"....คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมุล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ..."
คดีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาบางกอกฟุตซอลอารีน่าของกรุงเทพมหานคร วงเงิน 1,239 ล้านบาท
เป็นอีกหนึ่งข้อร้องเรียนการบริหารงานของ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารระดับสูงของกทม.หลายราย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงปี 2556
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ลุยสอบ "ม.ร.ว.สุขุมพันธ์" คดีก่อสร้างสนามฟุตซอล 1.2 พันล้าน)
ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร และพวกรวม 5 ราย ในคดีนี้เป็นทางการแล้ว
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นทางการว่า กรณีเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรตือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหา ประกอบไปด้วย
1. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
3. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
4. นายจุมพล สำเภาพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร
5. นายวินัย ลิ่มสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการโยธา
@ธีระชน มโนมัยพิบูลย์
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป มี 3 ประเด็น คือ
1.ทำสัญญาจ้างก่อสร้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้าง
2.แก้ไขแบบแปลนอาคาร Futsal Stadium เป็นเหตุให้ฟีฟ่าไม่อนุญาตให้ใช้สนามดังกล่าวเป็นสนามแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7
3.เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยการนำลูกจ้างและข้าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ ไปช่วยก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แยกเป็นประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 โครงการนี้มีการทำสัญญาจ้างก่อสร้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้างหรือไม่
ตามข้อกล่าวหาที่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา เสนอให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทำสัญญากับบริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่
1 กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องส่งมอบพื้นที่ซึ่งพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันให้ทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 และส่วนที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยงานทดสอบระบบ และงานอื่น ๆ กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน 450 วัน แต่ตามสัญญาจ้างเลขที่ สนย. 7/2555 ที่กรุงเทพมหานครทำไว้กับ บริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้กำหนดเวลาการก่อสร้างไว้เป็น 2 ส่วน ตามที่มีการเสนอแต่อย่างใด ทั้งกำหนดค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตรา 1,239,000 บาท ต่อวัน (ร้อยละ 0.10 ของราคางานจ้าง) หากงานทั้งหมดตามสัญญาไม่แล้วเสร็จภายใน 450 วัน ส่งผลให้บริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องชำระค่าปรับหากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 เป็นการการทำสัญญาจ้างก่อสร้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้างหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักการโยธาได้เสนอให้กรุงเทพมหานครทำสัญญากับผู้รับจ้างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2555 ว่า "...อนุมัติให้จ้าง บริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) กำหนดแล้วเสร็จภายใน 450 วัน โดยส่วนที่ 1 ผู้รับจ้างต้องส่งมอบพื้นที่ซึ่งพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันให้ทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 และส่วนที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยงานทดสอบระบบ และงานอื่น ๆ กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน 450 วัน และกำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.10 ของราคางานจ้าง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.10 ของราคาค่าจ้างตามสัญญา หากไม่สามารถดำเนินการงานส่วนที่ 1 ให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 และค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.10 ของราคาค่าจ้างตามสัญญา หากไม่สามารถดำเนินการงานส่วนที่ 2 แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา 450 วัน...."
แต่บริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะประมูลขอแก้ไขข้อความร่างสัญญาก่อนลงนามเป็นไม่กำหนดค่าปรับการส่งมอบงานล่าช้าในส่วนที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าเวลาที่ประมาณการว่าจะได้ลงมือทำงานนั้นได้ผ่านมาแล้วกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ประกาศให้เป็นผู้ชนะในการเสนอราคา (วันที่ 6 ต.ค. 54) กรุงเทพมหานครกับผู้รับจ้างจึงทำสัญญากันโดยไม่ได้กำหนดค่าปรับไว้ในส่วนที่ 1 หากส่งมอบพื้นที่ไม่ทันวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นั้นยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้าง เนื่องจากมีเหตุผลรับฟังได้สมเหตุสมผลว่าหากไม่แก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่จะลงนามตามที่ผู้รับจ้างร้องขอก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้รับจ้างจะไม่ลงนามในสัญญาเป็นผู้รับจ้างในโครงการนี้เนื่องจากความล่าช้าในการที่จะได้ลงมือทำงานกว่า 90 วันนั้นส่งผลให้เหลือระยะเวลาที่จะดำเนินการก่อสร้างสนามเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกอีกเพียง 10 เดือนเท่านั้น ตามคำให้การของพยานและหนังสือ ที่... ซึ่งการก่อสร้างด้วยเวลาจำกัดเช่นนี้ผู้รับจ้างจะต้องปรับเปลี่ยนแผนงานการก่อสร้างโดยต้องทุ่มกำลังเครื่องจักร ช่างและแรงงาน เป็นสองเท่าเพื่อเร่งทำงาน 24 ชั่วโมงให้แล้วเสร็จทันเวลาแข่งขันที่จะมีขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับการก่อสร้างตามปกติทั่วไป กรุงเทพมหานครคาดเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) จะไม่ลงนามในสัญญาหากไม่ปรับแก้ข้อความในสัญญาที่จะลงนาม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะต้องเริ่มดำเนินกระบวนการจัดหาตัวผู้รับจ้างใหม่ ทำให้เสียเวลาและทำการก่อสร้างสนามไม่ทันใช้แข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์ฟุตซอลโลกในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 เป็นอย่างแน่แท้ ทั้งจะเกิดความเสียหายต่อกรุงเทพมหานครร่วมทั้งประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศเจ้าภาพด้วย
กรุงเทพมหานครจึงได้แก้ไขข้อสัญญาที่จะลงนาม พร้อมอ้างว่าค่าปรับเป็นเพียงมาตรการลงโทษถึงแม้ในสัญญาจะกำหนดค่าปรับไว้สูงเพียงใด หากแผนงานและวิธีการทำงานของผู้รับจ้างไม่สอดคล้องกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ก็ย่อมทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดอยู่นั้นเอง ดังนั้นหากกำหนดค่าปรับไว้ก็จะเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบแก่ผู้รับจ้างเกินสมควร อีกทั้งการกำหนดค่าปรับเป็น 2 ส่วนนี้ เป็นการขอเสนออนุมัติเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งผิดไปจากกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามหนังสือเชิญผู้รับจ้างให้มาเสนอราคา เมื่อเดือนกันยายน 2555 (กำหนดแล้วเสร็จภายใน 450 วัน) ผู้รับจ้างย่อมจะปฏิเสธไม่ลงนามสัญญาได้
อนึ่งเหตุที่ลงนามในสัญญาล่าช้าเนื่องจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดว่าจะก่อหนี้ผูกพันได้ก็ต่อเมื่อสำนักงบประมาณได้เห็นชอบรูปแบบรายการและจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาลให้แล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบรูปแบบรายการและจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาลจากสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และได้รับแจ้งทางโทรสารเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554
เมื่ออัยการสูงสุดแจ้งว่าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนลงนามนั้นจะต้องเป็นสัญญาลักษณะอย่างไรแล้ว ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา โดยสัญญาจ้างดังกล่าวนี้ได้ผ่านการตรวจร่างสัญญาจากสำนักกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 126 แล้ว อีกทั้งการส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่ 1 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ก็ได้ความจากคำให้การของ พยานในสำนวน ว่ามีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 87.50 ของงานก่อสร้างทั้งหมด มิได้ล่าช้าแต่อย่างใดสอดคล้องกับภาพถ่ายขณะดำเนินการ
จึงเห็นว่าการทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร Futsal Staduim ระหว่างกรุงเทพมหานครผู้ว่าจ้างกับบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างนี้ ไม่เป็นการทำสัญญาโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้างแต่อย่างใด จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูลเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประเด็นที่ 2 แก้ไขแบบแปลนอาคาร Futsal Stadium เป็นเหตุให้ฟีฟ่าไม่อนุญาตให้ใช้สนามดังกล่าวเป็นสนามแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ปี 2012 หรือไม่
ตามที่กล่าวหาว่า ในเบื้องต้นพบว่ากรุงเทพมหานครมีการแก้ไขสัญญา รวม 3 ครั้ง โดยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานหลายรายการ ต่อมาพบว่าอาคาร Futsal Stadium ที่ก่อสร้าง ณ เดือนพฤศจิกายน 2555 มีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับภาพจำลองโครงการที่ออกแบบโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ฟีฟ่าไม่อนุญาตให้ใช้สนาม ส่งผลให้การก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium ดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อสร้าง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการออกแบบสนามสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเป็นครั้งคราว โดยการออกแบบจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กำหนด ทั้งขณะที่ดำเนินการออกแบบสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ก็จะให้คำแนะนำการออกแบบมาให้บ้าง (ด้วยวาจา) ต่อมาเมื่อการออกแบบเป็นไปตามที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กำหนด ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้จัดส่งแบบให้กับทางกรุงเทพมหานครดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างต่อไป (ตามคำให้การของพยาน) การดำเนินการก่อสร้างมีการแก้ไขสัญญา รวม 6 ครั้ง กรุงเทพมหานครได้ขอคำปรึกษากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 3 ครั้ง เกี่ยวกับกรณีการเปลี่ยนระบบโครงสร้างจาก Stay Cable เป็นระบบ Tension Bars ,เรื่องการใช้หลังคา Metal Sheet และ PU Foam และเรื่องการจัดพื้นที่ในตัวอาคารให้สอดคล้องกับการถ่ายทอดสดทางรายการโทรทัศน์ แต่เหตุที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนามนั้นต้องขอทราบข้อเท็จจริงจากฟีฟ่าสำนักงานของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์การขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารพยานหลักฐานรวมทั้งสอบถ้อยคำพยานบุคคลที่จะนำมาใช้ในการดำเนินคดีต้องกระทำผ่านผู้ประสานงานกลางของแต่ละประเทศตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คดีนี้ได้ทำเรื่องขอความร่วมมือระหว่างประเทศจากสมาพันธรัฐสวิสแล้วและดำเนินการจัดทำคำรับรองตามที่สมาพันธรัฐสวิสร้องขอแล้วโดยสมาพันธรัฐสวิสร้องขอให้ทำคำรับรองตาม ข้อ a - f แต่มีอุปสรรคทางอำนาจทางกฎหมายที่ไม่อาจทำคำรับรองในข้อ f ได้ (ผู้แทนทางการทูตของสมาพันธรัฐสวิสอาจสอบถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินคดีอาญาเมื่อใดก็ได้ เข้าฟังการพิจารณาคดี และขอรับสำเนาคำพิพากษาเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินคดีแล้วได้ และผู้แทนทางการทูตฯ อาจเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ
นอกจากนั้น ผู้ต้องหาสามารถพูดคุยกับผู้แทนทางการทูตฯ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าในระหว่างการสอบสวน หรือการถูกคุมขัง) เนื่องจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์แจ้งว่าขัดต่อระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เว้นแต่เว้นแต่กรณีผู้ต้องขังนั้นเป็นผู้ต้องขังสัญชาติสวิส สมาพันธรัฐสวิสแจ้งว่า คำรับรองที่จัดทำไปนั้นไม่เพียงพอที่จะให้ความร่วมมือได้ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำคำรับรองใหม่ คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 77/2563 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติให้แจ้งกระทรวงยุติธรรมและตำรวจแห่งสมาพันธรัฐสวิสผ่านอัยการสูงสดุผู้ประสานงานกลาง ว่า ในขณะนี้ การไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาจากสมาพันธรัฐสวิส สำนักงาน ป.ป.ช. ประสงค์ที่จะใช้ข้อมูลและพยานหลักฐานภายในประเทศ
คดีนี้จึงไม่ได้รับข้อมูลจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ว่าเพราะเหตุใดสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ไม่อนุญาตให้ใช้สนามดังกล่าวเป็นสนามแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ปี 2012 นี้ อีกทั้งพยานผู้เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ก็ให้การว่าไม่ทราบสาเหตุที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนามนี้จัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 เช่นกัน
จากการไต่สวนได้ความว่าฟีฟ่าได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบสนามในระหว่างการก่อสร้างจำนวนหลายครั้งและได้สั่งให้กรุงเทพมหานครแก้ไขและเพิ่มรายการก่อสร้างหลายรายการเช่นทางอพยพหลังอัฒจันทร์, บริเวณสถานที่ถ่ายทอดสัญญาณภายในสนาม และห้องกรรมการตัดสินเป็นต้น (ตามถ้อยคำ พยานในสำนวน) สรุปได้ว่า ฟีฟ่าสั่งให้กรุงเทพมหานคร แก้ไขเพิ่มเติมแบบแปลนสนาม 44 รายการ จากแบบแปลนเดิม ดังนี้
1. เพิ่มห้องกรรมการผู้ตัดสิน 2 ห้อง
2. เพิ่มบันไดหนี้ไฟ 12 จุด
3. ทำ Camera Platform 4 จุด และย้ายจากจุดเดิมไปจุใหม่อีก 1 จุด
4. เพิ่มบันไดทางออกฉุกเฉิน 16 จุด
5. ย้ายตำแหน่งรถถ่ายทอด OB Van 1 จุด และให้เทพื้นคอนกรีต 300 ตารางเมตร
6. เพิ่มห้อง TV Office, TV Compound, Engineering Room 4 ห้อง
7. เพิ่มทางเข้าออก 2 จุด (รวมทั้งหมด 18 จุด)
กรณีจึงเป็นการแก้ไขแบบแปลนอาคาร Futsal Stadium เพื่อให้สนามมีความเหมาะสมมีมาตรฐานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในการแข่งขันทั้งนี้เป็นการแก้ไขตามความประสงค์หรือข้อกำหนดของทางฟีฟ่า โดยเรื่องนี้สำนักการโยธได้มีหนังสือกรุงเทพมหานคร ขออนุมัติต่อ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในหลักการที่จะให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างเนื้องานที่เปลี่ยนแปลงไปก่อนการแก้ไขสัญญา โดยดำเนินการก่อสร้างได้ทันทีตามรูปแบบที่หน่วยงานพิจารณาอนุมัติวัสดุและอนุมัติ Shopdrawing ส่วนการเพิ่ม - ลด เนื้องาน และการแก้ไขสัญญาให้ดำเนินการตามขั้นตอนราชการต่อไป ซึ่งผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร โดยนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 เนื่องจากโครงการนี้ ในหน้างานต้องแก้ไขหรือก่อสร้างตามที่เจ้าหน้าที่ FIFA ผู้ตรวจสนามสั่งการ เพื่อสนับสนุน FIFA อย่างเต็มที่ในการจัดการสนามแข่งขัน โดยกรุงเทพมหานครจะสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการไปทันที่เลย แล้วค่อยมาดำเนินการแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องตามเนื้องานในภายหลัง อีกทั้งโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความยุ่งยากซับซ้อน ในขั้นตอนการออกแบบอาจมีบางรายการที่ไม่ได้พิจารณาไว้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้างจำเป็นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นไปตามหลักสถาปัตยกรรมและหลักวิศวกรรม ทั้งนี้ต้องเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายในเดือนตุลาคม 2555 ก่อนเปิดการแข่งขันจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขพร้อมก่อสร้างในเวลาเดียวกัน โดยวัสดุหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของฟีฟ่ากำหนดไว้ และเป็นการดำเนินการโดยชอบตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 130 ซึ่งได้ความจากคำให้การของพยานในสำนวน ว่ากรุงเทพมหานครได้มีการทดสอบระบบความปลอดภัยของอาคาร Futsal Staduim แล้วในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2555 สอดคล้องกับคำให้การของพยานอีกคนในสำนวน ว่า "ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2555 กรุงเทพมหานครได้มีการทดสอบระบบความปลอดภัยโดยการทดสอบการอพยบการหนีไฟ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ซึ่งมีผู้แทนของ FIFA ร่วมเป็นพยานและได้ให้คำแนะนำระหว่างการทดสอบ และกรุงเทพมหานครได้มีการเชิญผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร (VISUAL CHECK)"
จากพยานเอกสารพบว่าสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมทดสอบการอพยพโดยจำลองว่าหากมีเหตุอัคคีภัยจะใช้เวลาในการอพยพออกจากสนามด้วยเวลาเท่าใดและรับรองความปลอดภัยโครงสร้างของสนาม โดยได้ความว่าวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้คำนวณระยะเวลารวมที่ใช้ในการอพยพจากชั้น 1 ออกสู่ภายนอกอาคารได้เวลา 5.78 นาที ส่วนตัวโครงสร้างอาคารก็ได้ รับว่าได้ตรวจสอบเอกสารและลักษณะความปลอดภัยทางกายภาพของอาคารแล้วแนะนำว่าอาคารนี้มีศักยภาพที่จะใช้ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ตามที่ฟีฟ่ากำหนด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครควรปฏิบัติตามแผนความปลอดภัยและการอพยพอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำเอกสารดังกล่าวเสนอต่อฟีฟ่าให้รับทราบแล้ว
โดยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามที่ฟีฟ่าสั่งการแล้ว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฟีฟ่าได้กำหนดมาตรฐานของสนามแข่งขันฟุตซอลไว้ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งตามคำให้การของ พยานในสำนวนได้ความว่า ฟีฟ่าได้กำหนดว่าสนามควรมีพื้นที่ใช้สอยแต่ละส่วนอย่างไรบ้าง เช่น ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องรับรอง ห้องพักนักกีฬา พื้นที่บริเวณถ่ายทอดสด ที่นั่งสื่อมวลชล หรือแขก VIP ขนาดของพื้นที่สนาม ระยะห่างระยะร่นระหว่างที่นั่งกับขอบสนาม เป็นต้น เห็นว่ากรุงเทพมหานครได้ให้ความร่วมมือกับฟีฟ่าอย่างเต็มกำลังศักยภาพแล้วสำหรับการก่อสร้างสนามเพื่อใช้แข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ปี 2012 ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความตกลง HOST CITY AGREEMENT แล้วซึ่งบันทึกดังกล่าวสรุปความได้ว่าเมืองเจ้าภาพ (กรุงเทพมหานคร) จะต้องให้ความร่วมมืออย่างเติมกำลังกับ FIFA และองค์กรในการคัดเลือก สนามกีฬาที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน และต้องให้ความเคารพกับการคัดเลือก การคัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอาคารสถานที่จัดการแข่งขันและสนามฝึกซ้อมภายในเมืองเจ้าภาพจาก FIFA นอกจากนี้เมืองเจ้าภาพจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถกับสมาคมในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และพื้นฐานโครงสร้างของอาคารและสถานที่จัดการแข่งขัน แต่เมื่อฟีฟ่าตัดสินใจไม่ใช้สนามนี้ในการแข่งขันโดยไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดว่าด้วยเหตุผลใด
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฟีฟ่า เลือกใช้สนาม อินดอร์ เสตเดี้ยม หัวหมาก, อาคารมินิบุตร และสนามชาติชายฮอลล์ (จังหวัดนครราชสีมา) ในการจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ปี 2012 ซึ่งเป็นกรณี ที่กรุงเทพมหานครได้เคารพการตัดสินใจการคัดเลือกสนามที่ใช้ในการแข่งขันของฟีฟ่าแล้ว การที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนาม จึงเป็นกรณีที่มิอาจก้าวล่วงเสียได้ ประกอบกับได้ความจากพยาน ให้การว่า ฟีฟ่ามีแผนสำรองไว้อยู่แล้วหากสนาม Futsal Stadium ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแผนสำรองดังกล่าวว่ากำหนดไว้เป็นอย่างไร จึงเห็นว่าการแก้ไขแบบแปลนเป็นไปตามข้อสั่งการของฟีฟ่า การที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนามจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดของกรุงเทพมหานคร
พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่
ประเด็นที่ 3 เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยนำลูกจ้างและข้าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างต่าง ๆ ไปช่วยก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium หรือไม่
ตามที่กล่าวหาว่าในการก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium มีพนักงานและลูกจ้าง และรถยนต์บรรทุกของกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่ง เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว ทั้งที่ขณะนั้นกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับมอบพื้นที่คืนจากผู้รับจ้างทั้งนี้เพื่อเข้าไปช่วยก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium ให้แก่ผู้รับจ้าง
จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด เคยให้คำแนะนำต่อกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร Fusal Stadium เช่น การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 4 เนื่องจาก ช่วงเดือน กรกฏาคม - สิงหาคม 2555 มีฝนตกชุก ผู้รับจ้างไม่สามารถเร่งรัดงานทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมงได้เต็มที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดการแข่งขัน ที่ปรึกษาจึงได้ให้คำแนะนำกับ กรุงเทพมหานคร และผู้รับจ้าง ควรจะทำข้อตกลงกันในกรณีที่กรุงเทพมหานครเห็นว่ามีความเสี่ยงที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดการแข่งขัน FUTSAL ชิงแชมป์โลกได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้สัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 4) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2555 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ในกรณีที่มีเนื้องานในส่วนที่ 1 ตามสัญญาส่วนหนึ่งส่วนใดที่ผู้ควบคุมงานหรือกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ว่าจ้างเห็นว่าหรือคาดหมายได้ว่ามีความเสี่ยงที่ผู้รับจ้างจะดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ เพื่อการจัดการแขงขันฟุตซอลโลก ครั้งที่ 7 ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเข้าดำเนินงานในส่วนดังกล่าวได้ทันที
2. ในกรณีที่กรุงเทพมหานครได้ใช้สิทธิตามข้อ 2 คู่สัญญาตกลงให้มีการตัดลดเนื้องาน และเงินค่าจ้างลงตามสัดส่วนของงานออกจากสัญญาจ้างตามความเป็นจริง โดยคำนวณค่างานที่ลดลงตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีแสดงปริมาณงานและงวดการจ่ายเงินที่แนบท้ายสัญญา และในการทดสอบสนามและใช้อาคาร Fusal Stadium เพื่อทำการแข่งขันระหว่างวันที่ 30 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 18 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เป็นการทดสอบความพร้อมของอาคาร Fusal Stadium เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการรับมอบงานตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด
สาเหตุเนื่องจากในช่วงเวลาดำเนินการในเดือนสิงหาคมและกันยายน มีฝนตกชุกเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถทำงานบางรายการได้ตามแผนและไม่สามารถเร่งรัดทำงานตลอด 24 ชั่วโมงได้ ทำให้การทำงานล่าช้าลง กรุงเทพมหานครในฐานะผู้ว่าจ้างเห็นว่าหรือคาดหมายได้ว่ามีความเสี่ยงที่บริษัทฯจะไม่สามารถดำเนินงานในส่วนที่ 1 ได้แล้วเสร็จตามกำหนด กรุงเทพมหานครจึงใช้สิทธิที่จะดำเนินการตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 4) ข้อที่ 2.
ดังนั้น กรุงเทพมหานครสามารถใช้สิทธิที่จะนำเจ้าหน้าที่ คนงานและเครื่องจักรเข้าไปดำเนินการ โดยทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวในภายหลังได้ ซึ่งปรากฏว่ากรุงเทพมหานครได้จัดบุคลากรและอุปกรณ์เข้าดำเนินการทำความสะอาดจัดเตรียมพื้นที่สนามเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำให้การของพยานในสำนวน ซึ่งให้การว่า "เหตุที่กรุงเทพมหานครนำรถยนต์บรรทุกและเครื่องจักรร่วมทั้งพนักงานเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างดังกล่าว เนื่องจากขณะนั้นเวลากระชัดชิดกับวันที่กำหนดเปิดการแข่งขัน กรุงเทพมหานครเกรงว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่ทันพิธีเปิดการแข่งขัน จึงนำรถยนต์และเครื่องจักรรวมทั้งพนักงานเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างเพื่อทำการก่อสร้างและทำความสะอาดบริเวณสถานที่ก่อสร้าง โดยงานในส่วนนี้กรุงเทมหานครได้มีการแก้ไขสัญญาลดเนื้องานออกจากสัญญาแล้ว"
ทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่ากรุงเทพมหานครได้คิดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,583,600 บาท แจ้งผู้รับจ้างทราบตามหนังสือสำนักการโยธา ที่ กท 0900/21 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 และผู้รับจ้างมีหนังสือที่ EMC/FS/BMA/L-086/2556 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ขอให้ทบทวนค่าใช้จ่าย โดยแจ้งว่าจากการจดบันทึกข้อมูลในการช่วยทำความสะอาดของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร 4,690 เที่ยว ราคาเที่ยวละ 700 บาท เป็นเงินจำนวน 3,283,000 บาท จากการตรวจสอบมูลค่าเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานครคิดราคาเที่ยวละ 500 บาท พิจารณาแล้วเห็นว่าราคาต่อหน่วยที่ผู้รับจ้างแจ้งมานั้นสูงกว่าราคาต่อหน่วยของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเห็นควรคิดค่าใช้จ่ายตามที่ผู้รับจ้างเสนอ คือ 3,283,000 บาท
จึงเห็นว่าในการก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium มีพนักงาน ลูกจ้าง และรถยนต์บรรทุกของกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่ง โดยที่ขณะนั้นกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับมอบพื้นที่คืนจากผู้รับจ้างทั้งนี้เพื่อเข้าไปช่วยทำความสะอาดอาคาร Futsal Stadium ให้แก่ผู้รับจ้าง ก็เนื่องจากเป็นการบริหารสัญญาจ้างของ หน่วยงานของรัฐเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจ้างก่อสร้างให้สามารถใช้สนามสำหรับแข่งขันได้ทันต่อเวลาจัดการแข่งขันของฟีฟ่า การนำพนักงานและเครื่องจักรเข้าไปช่วยทำความสะอาดสนามดังกล่าวนั้น จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการดำเนินการโดยชอบตามสัญญาจ้างก่อสร้าง
เมื่อกรุงเทพมหานครได้คิดค่าใช้จ่ายจาก ผู้รับจ้างจำนวน 3,283,000 บาท แล้ว จึงเห็นว่าไม่เป็นการดำเนินการโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมุล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ปิดฉากการไต่สวนคดีนี้ ที่ใช้เวลามายาวนานตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นทางการ
อ่านประกอบ :