"...มีการประเมินกันว่า พรรคก้าวไกล น่าจะไม่ถูกยุบพรรค แต่บรรดา 44 สส.ก้าวไกล อาจต้องพ้นเก้าอี้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ผิดมาตรฐานจริยธรรม โดยอ้างอิงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ให้เห็นว่า การยื่นแก้ไขมาตรา 112 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ และต้องถูกยุติการกระทำในทันทีหากผลเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่า กระแส ‘ด้อมส้ม’ อาจถูกปลุกได้ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ ส่วน 44 สส.ก้าวไกล โดนความผิดในลักษณะ ‘รายตัว’ มิได้เกี่ยวกับพรรคโดยตรงแต่จะส่งผลให้ ‘ก้าวไกล’ อ่อนแอลง หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในช่วงรัฐบาลชุดนี้ จะต้องมีการจัดเลือกตั้งซ่อม..."
31 ม.ค.2567 เป็นอีกวันที่ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเอกฉันท์ มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค) กับ ‘พรรคก้าวไกล’ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- สั่งเลิกการกระทำทั้งหมด! ศาลรธน. วินิจฉัย 'พิธา-พรรคก้าวไกล' แก้ไข ม.112 =ล้มล้างการปค.
- สรุป! คำวินิจฉัยศาลรธน. 'พิธา-ก้าวไกล' ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปค.สั่งเลิกแก้ไข ม.112
โดยสาระสำคัญในคำวินิจฉัยของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ คือ ‘พิธา-ก้าวไกล’ มีเจตนาแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติไทย ถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อว่า ‘ก้าวไกล’ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองมาจาก 2 ส่วน
1.การลงชื่อของ 44 สส.ก้าวไกล เมื่อ 25 มี.ค. 2564 ยื่นเรื่องขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยในนี้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยแยกหมวดความผิด จากเดิมเป็นความผิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทปกติ
2.พรรคก้าวไกล ปราศรัยใหญ่ที่ จ.ชลบุรี ก่อนการเลือกตั้ง 2566 โดย ‘พิธา’ ได้ติดสติกเกอร์สีแดง ในช่อง ‘ยกเลิก ม.112’ ที่กลุ่ม ‘ทะลุวัง’ นำขึ้นบนเวที
อย่างไรก็ดี ‘ก้าวไกล’ นำโดย ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน นำทัพทีม สส.ก้าวไกล แถลงข่าวชี้แจงในทันที โดยระบุว่า แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกจากชาติแต่อย่างใด
“นอกจากนี้เรายังกังวลว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวเช่น อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจจะกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ชัยธวัช ระบุ
ทั้งนี้ ‘ก้าวไกล’ ยังคงยืนกรานว่า ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังไม่ถึงขั้นถูก ‘ยุบพรรค’ แค่ถูกสั่งให้ยุติการกระทำเพียงเท่านั้น
แต่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเย็นวันที่ 1 ก.พ. 2567 ‘ชัยธวัช-พิธา’ พร้อมด้วย ‘แกนนำพรรค’ นัด สส.ก้าวไกล ประชุมด่วน เพื่อหารือสถานการณ์ และทิศทางของพรรคต่อไป โดยเตรียมเปิดแผนฉากทัศน์ใหม่ หรือที่หลายคนอาจได้ยินชื่อว่า ‘Zero Day’ เพื่อเตรียมการณ์หากเกิดสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุดคือโดนยุบพรรค
เพราะเอฟเฟกต์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้บรรดา ‘นักร้อง’ ลุยยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดำเนินการต่อแล้ว โดยเฉพาะ ‘เรืองไกร’ ที่ยื่นต่อ กกต.ให้ดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 หากพบพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครอง ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ ‘ยุบพรรค’
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้น ‘ยุบพรรค’ จริง จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เมื่อปี 2564 และ 44 สส.ก้าวไกล ต้องพ้นจากเก้าอี้ และถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย
ซ้ำรอย ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่โดนคดี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ปล่อยกู้เงินโดยมิชอบ
สำหรับ กก.บห.ก้าวไกล ระหว่างปี 2562-2564 มีจำนวน 24 คน ได้แก่
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
ณธีภัสร์กุล เศรษฐสิทธิ์ เป็นเหรัญญิกพรรค
ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
รองหัวหน้าพรรค 3 คน คือ
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
ณัฐวุฒิ บัวประทุม
ศิริกัญญา ตันสกุล
คณะโฆษกพรรค 4 คน คือ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
รองเลขาธิการพรรค 11 คน คือ
ญาณธิชา บัวเผื่อน
เอกภพ เพียรพิเศษ
วรรณวลี ตะล่อมสิน
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
สุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ
สาววรรณวิภา ไม้สน
จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์
คำพอง เทพาคำ
รังสิมันต์ โรม
ธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์
กก.บห. 6 คน คือ
ปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ
สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลาง
เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก
อภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน
ส่วน 44 สส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อ 25 มี.ค. 2564 ได้แก่
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ
ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.บัญชีรายชื่อ
ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี
ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ
กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี สส.บัญชีรายชื่อ
เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ
พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ
นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพ
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพ
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สส.บัญชีรายชื่อ
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ
ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ
ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กรุงเทพ
ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ
สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม
วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ
คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ
สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สส.กรุงเทพ
ทองแดง เบ็ญจะปัก สส.สมุทรสาคร
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา
จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี
สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ
อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ
องค์การ ชัยบุตร สส.บัญชีรายชื่อ
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ
ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด
มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ
วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ
วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ
ทวีศักดิ์ ทักษิณ สส.บัญชีรายชื่อ
สมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ
สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล สส.บัญชีรายชื่อ
วุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ
สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ
สำหรับทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวคือ กก.บห.ก้าวไกล หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ยุบพรรค’ จะส่งผลให้พ้นเก้าอี้ สส. และตำแหน่งทางการเมืองอื่นโดยอัตโนมัติ รวมถึงถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับบรรดา กก.บห.พรรคอนาคตใหม่
ขณะที่ 44 สส.ก้าวไกล หลังจากนี้จะมีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนเอาผิดด้านจริยธรรม หากสุดท้าย ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และส่งเรื่องไปศาลฎีกา
หากศาลพิพากษาว่าผิดจริง จะต้องพ้นจากเก้าอี้ สส. และถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เช่นเดียวกับ ‘ช่อ พรรณิการ์ วานิช’ อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ กรณีการโพสต์ภาพและข้อความหมิ่นเหม่ลงโซเชียลมีเดีย
ประเด็นที่น่าสนใจ แม้ตอนนี้กระแสสังคมบางส่วนกำลังโหมกระพือให้ ‘ยุบก้าวไกล’ แต่จากท่าทีของฝ่ายอนุรักษ์นิยม วางแผนไว้แนบเนียนกว่านั้น เพราะหากมีการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นจริง จะทำให้กระแส ‘ด้อมส้ม’ ถูกปลุก และอาจพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งต่อไปได้
แต่ต่อให้เลวร้ายถึงขั้นโดนยุบพรรค บรรดาแกนนำสีส้ม ได้เตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ แล้ว เนื่องจากมีการปรับทัพ ‘ขุนพล’ แถว 2-3 ไว้เตรียมพร้อมก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำพรรครุ่นใหม่แทนแล้ว
อย่างไรก็ดี มีการประเมินกันว่า พรรคก้าวไกล น่าจะไม่ถูกยุบพรรค แต่บรรดา 44 สส.ก้าวไกล อาจต้องพ้นเก้าอี้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ผิดมาตรฐานจริยธรรม โดยอ้างอิงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ให้เห็นว่า การยื่นแก้ไขมาตรา 112 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ และต้องถูกยุติการกระทำในทันที
หากผลเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่า กระแส ‘ด้อมส้ม’ อาจถูกปลุกได้ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ ส่วน 44 สส.ก้าวไกล โดนความผิดในลักษณะ ‘รายตัว’ มิได้เกี่ยวกับพรรคโดยตรงแต่จะส่งผลให้ ‘ก้าวไกล’ อ่อนแอลง หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในช่วงรัฐบาลชุดนี้ จะต้องมีการจัดเลือกตั้งซ่อม
ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดความนิยมของพรรคในฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า จะช่วงชิง สส.กลับคืนมาได้หรือไม่
ห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด