"...การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทําเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสําคัญและความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิดในหมวดหนึ่งของรัฐ ในหมวดของลักษณะหนึ่งและไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป..."
สืบเนื่องจากวันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยศาลวินิจฉัยว่าการที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นั้นนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากว่าเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ถอดคำวินิจฉัยโดยละเอียดมานำเสนอ ณ ที่นี้
@วินิจฉัยคำร้อง
คําร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคําร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเรื่องวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่หนึ่งกับพวกได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญาฉบับ ที่ พ.ศ.ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงมีการดําเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1
โดยอ้างพยานเอกสาร ต่างๆ รวมทั้ง พยานวัตถุได้แก่ภาพนิ่งบันทึกภาพเคลื่อนไหว แต่เสียงพร้อมถอดข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ ที่แสดงถึงการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองประกอบมาท้ายคําร้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคําร้อง
คําร้องจึงมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทําให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา และสามารถต่อสู้คดีได้
คําร้องของผู้ร้องชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 มาตรา 42
ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่าการตรากฎหมายหรือพระราชบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์ทีผู้มีอํานาจ ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตามเป็นการทั่วไปเพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสําคัญระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐหรือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ
การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจําเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนและเป็นธรรม ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเป็นองค์กรหลักในการใช้อํานาจอธิปไตย อำนาจนิติบัญญัติของประเทศภายใต้หลักการตามรัฐธรรมนูญโดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งการตรากฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ก็พิจารณามิให้ขัดหรือแย้งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
โดยกระบวนการตามกฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือต้องดําเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกําหนดและการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอํานาจโดยตรง และการเสนอจะพิจารณาร่างกฎหมายตามพระราชบัญญัติ
แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบ โดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอํานาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 อนุ 1 หรือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ
ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กําหนดหน้าที่และอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทําที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยไม่ได้บัญญัติ ยกเว้นการกระทําใดไว้เป็นการเฉพาะ
การเสนอหรือร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่ง ซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทําล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้อง คุ้มครอง ระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สําคัญสองประการ คือ ระบอบประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คําว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ส่วนคําว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐว่าประเทศนั้นปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์
@เหตุผลที่ต้องมีมาตรา 112
โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทํานองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับเป็นการวางหลักการ เพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคาม อันเกิดจากการกระทําซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการ และคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการดํารงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทําลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและสั่นคลอนคติรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดํารงอยู่ให้เสื่อมทราม หรือต้องสิ้นสลายไป
จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครอง จากการถูกบั่นทอน บ่อนทําลายโดยการใช้ สิทธิ เสรีภาพ ทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กําหนดการกระทําอันเป็นความผิด และกําหนดอัตราโทษแก่ผู้กระทําการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสวง หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
หากผู้ใดกระทําความผิดตามมาตราดังกล่าวต้องได้รับโทษทางอาญา เพราะเหตุแห่งการกระทํานั้นสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี ประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดมิได้
พระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสําคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้
ฝ่ายผู้ถูกร้องได้แก่นายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ได้เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ
@พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องนำไปสู่คำตัดสิน
การที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่สอง รวมจํานวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ.แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิมเป็นหมวดหนึ่งลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญาภาคสองความผิดแบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะโดยจัดเรียงตามลักษณะความผิด อันเป็นการกระทําที่กระทบต่อรัฐ ความผิดที่เป็นการกระทําที่กระทบต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เป็นการกระทําต่อสาธารณชน ความผิดที่กระทบต่อสังคมและบุคคลและความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล
แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญาที่ได้กําหนดลําดับศักดิ์ของหมวดอยู่ และลักษณะกฎหมายไว้ แต่กระบวนกฎหมายอาญาในแต่ละลักษณะบัญญัติเรียงลําดับความสําคัญ และความร้ายแรง ในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตรา โดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ แห่งราชอาณาจักรเนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งแห่งราชอาณาจักรและเกียรติยศของประมุขของรัฐสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีความสําคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยหรือชาติไทยดํารงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติและธํารงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ
การกระทําความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นการกระทําความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเป็นการกระทําเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสําคัญและความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิดในหมวดหนึ่งของรัฐ ในหมวดของลักษณะหนึ่งและไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป
มีเจตนา มุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกันซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างมีนัยยะสําคัญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29 2555วางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 112 ไว้ว่า การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์มีลักษณะของการกระทําความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีบทบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้ในทํานองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และมาตรา 330
การที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งกับพวกเสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทําความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งให้เพิ่มความมาตรา135/7 ว่าผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อดํารงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะผู้นั้นไม่มีความผิด และมาตรา 135/8 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อหานั้นเป็นความจริงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษย่อมทําให้ผู้กระทําความผิดใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิดและเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริงเป็นข้อต่อสู้และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดีเช่นเดียวกับการที่ผู้กระทําความผิดในคดีคุณหมิ่นประมาท บุคคลทั่วไปยกขึ้นต่อสู้
ทั้งที่ลักษณะของการกระทําความผิด มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ซึ่งการพิจารณาของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยานตามข้ออ้าง ข้อเขียน ข้อต่อสู้ระหว่างคู่ความ ในคดีการพิสูจน์ เหตุดังกล่าว จําต้องพาดพิงหรือ กล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพ สักการะอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้และทําให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะเป็นการเสื่อมพระเกียรติ
อีกทั้งการที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งกับพวกเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา135/9 วรรค 1 ว่าความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้และวรรค 2 ให้สํานักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาทและผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์นั้น และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์
มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นเป็นการลดสถานะ ความคุ้มครองของสถาบันมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรงและให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ส่งผลให้การกระทําความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทําความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชน
ทั้งที่การกระทําความผิดดังกล่าวย่อมเป็นการทําร้ายจิตใจของชนชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะทรงเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา
ดังนั้นแม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอํานาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการตามนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม
เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้กลับดําเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่สองทั้งสิ้น เพียงพรรคเดียวทั้งผู้ถูกร้องทั้งสองได้บิกความต่อศาลยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่สองนําเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 และปัจจุบันยังคงปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่สอง
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวล ฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่สองในการหาเสียงเลือกตั้งแม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใดเสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่สอง
แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่สองกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทํานองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ. แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรดังนั้น
ดังนั้น ถือว่าพรรคผู้ถูกร้องที่สองได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่หนึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ.แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมายและอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นด้วยพิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา นอกจากนั้นผู้ถูกร้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าว ให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่สองอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้งสอง อาจหลงตามกับความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านการเสนอร่างกฎหมาย และนโยบายของพรรคประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 วินิจฉัยว่าสาระสําคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นให้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547ว่า พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง
โดยเฉพาะในแง่การให้เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนํามาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป
ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6/2543วินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย ทรงดํารงอยู่เหนือการเมืองและทรงดํารงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมืองการที่ผู้ถูกร้องทั้งสองให้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายมาตรา 112เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนําสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้งมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมืองอันอาจจะนํามาซึ่งการโจมตี ติเตียนโดยไม่คํานึงถึงหลักการพื้นฐานสําคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งมีหลักสําคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดํารงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงฟังไม่ขึ้น
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ว่าหลักการปกครองเสรีประชาธิปไตยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการกระทําในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วรรค 1 อนุมาตรา 2 ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ.แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 กลับดําเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่สองทั้งสิ้น ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสองได้เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่สองนําเสนอนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566และปัจจุบันยังคงปรากฏนโยบายดังกล่าว อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่สอง
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่สองว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 49ใช้เฉพาะกับบุคคลธรรมดา ไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้นผู้ถูกร้องที่หนึ่งในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและพรรคผู้ถูกร้องที่สองเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่เมื่อพิจารณาความในหมวด 3 มิได้กําหนดเฉพาะบุคคลที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 23 อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 5 บัญญัติหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องให้ความสําคัญต่อการส่งเสริม การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างชัดเจน
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงใช้บังคับกับ พรรคการเมือง ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ เมื่อพรรคผู้ถูกร้องที่สองได้แสดงบทบาท เคลื่อนไหว ทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆโดยการรณรงค์ ปลุกเร้า และ ยุบรวมผูกพัน เพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุนการยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฏพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องทั้งสอง พบว่ามีกลุ่มบุคคลผู้มีชื่อทํากิจกรรม มีข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่สอง จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎรยกเลิก 112 ครย 112 มีการรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112โดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจําเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แ ก่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน,นายรังสิมันต์ โรม,นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบญจปัก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล,นายธีระชัย พันธุมาศ
ในขณะที่เป็นหรือเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคผู้ถูกร้องที่สอง ตามหนังสือของสํานักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตํารวจแห่งชาติและ สภาความมั่นคงแห่งชาติและคําเบิกความของผู้ถูกร้องทั้งสองต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่หนึ่ง กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในอดีต และปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่สอง มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายราย
ได้แก่นายปิยรัฐ จงเทพ จํานวน 2 คดี นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว จํานวน 2 คดี นางสาวรักชนก ศรีนอกเป็นต้น
การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญาผู้กระทําจะต้องมีการกระทําที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิด จึงจะถูกกล่าวหาและดําเนินคดีได้
ผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความเห็นผ่านหรือเป็นคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มีข้อห้ามมิให้ใช้สิทธิ หรือเสรีภาพหากเป็นการกระทําที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พฤติการแสดงความเห็นหรือเข้าร่วม การชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาหรือจําเลย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทําความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเองย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกฟ้องที่สองเป็นกลุ่มการเมืองซึ่งมีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 พรรคผู้ถูกร้องที่สองจัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบัง อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีโดยนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่หนึ่ง รวมถึงว่าที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่สอง ร่วมกิจกรรมคุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิก หรือแก้ไข
ซึ่งผู้ถูกร้องที่หนึ่ง นําสติกเกอร์สีแดงปิดลงในช่องยกเลิก มาตรา 112
แม้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง โต้แย้ง และเบิกความ ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้ฟังการปราศรัยโดยทั่วไปสงบสติอารมณ์ก่อนที่จะฟังคําปราศรัยถึงเหตุผลที่สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหน้าในหนังสือของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้ถูกร้องที่หนึ่งอาศัยความตอนหนึ่งว่าพี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 เข้ามาพรรคก้าวไกลก็จะสนับสนุนเช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้งสองคนที่พี่ต้องแก้ไขมาตรา 112 ในสภาก่อนถ้าสภายังไม่ได้รับการแก้ไขก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่หนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่สองในขณะนั้นที่พร้อมจะสนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทําให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์หมดสิ้นไป
เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมที่จะดําเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่น นอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคําวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทําที่มีเจตนาทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยชัดแจ้งเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทําลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าพระมหากษัตริย์ทรงดํารงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทําใดใดทั้งการส่งเสริมหรือทําลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็น กลางทางการเมืองย่อมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทําลาย เป็นเหตุให้ ชํารุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลงเข้าลักษณะ เป็นการล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้ผู้ถูกร้อง ทั้งสองโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทําอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขได้นั้น ต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่คําว่าสิทธิหมายถึง อํานาจที่กฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครอง ป้องกันมิให้บุคคลใดลูกคล้ําหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตนอันถือเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
ส่วนคําว่าเสรีภาพหมายถึงเป็นสภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระในการกําหนดว่าตนเองจะกระทําการหรือไม่กระทําการอันใด
แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 34 ได้กําหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของบุคคลและสิทธิทางการเมืองมาตรา 29 ไว้สามข้อดังนี้
วงเล็บ 1 ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ วงเล็บ 2 ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และวงเล็บ 3 ต้องไม่กระทบ สิทธิเสรีภาพของคนอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเรียกร้องให้มีการทําลายการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนําเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคแม้เหตุการณ์คําร้องผ่านพ้นไปแล้ว
แต่การดําเนินการรณรงค์ให้มีการยกเลิก หรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสองมีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรมการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรการใช้เป็นนนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
อ้างอิงวิดีโอจากศาลรัฐธรรมนูญ
@คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทําการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เก้า วรรค 1 ซึ่งวรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทํา เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมาย โดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาล รัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่การวิจารณ์คำวินิจฉัยโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย มีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท