“การก้าวก่ายแทรกแซง หมายความว่า การที่บุคคลผู้ใด ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนได้ใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้นั้นหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าการกระทำหรือพฤติกรรมนั้นจะประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้นั้นหรือไม่…”
.........................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบ ‘แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน’ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอที่มาและรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน’ ดังนี้
@รวบรวม'มาตรการ-แนวทางปฏิบัติ'ให้เป็น'เอกภาพ'
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 76 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมโดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มติ ก.พ. และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
-ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการดำเนินการตามมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมีมติมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปศึกษาเพิ่มเติมและนำเสนอความคืบหน้าต่อไป สรุปความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุม ก.พ. ได้ ดังนี้
(1) การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน มีการบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงอาจยังคงมีพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนระบบคุณธรรม ดังนั้น จึงควรศึกษารวบรวม และวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เป็นการละเมิดระบบคุณธรรม และผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำนั้น จะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายหรือส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไร
(2) เมื่อพิจารณามาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งมาตราแล้ว อาจมีแนวทางในการพิจารณาดำเนินการได้หลายประการ อาทิ การเพิ่มเติมประเด็นการห้ามก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ไว้ในประมวลจริยธรรม การจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ การจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guidelines) การแจกแจงแนวทางการประพฤติปฏิบัติตน (Do's and Don'ts) หรือการแก้ไขหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติในกฎหมายฉบับเดิม
-ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการส่งเสริมระบบคุณธรรมในราชการพลเรือน : การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และมีมติเห็นชอบในหลักการ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ. โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของ ก.พ. ไปปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมตามบทบัญญัติมาตรา 76 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อาทิ การก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการพิจารณาความดีความชอบ รวมทั้งการก้าวก่ายแทรกแซงในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาข้าราชการ การดำเนินการทางวินัย การให้ออกจากราชการ เป็นต้น
โดยเมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ ให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบว่า ได้มีการปฏิบัติตามแนวนโยบายแห่งรัฐในมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็อาจจะมีมติขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
-ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแชงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน และมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีมาตรการในการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อยู่แล้ว เพียงแต่ถูกกำหนดไว้ในบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำเป็นกฎหมายฉบับใหม่เพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อสำนักงาน ก.พ. ได้รวบรวมมาตรการหรือแนวทางในเรื่องดังกล่าวให้เป็นเอกภาพ และจัดทำเป็นหนังสือเพื่อแจ้งเวียนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ให้แจ้งแนวทางดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว
@เปิดนิยาม'ก้าวก่ายแทรกแซง-พิจารณาความดีความชอบ'
รายละเอียดแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ปรากฎดังนี้
(1) คำจำกัดความ
ในแนวทางนี้
‘การก้าวก่ายแทรกแซง’ หมายความว่า การที่บุคคลผู้ใด ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนได้ใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้นั้นหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าการกระทำหรือพฤติกรรมนั้นจะประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้นั้นหรือไม่
ทั้งนี้ การให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือการแสดงความคิดเห็น จากผู้ที่ไม่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่ได้กระทำไปโดยสุจริต เปิดเผย และสามารถระบุหรืออ้างอิงตัวบุคคลผู้นั้นได้ ไม่ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงตามแนวทางนี้
‘การปฏิบัติหน้าที่’ หมายความว่า การปฏิบัติราชการตามกฎหมายกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
‘การบริหารงานบุคคล’ หมายความว่า การดำเนินการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การสรรหาการบรรจุ การแต่งตั้ง (การย้าย การโอน การเลื่อน) การประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน
‘การพิจารณาความดีความชอบ’ การพัฒนาข้าราชการ การปกครองบังคับบัญชา การดำเนินการทางวินัย การให้ออกจากราชการ ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึง การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินด้วย
@ห้าม'นักการเมือง-องค์กรอิสระ'แทรกแซง'ขรก.พลเรือน'
(2) แนวทางในการดำเนินการ
เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลผู้ใดได้กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ให้ผู้ที่ได้รับรู้รับทราบถึงการกระทำนั้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือขั้นตอนที่กฎหมายกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น กำหนดไว้ในแต่ละกรณี ดังต่อไปนี้
(2.1) กรณีสงสัยว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 186 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้น สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (5) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป
(2.2) กรณีสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา กระทำการอันมีเป็นการก้าวก่ายแทรกแชงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7) แล้วแต่กรณี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป
(2.3) กรณีสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
และอาจเป็นเหตุให้ผู้นั้นพันจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต่อไป
(2.4) กรณีสงสัยว่ากรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อ 11 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และอาจเป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 8 (4) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยหรือสั่งการตามข้อ 11 วรรคสาม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป
(2.5) กรณีสงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยตามหมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้น เพื่อดำเนินการตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ต่อไป
ทั้งนี้ กรณีสงสัยว่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีการระบุไว้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เช่น ข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง (นอกเหนือจากตำแหน่งตามข้อ 2.1) บุคคลหรือผู้ปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษาหรือตำแหน่งอื่นๆที่รัฐมนตรีแต่งตั้งนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา ผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแชงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่หรือตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น ต่อไป
@แจ้งเป็น'หนังสือเวียน'ให้ทุกส่วนราชการรับทราบแล้ว
ทั้งนี้ การดำเนินการตามมติ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ตามความเห็นและมติ ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 และแจ้งเวียนส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 14 ลงวันที่ 8 ส.ค.2566 พร้อมทั้งได้แจ้งแนวทางดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วยแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
ส่วนราชการในราชการพลเรือน มีแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้ง หรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสอดคล้องตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน’ ที่ ครม. เศรษฐา ทวีสิน มีมติรับทราบ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ ‘นักการเมือง’ หรือแม้แต่ ‘องค์กรอิสระ’ เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงการ ‘บรรจุ-แต่งตั้ง-โยกย้าย’ ข้าราชการพลเรือน!
อ่านประกอบ :
ย้อนดู 5 รัฐบาล จาก‘ทักษิณ-ประยุทธ์’ ขึ้นเงินเดือน‘ขรก.’ 6 ครั้ง-รายจ่ายขยับแตะ 6 แสนล.
ชำแหละงบปี 67 ‘รบ.เศรษฐา’ตัดงบ‘ก.เกษตร’-‘กลาโหม’เพิ่ม1.9% ค่าใช้จ่าย‘จนท.รัฐ’1.2 ล้านล.
นายกยันขึ้นเงินเดือนขรก.เป็นการศึกษา ไม่ได้ให้เพิ่มทันที-ตั้งคกก.ย่อยแก้ปัญหา EEC
‘ปานปรีย์’ นัด 11 พ.ย. 66 ประชุมศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการนัดแรก
ครม.สั่ง‘ปานปรีย์-สำนักงาน ก.พ.’ ศึกษา‘ความเป็นไปได้-ผลกระทบ’ปรับขึ้นเดือน‘ขรก.-จนท.รัฐ’