"...เมื่ออ้างว่า การโอนหุ้นกว่า 4,400 ล้าน เป็นการซื้อจากญาติพี่น้อง คำถามที่เกิดขึ้นคือ ซื้อขายในราคาเท่าไหร่ ตามมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หรือมูลค่าตามบัญชี ถ้าเป็นบริษัทที่มีกำไร มูลค่าตามบัญชีจะสูงกว่าราคาพาร์ กรมสรรพากร ต้องติดตามตรวจสอบว่า ผู้ขาย ขายตามราคามูลค่าตามบัญชี (กรณีที่บริษัทมีกำไร) หรือไม่ ถ้ามีกำไรจากการขายหุ้นเสียภาษีหรือไม่ซึ่งปกติกรรมสรรพากรจะให้กำหนดให้ขายตามมูลค่าตามบัญชีเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี..."
หลังจากเขียนเรื่อง แค่จ่ายค่าหุ้นหรือนิติกรรมอำพราง? 'แพทองธาร’ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 4,400 ล.ให้ญาติพี่น้อง
มีคำถามเข้ามาทันทีว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างที่ตั้งคำถามไว้ โดยเฉพาะการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการชำระค่าหุ้นให้กับญาติพี่น้องเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ในการรับโอนหุ้น(สัญญาให้) 9 บริษัทโดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานับพันล้านบาท
จะเป็นการเจริญรอยตามนายทักษิณ ชินวัตร ผู้พ่อที่เคยโดนคดีซุกหุ้นภาค 1 หรือ ซุกหุ้นภาค 2 หรือไม่
ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ขอสรุปข้อเท็จจริงกรณีคดีซุกหุ้น ให้เห็นภาพคร่าวๆ ดังนี้
ก่อนที่นายทักษิณ ชินวัตร จะเข้าเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว นายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้นของตนเอง ไปให้กับ คนรับใช้ คนขับรถ และยาม ถือไว้รวมมูลค่าสูงสุดกว่า 11,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าหุ้นที่นายทักษิณและคุณหญิงพจมานถือไว้ในนามของตนเอง
เมื่อนายทักษิณเริ่มเล่นการเมืองได้เริ่มทยอยโอนหุ้นจากคนรับใช้ คนขับรถ และยาม ให้กับญาติพี่น้องและลูกๆ กระทั่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายชวน หลีกภัยและรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายทักษิณจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2544 มีการยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า นายทักษิณแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จช่วงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หรือไม่
แน่นอนว่า จากข้อเท็จจริงในการถือครองหุ้นของคนรับใช้ในลักษณะ ‘นอมินี’ เช่น น.ส. บุญชูเหรียญประดับ น.ส. ดวงตา วงศ์ภักดี , และนายชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์ ที่มีมูลค่านับพันล้านบาท ในขณะนั้น และไม่มีการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายทักษิณจงใจแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2544 และได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่ด้วยกระแสคะแนนนิยมของนายทักษิณยังทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น นายทักษิณจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2544 ด้วยปาฏิหาริย์ทางกฎหมายและวลี ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายทักษิณไม่มีความผิดด้วยเสียง 8 ต่อ 7 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง
แม้นายทักษิณจะพ้นข้อกล่าวหา แต่คดีซุกหุ้นภาค 1 กลายเป็นชนักติดหลังนายทักษิณมาตลอดจนกระทั่งเกิดคดีซุกหุ้นภาค 2 ตระกูลชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นทั้งหมดมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาทให้แก่กองทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียวด้วยเทคนิคทางกฎหมายและความร่วมมือของผู้บริหารในกรมสรรพากรในขณะนั้น
จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลของนายทักษิณในสมัยที่สองด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549
หลังการรัฐประหาร มีการรื้อฟื้นคดีเกี่ยวกับการโอนหุ้น การขายหุ้นของนายทักษิณทั้งหมดขึ้นมาดำเนินการแกครั้งจนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ว่านายทักษิณร่ำรวยผิดปกติ ให้ยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ทำไมนายทักษิณ จึงนำหุ้นมูลค่านับหมื่นล้านบาทไปฝากไว้กับคนรับใช้ แต่การให้คนรับใช้ถือหุ้นแทน ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นในตลาดทรัพย์ฯโดยไม่มีใครตรวจสอบได้
จนกระทั่งมีการเปิดโปงการซุกหุ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงเข้าตรวจสอบและปรับคุณหญิงพจนมาณ เป็นเงิน 6.9 ล้านบาทข้อหาไม่ยอมแจ้งการซื้อขายหุ้นข้ามเส้น 5% แต่รอดจากคดีการใช้ข้อมูลภายในการซื้อขายหุ้น
กลับมากรณีของ น.ส.แพทองธาร สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ
หนึ่ง เมื่ออ้างว่า การโอนหุ้นกว่า 4,400 ล้าน เป็นการซื้อจากญาติพี่น้อง คำถามที่เกิดขึ้นคือ ซื้อขายในราคาเท่าไหร่ ตามมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หรือมูลค่าตามบัญชี ถ้าเป็นบริษัทที่มีกำไร มูลค่าตามบัญชีจะสูงกว่าราคาพาร์
กรมสรรพากร ต้องติดตามตรวจสอบว่า ผู้ขาย ขายตามราคามูลค่าตามบัญชี (กรณีที่บริษัทมีกำไร) หรือไม่ ถ้ามีกำไรจากการขายหุ้นเสียภาษีหรือไม่ซึ่งปกติกรรมสรรพากรจะให้กำหนดให้ขายตามมูลค่าตามบัญชีเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี
สอง การซื้อขายต้องมีการเสียค่าอากรแสตมป์ ในกรณีมีการเสียอากรถูกต้องหรือไม่ แม้ค่าอากรจะไม่มากนัก แต่มูลค่าหุ้นกว่า 4,400 ล้าน ค่าอากรก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย
สาม เมื่อพิจารณาจากตั๋วสัญญาใช้เงินแบบไม่มีกำหนดเวลาให้ชำระ(เมื่อทวงถาม) และไม่มีดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากคุณหญิงพจนที่เป็นมารดา ทำให้คิดไปได้ว่า เจตนาที่แท้จริงในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมิได้มี
เจตนาที่แท้จริงในการเป็นประกันในการชำระหนี้ค่าหุ้น แต่เป็นการ ‘อำพราง’ สัญญาให้หุ้นหรือไม่
ถ้าเป็นการอำพรางจริง เท่ากับหนี้จำนวนนี้ที่ น.ส.แพทองธารยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช.เป็น ‘หนี้ปลอม’ เมื่อเป็นหนี้ปลอม คำถามคือ เข้าข่ายจงใจยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่
เพราะถ้าเป็นการอำพรางการให้หุ้นซึ่งมูลค่าหุ้นที่ได้รับกว่า 4,400 ล้านบาทต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคลลธรรมดานับพันล้านบาท ถ้าอำพรางสำเร็จก็ต้องไม่ถูกตรวจสอบและไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว?
ปัญหาคือ ในยามที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน กลไกอำนาจรัฐหรือองค์กรอิสระจะกล้าตรวจสอบกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่?