“…หากกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้เอง ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่าบุคคลทั่วไป อาจดำเนินคดีอันเป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายในลักษณะสมยอมได้ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย และไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวได้อีก เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีซ้ำ…”
......................................
เลื่อนการพิจารณาออกไปโดยไม่มีกำหนด
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้บรรจุเข้าเป็นวาระการพิจารณา ‘เรื่องด่วน’ ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ.นี้
หลัง ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อนำไปทบทวนให้รอบคอบ เนื่องจากมีเสียงทักท้วงจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 235
“ป.ป.ช.เห็นว่า การเปิดให้ประชาชนผู้เสียหายสามารถไปฟ้องร้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้เองนั้น อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ต้องการให้ ป.ป.ช.เท่านั้น เป็นผู้ดำเนินการไต่สวนฯและฟ้องนักการเมือง ซึ่งทางหนึ่งเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ และอีกทางหนึ่งเป็นเรื่องที่ว่า ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ไปฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้โดยตรง
ส่วนความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นที่ว่าหาก ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดฯ ก็ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการการถ่วงดุลอำนาจ และยังเห็นว่าหากต้องการให้ประชาชนฟ้องได้นั้น ควรให้ประชาชนเป็นโจทก์ร่วมเท่านั้น เพราะถ้าให้ประชาชนฟ้องเอง ก็อาจขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ชูศักดิ์ กล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ตอบคำถามและให้ความเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ป.ป.ช.ค้าน‘อัยการสูงสุด’ล้วงลูก ชี้กระทบ‘ความเป็นอิสระ’
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คำถาม : ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไรกับการกำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจพิจารณาทบทวนความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งต้องมีกระบวนการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เป็นที่ยุติ การที่มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผู้เสียหายที่ถูกกระทบสิทธิไม่เห็นพ้องด้วยกับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ก็ย่อมมีอำนาจนำคดีไปฟ้องต่อศาลได้โดยตรงในฐานะผู้เสียหายตามกฎหมาย
ส่วนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองความเป็นอิสระไว้ ซึ่งกรณีดังกล่าวกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว หากให้มีการทบทวนความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ ก็อาจกระทบความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
สำนักงานอัยการสูงสุด : เห็นด้วย
เห็นด้วยในการกำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจทบทวนตรวจสอบ ถ่วงดุลความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ถูกแทรกแซงทางการเมืองได้
คำถาม : ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไรกับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หากอัยการสูงสุดพิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
การนำตัวผู้ถูกกล่าวหาเพื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 18 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27
สำนักงานอัยการสูงสุด : เห็นด้วย
เห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หากอัยการสูงสุดพิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล
คำถาม : ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไรกับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
การกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นที่มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน ดังกล่าว จะกระทบต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบ และกระทบต่อหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง และอาจเกินหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเฉพาะคดีที่มีมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวถือว่าเป็นการกำหนดที่เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ และกระทบต่อหน้าที่และอำนาจโดยอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด
สำนักงานอัยการสูงสุด : เห็นด้วย
เห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน เนื่องจากต้องมีเวลาในการพิจารณาสำนวน
ทั้งนี้ กำหนดเวลาดังกล่าวต้องก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อให้พนักงานอัยการมีระยะเวลาเพียงพอในการพิจารณาสำนวน ซึ่งบางกรณีต้องแจ้งข้อไม่สมบูรณ์และดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม
@‘ผู้เสียหาย’ฟ้อง‘ศาลฎีกาฯนักการเมือง’โดยตรง อาจขัดรธน.
คำถาม : ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไรกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ให้สิทธิผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องไว้พิจารณาเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้เป็นการเฉพาะ และมิได้กำหนดให้สิทธิแก่ผู้เสียหายฟ้องคดีได้โดยตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะดังกล่าว จึงอาจขัดหรือแย้งกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมายที่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยย่อมต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น การแก้ไขดังกล่าวจึงกระทบต่อหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด
สำนักงานอัยการสูงสุด : ไม่เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วยในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ให้สิทธิผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรงตามมาตรา 49/1 แต่ให้ไปใช้กลไกในการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมต่ออัยการสูงสุด ในกรณีที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาล และคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ จึงไม่ควรให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง
@‘ป.ป.ช.-ศาลฯ’คัดค้าน เปิดให้‘ผู้เสียหาย’ฟ้องคดีเอง
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่) พ.ศ. ...
คำถาม : ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง หรือไม่ อย่างไร ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากเดิมรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มิได้กำหนดสิทธิของ “ผู้เสียหาย” ไว้ และการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินการภายใต้หลักการสำคัญที่ต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นอิสระในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจไว้ มิใช่องค์กรสอบสวนดังเช่นพนักงานสอบสวน
ซึ่งกระบวนการไต่สวนจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เป็นที่ยุติ และผลของคดีย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ตาม สิทธิของผู้เสียหายย่อมไม่ถูกกระทบและย่อมมีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลได้โดยตรงในศาลที่มีเขตอำนาจ
ทั้งนี้ การเพิ่มเติมหลักการให้ผู้เสียหายเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อาจกระทบกับหลักการตามรัฐธรรมนูญได้
นอกจากนี้ หากกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้เอง ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่าบุคคลทั่วไป อาจดำเนินคดีอันเป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายในลักษณะสมยอมได้ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย และไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวได้อีก เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีซ้ำและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
สำนักงานศาลยุติธรรม : ไม่เห็นด้วย
เหตุผลที่กฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ถือเป็นผู้มีอำนาจรัฐหรือมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการแก่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากปล่อยให้ประชาชนทั่วไปมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวได้เอง ย่อมก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในทางคดี หรืออาจมีกรณีที่ฟ้องร้องโดยมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งหรือไม่สุจริต ทำให้มีคดีความขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโดยไม่จำเป็น
ดังนั้น กฎหมายจึงต้องกำหนดให้เฉพาะหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจรัฐ ได้แก่ อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือเรียกข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทราบข้อเท็จจริงและฟ้องร้องคดีแทนรัฐและประชาชน ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายเพื่อดำเนินคดีเอาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กระทำผิดต่อกฎหมาย
รวมถึงกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลได้กำหนดให้ใช้ระบบไต่สวน โดยให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามแนวทางและวิธีการตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา
ด้วยเหตุนี้ เห็นสมควรให้คงหลักการตามกฎหมายในปัจจุบัน เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายโดยผ่านการดำเนินการของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย
คำถาม : ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้อายุความในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ตามร่างมาตรา 5 อย่างไร ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้กำหนดให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาโดยตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถือเป็นความผิดต่อรัฐ ที่ผู้เสียหายไม่อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้เอง จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับกับกรณีนี้ได้
คำถาม : ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ตามร่างมาตรา 6 อย่างไร ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. : ไม่เห็นด้วย
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้กำหนดให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาโดยตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีอาญา เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีที่เป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย และกฎหมายมิได้ประสงค์ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง จึงไม่อาจนำหลักการไต่สวนมูลฟ้องมาใช้กับหลักการดังกล่าวได้
เหล่านี้เป็นความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไข ‘กฎหมายปราบโกง’ 2 ฉบับ ที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้เสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ก่อนจะมีการขอถอนร่างกฎหมายฯ ออกไป เพื่อนำกลับไปทบทวนให้รอบคอบ!
อ่านประกอบ :
‘วันนอร์’สั่งงดประชุมร่วมรัฐสภา 16 ก.พ. หลัง‘เพื่อไทย’ขอถอนร่างกฎหมาย‘ป.ป.ช.’ไปทบทวน
เปิดร่าง กม.ปราบโกง ฉบับ'เพื่อไทย' เพิ่มอำนาจ'อสส.'ถ่วงดุล'ป.ป.ช.' ก่อนสภาฯถก 16 ก.พ.นี้
‘เพื่อไทย’ ยื่นแก้กฎหมาย พ.ร.ป. 2 ฉบับ ‘ป.ป.ช.-พิจารณาคดีอาญานักการเมือง’