“…เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ก็ต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นให้อัยการสูงสุดได้พิจารณาอันเป็นการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กร อันจะทำให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความรอบคอบยิ่งขึ้น หากอัยการสูงสุดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดก็สามารถส่งฟ้องได้เอง…”
...........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ 2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ....
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในวันที่ 16 ก.พ.นี้ จะมี 'การประชุมร่วมรัฐสภา' ซึ่งในการประชุมฯดังกล่าวได้มีการบรรจุร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญและรายละเอียดของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@เพิ่มอำนาจ'อสส.'ตรวจสอบ-ถ่วงดุล'คณะกรรมการ ป.ป.ช.'
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
เหตุผล
โดยที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และความผิดที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอาจมีผู้เสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย โดยมิใช่เป็นความเสียหายแก่รัฐเท่านั้น
แต่กฎหมายมิได้ให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้เลย ทั้งๆที่หลักการสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้เอง
เหตุนี้เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาหรือได้มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ก็จะทำให้ผู้เสียหายไม่มีสิทธิในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และการที่กฎหมายกำหนดให้เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าไม่มีมูลต้องยุติไปในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
โดยที่ไม่มีองค์กรอื่นตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจทำให้เรื่องกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้รับการตรวจสอบดำเนินการให้ครบถ้วนรอบด้าน เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางการเมืองอาศัยช่องทางดังกล่าว ทำให้เรื่องกล่าวของตนยุติลงในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
หรือแม้เรื่องจะได้ส่งไปให้อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องคดีต่อผู้ต้องหา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มิได้ยื่นฟ้องคดีเองตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ต้องหาก็ไม่อาจยื่นฟ้องคดีได้เอง
ดังนั้น จึงสมควรให้สิทธิแก่ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ก็ต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นให้อัยการสูงสุดได้พิจารณาอันเป็นการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กร อันจะทำให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความรอบคอบยิ่งขึ้น
หากอัยการสูงสุดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลความผิด ก็สามารถส่งฟ้องได้เอง โดยการฟ้องคดีอาญาของอัยการสูงสุดทั้งกรณีตามมาตรา 77 และตามมาตรา 58 ที่แก้ไขเพิ่มเติมควรให้สิทธิผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ เพื่อจะได้ใช้สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้กระทำความผิดได้ด้วย
แต่หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องคดีและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มิได้ยื่นฟ้องคดีด้วย ก็ควรให้สิทธิผู้เสียหายได้ฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงด้วย อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
@ป.ป.ช.ไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ‘ผู้เสียหาย’ฟ้องคดีได้เอง
หลักการและร่างกฎหมาย
แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนี้
(1) กำหนดให้สิทธิผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีได้เอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา (เพิ่มความเป็นมาตรา 49/1)
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 49/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561”
“มาตรา 49/1 ภายใต้กำหนดอายุความ เรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้วแต่กรณี
กรณีผู้เสียหายฟ้องคตีเองตามวรรคหนึ่ง มิให้นำความในมาตรา 54 (1) มาตรา 55 (1) และ (3) มาใช้บังคับ”
@ป.ป.ช.ชี้ข้อกล่าวหาไม่มูล ต้องส่งเรื่องให้‘อสส.’พิจารณา
(2) กำหนดให้เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณา หากอัยการสูงสุดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดอาญา ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ หากเห็นว่าคดีไม่มีมูลก็ให้ส่งยุติเรื่อง
โดยคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องดังกล่าว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ แต่หากอัยการสูงสุดเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิดอาญาและสั่งให้ยุติเรื่อง ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีได้เอง ซึ่งการฟ้องคดีของผู้เสียหายรวมถึงกรณีที่อัยการสูงสุดไม่ยื่นพ้องคดีและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ฟ้องคดีเองตามมาตรา 77 ด้วย
และกำหนดให้การฟ้องคดีของอัยการสูงสุดและผู้เสียหาย หากผู้กระทำความผิดเป็นทหารร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้ารัฐ ให้ฟ้องรวมไปในคดีเดียวกัน ความผิดที่ฟ้องนอกจากความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วให้รวมถึงความผิดที่เกี่ยวข้องด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 58)
โดย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 58 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นแล้วแต่กรณี พร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ
เมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พิจารณาและมีความเห็นโดยเร็ว โดยอัยการสูงสุดมีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นได้ตามที่เห็นสมควร หากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดอาญาให้มีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป หากเห็นว่าเรื่องกล่าวหาไม่มีมูลความผิดอาญาให้ยุติเรื่องและแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหาและผู้เสียหายทราบโดยเร็ว
ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีตามวรรคสอง เพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการสูงสุดได้ โดยให้นำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ภายใต้กำหนดอายุความ กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิดอาญา และสั่งให้ยุติเรื่องตามวรรคสอง หรือเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องคดี และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ยื่นฟ้องคดีเองตามมาตรา 77 ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีได้เองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49/1 ทั้งนี้ เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรรพอกสารทั้งปวงที่มีอยู่พร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และความเห็นของอัยการสูงสุดให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว
ในการยื่นฟ้องคดีของอัยการสูงสุดตามวรรคสองและการยื่นฟ้องคดีของผู้เสียหายตามวรรคสี่หรือตามมาตรา 49/1 หากผู้กระทำความผิดเป็นทหารซึ่งร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ให้อัยการสูงสุดหรือผู้เสียหายฟ้องรวมไปในคดีเดียวกันได้”
@ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้อง‘อสส.’ขอสำนวนไต่สวนฯป.ป.ช.
(3) กำหนดบทเฉพาะกาลให้เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา 58 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ เพื่อขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและเอกสาร รวมถึงความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. มายังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามมาตรา 58 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ (ร่างมาตรา 6)
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรา 6 บัญญัติว่า
“ภายใต้กำหนดอายุความ เรื่องกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ หากผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ดำเนินการตามมาตรา 58 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้อัยการสูงสุดแจ้งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนพร้อมสรรพเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มายังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับแจ้งแล้วให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวทั้งหมดไปยังอัยการสูงสุดโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุด และให้นำความในวรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ของมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
@กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการอำนาจ‘ผู้เสียหาย’ฟ้องคดี
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ....
เหตุผล
โดยที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีบทบัญญัติรองรับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางกรเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งขณะนี้ได้มีการยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ…
เพื่อให้อำนาจผู้เสียหายฟ้องคดีได้เองในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาหรือกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล และกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งฟ้องผู้ถูกกล่าว ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่มีบทบัญญัติรองรับการฟ้องคดีของผู้เสียหาย
จึงต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้เสียหายฟ้องคดีไว้ด้วย โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดให้ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (เพิ่มบทนิยาม “ผู้เสียหาย” ในมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 28)
ร่างกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ...
มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ต่อจากบทนิยามคำว่า “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ดังนี้
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3) ของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560
“(3) ผู้เสียหาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วให้อายุความสะดุดหยุดลง เว้นแต่กรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เว้นแต่กรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีเอง”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 หรือเมื่อศาลประทับรับฟ้องในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีเอง และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลย รายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด”
@ให้สิทธิผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม
“กรณีที่ ป.ป.ช. สั่งไม่รับคำร้องหรือกรณีที่ ป.ป.ช.สั่งว่าไม่มีมูล ผมคิดว่าเรื่องไม่ควรจบที่ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าควรจะมีมูล ก็ให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องได้ ทั้งหมดเพื่อในกรณีที่ไม่มีคดีที่จะนำสู่ศาลได้โดยสั่งไม่ฟ้องหรือไม่รับคำร้อง ควรจะให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้
เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมและแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ก็หมายความว่าผู้เสียหาย ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการสามารถฟ้องคดีได้เอง จะทำให้กระบวนการคุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ใช่ ป.ป.ช. สั่งไม่ฟ้องหรือสั่งไม่มีมูลมายุติสิ้นสุดลง
ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด” ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ได้ยื่นต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 เพื่อเสนอบรรจุเป็นวาระพิจารณาของสภาฯ
(ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.พรรคเพื่อไทย และส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังจากยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566)
ส่วนการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ นั้น ชูศักดิ์ ระบุว่า เป็นกฎหมายประกอบคู่กับการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะเมื่อมีการให้สิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีได้เองก็ควรจะให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของ ‘ร่างกฎหมายปราบโกง’ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ 2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งจะมีการเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาในวันที่ 16 ก.พ.นี้
อ่านประกอบ :
‘เพื่อไทย’ ยื่นแก้กฎหมาย พ.ร.ป. 2 ฉบับ ‘ป.ป.ช.-พิจารณาคดีอาญานักการเมือง’