"...พฤติการณ์ดังกล่าวของจําเลยที่ 6 ที่ 7 ถือว่าเป็นผู้ร่วมรู้เห็นกระทําความผิด กับพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ แต่จําเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นราษฎรมิใช่เจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวขององค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่อาจลงโทษในฐานะตัวการได้ จําเลยที่ 6 ที่ 7 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้สนับสนุนในความผิดฐานดังกล่าวเท่านั้น ..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดเนื้อหาส่วนแรกในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เกี่ยวกับอำนาจตำแหน่งหน้าที่ และพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยในคดีกล่าวหาอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ กับพวก ออกเอกสารสิทธิ์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่และในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ณ ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่เนื้อที่ 66 ไร่เศษ มีการนำที่ดินนอกหลักฐานอันเป็นที่ของรัฐประมาณ 19 ไร่เศษ นำมาจัดทำเป็นเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบเรื่องนี้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเอกชน ซึ่งนายประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ก่อตั้งบริษัทในกลุ่มเนสกาแฟ ปรากฏชื่อเป็นจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด ถูกลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 2 ปี 8 เดือน พร้อมสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับ ขณะที่จำเลยทุกรายยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอข้อมูลในส่วนคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ตัดสินคดีนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยละเอียด
คดีนี้โจทก์ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ส่วนจำเลยมี 11 ราย ได้แก่
นายนิยุต ดุสิตกุล จำเลยที่ 1 ตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่
นายสุกิจ มาศเมฆ จำเลยที่ 2 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 7
นายชัยยุทธ ไชยทองรักษ์ จำเลยที่ 3 นักวิชาการที่ดิน 6
นายสมศักดิ์ พงศ์พิริยะกิจ จำเลยที่ 4 หัวหน้าฝ่ายรังวัด
นายธีร์วรา เริงสมุทร จำเลยที่ 5 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หนองทะเล
นายประยุทธ มหากิจศิริ จำเลยที่่ 6 เจ้าของที่ดินแปลงพิพาท
นายประทีป แสวงลาภ จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 6
นายสมชาย ดอกพุฒ จำเลยที่ 8
นายปิยะ พูลสวน จำเลยที่ 9
นายก่อเฉ็ม บุตรหลี จำเลยที่ 10
นายนิคม โสภี จำเลยที่ 11
ศาลฯ ระบุว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย 6 ประการ ได้แก่
1.โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ที่ 4 หรือไม่
2.จําเลยที่ 1 ที่ 4 ในประการต่อมาว่า ความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกัน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือ ครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอํานาจไต่สวนหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่
3.จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
4.กรณีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 เลขที่ดิน 1 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,151,157 จําเลยที่ 5 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 และจําเลยที่ 6 ถึงที่ 11 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 147, 151 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 หรือไม่
5.จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้องหรือไม่
6.กรณีมีเหตุเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 45374 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ทั้งฉบับหรือบางส่วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสาม ประกอบมาตรา 93 หรือไม่
เนื่องจากเนื้อหาคำวินิจฉัยทั้ง 6 ประการมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ผู้สื่อข่าวจะขอนำเสนอปัญหาที่ต้องวินิจฉัย 3 ประการแรกก่อน ดังนี้
@ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกว่าโจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ที่ 4 หรือไม่
ตามคําร้องของจําเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณา ทําการไต่สวนข้อเท็จจริงตลอดจนมีคําวินิจฉัยชี้มูลความผิด เมื่อล่วงพ้นกําหนดเวลาที่กฎหมายกําหนด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 84 (เดิม) โจทก์จึงไม่มีอํานาจไต่สวนและไม่มีอํานาจฟ้อง เมื่อพิจารณาตามรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้ง
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จําเลยที่ 1 เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550 และจําเลยที่ 4 ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 และมีคําสั่งแต่งตั้งให้พนักงานไต่สวนทําการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นการรับเรื่องไว้พิจารณา และทําการไต่สวน จนมีคําวินิจฉัยชี้มูลความผิด
@โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และ 4
จากการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ศาลวินิจฉัยได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงมีอํานาจหน้าที่ในการไต่สวน และมีคําวินิจฉัยชี้มูลความผิดในคดีนี้ภายใต้อายุความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 โดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 48 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 และที่ 4
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคําร้องของจําเลยที่ 1 ที่ 4 ในประการต่อมาว่า ความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกัน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือ ครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอํานาจไต่สวนหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ความว่า คดีนี้จําเลยที่ 1 ที่ 4 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ เห็นว่า ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กําหนดอํานาจหน้าที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการตามหมวด 4 ว่าด้วยการไต่สวน ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวเกี่ยวพันกับการกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจหน้าที่ในการไต่สวนและมีคําวินิจฉัยชี้มูลความผิดได้ ส่วนอายุความการดําเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาลภายในกําหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทําความผิด เป็นอันขาดอายุความ” (2) สิบห้าปีสําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี (3) สิบปีสําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี สําหรับความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบ 108 ทวิ วรรคสอง มีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจําเลยที่ 1 ที่ 4 มายังศาลภายในกําหนดสิบปี
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุคดีนี้เกิดระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2550 โจทก์นําตัวจําเลยที่ 1 ที่ 4 มาฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2505 ซึ่งเมื่อนับระยะเวลานับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว คดีจึงขาดอายุความ สิทธิ นําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งที่ดินตามฟ้องมีเนื้อเกินยี่สิบห้าไร่ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 54,75 ตรี วรรคสอง มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี จึงมีอายุความ 15 ปี
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้อง จําเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่พ้นกําหนดระยะเวลาอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) คดีโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
โฉนดที่ดิน ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ที่ถูกสั่งเพิกถอน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า จําเลยทั้งสิบเอ็ดกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
ก่อนวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า หนังสือรับรองการทําประโยชน์เลขที่ 263, 264, 277, 278, 314, 328, 329, 330, 348, เลขที่ดิน 2, 3, 7, 8, 15, 17, 18, 19, 20 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนจากพยานบุคคลที่โจทก์นํามาเบิกความประกอบรายงานและสำนวนการไต่สวนในการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอกสารหมาย จ. 1 ได้ความว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นเขตดำเนินการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกระบี่ และเป็นเขตป่าไม้ถาวร ซึ่งปัจจุบันยังมิได้มีการออกประกาศเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก และจากการสํารวจของกรมพัฒนาที่ดินพบว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีผู้ถือครอง 22 ราย เป็นการครอบครองมือเปล่าไม่มีหลักฐานสำหรับที่ดิน การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งเก้าแปลงเป็นการนำหลักฐานใบจองและแบบแจ้งการครอบครองที่ดินสําหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้ในการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ จึงเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ตามทางไต่สวนพยานปากนายศักดิ์ชัย วรรณบวร ซึ่งเคยให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ ตามเอกสารหมาย จ.69 เบิกความเพียงว่า พยานไม่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์หรือโฉนดที่ดินที่พิพาทคดีนี้ เพียงให้ถ้อยคําตามที่ปรากฏในสารบบของที่ดิน และยังตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 4 ว่า การออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลง การรวมหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.16 ตรวจดูแล้วเป็นไปตามขั้นตอนที่กําหนดตามระเบียบกรมที่ดิน
พยานโจทก์ปาก นายเศรษฐรัช ธรเสนา พนักงานไต่สวนผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เบิกความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามรายงานในส่วนที่สรุปความเห็นในการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงว่า เป็นการนําหลักฐานใบจอง และแบบแจ้งการครอบครองที่ดินสําหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้ในการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ โดยเบิกความตอบศาลว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นการนําหลักฐานใบจอง และแบบแจ้งการครอบครองที่ดินมาจากที่ใด ไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ถือครองที่ดินมือเปล่าในบริเวณที่พิพาท 22 ราย เป็นบุคคลใด ทั้งไม่ได้แสวงหาความจริงจากพยานบุคคลที่ปรากฏรายชื่อในเอกสาร ตลอดจนขั้นตอนการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ และการครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินก่อนหรือหลังที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ดังนี้
เมื่อพิจารณาเอกสารในการดําเนินการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ หมาย จ.8 ถึง จ.16 พบว่า การดําเนินการเพื่อออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ดังกล่าวมีการดําาเนินการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิของผู้ครอบครองทําประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นลําดับตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นข้อพิรุธ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงถึงความไม่สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ซึ่งโจทก์เองไม่มีพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดมาพิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่าการขอออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ดังกล่าวเป็นการนําเอกสารการครอบครองไม่ว่าจะเป็นเอกสารใบจอง หรือหนังสือแสดงการครอบครองมาจากที่ใด และเข้าครอบครองทําประโยชน์ภายหลังมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่
@ จำเลยที่ 6 มีสิทธิยื่นคำขอรวมที่ดิน
โจทก์มีเพียงคํากล่าวอ้างอย่างลอย ๆ พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า การออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงของสํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเชื่อว่าการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.16 ชอบด้วยกฎหมาย จําเลยที่ 6 จึงมีสิทธิยื่นคําขอรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงเป็นแปลงเดียว และสํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่มีการดําเนินการรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามที่จําเลยที่ 6 ยื่นคําขอ
จึงต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปว่า การที่นายศักดิ์วุฒิ (เสียชีวิตแล้ว) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ นายบุญลือ และนางสายชล กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนนายนิคม นายช่างรังวัดดําเนินการรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงเป็นแปลงเดียวให้แก่จําเลยที่ 6 ทําให้ได้เนื้อที่ดินเพิ่มขึ้น 6-3-07 ไร่นั้น เป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตหรือไม่
@ ต้องวินิจฉัยต่อว่า นายศักดิ์วุฒิ พนักงานที่ดินใช้อำนาจโดยทุจริตหรือไม่
จําเลยที่ 6 ที่ 7 กระทําความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทําความผิดของนายบุญลือ และนางสายชลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ทํา ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ร่วมกันใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดิน ฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของรัฐ และฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดจนถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าที่ดินของรัฐ ฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากเอกสาร หมาย จ.19 ถึง จ.30 ตามทางไต่สวนพบว่า ขั้นตอนในการดําเนินการนับแต่การรังวัดจัดทํารูปแผนที่จนถึงการเสนอรายงาน ต่อนายศักดิ์วุฒิ ตามคําขอของจําเลยที่ 6 โดยจําเลยที่ 7 ผู้รับมอบอํานาจเป็นผู้นําชี้แนวเขตตลอดจนให้ถ้อยคําแทน ซึ่งนายนิคม เป็นช่างรังวัดผู้ออกทําการรังวัด จัดทําแผนที่ และเสนอรายงานการรังวัด ผ่านนายสินชัย ลีลาสุธานนท์ หัวหน้าฝ่ายรังวัด เมื่อตรวจสอบแล้วนายสินชัย มีความเห็นว่า การรังวัดครั้งนี้เนื้อที่เกินจากหลักฐานเดิมมาก ผู้ขอนําที่ดินนอกหลักฐานมารวมหรือไม่ เห็นควรตั้งกรรมการตรวจสอบ
นายศักดิ์วุฒิ มีคําสั่งแต่งตั้งนายบุญลือ นายนิคม นางสายชล เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และนายบุญลือ นายนิคม นางสายชล จัดทําบันทึกข้อความตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2545 เสนอ นายศักดิ์วุฒิ จากนั้นวันที่ 9 สิงหาคม 2545 มีการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมแปลง ตามเอกสารหมาย จ.30 ให้แก่จําเลยที่ 6 เห็นว่า บันทึกถ้อยคําที่จําเลยที่ 7 ให้ถ้อยคําว่า ที่ดินทางด้านทิศเหนือติดต่อกับที่ดินที่มีการครอบครองของข้าฯ (ซึ่งหมายถึงจําเลยที่ 6) ยังไม่มีหนังสือแสดงสิทธิแต่อย่างใด ซื้อต่อจากนายวีระศักดิ์ บัวเพชร์กับพวก ตามเอกสารหมาย จ.22 ซึ่งเมื่อ พิจารณาจากเอกสาร หมาย จ.8 และ จ.10 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ แนวเขตที่ดินที่ติดต่อกับที่ดินของจําเลยที่ 6 ทางด้านทิศเหนือ โดยตามเอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 666 เป็นรูปแผนที่ที่แสดงแนวเขตด้านทิศเหนือว่าที่ที่มีการครอบครอง นายดล บุตรหลี เอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 727 และ 728 เป็นรูปแผนที่แสดงแนวเขตด้านทิศเหนือว่า ที่มีการครอบครอง นายหมาด บํารุง และเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 800 เป็นบันทึกถ้อยคําของนายวีระศักดิ์ บัวเพชร์ ที่ให้ถ้อยคําว่า ที่ดินด้านทิศตะวันตกจดกับที่ดินของนางห่อมะ บุตรหลี ซึ่งข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว ขัดกับบันทึกถ้อยคําที่จําเลยที่ 7 ให้ถ้อยคําไว้ และขัดกับรูปแผนที่ที่แสดงชื่อผู้ครอบครอบตามเอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 666 ทั้งไม่ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวนายวีระศักดิ์เป็นผู้ครอบครอบทําประโยชน์ก่อนที่จะขายให้แก่จําเลยที่ 6 ตามที่จําเลยที่ 7 ให้ถ้อยคํา
เมื่อนําภาพแผนที่ที่นายนิคมจัดทําจากการรังวัด ตามเอกสารหมาย จ.26 แผ่นที่ 1133 มาเปรียบเทียบกับรูปแผนที่เดิมตามหลักฐานหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลง เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 403 ก็ปรากฏภาพเนื้อที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน บริเวณเฉพาะทางด้านทิศเหนือตามที่มีการให้ถ้อยคําไว้ข้างต้น การที่นายนิคมซึ่งเป็นช่างรังวัดจัดทําบันทึกรายงานการรังวัด จัดทํารูปแผนที่การรวมแปลงตามที่จําเลยที่ 6 ยื่นคําขอโดยอ้างว่า เนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการรังวัดและการคํานวณต่างวิธี ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นมีเพียงด้านทิศเหนือเพียงด้านเดียว
จึงเป็นกรณีที่ผิดปกติวิสัยในการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่าพฤติการณ์ของนายนิคมดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต กระทําการเพื่อช่วยจําเลยที่ 6 ให้ได้ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ
ทั้งหลังจากนั้น แม้นายสินชัยจะเสนอความเห็นว่า รังวัดเนื้อที่เกินจากหลักฐานเดิมมาก ควรตั้งกรรมการตรวจสอบว่า ผู้ขอนําที่ดินนอกหลักฐานมารวมหรือไม่ และนายศักดิ์วุฒิมีคําสั่งแต่งตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบก็ตาม เมื่อพิจารณาตามเอกสารหมาย จ.27 แผ่นที่ 1134 คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2545 มีนายบุญลือ นายนิคม นางสายชลเป็นคณะกรรมการและตามเอกสารหมาย จ.28 แผ่นที่ 1135 บันทึกรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 8 สิงหาคม 2545 นายบุญลือ นายนิคม นางสายชล ระบุรายละเอียดว่า มีการออกไปตรวจสภาพที่ดินมีการครอบครอบทําประโยชน์ ตรวจสอบรูปแผนที่เดิมกับรูปแผนที่ใหม่แล้ว ปรากฏว่าระยะและรูปแผนที่ใหม่ใกล้เคียงกับของเดิมพิจารณาแล้ว
เห็นว่า เหตุที่เนื้อที่เกินจากหลักฐานเดิมน่าจะเป็นเพราะการรังวัดและการคํานวณต่างวิธี ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างจากรูปแผนที่เดิมและแผนที่ที่จัดทําขึ้นใหม่แล้วไม่น่าจะเกิดจาการรังวัดและการคํานวณต่างวิธี เนื่องจากรูปแผนที่ที่จัดทําขึ้นใหม่มีการนําชี้แนวเขต ในส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ไร่นั้นล้วนอยู่ทางด้านทิศเหนือทั้งหมดซึ่งปรากฏชัดเจน อีกทั้งการทําบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดและตรวจสอบในส่วนที่นายสินชัยเสนอความเห็นว่า มีการนําที่ดินนอกหลักฐานมารวมหรือไม่ ประกอบกับระยะเวลาที่จัดทําบันทึกการตรวจสอบกระทําหลังจากวันที่มีคําสั่งแต่งตั้งเพียง 2 วัน จึงไม่น่าเชื่อว่า นายบุญลือ นายนิคม และนางสายชล จะดําเนินการตรวจสอบจริง แต่กลับเสนอความเห็นให้นายศักดิ์วุฒิ เพื่อออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามที่นายนิคมดําเนินการรังวัดและจัดทํารูปแผนที่ไว้ โดยมิได้ตรวจสอบว่ามีการนําชี้ที่ดินนอกเขตหนังสือรับรองการทําประโยชน์มารวมหรือไม่
พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงถึงความไม่สุจริต ถือเป็นการจัดทําเอกสารอันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้นายศักดิ์วุฒิใช้เป็นช่องทางพิจารณาลงนามในหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมแปลง ตามความในมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 ทําให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
@ วินิจฉัยการกระทำของจนท.ที่ดิน
ส่วนการกระทําของนายบุญลือ นายนิคม และนางสายชล ดังกล่าว จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ร่วมกันใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือไม่นั้น
เมื่อพิจารณาตําแหน่งและหน้าที่ของนายนายบุญลือ นายนิคม นางสายชลในขณะเกิดเหตุแล้ว นายบุญลือ นายนิคม นางสายชลได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงมีหน้าที่เพียงแสวงหาข้อเท็จจริง และเสนอความเห็นให้นายศักดิ์วุฒิเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณา เพื่อมีคําสั่งในการอนุมัติให้ออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมหรือไม่อนุมัติเท่านั้น ไม่สามารถใช้อํานาจหน้าที่คณะกรรมการดังกล่าว เพื่อออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้แก่จําเลยที่ 6 ได้ด้วยตนเอง
นายบุญลือ นายนิคม นางสายชล จึงไม่ใช่ผู้มีหน้าที่โดยตรงหรือเป็นผู้มีคุณสมบัติในการจัดการออกหนังสือรับรองการทําประโยน์ฉบับรวมอํานาจดังกล่าวเป็นของนายศักดิ์วุฒิ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรง การกระทําของนายบุญลือ นายนิคม นางสายชล ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นช่วยเหลือหรือสนับสนุนนายศักดิ์วุฒิ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ในการออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมให้แก่จําเลยที่ 6
พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอรับฟังว่า การกระทําของนายบุญลือ นายนิคม นางสายชล เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ร่วมกันใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ตามฟ้อง นายบุญลือ และนางสายชลคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานดังกล่าว และมีความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า การที่นายศักดิ์วุฒิ เจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาลงนามออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมให้แก่จําเลยที่ 6 โดยไม่ตรวจสอบเรื่องราวและรายงานการรังวัด เอกสารหลักฐานรูปแปลง และสภาพของที่ดินตามอํานาจหน้าที่ว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง และระเบียบ ที่กําหนดไว้หรือไม่ ทั้งที่ดินที่เพิ่มขึ้นอยู่ในเขตป่าถาวรที่คณะรัฐมนตรีจําแนกออกเพื่อให้เป็นที่ทํากินของราษฎร ซึ่งคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมอบให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรับไปดําเนินการและไม่สามารถออกหนังสือรับรองสิทธิได้ แม้จะมีข้อยกเว้นให้สามารถออกหนังสือรับรองสิทธิได้ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนําสืบของจําเลยที่ 6 ว่าที่ดินส่วนที่เกินนั้น เข้าข้อยกเว้นตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด
พฤติการณ์ดังกล่าวของนายศักดิ์วุฒิชี้ให้เห็นถึงเจตนาแอบแฝง เพื่อจะเอื้อประโยชน์ให้แก่จําเลยที่ 6 ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่านายศักดิ์วุฒิทราบมาโดยตลอด จึงอาศัยเหตุผลตามที่นายบุญลือ นายนิคมและนางสายชลเสนอ โดยไม่ทําการตรวจสอบที่ดินในส่วนที่เพิ่มขึ้นว่า เป็นที่ดินนอกหลักฐานเดิมหรือไม่ ที่ดินดังกล่าวมีการครอบครองทําประโยชน์ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ และสามารถออกหนังสือรับรองสิทธิได้ตามกฎหมายหรือไม่ กลับใช้อํานาจในตําแหน่งลงชื่อออกหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับรวมโดยมิชอบให้แก่จําเลยที่ 6
การกระทําดังกล่าวของนายศักดิ์วุฒิเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ แม้ภายหลังนายศักดิ์วุฒิ และนายนิคมถึงแก่ความตาย คงมีผลเพียงสิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 (1) คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอํานาจไต่สวนเพื่อดําเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทําของนายศักดิ์วุฒิ และนายนิคม ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น และเมื่อฟังว่ามีพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต ในการออกหนังสือรับรอง การทําประโยชน์เลขที่ 263 เลขที่ดิน 2 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ฉบับรวมแปลงให้แก่จําเลยที่ 6 โดยมิชอบ
จําเลยที่ 6 โดยจําเลยที่ 7 ในฐานะผู้รับมอบอํานาจ เป็นผู้ยื่นคําขอรวมเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงให้เป็นแปลงเดียว ซึ่งตามทางไต่สวนได้ความว่า จําเลยที่ 7 ผู้รับมอบอํานาจของจําเลยที่ 6 นําชี้ยืนยันแนวเขตนอกเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ฉบับเดิมมารวม แต่ให้ถ้อยคํารับรองว่าเป็นแนวเขตตามหลักฐานเดิม ให้ถ้อยคําถึงสิทธิครอบครองทําประโยชน์ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า บริเวณเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นเป็นการนําชี้เอาที่ดินนอกหลักฐานเดิม และเป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกหนังสือรับรองสิทธิได้ตามกฎหมาย ให้นายนิคมทําการรังวัด จัดทํา แผนที่อันเป็นเท็จ เพื่อได้รับประโยชน์จากการที่กระทําความผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับรวมแปลงโดยมิชอบ
พฤติการณ์ดังกล่าวของจําเลยที่ 6 ที่ 7 ถือว่าเป็นผู้ร่วมรู้เห็นกระทําความผิด กับพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ แต่จําเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นราษฎรมิใช่เจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวขององค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่อาจลงโทษในฐานะตัวการได้ จําเลยที่ 6 ที่ 7 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้สนับสนุนในความผิดฐานดังกล่าวเท่านั้น
แม้จะได้ความดังกล่าวแต่ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จําเลยที่ 6 ที่ 7 สนับสนุนนายบุญลือ และนางสายชลในการกระทําความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ร่วมกันใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ถือว่าประสงค์จะลงโทษจําเลยที่ 6 ที่ 7 ฐานเป็นผู้สนับสนุนนายบุญลือและนางสายชลในการกระทําความผิดฐานดังกล่าว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาว่าการกระทําของนายบุญลือ และนางสายชล เป็นเพียงผู้สนับสนุนให้มีการกระทําความผิดฐานดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ผู้อื่นเท่านั้น จึงถือว่าไม่ได้เป็นตัวการในการกระทําความผิดฐานนี้ อันจะทําให้ จําเลยที่ 6 ที่ 7 เป็นผู้สนับสนุนนายบุญลือและนางสายชลในการกระทําความผิดฐานดังกล่าวได้
ทั้งไม่อาจลงโทษ จำเลยที่ 6 ที่ 7 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้อื่นในความผิดฐานดังกล่าวได้เช่นกัน เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จําเลยที่ 6 ที่ 7 สนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้อื่นในการกระทําความผิดฐานดังกล่าว
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงตามฟ้องในข้อสาระสําคัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจําเลยที่ 6 ที่ 7 ได้ ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แม้จะได้ความว่าการกระทําของนายบุญลือ นางสายชล เป็นความผิด และฟังว่าจําเลยที่ 6 ที่ 7 เป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานดังกล่าวก็ตาม
@ ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน+ครอบครองที่ดินรัฐ ขาดอายุความ
เมื่อโจทก์นําตัวจําเลยที่ 6 ที่ 7 มาฟ้องเกินกว่าสิบปีนับแต่วันกระทําความผิด ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ
สําหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันกระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) เช่นกัน เมื่อความผิดฐานนี้ เกิดระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2544 การที่โจทก์ฟ้องและนําตัว จําเลยที่ 6 และที่ 7 มาดําเนินคดีในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เป็นระยะเวลาเกินกว่าระยะเวลาตามที่กําหนดไว้ในบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ
@ จำเลยที่ 6 และ 7 ไม่ผิดฐานทำลายป่า
ส่วนความผิดฐานก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 54 นั้น ตามทางไต่สวนโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงและยืนยันให้เห็นว่า การกระทําของจําเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า ตามองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว การกระทําของจําเลยที่ 6 ที่ 7 จึงไม่เป็นความผิดฐานนี้
@ ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1-5, 8-11 มีส่วนเกี่ยวข้องในการรวมที่ดิน จึงไม่ต้องวินิจฉัย
สําหรับจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการดําเนินการรวมเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ทั้งเก้าแปลงหรือไม่ อย่างไร
กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจําเลยที่ 8 ถึงที่ 11 มีส่วนร่วมในการดําเนินการ และกระทําความผิดในกรณีดังกล่าวหรือไม่
****************
ทั้งหมดนี้คือการวินิจฉัยของศาล 3 ประเด็นแรก ส่วนการวินิจฉัย 3 ประเด็นสุดท้าย สำนักข่าวอิศราจะมาเรียบเรียงให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
- สั่งลงโทษคุก 2 ปี 8 ด.'ประยุทธ มหากิจศิริ' คดีออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก.กระบี่ เอื้อเอกชน
- ป.ป.ช.คอนเฟิร์ม 'ประยุทธ มหากิจศิริ' โดนโทษคุก 2 ปี 8 ด.-มีอีก 4 คดี สนามกอล์ฟโคราชด้วย
- เผยโฉมที่ดิน 'ประยุทธ มหากิจศิริ' โดนศาลฯ สั่งเพิกถอนโฉนด - 85 ไร่ ติดชายทะเลทั้งผืน
- เปิดกูเกิลแมพ แกะรอยผู้ซื้อที่ดิน 'ประยุทธ มหากิจศิริ' 400 ล.โดนเพิกถอนโฉนดเป็น บ.อยู่กทม.
- ที่แท้! 'ประยุทธ มหากิจศิริ' ขายที่ดินคดีออกเอกสารสิทธิ์กระบี่ให้ บ.ตัวเอง 400 ล.
- เปิดตัว'บ.ประยุทธ'ซื้อที่ตัวเองคดีเอกสารสิทธิ์กระบี่ ล่าสุดแจ้งไร้รายได้-มีหนี้สิน 445 ล.
- เปิดชื่อ 11 จำเลย 'ประยุทธ มหากิจศิริ-พวก'คดีเอกสารสิทธิ์กระบี่ ใครบ้าง? โดนคุกกี่ปี?