"...พรรคก้าวไกลขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้ตลอด หลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในวันนี้จากไม่ได้กระทบเฉพาะทางก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ที่สภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นั้นนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากว่าเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติในอนาคต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคและนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกันเปิดแถลงข่าวถึงท่าทีหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังข้างต้น
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ได้แบ่งการแถลงออกเป็น 2 ภาคภาคแรกนายชัยธวัชนำแถลงในภาคภาษาไทย ส่วนนายพิธานำแถลงในภาคภาษาอังกฤษ
@ไม่มีเจตนาบ่อนทำลาย 'สถาบัน'
นายชัยธวัชระบุว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่าพรรคเราไม่ได้มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พรรคเรายังกังวลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวอีกด้วย เช่น อาจกระทบกับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต , อาจกระทบกับความเข้าใจและการให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการสำคัญของระบอบการเมืองไม่ชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีตทั้งในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ในปัจจุบันและอนาคต
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า และยังอาจจะกระทบกับเรื่องสำคัญ เช่น การตีความว่าอะไรคือการล้มล้างการปกครอง อาจจะเกิดปัญหาที่เข้าใจหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนไม่ตรงกัน รวมถึงมีความคลุมเครือทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนา
"คำวินิจฉัยในวันนี้จะก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต อาจจะทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยในการหาข้อยุติความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต" นายชัยธวัชระบุ
@อัดคำวินิจฉัยศาลรธน.กระทบสถาบัน
สุดท้าย หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า คำวินิจฉัยในวันนี้ อาจส่งผลกระทบให้กับประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง
พรรคก้าวไกลขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้ตลอด หลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในวันนี้จากไม่ได้กระทบเฉพาะทางก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และผลที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องของอนาคตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
@รอคำวินิจฉัยฉบับเต็ม
เมื่อถามถึงการเตรียมยื่นยุบพรรคและการดำเนินคดีทางการเมืองกับบุคคลต่างๆ พรรคก้าวไกลจะเตรียมการอย่างไร นายชัยธวัชตอบว่า ตอนนี้พรรคคงต้องรอคำวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถประมาทได้ในทางกฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด โต้แย้งไม่ได้ ก็ต้องเตรียมการในทุกสถานการณ์ พรรคไม่ได้กังวลแต่ก็ไม่ได้ประมาท
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กังวลหรือไม่ว่าการยุบพรรคอาจจะซ้ำรอยกับกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ นายชัยธวัชระบุว่า ยังไม่ไปถึงตรงนั้นแต่อย่างที่เรียนตอนนี้ขั้นตอนต่อไปจะต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์ตัวเต็มเพื่อเตรียมรับมือในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
@หลักผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดคำวินิจฉัยศาลรธน.?
เมื่อถามอีกถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกพฤติกรรมของสมาชิกพรรคที่มีทั้งการรวมชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 การไปประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะต้องยอมรับหรือไม่ว่าในพรรคมีกระบวนการเหล่านี้จริง
นายชัยธวัชตอบว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีความกังวลต่อความวินิจฉัยที่บอกว่าทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในหลักเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น การที่บอกว่ามีสส.ของพรรคก้าวไกลไปประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 แล้วเอามาเป็นองค์ประกอบในการแสดงเจตนาว่าล้มล้างการปกครอง มันก็มีปัญหา แล้วเท่ากับว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่รับรองในรัฐธรรมนูญว่า บุคคลใดที่ถูกกล่าวหาให้ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั้น อาจจะทำให้เกิดการขัดกันกับสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
การประกันตัวผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะข้อหาใดๆเป็นการใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของตัวบุคคล ดังนั้น จึงมีคำถามว่าหากผู้พิพากษาวินิจฉัยกล่าวหาในการกระทำความผิดมาตรา 112 เป็นผู้ร่วมขบวนการล้มล้างการปกครองด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคมีความกังวล อย่างนี้ขอบเขตหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนในการบอกว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
@ถ้าเพิ่มโทษ 112 พูดได้หรือไม่?
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเรื่องของนโยบายต่างๆ ของพรรคที่มี แสดงว่าไม่สามารถทำได้แล้วใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็นคือ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้เกิดการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112
คำวินิจฉัยในประเด็นนี้หมายถึงการให้พรรคก้าวไกลหยุดพูดเรื่องกฎหมาย 112 อย่างสิ้นเชิงหรือไม่ แต่ถ้าสนับสนุนให้เพิ่มโทษสามารถพูดได้ใช่หรือไม่ และไม่ต้องนับว่าต่อไปสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไป จะแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้หรือเปล่า หรือแสดงแบบไหนถือว่าผิด หรือแม้แต่มีการเสนอความคิดเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 มีปัญหาต้องปรับปรุงก็อาจถูกตีความได้ว่า มีเจตนาเพื่อนล้มล้างการปกครองหรือไม่
"รายงานคอป.ของอ.คณิต ณ นคร ที่มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สส.พรรคก้าวไกลนำมาใช้ในการเสนอแก้ไข ก็แสดงว่าข้อเสนอของอ.คณิตถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพราะอ.คณิตก็มีการเสนอให้ลดโทษ มีการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ถือเป็นปัญหาของความชัดเจนแน่นอน" นายชัยธวัชกล่าว
@ศาลรธน.สามารถล้วงลูกการแก้กม.ของสภา
หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ศาลวินิจฉัยไว้ก็คือ ไม่ให้มีการแก้ไขด้วยวิธีการที่ไม่ใช่นิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งการแก้ไขจะต้องชอบตามมาตรา 49 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 กับชอบตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลอาญา ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ทราบว่าหมายความว่าอะไร จะต้องดูคำวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้
"คิดบ้างไหมครับว่าต่อไปนี้ มีการเสนอกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องรอให้ผ่านวาระที่ 3 ก่อน ซึ่งอาจจะส่งผล กระทบกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้" นายชัยธวัชกล่าวอีก
@44 สส.ยื่นแก้ 112 ไม่ควรถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
เมื่อถามอีกว่า กรณีที่สส. 44 คนอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต นายชัยธวัชระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น การดำเนินการอะไรหลังจากนี้ที่เกินสมควร ยืนยันว่าจะทำให้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะยุติและลดการนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาเป็นประเด็นความขัดแย้งในสังคมไทย ช่วยให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
@ตั้งคำถาม ศาลรธน. พรรคอื่นเอาสถาบันหาเสียงผิดหรือไม่
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองอื่นก็นำเรื่องของสถาบันมาหาเสียง นายชัยธวัชตอบว่า ถ้าการกระทำของพรรคก้าวไกลคือการลดสถานะของพระมหากษัตริย์ให้เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ก็มีคำถามที่อยากถามกลับไปว่าแล้วพรรคการเมืองที่แสดงตัวว่า เป็นผู้จงรักภักดี หรือโจมตีว่าอีกพรรคการเมืองหนึ่งมีเจตนาเป็นลบต่อพระมหากษัตริย์ หรือการขึ้นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียงถือเป็นการลดทอนบ่อนเซาะทำลายทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะหรือไม่?
@ยกยุค ร.5 - 2478 ยกเว้นความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบกับการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่รวมถึงคดีมาตรา 112 หรือไม่ นายชัยธวัชตอบว่า การตีความอย่างไม่มีขอบเขต อาจจะถูกนำไปตีความได้ว่าการนิโทษกรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ต้องขังจากข้อหาตามมาตรา 112 ถือเป็นการลดการคุ้มครอง บ่อนเซาะทำลายมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และไม่ได้กระทบต่อการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
ในอดีตเคยมีบทยกเว้นความผิดในการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยประชาธิปไตยช่วงพ.ศ. 2478-2499 ก็เคยมีการยกเว้นความผิดในฐานความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ เลย ปัจจุบันถูกวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะมีการวินิจฉัยแบบไหนอีก
ส่วนกระบวนการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เป็นกระบวนการของรัฐสภา และยังคิดว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภายังสามารถเป็นข้อยุติที่สามารถยอมรับร่วมกันได้
ขณะที่กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐเตรียมไปยื่นยุบพรรคก้าวไกลกับสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. นั้น นายชัยธวัชตอบว่า ขอดูคำร้องอีกทีนึงก่อน
ช่วงท้าย นายพิธากล่าวว่า ความคิดของตนนั้นสอดคล้องกับความคิดของนายชัยธวัช ยืนยันว่ามีความบริสุทธิ์ใจและไม่ได้มีความต้องการจะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติ
"ถ้าส่วนตัวก็กังวลอยู่ 2-3 เครื่องได้แก่เรื่องนิยามคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับขอบเขตระหว่างนิติบัญญัติกับทางศาลรัฐธรรมนูญว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ และประเด็นการวินิจฉัยด้วยอะไรที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงเยอะ รวมถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรมในเรื่องของสิทธิการประกันตัว การสันนิษฐานว่าต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องข้อเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นต้น"
"เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของนายพิธา หรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของสุขภาพของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่า มีโอกาสที่จะออกจากความขัดแย้งที่มีคนเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง แล้วใช้รัฐสภานี้หาทางออกร่วมกัน"
"แต่พอมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องหารือในละเอียดกันอีกทีนึงว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร" นายพิธาระบุ