‘ประธานรัฐสภา’ สั่งงดประชุมร่วมรัฐสภา 16 ก.พ.นี้ หลัง ‘เพื่อไทย’ ขอถอนร่างกฎหมาย ‘ป.ป.ช.’-ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 'ชูศักดิ์' แจงเหตุถอนร่างฯ นำไปทบทวน หลัง 'ป.ป.ช.' ทักท้วงอาจขัดรัฐธรรมนูญ
.....................................
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ได้สั่งงดการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เนื่องจากนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.... เพื่อนำกลับไปทบทวนให้รอบคอบ ก่อนจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมฯอีกครั้ง
“การขออนุญาตนำร่าง พ.ร.บ. กลับไปทบทวน ต้องขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ในระเบียบวาระแล้ว จึงเห็นว่าจะทำให้เสียเวลา หากจะเปิดประชุมมาเพื่อขอมติที่ประชุม ดังนั้น จึงได้สั่งงดประชุม แล้วไปขอมติที่ประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งถัดไป ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนัดอีกครั้งเมื่อใด เนื่องจากต้องดูความพร้อมและประชุมร่วมของวิปทั้ง 3 ฝ่าย” นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ
เมื่อถามว่า ในระเบียบวาระจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า นายชัยธวัช มีความประสงค์ตั้งแต่ครั้งที่แล้วว่า ยังไม่เสนอในที่ประชุม เพราะถึงอย่างไรร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีการพิจารณาแก้ไขอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องที่นายชัยธวัชเสนอก็เกี่ยวข้องกัน และอีกประการในเดือน พ.ค.นี้ สว.ก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงอยู่แล้วด้วย มาตรา 272 ก็จะไม่มีอำนาจอะไร ดังนั้น จะแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ไม่ได้มีผลอะไร
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ต.นายอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการรัฐสภา ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ อ 0014/ร 9 แจ้งเรื่องงดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.2567 แล้ว นั้น
เนื่องจากผู้เสนอญัตติตามระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ .. พ.ศ.... และเรื่องด่วนที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ขอนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปปรับปรุงเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ประธานรัฐสภาจึงเห็นควรให้งดการประชุมในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.2567 ทั้งนี้ หากจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อใดจะแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาทราบต่อไป
นายชูศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ในการเสนอร่างกฎหมายต่างๆนั้น ต้องมีการส่งร่างกฎหมายไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นด้วย แต่ปรากฎว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมาย ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ
โดย ป.ป.ช.เห็นว่า การเปิดให้ประชาชนผู้เสียหายสามารถไปฟ้องร้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้เองนั้น อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ต้องการให้ ป.ป.ช.เท่านั้น เป็นผู้ดำเนินการไต่สวนฯและฟ้องนักการเมือง ซึ่งทางหนึ่งเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ และอีกทางหนึ่งเป็นเรื่องที่ว่า ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ไปฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้โดยตรง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นที่ว่าหาก ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดฯ ก็ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการการถ่วงดุลอำนาจ และยังเห็นว่าหากต้องการให้ประชาชนผู้เสียหายฟ้องได้นั้น ควรให้ประชาชนเป็นโจทก์ร่วมเท่านั้น เพราะถ้าให้ประชาชนฟ้องเอง ก็อาจขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“ผมมานั่งดูแล้ว แม้ว่าวิปฯของเราส่วนใหญ่จะเห็นด้วย โดยให้เสนอและรับหลักการ แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่เข้าใจว่าหลายส่วนที่ได้ดู (ร่าง พ.ร.บ.) โดยเฉพาะวุฒิสมาชิก ซึ่งมีแนวโน้มในเชิงว่าไม่ต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายประเภทเหล่านี้อยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่า เราควรเอากลับมาดูก่อน
เพราะผมไม่อยากให้เป็นกรณีว่า พอเสนอร่างกฎหมายไป และผ่าน 3 วาระแล้ว แต่เมื่อส่งไปให้ ป.ป.ช.ดู ถ้า ป.ป.ช.เขามีความเห็นว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี เราก็เลยคิดว่า เอาดูให้รอบคอบก่อนดีไหม เอามาดูว่ามีหนทางอย่างไรที่มันจะไม่ไปเสี่ยงต่อเรื่องที่ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้ไปตนจะไปหารือกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อย่างไรก็ดี จุดยืนของพรรคเพื่อไทย คือ การให้ประชาชนสามารถฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้ เพราะที่ผ่านมามีกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดฯ แล้วเรื่องก็ต้องยุติไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ.นี้ มีร่างฎหมายที่บรรจุเป็นวาระพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ....(ยกเลิกมาตรา 272) เสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน กับคณะ 2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
อ่านประกอบ :
เปิดร่าง กม.ปราบโกง ฉบับ'เพื่อไทย' เพิ่มอำนาจ'อสส.'ถ่วงดุล'ป.ป.ช.' ก่อนสภาฯถก 16 ก.พ.นี้
‘เพื่อไทย’ ยื่นแก้กฎหมาย พ.ร.ป. 2 ฉบับ ‘ป.ป.ช.-พิจารณาคดีอาญานักการเมือง’