"...มีเจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามคําขอของโจทก์ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดินพิพาทรวมสิบเอ็ดฉบับ แม้ได้ความตามที่จําเลยที่ 6 นําสืบว่า ปัจจุบันโฉนดที่ดินพิพาทจําเลยที่ 6 ขายให้แก่บริษัท ไพวัลย์ จํากัด แล้วก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีขอให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดิน เมื่อทางไต่สวนฟังได้ว่าการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งฉบับ ..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดเนื้อหาส่วนแรกในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เกี่ยวกับอำนาจตำแหน่งหน้าที่ และพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยในคดีกล่าวหาอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ กับพวก ออกเอกสารสิทธิ์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่และในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ณ ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่เนื้อที่ 66 ไร่เศษ มีการนำที่ดินนอกหลักฐานอันเป็นที่ของรัฐประมาณ 19 ไร่เศษ นำมาจัดทำเป็นเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบเรื่องนี้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเอกชน ซึ่งนายประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ก่อตั้งบริษัทในกลุ่มเนสกาแฟ ปรากฏชื่อเป็นจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด ถูกลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 2 ปี 8 เดือน พร้อมสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับ ขณะที่จำเลยทุกรายยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- เปิดคำพิพากษาคดีออกเอกสารสิทธิ์กระบี่'ประยุทธ มหากิจศิริ-พวก' (1) จนท.ทุจริตสมยอมรังวัด!
- เปิดคำพิพากษาคดีออกเอกสารสิทธิ์กระบี่'ประยุทธ มหากิจศิริ-พวก' (2) จำเลย11ราย ผิดอย่างไร?
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรานำเสนอประเด็นปัญหาที่ศาลวินิจฉัย 3 ประการ จากทั้งหมด 6 ประการ ได้แก่
1.โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ที่ 4 หรือไม่
2.จําเลยที่ 1 ที่ 4 ในประการต่อมาว่า ความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกัน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือ ครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอํานาจไต่สวนหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่
3.จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้เป็นประเด็นปัญหาที่ศาลวินิจฉัย 3 ประการสุดท้าย คือ
4.กรณีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 เลขที่ดิน 1 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,151,157 จําเลยที่ 5 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 และจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147, 151 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 หรือไม่
5.จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้องหรือไม่
6.กรณีมีเหตุเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับหรือบางส่วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสาม ประกอบมาตรา 93 หรือไม่
มีรายละเอียดดังนี้
@ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า กรณีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 เลขที่ดิน 1 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,151,157 จําเลยที่ 5 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 และจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147, 151 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 หรือไม่
โจทก์มีพยานบุคคล เบิกความประกอบรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึง 151 ได้ความว่าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 จําเลยที่ 7 รับมอบอํานาจจากจําเลยที่ 6 ยื่นคําขอออกโฉนดที่ดิน สํานักงานที่ดินออกใบนัดรังวัด ออกหนังสือถึงหน่วยราชการและเจ้าของที่ข้างเคียง เพื่อระวังชี้แนวเขต จากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2550 นายนิคม นายช่างรังวัด 6 ทําการรังวัดที่ดินจัดทําบันทึกถ้อยคําเจ้าของที่ดินข้างเคียง ใบไต่สวน จัดทํารายงานการรังวัดออกโฉนด (ร.ว. 3 ก.) ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ว่า "ข้างเคียงรับรองแนวเขตครบทุกด้าน"
สอบสวนผู้ขอแล้วให้ถ้อยคําว่า เป็นของผู้ขอจริง โดยซื้อจากนายดล บุตรหลี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 ทําประโยชน์เป็นที่สวนปาล์ม ไม่เป็นที่สาธารณะ หรือที่หลวงหวงห้าม สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว เป็นที่ดินตรงตามหลักฐาน และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ผู้ขอนําหลักฐานที่ดินหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ 263 เนื้อที่ 73-0-82 ไร่ เป็นหลักฐานการรังวัด การรังวัดครั้งนี้ทําการรังวัดเป็นแผนที่ชั้น 2 โยงยึดหมุดหลักฐานแผนที่ มาตราส่วน 1:4,000 ยึดโยงหลักเขตที่ดินแปลงข้างเคียงคํานวณเนื้อที่ทางพิกัดฉากได้เนื้อที่ 85-2-32 ไร่ กว่าเดิม 12-1-50 ไร่ เป็นเพราะการรังวัด และคํานวณต่างวิธีกัน ตลอดจนการครอบครองแตกต่างจากหลักฐานเดิมขึ้นต้นร่างเพื่อลงที่หมายรูปแผนที่ มาตราส่วน 1:4,000 ใช้ดําเนินการลงระวาง
ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ อยู่นอกเขตเทศบาล ลงที่หมายรูปแผนที่ในระวาง 4725 || 7296 มาตราส่วน 1:4,000 แล้ว ไม่ทับที่แปลงข้างเคียง ที่หลวงหวงห้าม หรือที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ได้ตรวจสอบแนวเขตป่าไม้ จากระวางปรากฏว่า ที่ดินแปลงนี้ติดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินบางส่วน เห็นควรสอบถามตามข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นควรใช้รูปแผนที่และเนื้อที่ตามผลการรังวัดครั้งนี้ดําเนินการต่อไป เสนอจําเลยที่ 1 ผ่านจําเลยที่ 4 หัวหน้าฝ่ายรังวัดซึ่งให้ความเห็นว่า เห็นควรใช้รูปแผนที่และเนื้อที่ตามผลการรังวัดครั้งนี้ สอบถามปฏิรูปที่ดินและป่าชายเลน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 จําเลยที่ 1 มีความเห็นและสั่งการว่า "ตรวจสอบรูปแผนที่หนังสือรับรองการทําประโยชน์กับรูปแผนที่รังวัดออกโฉนดที่ดินแล้ว มีข้อสังเกตตรงเหมืองสาธารณประโยชน์ และด้านทิศเหนือ แตกต่างจากเดิม และเนื้อที่เพิ่มขึ้น" และแต่งตั้งจําเลยที่ 2 นายนิคม และจําเลยที่ 3 เป็นคณะกรรมการตรวจสอบว่า นํารังวัดทับเหมืองสาธารณประโยชน์และนําที่ดินนอกหลักฐานมารวมหรือไม่ อย่างไร และมีหนังสือสอบถามสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามข้อตกลงกับกรมที่ดิน สอบถามป่าชายเลนกับที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลนหรือไม่ อย่างไร
สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกระบี่มีหนังสือแจ้งว่าตรวจสอบหลักฐานและตําแหน่งที่ดินแล้ว ปรากฏว่าแปลงที่ดินดังกล่าวข้างต้นมีเนื้อที่บางส่วนด้านทิศเหนืออยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน โครงการป่าที่จําแนกฯ ป่าคลองกะโหรด - ป่าคลองหิน ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการออกหลักฐานโฉนดที่ดินให้กับผู้ยื่นคําขอ หากหลักฐานเดิมเป็นหลักฐานที่ออกโดยชอบด้วยข้อกฎหมาย และการออกโฉนดที่ดินครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ ผู้ขอและเจ้าของที่ดินข้างเคียงจะต้องไม่สมยอม แนวเขตกัน
อนึ่ง หากเป็นการออกโดยไม่ถูกต้อง สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกระบี่ ขอสงวนสิทธิการไม่คัดค้านในครั้งนี้ ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินรายงานผลการตรวจสอบ ตามบันทึกข้อความว่าผู้ขอนํารังวัดออกโฉนดที่ดินตามขอบเขตที่ครอบครองทําประโยชน์อยู่จริง สภาพการทําประโยชน์ มีผลอาสินที่มีอยู่เดิม คือ มะพร้าวและปาล์มน้ํามัน มีขอบเขตการทําประโยชน์ที่ชัดเจน ผู้ปกครองท้องที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วไม่ขัดข้อง เห็นสมควรออกโฉนดที่ดินให้ผู้ขอตามที่นํารังวัดออกโฉนดที่ดิน ซึ่งได้ครอบครองทําประโยชน์อยู่จริง
และจําเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินดังกล่าว และลงนามออกโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 เลขที่ดิน 1 เนื้อที่ 85-2-32 ไร่ ให้กับจําเลยที่ 6 โดยจําเลยที่ 7 ผู้รับมอบอํานาจเป็นผู้รับโฉนดที่ดิน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 ตามเอกสารหมาย จ.32 ถึง จ.49 ส่วนจําเลยที่ 1 และที่ 4 นําสืบอ้างทํานองเดียวกันว่า การดําเนินการของเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดิน จังหวัดกระบี่กระทําไปตามระเบียบ การปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเชื่อโดยสุจริตว่าการดําเนินการตรวจสอบ สอบถาม ตรวจสอบแนวเขต ชอบแล้ว การกระทําของจําเลยที่ 1 ที่ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามอํานาจหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการทุกประการ
จําเลยที่ 2 นําสืบอ้างว่า เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียน มีหน้าที่ควบคุม การออกโฉนดให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายตรวจสอบเอกสารเพื่อส่งเรื่องให้จําเลยที่ 1 พิจารณา ไม่มีอํานาจหน้าที่ ไม่มีความรู้หลักวิชาการรังวัดที่ดิน คํานวณเนื้อที่ เพียงได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการขอออกโฉนดที่ดิน การที่เนื้อที่ในการออกโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานเติมสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทําประโยชน์จริงในที่ดินแปลงนั้น ๆ ประกอบแนวเขตที่ดินข้างเคียง
จําเลยที่ 3 นําสืบอ้างว่า ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายทะเบียน ไม่มีหน้าที่หรือความรู้เกี่ยวกับการรังวัด จึงต้องอาศัยผลการรังวัดที่นายนิคมจัดทํา ผลการสอบพยานบุคคล ผลการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ จําเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบอํานาจที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีเจตนาเพื่อให้จําเลยที่ 6 ได้รับประโยชน์ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกําหนด จึงไม่มีอํานาจฟ้อง
จําเลยที่ 5 นําสืบอ้างว่า การชี้ระวังแนวเขตเหมืองนำสาธารณประโยชน์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนนายอําเภอเมืองกระบี่ จําเลยที่ 5 นําชี้ไปตามสภาพพื้นที่ที่เห็นและเป็นอยู่จริง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกําหนดจึงไม่มีอํานาจฟ้อง
จําเลยที่ 6 ที่ 7 นําสืบทํานองเดียวกัน อ้างว่า ก่อนซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์จากนายวีระศักดิ์ และเจ้าของที่ดินเดิม ทราบว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากซื้อแล้วจําเลยที่ 6 ไม่เคยเข้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิม กระบวนการในการรวมเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทําให้เนื้อที่เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานที่ดิน จําเลยที่ 6 ที่ 7 ไม่ทราบ
ส่วนการขอออกโฉนดที่ดิน จําเลยที่ 7 รับมอบอํานาจไปดําเนินการนําชี้แนวเขตโดยสุจริต จําเลยที่ 6 ที่ 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ การออกโฉนดเป็นไปตามขั้นตอนและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบ คําสั่งกรมที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จําเลยที่ 6 ไม่เคยมอบอํานาจให้จําเลยที่ 7 ไปกระการใด ๆ อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกําหนด จึงไม่มีอํานาจฟ้อง
จําเลยที่ 8 นําสืบอ้างว่า ครอบครองทําประโยชน์ที่ดินทางทิศเหนือของจําเลยที่ 6 เป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาของบิดาภรรยา ไม่เคยสมยอม แนวเขต ชี้แนวเขตตามที่ทําประโยชน์จริง ไม่เคยรับผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้างจากจําเลยคนใด
จําเลยที่ 9 นําสืบอ้างว่า เป็นผู้ครอบครองที่ดินทางทิศเหนือของที่ดินของจําเลยที่ 6 ซึ่งมารดาซื้อมา จากจําเลยที่ 8 ได้ลงชื่อในเอกสารที่ไม่มีการกรอกข้อความที่จําเลยที่ 5 และผู้ดูแลที่ดินของจําเลยที่ 6 นํามาให้ลงชื่อ ไม่ได้รับเงินเป็นการตอบแทน ไม่ได้สมยอมแนวเขต
จําเลยที่ 10 ที 11 นําสืบอ้างว่า เป็นผู้ครอบครองทําประโยชน์ที่ดินทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของจําเลยที่ 6 นําชี้แนวเขตตามที่ทำประโยชน์จริงไม่ได้สมยอมแนวเขต ไม่เคยรับผลประโยชน์
เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดิน....เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดิน....ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด” วรรคสอง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย” มาตรา 59 ตรี บัญญัติว่า “ในการออกโฉนดที่ดิน.... ถ้าปรากฏว่าเนื้อที่ที่ทําการรังวัดใหม่แตกต่างไปจากเนื้อที่ตามใบแจ้งการครอบครองตามมาตรา 5... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ได้เท่าจํานวนเนื้อที่ที่ได้ทําประโยชน์...”
กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 14 ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดิน ต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทําประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสําหรับที่ดินดังต่อไปนี้ (1) ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ํา... (2) ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามตามมาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดิน.... (5) ที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น”
ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532) ว่าด้วยเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดิน.... ข้อ 8 ในการออกโฉนดที่ดิน....ถ้าปรากฏว่าที่ดินมีอาณาเขต ระยะของแนวเขต และที่ดินข้างเคียงทุกด้านถูกต้องตรงกับหลักฐานการแจ้งการครอบครองตาม มาตรา 5... เชื่อได้ว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แต่เนื้อที่ ที่คํานวณได้แตกต่างไปจากเนื้อที่ตามหลักฐานการแจ้งการครอบครองดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดิน...เท่าจํานวนเนื้อที่ที่ได้ทําประโยชน์แล้ว แต่ไม่เกินเนื้อที่ที่คํานวณได้ ข้อ 10 ในกรณีที่ที่ดินนั้นมีด้านหนึ่งด้านใดหรือหลายด้านจดที่ป่า หรือที่รกร้างว่างเปล่าและระยะที่วัดได้เกินกว่าระยะที่ปรากฏในหลักฐานการแจ้งการครอบครองให้ถือระยะที่ปรากฏในหลักฐานการแจ้งการครอบครองเป็นหลักในการออกโฉนดที่ดิน....”
จากบทบัญญัติตามกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบข้อบังคับดังกล่าว การที่จําเลยที่ 6 นําที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์เลขที่ 263 มาขอออกโฉนดที่ดิน และจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะดําเนินการออกโฉนดที่ดินตามที่จําเลยที่ 6 ยื่นคําขอนั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบดังกล่าว โดยจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานที่ดินต้องตรวจสอบว่า ผู้ขอเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทําประโยชน์จริงหรือไม่ แนวเขตที่ดินที่อ้างว่าครอบครองตรงตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์หรือไม่ มีการสมยอมแนวเขตหรือไม่ จากนั้นทําการรังวัดแนวเขตจัดทําแผนที่ และคํานวณ เนื้อที่ว่ามีเท่าใด ประการสําคัญคือที่ดินนั้น ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะออกโฉนดที่ดินได้
ดังนั้นการจะพิสูจน์ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานที่ดิน มีเจตนาทุจริตในการดําเนินการเพื่อพิจารณาอนุมัติออกโฉนดที่ดินให้แก่จําเลยที่ 6 ตามคําขอเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นการยากที่จะใช้พยานบุคคลมายืนยันถึงเจตนาซึ่งอยู่ภายในได้ จึงต้องอาศัยพฤติการณ์ตามที่ปรากฏในเอกสารและการกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานที่ดินเป็นหลักว่า กระทําไปโดยสุจริตภายใต้จิตสํานึกของข้าราชการที่ควรรู้และพึงปฏิบัติตามหน้าที่ของตนหรือไม่
ซึ่งจากการไต่สวนประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่จําเลยที่ 6 จะนําหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ 263 เลขที่ดิน 1 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ มาขอออกเป็นโฉนดที่ดินนั้น จําเลยที่ 6 เคยขอรวมเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์เก้าแปลงให้เป็นแปลงเดียวโดยผ่านกระบวนการรังวัดสอบเขตชี้แนวเขตที่ดิน มีการจัดทําแผนที่เพื่อให้ปรากฏเนื้อที่ที่ชัดเจนมาก่อนแล้ว และสํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ได้พิจารณารวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้แก่จําเลยที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.30 จึงเชื่อว่า จําเลยที่ 6 ย่อมต้องรู้ถึงขอบเขตเนื้อที่ของที่ดินตามหนังสือรับรอง การทําประโยชน์แต่ละแปลง และรู้ถึงเนื้อที่เมื่อมีการรวมเป็นแปลงเดียวแล้วว่า มีเนื้อที่เท่าใด มีการทําประโยชน์อย่างไร หรือไม่ มีอาณาเขตในแต่ละทิศอย่างไร ทั้งก่อนนําการรังวัดชี้แนวเขตจําเลยที่ 7 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอํานาจของจําเลยที่ 6 มีการเข้าไปตรวจสอบระวางภาพถ่ายทางอากาศที่ดินที่จะนํารังวัดก็พบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและเขตปฏิรูปที่ดินบางส่วน ตามเอกสารหมาย จ.32
แต่เมื่อนายนิคมช่างรังวัดทําการรังวัดและจัดทําแผนที่โดยมีจําเลยที่ 7 นําชี้รับรองแนวเขต กลับได้เนื้อที่และรูปแผนที่ ไม่ตรงกับหลักฐานเดิม กล่าวคือ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจํานวนมาก ทั้งที่นายนิคมเองก็ย่อมต้องทราบแนวเขตของที่ดินแปลงดังกล่าวมาก่อนเช่นกัน เนื่องจากเป็นผู้ทําการรังวัดและ จัดทําแผนที่ในการรวมเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับที่จําเลยที่ 6 นํามาขอออกโฉนดที่ดิน แต่นายนิคมก็ยังให้ความเห็นว่าเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการรังวัดและการคํานวณต่างวิธีและมีการทําประโยชน์เต็มพื้นที่ ซึ่งขัดแย้งกับรายงานการศึกษาสภาพพื้นที่บริเวณตําบลหนองทะเล อําเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ของคณะทํางานอ่าน แปล ตีความ วิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จัดทํา เพื่อตรวจสอบการร้องเรียนกรณีมีนายทุนนําที่ภูเขามาออกโฉนดที่ดิน ซึ่งสรุปว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 ตั้งอยู่บริเวณตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เปรียบเทียบรูปแผนที่ระหว่างหนังสือรับรองการทําประโยชน์เดิมเก้าแปลง เนื้อที่รวม 66-1-75 ไร่ กับหนังสือรับรองการทําประโยชน์เลขที่ 263 เนื้อที่ 73-0-82 ไร่ ปรากฏว่ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 6-3-7 ไร่ และเปรียบเทียบรูปแผนที่ระหว่างโฉนดที่ดิน เลขที่ 45374 เนื้อที่ 85-2-32 ไร่ กับหนังสือรับรองการทําประโยชน์เลขที่ 263 เนื้อที่ 73-0-82 ไร่ ปรากฏว่ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 12-1-50 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2510, 2519, 2527 และ 2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีการทำประโยชน์เป็นป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ป่าชายหาดทุติยภูมิ พื้นที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ไม้พุ่ม และพื้นที่ลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 88, 65.50, 60 และ 71 ตามลําดับ โดยมีพื้นที่ที่ทําประโยชน์ที่ดินเพียงบางส่วน มีการปลูกมะพร้าว นาข้าว พืชไร่ ต้นยางพารา และไม้ผลผสม คิดเป็นร้อยละ 12, 34.50, 40 และ 29 ตามลําดับ
สําหรับปี 2545 พื้นที่ส่วนใหญ่มีการทําประโยชน์ที่ดินปลูกปาล์มน้ํามัน ไม้ผลผสมนาข้าว ต้นยางพารา มะพร้าว คิดเป็น ร้อยละ 89 และที่ดินไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตอุทยานแห่งชาติ แต่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และเขตปฏิรูปที่ดินบางส่วน ตามเอกสารหมาย จ.50 ซึ่งผิดวิสัยในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นข้อพิรุธ ส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริตของนายนิคมในการรังวัด จัดทําแผนที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้มีเนื้อที่มากขึ้น โดยพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของหนังสือรับรองการทําประโยชน์ส่วนที่
จําเลยที่ 7 นําชี้เกินจากหลักฐานเดิมนั้น มีสภาพเป็นป่าไม้ถาวร และไม่มีการทําประโยชน์ แต่นายนิคม กลับบันทึกถ้อยคําจําเลยที่ 7 โดยสรุปว่า เป็นการนําชี้แนวเขตตามหลักฐานเดิม และมีจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 มารับรองแนวเขตทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของที่ดินในส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ปรากฏว่ามีหนังสือของสํานักงานที่ดิน เรื่อง การระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินให้มาทําการชี้ระวังแนวเขตเลย คงมีเพียงหนังสือถึงนายอําเภอเมืองกระบี่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หัวหน้าสํานักงานการขนส่งทางน้ําที่ 5 สาขากระบี่ และกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท แผ่นดินทองพรอพเพอร์ตี้จํากัด ตามเอกสารหมาย จ.34 เท่านั้น การบันทึกถ้อยคําของนายนิคมจึงเป็นข้อพิรุธ เชื่อว่าน่าจะเป็นการจดแจ้งที่ไม่ตรงกับความจริง เมื่อนายนิคมเสนอรายงาน ต่อจําเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายรังวัด ตามเอกสารหมาย จ.42 จําเลยที่ 4 มีความเห็นโดยอ้างอิงรายงานของนายนิคม เห็นควรใช้รูปแผนที่ และเนื้อที่ตามผลการรังวัดครั้งนี้ ทั้งที่รูปแผนที่เกี่ยวกับการรังวัดปรากฏชัดเจนว่า มีความแตกต่างจากหลักฐานเดิมมาก ซึ่งผิดวิสัยในการตรวจสอบทําความเห็นตามที่ตนมีอํานาจหน้าที่เพื่อเสนอจําเลยที่ 1
พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่า เป็นการให้ความเห็นเพื่อช่วยหรือเอื้อในการออกโฉนดที่ดินของจําเลยที่ 6 และเมื่อมีการเสนอรายงานต่อจําเลยที่ 1 แล้ว จําเลยที่ 1 สั่งให้ตรวจสอบรูปแผนที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์กับรูปแผนที่ที่รังวัดออกโฉนดที่ดิน มีข้อสังเกตตรงเหมืองสาธารณประโยชน์และด้านทิศเหนือ แตกต่างจากเดิมและเนื้อที่เพิ่มขึ้น และมีคําสั่งตั้งจําเลยที่ 2 ที่ 3 และนายนิคม เป็นกรรมการตรวจสอบให้ตรวจสอบว่า ได้นํารังวัดทับเหมืองสาธารณประโยชน์หรือไม่ นําที่ดินนอกหลักฐานมารวมหรือไม่อย่างไร
จากนั้นจําเลยที่ 2 ที่ 3 และนายนิคมจัดทํารายงานการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.48 มีความเห็นว่า ผู้ขอน่ารังวัดตามขอบเขตที่ครอบครองทําประโยชน์อยู่จริง ผู้ปกครองท้องที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วไม่ขัดข้อง เห็นสมควรออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ขอตามที่นํารังวัด โดยไม่ปรากฏว่าทําการตรวจสอบตามที่จําเลยที่ 1 ให้ตรวจสอบ รายละเอียดและความเห็นของจําเลยที่ 2 ที่ 3 และนายนิคม ทั้งที่เอกสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแผนที่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ลําเหมืองสาธารณประโยชน์ตามหลักฐานเดิมและตามแผนที่ที่จัดทําขึ้นใหม่ในการรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่จําเลยที่ 2 ที่ 3 และนายนิคมก็มิได้นํามาพิจารณา กลับรายงานและเสนอความเห็นเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว
ส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาโดยไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่จําเลยที่ 6 และการที่จําเลยที่ 1 มีคําสั่งว่า “เห็นชอบ ดําเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการ” โดยอ้างอิงเหตุผลตามที่จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นําเสนอ ทั้งที่เอกสารเกี่ยวกับการดําเนินการดังกล่าวปรากฏข้อพิรุธหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแผนที่ที่นายนิคมจัดทํา ซึ่งปรากฏพื้นที่ที่นําการรังวัดแตกต่างจากหลักฐานเดิมมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจํานวนมาก แต่กลับอ้างวิธีการรังวัด และการคํานวณว่าแตกต่างกันแบบเดิมอีกทั้งช่างรังวัดที่ดําเนินการรังวัดจัดทําแผนที่ก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่คนเดียวกันที่จัดทํารูปแผนที่ในคราวที่จําเลยที่ 6 ขอรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์เก้าแปลงให้เป็นแปลงเดียวตามที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้นแล้ว ประกอบกับตามรายงานของจําเลยที่ 2 ที่ 3 และนายนิคม ก็ไม่มีรายละเอียดในการตรวจสอบว่าที่ดินส่วนที่เพิ่มจากหลักฐานเดิมสามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบกําหนดไว้ได้หรือไม่ คงอ้างเพียงมีการทำประโยชน์ต่างจากเดิม แต่การทําประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นการทําประโยชน์ต่อเนื่องจากผู้ใดอย่างไร และเป็นการครอบครองต่อเนื่องก่อนประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้บังคับหรือไม่ ซึ่งถือเป็นข้อสําคัญในการพิจารณาออกโฉนดที่ดิน
เมื่อจําเลยที่ 1 ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดตามบทกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ กลับพิจารณาเพียงว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดไม่เป็นที่หลวงหวงห้าม ไม่ทับที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้มีการพิจารณาว่าที่ดินส่วนที่นําชี้เกินนั้นเข้าหลักเกณฑ์ตามบทกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบของทางราชการ อันเป็นสาระสําคัญในการออกเอกสารสิทธิไม่ กลับจงใจเลี่ยงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายไม่ดําเนินการตรวจสอบให้ชัดเจน ทั้งที่จําเลยที่ 1 เป็นผู้ออกคําสั่งให้ตรวจสอบกรณีรูปแผนที่ที่แตกต่างกัน จํานวนเนื้อที่เพิ่มขึ้น การรังวัดทับเหมืองสาธารณประโยชน์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นความไม่สุจริตของจําเลยที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อออกโฉนดที่ดินให้จําเลยที่ 6
ประกอบกับข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนที่จําเลยที่ 6 ให้ถ้อยคําว่าซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์รวมเก้าแปลงจากนายวีระศักดิ์กับพวก ซึ่งตามหลักฐานเดิม มีเนื้อที่ 66-1-75 ไร่ มีแนวเขตที่ชัดเจน และจําเลยที่ 6 ไม่เคยเข้าปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินนับแต่ซื้อมา แสดงว่าไม่มีการเข้าทําประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตามหลักฐานเดิมหรือที่ดินนอกหลักฐาน แต่เมื่อนําไปขอรวมเป็นแปลงเดียวทําให้ได้ เนื้อที่เพิ่ม 6-3-7 ไร่ รวมเป็น 73-0-82 ไร่ และเมื่อนํามาขอรังวัดขอออกโฉนดดินก็ทําให้ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 12-1-50 ไร่ โดยจําเลยที่ 6 มิได้นําสืบหรือแสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่า ที่ดินส่วนที่เกินจากหลักฐานเดิมดังกล่าวเป็นที่ดินที่จําเลยที่ 6 ครอบครองทําประโยชน์ ต่อจากบุคคลใด และบุคคลดังกล่าวครอบครองทําประโยชน์ต่อเนื่องมาก่อนมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ อย่างไร
จําเลยที่ 6 อ้างเพียงลอย ๆ ว่าซื้อมาจากนายวีระศักดิ์เท่านั้น ซึ่งตามทางไต่สวนในห้วงเวลานั้น นายวีระศักดิ์ประกอบอาชีพรับราชการ ไม่ปรากฏว่าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินบริเวณนอกเหนือจากหลักฐานเดิมที่จําเลยที่ 6 โดยจําเลยที่ 7 เป็นผู้นําชี้แนวเขต นายวีระศักดิ์เป็นผู้ขายที่ดินให้แก่จําเลยที่ 6 เท่านั้น การที่จําเลยที่ 6โดยจําเลยที่ 7 นํารังวัดตามหลักฐานหนังสือรับรองการทําประโยชน์แต่นําชี้เกินกว่าระยะที่ปรากฏในหลักฐานมารวมรังวัดออกโฉนดที่ดินถือเป็นการขี้เอาที่ดินนอกหลักฐานซึ่งไม่มีสิทธิมารวมโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นตามกฎหมายให้ออกหนังสือรับรองสิทธิได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมบ่งชี้ถึงความไม่ปกติในการดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินนับเป็นที่ผิดสังเกต และมีข้อพิรุธหลายประการ ดังนี้
ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยจากพยานโจทก์ไม่ว่าจะเป็นพยานเอกสาร พยานบุคคลจึงมีน้ําหนักรับฟัง ส่วนพยานหลักฐานที่จําเลยทั้งสิบเอ็ดนําสืบไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ทําให้เชื่อว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการออกโฉนดที่ดินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบให้แก่จําเลยที่ 6 ตามที่ยื่นคําขอ และการออกโฉนดที่ดินกรณีนี้สามารถออกได้เพียงเนื้อที่ตามหลักฐานเดิมเท่านั้น โดยยึดหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ตรี และระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532) มาตรา 59 ตรี ที่บัญญัติว่า “ในการออกโฉนดที่ดิน....ถ้าปรากฏว่าเนื้อที่ที่ทําการรังวัดแตกต่างไปจากเนื้อที่ตามใบแจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ได้เท่าจํานวนเนื้อที่ที่ได้ทําประโยชน์ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด”
และระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2532) ว่าด้วยเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ข้อ 8 ในการออกโฉนดที่ดิน...ถ้าปรากฏว่าที่ดินมีอาณาเขต ระยะของแนวเขต และที่ดินข้างเคียงทุกด้านถูกต้องตรงกับหลักฐาน การแจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เชื่อได้ว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แต่เนื้อที่ที่คํานวณได้แตกต่างไปจากเนื้อที่ตามหลักฐานการแจ้งการครอบครองดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนที่ดิน...เท่าจํานวนเนื้อที่ที่ได้ทําประโยชน์แล้ว แต่ไม่เกินเนื้อที่ที่คํานวณได้ ข้อ 10 ในกรณีที่ที่ดินนั้นมีด้านหนึ่งด้านใดหรือหลายด้านจดที่ป่าหรือให้ถือที่รกร้างว่างเปล่าและระยะที่วัดได้เกินกว่าระยะที่ปรากฏในหลักฐานการแจ้งการครอบครองระยะที่ปรากฏในหลักฐานการแจ้งการครอบครองเป็นหลักในการออกโฉนดที่ดิน....”
แต่จําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กลับร่วมกันดําเนินการออกโฉนดที่ดินเกินกว่าที่สามารถออกได้ตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่จําเลยที่ 6 ขณะเกิดเหตุจําเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตําแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ บริหารงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ด้านการบริหารงานต้องพิจารณา วินิจฉัย ให้คําปรึกษา เสนอความเห็นในการควบคุมและคุ้มครองที่ดินของรัฐ เสนอความเห็นในการตอบข้อหารือ กำกับ ดูแล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของสํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ต้องมีทักษะในการวินิจฉัย วิเคราะห์กลั่นกรอง ก่อนการตัดสินใจพิจารณาสั่งการและเสนอความเห็นในงานด้านทะเบียนที่ดิน การรังวัดตามหน้าความรับผิดชอบของตําแหน่งเพื่อออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58, 59 ตรี การดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการทําหรือจัดการเพื่อให้การออกโฉนดที่ดินตามที่จําเลยที่ 6 มีคําขอ
@ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 151
เมื่อจําเลยที่ 1 ใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่โดยทุจริต สมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่นในการดําเนินการตามหน้าที่ของตนเอง บิดเบือนข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเอกสารการสอบสวนสิทธิและเอกสารที่เกี่ยวข้องผิดไปจากข้อเท็จจริง ทําให้มีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
การกระทําของจําเลยที่ 1 ตามที่วินิจฉัยมาครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และยังเป็นความผิดตามมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่จําต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
@ จำเลยที่ 2-4 ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐเท่านั้น
ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ร่วมกับจําเลยที่ 1 ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือไม่นั้น
เมื่อพิจารณาตําแหน่งและหน้าที่ของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในขณะเกิดเหตุแล้ว จําเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจําเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าฝ่ายรังวัด จึงมีหน้าที่เพียงแสวงหาข้อเท็จจริง ทําการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอความเห็นให้จําเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินพิจารณา เพื่อมีคําสั่งในการอนุมัติให้ออกโฉนดที่ดินหรือไม่อนุมัติเท่านั้น ไม่สามารถใช้อํานาจหน้าที่คณะกรรมการหรือหัวหน้าฝ่ายรังวัดดังกล่าว ดําเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่จําเลยที่ 6 ได้ด้วยตนเอง อํานาจในการออกโฉนดที่ดินเป็นของจําเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรง การกระทําของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จะมีลักษณะร่วมรู้เห็นและร่วมกระทําความผิด ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น
แต่จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่ผู้มีหน้าที่โดยตรงหรือเป็นผู้มีคุณสมบัติในการจัดการเพื่อออกโฉนดที่ดิน จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมในการกระทําความผิดฐานดังกล่าวได้ การกระทําของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นช่วยเหลือหรือสนับสนุนจําเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ในการพิจารณาออกโฉนดที่ดินให้แก่จําเลยที่ 6 การกระทําของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐเท่านั้น
@ จำเลยที่ 5 ไม่มีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 และจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147, 151 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54
ในส่วนจําเลยที่ 5 ตามทางไต่สวนประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยที่ 5 เป็นผู้ใหญ่บ้าน รับมอบอํานาจจากนายอําเภอเมืองกระบี่ ให้ระวังแนวเขตที่ดินตามที่จําเลยที่ 6 ขอออกโฉนดที่ดิน การที่จําเลยที่ 5 ทําการชี้แนวเขต และรับรองว่าที่ดินบริเวณที่จําเลยที่ 6 ขอออกโฉนดที่ดินว่า ไม่ทับลําเหมืองสาธารณประโยชน์ โดยให้ถ้อยคํารับรองไว้ตามเอกสารหมาย จ.37 และ จ.41 ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเอกสารหมาย จ.32 แผ่นที่ 1140 และ จ.42 แผ่นที่ 1176 แล้ว เห็นว่ารูปแผนที่ตามเอกสารหลักฐานเดิมมีลําเหมืองสาธารณประโยชน์ปรากฏอย่างชัดเจน ขัดแย้งกับถ้อยคําของจําเลยที่ 5 ที่อ้างว่านําชี้ไปตามสภาพ ซึ่งเป็นการผิดวิสัยของบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่บ้านในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อนทําการนําชี้ หรือรับรองใด ๆ เนื่องจาก จะมีผลกระทบต่อ ส่วนรวม แต่จําเลยที่ 5 หาปฏิบัติไม่ กลับมีพฤติการณ์สนับสนุนช่วยเหลือกระบวนการในการออกโฉนดที่ดินของจําเลยที่ 6 โดยการรับรองว่าที่ดินที่จําเลยที่ 6 ขอออกโฉนดที่ดินนั้น ไม่ทับที่หลวง หวงห้าม หรือทับที่สาธารณประโยชน์ ส่อให้เห็นถึงเจตนาเพื่อช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้แก่จําเลยที่ 6 จนเป็นเหตุให้มีการรวมเอาที่ดินในส่วนของลําเหมืองสาธารณประโยชน์บางส่วนไปออกเป็นโฉนดที่ดินตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น ทําให้รัฐเกิดความเสียหาย
การกระทําดังกล่าวของจําเลยที่ 5 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอําเภอเมืองกระบี่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนความผิดตามมาตรา 147 นั้น องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่น
เมื่อจําเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่รักษาดูแลที่ดินของรัฐโดยตรง จึงไม่มีอํานาจในการจําหน่าย จ่าย โอน ที่ดินเพื่อตนเองหรือผู้อื่นได้ การที่จําเลยที่ 5 นําชี้และรับรองแนวเขตตามหน้าที่ไม่สามารถทําให้ที่ดินตามที่นําชี้เป็นของตนหรือเป็นของจําเลยที่ 6 ได้ การกระทําของจําเลยที่ 5 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการในการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบของจําเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง จําเลยที่ 5 ไม่มีความผิดฐานนี้
@ จำเลยที่ 6-7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86
สําหรับจําเลยที่ 6 ที่ 7 ปรากฏ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าการที่จําเลยที่ 6 ได้รับโฉนดที่ดิน ที่มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากหลักฐานเดิมนั้น ได้มาจากการกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ดําเนินการให้มีการออกโฉนดที่ดินตามที่วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงเจตนาซ่อนเร้นความไม่สุจริตของจําเลยที่ 6 ตั้งแต่เริ่มต้นการขอออกโฉนดที่ดิน
โดยพฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่า จําเลยที่ 6 โดยจําเลยที่ 7 มีเจตนานําชี้รังวัดที่ดินเกินกว่าตามหลักฐานหนังสือรับรองการทําประโยชน์เดิม ที่ไม่มีการทําประโยชน์เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และเป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ตามกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้คํานึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ หากแต่คํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
การกระทําของจําเลยที่ 6 ที่ 7 ดังกล่าว จึงเป็นการร่วมรู้เห็นในการกระทําความผิดของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่จําเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นราษฎรมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวขององค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่อาจลงโทษในฐานะตัวการได้ จําเลยที่ 6 ที่ 7 จึงมีฐานะ เป็นเพียงผู้สนับสนุนในความผิดฐานดังกล่าวเท่านั้น การกระทําของจําเลยที่ 6 ที่ 7 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86
@ จำเลยที่ 8-11 ช่วยเหลือและสนับสนุนในการกระทําความผิดของเจ้าพนักงาน
สําหรับจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามีการลงชื่อชี้ระวังแนวเขตตามเอกสาร หมาย จ.36 โดยสํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ไม่ได้มีหนังสือให้ไปชี้ระวังแนวเขตแต่อย่างใด จําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 อ้างเพียงลอย ๆ ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของจําเลยที่ 6 โดยไม่มีการนำพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์ให้เห็นว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นผู้ครอบครองทําประโยชน์จริง ทั้งก่อนที่จะมีการขอออกโฉนดที่ดินบริเวณที่ดินดังกล่าว จําเลยที่ 6 ได้ขอรังวัดรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เก้าแปลงให้เป็นแปลงเดียว ก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 หรือบุคคลที่ตนอ้างว่าเป็นผู้ครอบครอง ก่อนตนเข้าทําประโยชน์ไประวังชี้แนวเขตทางด้านทิศเหนือ คงมีเพียงบันทึกถ้อยคําที่จําเลยที่ 7 ให้ถ้อยคําว่า ที่ดินทางด้านทิศเหนือและตะวันออกเป็นที่ดินของจําเลยที่ 6 ที่ซื้อจากนายวีระศักดิ์กับพวก ตามเอกสารหมาย จ.22 เท่านั้น
ทําให้เชื่อว่า การที่จําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ลงชื่อรับรองแนวเขต เป็นการรับสมอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทําประโยชน์ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งนี้เพื่อสร้างเรื่องขึ้น เพื่อให้ครบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อออกโฉนดที่ดินของจําเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ พยานหลักฐานที่จําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ตามที่นําสืบไม่มีน้ําหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวของจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ถือเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนในการกระทําความผิดของเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ตามฟ้อง
ส่วนความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจําเลยที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 สําหรับจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 เมื่อข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นปรากฏว่า การกระทําของจําเลยที่ 5 ซึ่งถือเป็นตัวการในการกระทําความผิด ไม่เป็นความผิดตามฐานดังกล่าวแล้ว การกระทําของจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานดังกล่าวด้วย
@ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้องหรือไม่
สําหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึง การก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ ข้อเท็จจริงยุติตามที่วินิจฉัยในส่วนของจําเลยที่ 1 ที่ 4 ไว้ข้างต้นแล้วว่า ความผิดฐานนี้ขาดอายุความ เมื่อจําเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 โจทก์บรรยายฟ้องว่าร่วมกระทําความผิดด้วยกัน จึงเป็นเหตุลักษณะคดี ถือว่าความผิดฐานนี้ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ด้วยเช่นกัน
ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตามทางไต่สวนโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงและยืนยันให้เห็นว่า การกระทําของจําเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า ตามองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว การกระทําของจําเลยทั้งสิบเอ็ดจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้
@ ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับหรือบางส่วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสาม ประกอบมาตรา 93 หรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอนุมัติหรืออนุญาต หรือกระทําการใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย” ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (9) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (12) ที่บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ดําเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อนุมัติหรืออนุญาตให้สิทธิประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิแก่บุคคลใดไป โดยมิชอบด้วย กฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ”
ภาพที่ดินโฉนดที่ดิน ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ที่ถูกสั่งเพิกถอน
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามคําขอของโจทก์ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดินพิพาทรวมสิบเอ็ดฉบับ แม้ได้ความตามที่จําเลยที่ 6 นําสืบว่า ปัจจุบันโฉนดที่ดินพิพาทจําเลยที่ 6 ขายให้แก่บริษัท ไพวัลย์ จํากัด แล้วก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีขอให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดิน เมื่อทางไต่สวนฟังได้ว่าการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์และโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งฉบับ
ส่วนหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามที่ขอเพิกถอนนั้น เมื่อมีการออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับดังกล่าวแล้ว หนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับเดิมเป็นอันยกเลิกไป ตามมาตรา 59 เบญจ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว จึงไม่จําต้องมีคําสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามที่โจทก์ร้องขอ
ส่วนบริษัท ไพวัลย์ จํากัด ตามที่จําเลยที่ 6 อ้างว่าปัจจุบันเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินนั้น จะมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์หรือมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินแปลงใดอย่างไร เพียงใดนั้น ชอบที่จะไปดําเนินการออกเอกสารสิทธิ ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง และระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ
อนึ่ง ภายหลังการกระทําความผิดมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 151 และ 157 ใช้อัตราโทษใหม่แทนปรากฏว่า กฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุกเท่ากัน แต่ในส่วนของโทษปรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลยทั้งสิบเอ็ดจึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จําเลยทั้งสิบเอ็ดในขณะกระทําความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ลงโทษจําคุก 5 ปี
จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 มาตรา 157 (เดิม) เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151(เดิม) ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่
มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจําคุกคนละ 4 ปี
จําเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) จําคุก 4 ปี
จําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจําคุกคนละ 4 ปี
ทางนําสืบของจําเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเห็นควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
จําเลยที่ 1 คงจําคุก 4 ปี
จําเลยที่ 2 ถึงที่ 11 คงจําคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน
เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับ ส่วนคําขออื่นและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งหมดนี้คือการวินิจฉัยของศาล 3 ประเด็นสุดท้าย ที่สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
ขณะที่จำเลยทุกรายยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลสูง จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ:
- สั่งลงโทษคุก 2 ปี 8 ด.'ประยุทธ มหากิจศิริ' คดีออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก.กระบี่ เอื้อเอกชน
- ป.ป.ช.คอนเฟิร์ม 'ประยุทธ มหากิจศิริ' โดนโทษคุก 2 ปี 8 ด.-มีอีก 4 คดี สนามกอล์ฟโคราชด้วย
- เผยโฉมที่ดิน 'ประยุทธ มหากิจศิริ' โดนศาลฯ สั่งเพิกถอนโฉนด - 85 ไร่ ติดชายทะเลทั้งผืน
- เปิดกูเกิลแมพ แกะรอยผู้ซื้อที่ดิน 'ประยุทธ มหากิจศิริ' 400 ล.โดนเพิกถอนโฉนดเป็น บ.อยู่กทม.
- ที่แท้! 'ประยุทธ มหากิจศิริ' ขายที่ดินคดีออกเอกสารสิทธิ์กระบี่ให้ บ.ตัวเอง 400 ล.
- เปิดตัว'บ.ประยุทธ'ซื้อที่ตัวเองคดีเอกสารสิทธิ์กระบี่ ล่าสุดแจ้งไร้รายได้-มีหนี้สิน 445 ล.
- เปิดชื่อ 11 จำเลย 'ประยุทธ มหากิจศิริ-พวก'คดีเอกสารสิทธิ์กระบี่ ใครบ้าง? โดนคุกกี่ปี?