"...ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ตามรายชื่อที่ปรากฎในสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่..... พ.ศ. ..... .ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา 87..."
จากกรณีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการอ่านคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยหลังจากการอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นั้นนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากว่าเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติในอนาคต
- สั่งเลิกการกระทำทั้งหมด! ศาลรธน. วินิจฉัย 'พิธา-พรรคก้าวไกล' แก้ไข ม.112 =ล้มล้างการปค.
- สรุป! คำวินิจฉัยศาลรธน. 'พิธา-ก้าวไกล' ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปค.สั่งเลิกแก้ไข ม.112
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ได้ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและดำเนินคดีอดีต สส. พรรคก้าวไกลจำนวน 44 คน ทีฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ ... พ.ศ. ... ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ระบุอาชีพตัวเองว่าเป็น 'ทนายความอิสระ' แต่โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงสังคมการเมือง เพราะเป็นอดีตทนายความประจำ 'พระพุทธะอิสระ'
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สรุปและเรียบร้อง ดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้านายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่.... พ.ศ..... แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้อง ทั้งสองเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญโปรดรับไว้พิจารณาเป็นเรื่องพิจารณาที่ 19/2566 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ปรากฎดังนี้
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 44คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ ..... พ.ศ. ...... แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นนายประกันผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเคยแสดงความคิดเห็น ทั้งให้แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์ หลายครั้งเอกสารหมาย ศ.37
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีอยู่ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่”
พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรากฎหมายหรือพระราชบัญญัติ เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้บังคับเหนือบุคคล ให้ปฏิบัติตาม เป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดระเบียบ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจำเป็นที่ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนและเป็นธรรมฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา เป็นองค์กรหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติของประเทศภายใต้หลักการตามรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งการตรากฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาจะพิจารณาไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยกระบวนการตรากฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวมจำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ พ.ศ. แก้ไข ความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาณา มาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 จากเดิมเป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และ เกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิดแบ่งลักษณะ ความผิดออกเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิดอันเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัฐ ความผิดที่เป็นการกระทำที่ กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เป็นการกระทำต่อสาธารณชนความผิดที่กระทบต่อสังคม และบุคคล และความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล
แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มิได้กำหนดลำดับศักดิ์ ของหมวด 1 และลักษณะกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญา ในแต่ละลักษณะ บัญญัติเรียงลำดับ ความสำคัญและความร้ายแรงในแต่ละหมวด ไว้ในแต่ละมาตราโดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครอง ทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและเกียรติยศของประมุขของรัฐ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยหรือชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวัง ให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรง ระดับเดียวกันกับความผิด ในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างมีนัยยะสำคัญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 วางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติ มาตรา 112 ไว้ว่าการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะ ของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิด โดยการหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตร้าย ได้โดยง่ายจึงไม่มีบทบัญญัติ เหตุยกเว้นโทษไว้ในทำนองเดียวกันกับ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และมาตรา 330
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษได้ ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งให้เพิ่มความมาตรา 135/7 ว่า ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และมาตรา 135/8 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้นเป็นความจริงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษย่อมทำให้ผู้กระทำความผิด
ใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิดและเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง เป็นข้อต่อสู้และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดีเช่นเดียวกับการที่ผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปยกขึ้นต่อสู้ทั้งที่ลักษณะของการกระทำความผิดมีความร้ายแรง มากกว่าการ ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ต่อบุคคลธรรมดา
ซึ่งการพิจารณา ของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยาน ตามข้ออ้าง ข้อเถียงข้อต่อสู้ ระหว่างคู่ความในคดี การพิสูจน์เหตุดังกล่าวจำต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติให้ องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ
อีกทั้งการ ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอให้ ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรค 1 ว่า ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ และวรรค 2 ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ ตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะ ความคุ้มครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
ส่งผลให้การกระทำความผิด ตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชน ทั้งที่การกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะทรงเป็นประมุขศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา
ดังนั้น แม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว เอกสารหมายศาล ศ.7/8 ศ.7/ต3 ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้เบิกความต่อศาลยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 และปัจจุบันยังคงปรากฎเป็นนโยบายแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เอกสารหมาย ร.4 เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใดเสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 แต่ตามเว็บไชต์ของ ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่............... แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น ถือได้ว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่....... พ.ศ….. แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
อีกทั้ง เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นโดยวิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา นอกจากนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสอง ยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนทั่วไปซึ่งไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้งสองอาจหลงตามความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านทางร่างกฎหมายและนโยบายของพรรค.ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 วินิจฉัยว่า สาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ของระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังได้ระบุไว้ ในความของพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14พฤศจิกายน พุทธศักราช 2547 ว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้ามีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมืองอันอาจนำมาซึ่งการโจมตีติเตียนและกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกลบล้างไป ดังปรากฎเป็นที่ประจักษ์ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/25 วินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง ใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้นโยบายพรรคการเมือง โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้งมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมืองอันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตีติเตียนโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ว่าหลักการปกครองเสรีประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 112 วรรคหนึ่ง 1 ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่.... พ.ศ..... แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้นเอกสารหมาย ศ.7/9 ถึง ศ.7/13 ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสองได้เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 และปัจจุบันยังคงปรากฎนโยบายดังกล่าวอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เอกสารหมาย ร.4 ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 2 ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใช้เฉพาะกับบุคคลธรรมดาไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้น
ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อพิจารณาความในหมวด มิได้กำหนดเฉพาะบุคคลที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 23 (1) และ (5) บัญญัติหน้าที่พรรคการเมืองที่ต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงใช้บังคับกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้
เมื่อพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ปลุกเร้าและยุยงปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุนการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฎพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
พบว่า มีกลุ่มบุคคล มีชื่อทำกิจกรรม ยืนหยุดขัง มีข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค นำเสนอนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จัดชุมนุม โดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิก 112 ค.ร.ย. 112 มีการรณรงค์ ให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุน เรียกร้องให้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความลงใน เฟสบุ๊คส่วนตัว
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายชัยธวัช ตุลาธน นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปีก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายธีรัจชัย พันธุมาศ
ในขณะที่เป็นหรือเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ตามหนังสือของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เอกสารหมาย ศ.20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอกสารหมาย ศ.21 – ศ.36 และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เอกสารหมาย ศ.37 และคำเบิกความของผู้ถูกร้อง ทั้งสองต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฎว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีพฤติกรรมเกี่ยวกับ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายราย ได้แก่ นายปียรัฐ จงเทพ จำนวน 2 คดี นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว จำนวน 2 คดี นางสาวรัชนก ศรีนอก เป็นต้น
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำจะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิด จึงจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีได้ ผู้ถูกร้องทั้งสองจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความเห็นต่างหรือเป็นคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มีข้อห้ามมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพหากเป็นการกระทำซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พฤติการณ์แสดงความหรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นหลักประกัน ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเองย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 พรรค ผู้ถูกร้องที่ 2 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่หน้าสวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบังอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี โดยนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ผู้แทนราษฎร ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกิจกรรม คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข
ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติ๊กเกอร์สีแดง ปิดลงในช่องยกเลิก มาตรา 112 แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 โต้แย้งและเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ถาม และผู้ฟังการปราศรัยโดยทั่วไปสงบสติอารมณ์ ก่อนที่จะฟังคำปราศรัยถึงเหตุผลที่สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และบริหารสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฎ ในหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยความตอนหนึ่งว่า พี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายยกเลิก มาตรา 112 เข้ามา พรรคก้าวไกลก็จะสนับสนุน เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้งสองคนที่พี่ต้องแก้ไขมาตรา 112 ในสภาก่อน ถ้าสภายังไม่ได้รับการแก้ไข ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกัน ครับเอกสารหมาย ศ.33 แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในขณะนั้นที่พร้อมจะสนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาผู้แทนราษฎร ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่นนอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลาย ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลาง ทางการเมืองย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นั้น ต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ก็ตาม แต่คำว่า สิทธิ หมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองป้องกันมีให้บุคคลใดรุกล้ำหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตน อันถือเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น ส่วนคำว่าเสรีภาพ หมายถึง เป็นสภาวะของมนุษย์ ที่เป็นอิสระในการกำหนดว่าตนเองจะกระทำการหรือไม่กระทำการอันไหน
แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 34 ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิหรือเสรีภาพสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของบุคคล และ สิทธิทางการเมือง มาตรา 19 ไว้ 3 ข้อดังนี้
(1) ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ
(2) ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
(3) ต้องไม่กระทบ สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
เมื่อข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยช่อนเร้น หรือผ่านการนำเสนอ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ ให้มีการยกเลิก หรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสองมีลักษณะ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการโดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุมการจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 ซึ่งวรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจสั่งการให้เลิก การกระทำดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการกระทำ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดง ความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มี การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยชอบ ที่เกิดที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2561 มาตรา 74 ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยหมายเลข 2
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร
ข้าพเจ้าในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฎข้างต้นเป็นหลักฐานสำคัญอันควรเชื่อว่า การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ปรากฎรายชื่อตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ได้ร่วมกันกระทำการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่..... พ.ศ.....ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คนร่วมกันเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นโดยวิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา อันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ข้าพเจ้าเห็นว่าการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่..... พ.ศ ..... ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อที่ 5. ที่กำหนดว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ ข้อ 6. ที่กำหนดว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ ข้อ 27.วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวข้างต้น ข้อ 3.nวรรคสอง ที่กำหนดว่า มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ตามรายชื่อที่ปรากฎในสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่..... พ.ศ. ..... .ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา 87
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร
ทางด้าน สำนักงาน ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ทาง ป.ป.ช. ได้รับเอกสารแล้ว เพิ่งได้รับเอกสารคัดคำพิพากษาฉบับเต็ม ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล
สำหรับกรณีนี้ ป.ป.ช.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะมีการไต่สวนหรือไม่ หากมีความคืบหน้าสำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอ