพีร์ อังกินันทน์ มีหนังสือสำนักงานการตรวจเงินเผ่นดิน ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0019/0822 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2559 ขอให้ทบทวนการดำเนินการใช้จ่ายเงินโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0401.6/0984 ลงวันที่ 9 เมษายน 2557 แจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีประสงค์ที่จะให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติตามข้อสังเกตดังกล่าวเสียก่อน จึงยังไม่ได้ดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินออกไปจนกว่าข้อทักท้วงและข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะหมดไป และได้ขอหารือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินของโครงการนี้กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินด้วยแล้ว โดยมีการชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้ก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลตามที่ควรจะเป็นอันจะแสดงว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหาย
ประการสำคัญที่สุด หลังเกิดเหตุมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมาพลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการโครงการ Roadshow ตามคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2558 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2558 คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 พลเอกวิลาศจึงลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้รับจ้าง ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สบก.(กบพ.) 772/2558 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2558 ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาพิเศษโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายให้แก่จำเลยที่ 4 พยานหลักฐานทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเกี่ยวกับการขออนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 40,000,000 บาท
@ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้จัดจ้างโครงการโดยวิธีพิเศษวงเงิน 200,000,000 บาท เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือโดยทุจริต
ส่วนโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท นั้น พยานหลักฐานทางไต่สวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 นางนันทิกาญจน์เสนอบันทึกข้อความสำนักโฆษกขออนุมัติหลักการจัดโครงการ Roadshow ระบุว่า เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เห็นควรจัดจ้างเอกชนดำเนินการจัดโครงการทุกภาคทั่วประเทศจำนวน 10 จังหวัด ในวงเงินไม่เกิน 600,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ลงนามอนุมัติโดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณผลผลิตการบริหารจัดการของรัฐบาล งบรายจ่ายอื่น ค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ 2557 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สนม.1281/2556 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2556
วันที่ 11 ตุลาคม 2556 นายพงษ์ศักดิ์มีบันทึกข้อความผ่านนางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารระบุว่า สำนักบริหารกลางพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกอบกับเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเห็นควรอนุมัติหลักการจัดโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 เพื่อสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ โดยจัดจ้างเอกชนดำเนินการโครงการตามที่สำนักโฆษกเสนอ ซึ่งจำเลยที่ 3 ลงนามรับทราบ ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สบก.(กผง.) 0903/2556 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 แล้วจำเลยที่ 3 มีบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ระบุว่า เสนอขออนุมัติหลักการจัดโครงการโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาอนุมัติโดยจำเลยที่ 2 ลงนามอนุมัติ ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ - ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556
เห็นว่า เมื่อโครงการ Roadshow ในส่วน 2 จังหวัดแรกเข้าเงื่อนไขเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) ดังวินิจฉัยมาแล้ว ทั้งโครงการ Roadshowอีก 10 จังหวัด มีกำหนดเริ่มดำเนินงานกลุ่มแรก จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2556 จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2556 โดยจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ย่อมไม่มีเวลาพอให้ใช้วิธีการประกวดราคาได้ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าการจัดจ้างโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัดเข้าเงื่อนไขเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นกัน
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด ไม่ใช่งานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน และเมื่อกรณีเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วนเช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะสั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนเรื่องการกำหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้ารวมถึงเรื่องการใช้ราคากลางเดิมนั้นโจทก็คงอ้างข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับกรณีโครงการ Roadshow ในส่วน 2 จังหวัดแรก ซึ่งได้วินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก
ทั้งได้ความจากนายพงษ์ศักดิ์เบิกความว่า คณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศได้ประชุมติดตามประเมินผลการจัดงานครั้งแรกที่จังหวัดหนองคายแล้วเห็นว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีจึงได้นำราคากลางที่ใช้ใน 2 จังหวัดแรกมาเป็นราคากลางในการดำเนินโครงการอีก 10 จังหวัด ดังนี้ พยานหลักฐานทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้จัดจ้างโครงการโดยวิธีพิเศษวงเงิน 200,000,000 บาท เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือโดยทุจริต
@ ปัญหาที่ต้องพิเคราะห์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) อันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนและมิใช่กรณีตามวรรคสองหรือวรรคสาม คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก่อนได้รับเงินประจำงวด หรืออนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้
ข้อเท็จจริงทางไต่สวนได้ความว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือสั่งจ้าง ที่ จ.17/2557 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556จ้างจำเลยที่ 4 ดำเนินโครงการในส่วนจังหวัดกลุ่มสอง เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000,000 บาท และลงนามหนังสือสั่งจ้าง ที่ จ.18/2557 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 จ้างจำเลยที่ 5 ดำเนินโครงการในส่วนจังหวัดกลุ่มแรก เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000,000 บาท วันที่ 15 ตุลาคม 2556 สำนักงบประมาณแจ้งใบจัดสรรเงินงบประมาณ วงเงิน 200,000,000 บาท ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ
ต่อมานายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุ มีหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/46547 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ถึงจำเลยที่ 3 แจ้งว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในสัญญาสั่งจ้างก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดี เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ราชการ จึงอนุมัติผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีเฉพาะราย ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นการก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวดที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ต่อมาจำเลยที่ 3 ลงนามในบันทึกข้อความสำนักบริหารกลางที่ สบก. (กบพ.) 3466/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีขออนุมัติลงนามในสัญญาก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวดในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดผู้มีอำนาจเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามหนังสือ ด่วนที่สุดที่ นร 1401.5/16409 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมประชุมด้วยได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 อนุมัติตามเสนอ จำเลยที่ 3 มีคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2556 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าการลงนามในหนังสือสั่งจ้างก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นการดำเนินการโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าสามารถดำเนินการได้เพราะทราบว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 และเมื่อทราบข้อทักท้วงจากสำนักงบประมาณก็เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 นางเอมปรีดิ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง เสนอรายงานการสอบสวนดังกล่าว พร้อมความเห็นประกอบว่าเห็นควรยุติเรื่อง ซึ่งจำเลยที่ 3 เห็นชอบด้วย และเกษียนสั่งกำชับให้ถือปฏิบัติตามระเบียบโดยเคร่งครัด นายพงษ์ศักดิ์ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือสั่งจ้างทั้งสองฉบับ เบิกความว่า การลงนามในหนังสือสั่งจ้างก่อนที่จะได้รับใบงวดจากสำนักงบประมาณเกิดจากเจ้าหน้าที่ทราบว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ซึ่งโดยปกติเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณประกาศใช้ก็จะได้รับการอนุมัติงวดเงินในวันนั้น ซึ่งในกรณีนี้ คือวันที่ 11 ตุลาคม 2556 แต่ปรากฏว่าสำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินงบประมาณประจำงวดให้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556
เห็นว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี นั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบแต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมประชุม คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 นั้น แม้การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมืองในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แต่การอนุมัติให้แก่การก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวดที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นดุลพินิจและอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องอนุมัติก่อนมีการก่อหนี้ผูกพัน แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้สั่งการให้จัดทำโครงการ Roadshow และจำเลยที่ 2 มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้เสนอเรื่องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขาดเจตนาพิเศษในการกระทำความผิด
จากเหตุผลที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ข้อเท็จจริงทางต่สวนรับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow 12 จังหวัด มิใช่เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้นำงบประมาณ จำนวน 40,000,000 บาท และ 200,000,000 บาท มาใช้จ่ายในโครงการ Roadshow โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและแก่ทางราชการ หรือโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มาตรา 13
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า การสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้นจะต้องมีผู้อื่นเป็นตัวการในการกระทำผิด หากเป็นกรณีที่ไม่มีตัวการกระทำผิดในความผิดดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในความผิดนั้นก็ย่อมไม่อาจมีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มาตรา 13 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว
กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- เปิดสำนวน ป.ป.ช.เปลือยพฤติการณ์‘บิ๊ก’รบ.ยิ่งลักษณ์ฮั้ว‘2 สื่อดัง’จัดอีเวนต์ 240 ล.
- ย้อนปม รบ.ยิ่งลักษณ์จัดอีเวนต์ 240 ล.ก่อน ป.ป.ช.ชี้มูล‘สุรนันทน์-ปู-นิวัฒน์ธำรง’ฮั้วสื่อ?
- มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์ฟัน‘สุรนันท์’-ข้างมากชี้มูล‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-2 บิ๊กสื่อ’ฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ป.ป.ช.ชี้มูลผิดคดี'บิ๊ก'รบ.ยิ่งลักษณ์ ฮั้ว 2 สื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.-สัปดาห์หน้าแถลง
- อนุฯ ป.ป.ช.สรุปคดี‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์’ฮั้ว 2 บิ๊กสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.-กก.ชุดใหญ่ชี้ขาด
- ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา ‘ยิ่งลักษณ์-สุรนันท์-นิวัฒน์ธำรง’ พวก 17ราย คดีฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ประมวล“ข้อสังเกต-คำถาม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ้างสื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.
- เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.
- "สตง."ตั้งทีมติดตามข้อมูล"รบ.ยิ่งลักษณ์"จ้าง"สื่อเอกชน"จัดอีเวนต์ 240 ล.
- พิลึก"รบ."ประกาศราคากลางหลังใช้“วิธีพิเศษ”จ้างอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.
- ผู้ว่าฯสุราษฎร์ฯเกณฑ์คนร่วมอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.ที่ปชป.ยำใหญ่ในสภา