"...ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้นำรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ไปใช้เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเอง ตั้งแต่จำเลยได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาและเริ่มเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนพฤติการณ์การกระทำความผิดในของ นายนิสมัย ปุ่งคำน้อย เป็นกรณีถูกกล่าวหานำรถยนต์ส่วนกลาง อบต.นาตงวัฒนา ซึ่งเป็นรถยนต์กระบะสี่ประตู ยี่ห้อมาสด้า หมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวในการไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2547 ถึงเดือน ก.ย. 2551 ซึ่งในการใช้รถดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีหนังสือขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางแต่อย่างใด ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง
- ใช้รถหลวงไปเรียนหนังสือ! เผยพฤติการณ์ อดีตนายก อบต.นาตงวัฒนา โดนโทษหนักคุก 20 ปี
- โทษหนัก! คุก 20 ปี อดีตนายก อบต.นาตงวัฒนา ใช้รถหลวงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรานำรายละเอียดคำพิพากษาในคดีข้างต้นมานำเสนอ ดังนี้
คดีหมายเลขดำที่ อท296/2565
คดีหมายเลขแดงที่ อท128/2566
ความอาญา
อัยการสูงสุด โจทก์
นายนิสมัย ปุงคำน้อย จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
@ สรุปคำฟ้องโจทก์ : จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือ
โจทก์ฟ้องว่า องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา จึงเป็นผู้บริหารท้องถิ่น มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์กรบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ ข้อบัญญัติ ข้อบังคับของทางราชการ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รายกระทงรวมจำนวน 191 กระทง ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 ถึงจบการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ซึ่งมีพยานหลายปากให้การว่า เห็นนายนิสมัย นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือ ขณะที่พยานบางรายให้การยืนยันว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการดำรงชีวิตประจำวัน จำเลยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว
จำเลยให้การปฏิเสธ
@ รับฟังข้อเท็จจริงขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนายกอบต. และศึกษา น.บ. ภาคพิเศษ
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบล ซึ่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 43, 44
องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร ยี่ห้อมาสด้า เป็นรถยนต์ส่วนกลาง
จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลนาตงวัฒนา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2548 และลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552
ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และในการปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร ส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 65 มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การ บริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับ ของทางราชการ มีอำนาจในการ สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา
ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา จำเลยได้ศึกษาหลักสูตร นิติศาสตร์บัณฑิต (น.บ.) ภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) โครงการ กศ.ป. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยเริ่มเข้าศึกษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 และสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 โดยมีกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักศึกษาโครงการ กศ.ป. แต่ละภาคเรียน ดังนี้
1. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 เปิดภาคเรียนวันที่ 9 ตุลาคม 2557 และสอบปลายภาควันที่ 15-16 มกราคม 2558
2. ภาคเรียนที่ 3 ปีการศึกษา 2547 เปิดภาคเรียนวันที่ 29 มกราคม 2558 และสอบปลายภาควันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2558
3. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 เปิดภาคเรียนวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 และสอบปลายภาควันที่ 10 - 10 กันยายน 2558
4. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เปิดภาคเรียนวันที่ 24 กันยายน 2558 และสอบปลายภาควันที่ 7 - 8 มกราคม 2559
5. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 เปิดภาคเรียนวันที่ 21 มกราคม 2559 และสอบปลายภาควันที่ 6-7 พฤษภาคม 2559
6. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 เปิดภาคเรียนวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และสอบปลายภาควันที่ 23 - 24 กันยายน 2549
7. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549 เปิดภาคเรียนวันที่ 7 ตุลาคม 2559 และสอบปลายภาควันที่ 20 - 21 มกราคม 2550
8. ภาคเรียนที่ 3 ปีการศึกษา 2549 เปิดภาคเรียนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 และสอบปลายภาควันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2550
9. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 เปิดภาคเรียนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 และสอบปลายภาควันที่ 22 - 23 กันยายน 2550
10. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 เปิดภาคเรียนวันที่ 5 ตุลาคม 2550 และสอบปลายภาควันที่ 19 - 20 มกราคม 2551
11. ภาคเรียนที่ 3 ปีการศึกษา 2550 เปิดภาคเรียนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 และสอบปลายภาควันที่ 17 – 18 พฤษภาคม 2551
12. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 เปิดภาคเรียนวันที่ 7 มิถุนายน 2551 และสอบปลายภาควันที่ 20 - 21 กันยายน 2551
@ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนาย ส. (อักษรย่อ) ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นพยานเบิกความได้ความว่า จำเลยเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2547 จนถึงสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551
พยานไม่เคยเห็นรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาตงวัฒนา จอดอยู่ที่โรงจอดรถของอบต. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และเคยเห็นจำเลยนำรถยนต์ไปจอดหน้าร้านค้า เพื่อซื้อของ 1 ถึง 2 ครั้ง จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว
ในวันเด็กแห่งชาติซึ่งตรงกับวันเสาร์ของทุกปี องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา จะต้องจัดงานวันเด็กทุกปี รวมถึงปี พ.ศ. 2548 ถึง 2551 ด้วย จำเลยต้องอยู่ร่วมงาน เนื่องจากเป็นประธานเปิดและต้องอยู่จนถึงงานวันเด็กเล็กซึ่งจะเป็น เวลา 12 นาฬิกา
นางสาว ก. ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา เป็นพยานเบิกความได้ความว่า ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 จนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นครูผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2551 จำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วน ตำบลนาตงวัฒนา พยานเริ่มเรียนคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรสน.) ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2558 จนถึงจบการศึกษาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 โดยเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9 ถึง 16 นาฬิกา เวลาไปเรียนต้องลงชื่อในแต่ละรายวิชา ซึ่งคณะอื่นหากเรียนเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเรียนตั้งแต่ 9 ถึง 16 นาฬิกา
ในระหว่างที่พยานไปเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ พบจำเลยที่ มหาวิทยาลัย ราชภัฏสกลนคร 4 ครั้ง คือ ระหว่างจำเลยขับรถยนต์ผ่าน 2 ครั้ง ขณะจำเลยจอดรถยนต์ 2 ครั้ง จำวันที่ไม่ได้ ซึ่งรถยนต์ที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะเป็นรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบล นาตงวัฒนา
ขณะที่พบจำเลยพยานยกมือไหว้และกล่าวสวัสดี แต่ไม่ได้พูดคุย ระหว่างเป็นลูกจ้าง ของ องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา นั้นไม่เคยเห็นจำเลยใช้รถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน เห็นแต่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ส่วนตัวไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ถึงแม้จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม ถ้าหากตรงกับวันหยุดราชการที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็นวันหยุด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ก็จะงดการเรียนการสอน สำหรับการเรียนระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นั้นต้องไปเรียนทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิสอบ
นาย ว. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา เป็นพยานเบิกความได้ความว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร เป็นรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา มีคันเดียว ไม่มีพนักงานขับรถประจำ หากมีผู้ต้องการใช้รถยนต์ซึ่งจะต้องเป็นข้าราชการประจำหรือผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ก็สามารถนำไปใช้ในราชการได้ แต่เมื่อใช้ในราชการเสร็จแล้วต้องนำรถยนต์มาจอดที่โรงจอดรถขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา กุญแจรถยนต์คันดังกล่าวจะมี 2 ชุด ชุดหนึ่งจะอยู่ในตู้เซฟ อีกชุดหนึ่งจะใช้กับรถยนต์ เมื่อนำรถยนต์มาจอดจะต้องนำกุญแจรถยนต์ไปเก็บไว้ที่ตู้สำหรับเก็บกุญแจของสำนักงานทุกครั้ง
หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ ไม่ต้องขออนุญาตพยาน สามารถนำรถยนต์ไปใช้ได้เลย แต่ต้องนำไปใช้ในงานราชการเท่านั้น เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ต้องนำลูกกุญแจรถยนต์มาเก็บตามระเบียบ ไม่สามารถนำรถยนต์ไปใช้ในภารกิจอื่นได้
ช่วงเดือนมกราคม 2558 ถึงกันยายน 2551 พยานจะต้องมาตรวจเวรตอนกลางวันและตอนเย็น เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ในแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่พยานมาตรวจเวรไม่พบรถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่โรงรถขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา สอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าเวรแล้วแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ ไม่ทราบว่าไปใช้ทำอะไรและพยานก็เห็นรถจักรยานยนต์ของจำเลยจอดแทนที่รถยนต์ส่วนกลาง จำเลยไม่มีรถยนต์ส่วนตัวใช้
นาย ท. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา เป็นพยานเบิกความได้ความว่าระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2551 พยานเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา (ตัวแทนหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งใหญ่) พยานตั้งกระทู้ถามจำเลยไว้ในรายงานการประชุมสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบลนาตงวัฒนา ตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 75 เกิดจากการที่พยานไปที่องค์การบริหารส่วน ตำบลนาตงวัฒนา ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ไม่พบรถยนต์ส่วนกลางหมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร จอดอยู่ที่โรงจอดรถขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา 4 ครั้ง และพยานได้พบรถยนต์คันดังกล่าวจอดติดสัญญาณไฟ จราจรในวันหยุดราชการก่อนทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ สกลนคร (มรสน.) ประมาณ 2 ครั้ง
ก่อนประชุมดังกล่าวจึงได้ตั้งกระทู้ถามจำเลยรถยนต์คันดังกล่าว สมาชิก อบต. ไม่มีใครใช้โดยเฉพาะในวันหยุดราชการ
@ พยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางของอบต.ไปใช้ส่วนตัว
เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยในขณะเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องและยืนยันข้อเท็จจริงเดียวกันว่า รู้เห็นด้วยตนเองกรณีจำเลยใช้รถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ไปเรียนหนังสือหรือนำไปใช้ส่วนตัว จึงเป็นประจักษ์พยาน คำเบิกความมีน้ำหนักให้รับฟังได้
การที่จำเลยให้การว่าพยานโจทก์แต่ละปากดังกล่าวข้างต้นเคยมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับจำเลยมาก่อนนั้นอาจเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจไปเองเพียงฝ่ายเดียว ส่วนพยานโจทก์อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่ได้โกรธเคืองจำเลยด้วยก็เป็นไปได้ ดังเช่นพยานโจทก์แต่ละปากก็เบิกความว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ดังนั้น คำให้การของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง อีกทั้งหากจำเลยไม่น่าเอารถยนต์ส่วนกลางคันดังกล่าวไปใช้เรียนหนังสือหรือนำไปใช้ในเรื่องส่วนตัวก็ไม่มีเหตุผลใดที่พยานโจทก์แต่ละปากดังกล่าวจะต้องแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยซึ่งถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตนอยู่ในขณะนั้น คำให้การของจำเลยเช่นนี้มีน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
เมื่อพิจารณาจากบันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมายจ.1 หน้า 35 ถึง 238 ของนางสาว ม. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีระดับ 2 ก็ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ว่า เคยเห็นและทราบว่าจำเลยใช้รถยนต์คันดังกล่าวไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และบางครั้งก็ทราบว่าไม่ได้นำรถยนต์มาจอดเก็บไว้ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งพยานปากนี้จำเลยก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ดังนั้น ถ้อยคำของนางสาว ม. ที่ให้การไว้ดังกล่าว จึงเชื่อว่าให้ถ้อยคำไปตามความเป็นจริงตามที่ตนเองรู้เห็นมา
นอกจากนี้ในชั้นสอบข้อเท็จจริง ก็ยังมีนาย ม. พนักงานส่วนตำบล (นักบริหารงานช่าง) ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 211 ว่า ถูกแต่งตั้งให้เข้าเวรยามวันเสาร์และวันอาทิตย์ ในช่วงเวลากลางคืนไม่พบรถยนต์จอดอยู่ที่โรงเก็บรถขององค์การบริหารส่วนตำบลในขณะอยู่เวรยาม และเคยเห็นรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ไปจอดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เนื่องจากนาย ม. ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ประมาณ 4-5 ครั้ง และมีนางสาว ก. พนักงานจ้างภารกิจ ให้ถ้อยคำไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 215 ว่าเคยเห็นรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ไปจอดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 1 ครั้ง ตอนนางสาว ก. ไปสมัครเรียน ซึ่งนาย ม. และนางสาว ก. ถึงแม้ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลก็ตาม แต่ในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องให้ถ้อยคำปรักปรำจำเลย หากจำเลยไม่ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ในเรื่องส่วนตัว
เมื่อพิจารณาจากตามรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาสมัยวิสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 ตามเอกสารหมาย จ.3 หน้า 25 มีบันทึกไว้กรณีจำเลยตอบคำถามของนาย ท. เกี่ยวกับการใช้รถยนต์ส่วนกลางว่า บางครั้งจำเลยใช้รถยนต์ส่วนกลางไปเรียนหนังสือในวันเสาร์และวันอาทิตย์ นั้นจำเลยใช้เงินส่วนตัวเติม น้ำมันเอง บางวันไม่มีเงินเติมน้ำมันก็ใช้รถจักรยานยนต์ไป บางวันก็ไม่ได้เอาไป ซึ่งรายงานการประชุม ดังกล่าวได้จัดทำขึ้นก่อนที่จะมีหนังสือแจ้งคำกล่าวหา ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตามเอกสารหมาย จ.3 หน้า 22 ซึ่งเป็นหนังสือร้องเรียนจำเลยเรื่องการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ จึงเชื่อว่ารายงานการ ประชุมดังกล่าวมีการบันทึกไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานั้นทั้งพยาน บุคคลและพยานเอกสารมีความสอดคล้องสมเหตุสมผลทำให้มีน้ำหนักหนักแน่นยิ่งขึ้น พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
@ ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยได้นำรถยนต์ส่วนกลางของอบต.ไปใช้ส่วนตัว
ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้นำรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ไปใช้เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเอง ตั้งแต่จำเลยได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาและเริ่มเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
@ โจทก์ฟ้องจำเลย 191 กรรมไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือ รายกระทงรวมจำนวน 191 กระทง โดยบรรยายฟ้องว่าวันที่จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 ถึงจบการศึกษาซึ่งเป็นภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551
ตามปฏิทินการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต (น.บ.) ภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) โครงการ กศ.ป.ตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 163 ถึงหน้า 191 แต่โจทก์ ก็นำสืบให้เห็นไม่ได้ว่าจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ตามวันดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องคงสืบให้รับฟังได้เพียงว่าจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือหลายครั้งตามคำเบิกความของพยานดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น และจำเลยก็ให้การว่าในวันหยุดที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มหาวิทยาลัยไม่มีการเรียนการสอน และวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม จำเลยไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก นางสาว ก. และนาย ส. ตามลำดับ
จึงเชื่อว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามวัน เวลาดังกล่าวถึง 191 กระทง นั้นมีวันหยุดที่ทางมหาวิทยาลัยไม่มีการเรียนการสอน และมีวันที่จำเลยไม่ได้ไปเรียนหนังสือ
พยานโจทก์ปากนาย ก. พนักงานไต่สวนระดับกลางก็เบิกความว่าเมื่อรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วคงมีพยานหลักฐานฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่าจำเลยได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 3396 สกลนคร ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหาร ส่วนตำบล (อบต.) นาตงวัฒนา ไปเรียนหนังสือ เริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2547 จนถึงภาคเรียนที่ 1/2551 ซึ่งเป็นภาคจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรสน.) แต่ไม่อาจระบุหรือยืนยันได้ว่าจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้เรียนวันไหนบ้างและกี่ครั้งเมื่อไต่สวนพยานเสร็จแล้ว พยานไม่สามารถจะระบุวันที่จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือได้แน่ชัดว่าไปเรียนวันไหน กลับเวลาไหน และนำรถยนต์ไปจอดพักค้างคืนที่ใด
อัยการสูงสุด จึงตั้งข้อไม่สมบูรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดกี่กรรม กรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และพนักงานอัยการ จึงตกลงกันว่าให้ถือว่าการไปเรียน วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็น 1 กรรม ตามตารางเรียนของหลักสูตร เอกสารหมาย จ.1 หน้า 162 ถึง 174 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลย 191 กรรมนั้นจึงหาถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่
@ ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักให้รับฟังได้เพียงว่า จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือ 4 ครั้ง
เมื่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 หมวด 7 ข้อ 32 เอกสารหมาย จ.1 หน้า 192 ถึง 194 จำเลยจะมีสิทธิสอบเมื่อมีเวลาเรียนรายวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด ดังนั้น เมื่อจำเลยต้องเรียนตามหลักสูตรทั้งหมด 12 ภาคเรียน ในหนึ่งภาคเรียนมี 16 สัปดาห์ หากจำเลยจะมีสิทธิสอบ ในหนึ่งภาคเรียน จำเลยต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่า 13 สัปดาห์
เมื่อพิจารณาถึงว่าจำเลยที่ไม่มีรถยนต์ ส่วนตัวใช้ในขณะเกิดเหตุ นอกจากรถจักรยานยนต์และระยะทางจากภูมิลำเนาจำเลยถึงมหาวิทยาลัย ราชภัฏสกลนคร หากใช้รถยนต์จะเป็นการสะดวกสบายมากกว่า
จึงน่าเชื่อว่าจำเลยต้องใช้รถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาไปเรียนหนังสือทุกภาคเรียน
แต่คดีนี้จากรายงาน และสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ความว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2551 ตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 4 เวลาเกิดเหตุจึงเลยกำหนดระยะเวลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่เปิดภาคเรียนวันที่ 2 ตุลาคม 2547 และสอบปลายภาค วันที่ 15 - 16 มกราคม 2558 ไปแล้ว
ข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนานำรถยนต์ส่วนกลาง ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาไปเรียนหนังสือจนจบการศึกษาเพียง 11 ภาคเรียน แต่ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่ยืนยันว่าเห็นจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้จนจบการศึกษานั้นเป็นวันที่ เดือน ปี เท่าใดแน่ชัด และการพบเห็นของพยานแต่ละปากอาจเห็นจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลาง ไปใช้เป็นวันเดียวซึ่งซ้ำกันก็ได้ เพียงแต่มีพยานโจทก์ยืนยันแน่ชัดว่าเห็นจำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ส่วนตัวมากครั้งที่สุดคือ 4 ครั้ง ต่างวันและเวลากันเท่านั้น
ข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้เพียงว่า จำเลยนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือ 4 ครั้ง อันเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน ตามความหมาย ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
@ น่าเชื่อว่าจำเลยเบิกจ่ายค่าน้ำมันของอบต.ไปใช้เติมน้ำมันรถ
การที่จำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เรียนหนังสือเพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้น น่าเชื่อว่าจำเลยมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ไปใช้เติมน้ำมันรถยนต์ส่วนกลางที่จะต้องใช้ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อไปเรียนหนังสือเป็นครั้งคราวด้วยเช่นกัน
เมื่อจำเลยเป็นนายกองค์การบริการส่วนตำบลนาตงวัฒนา โดยตำแหน่งมีอำนาจในการอนุมัติการเบิกจ่ายน้ำมันด้วย จึงเป็นการยากอยู่เองที่จะตรวจสอบเรื่องบิลเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจำเลยใช้จ่ายน้ำมันเพลิงไปในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเดียวหรือใช้ในกิจธุระส่วนตัวด้วย
ดังนั้น ถึงแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบให้เห็นถึงค่าน้ำมันที่จำเลยเบิกจ่ายไปด้วยว่าเกินกว่าการใช้รถยนต์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติหรือไม่ก็ตาม ก็หาทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยลงไปไม่
@ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้รถยนต์ส่วนกลางโดยมิชอบ-เบียดบังน้ำมันเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
การกระทำของจำเลยดังได้วินิจฉัยข้างต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้รถยนต์ขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ข้อ 11 วรรคสอง ซึ่งกำหนดว่ารถส่วนกลาง รถรับรองให้ใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเป็นประโยชน์ของทางราชการตามหลักเกณฑ์ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าของรถกำหนดขึ้น และข้อ 19 กำหนดว่าการเบิกจ่าย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะจ่ายให้รถยนต์แต่ละคันไว้ ทั้งนี้ให้ถือตามสภาพและขนาดของรถยนต์นั้น ๆ รถส่วนกลางและรถรับรอง ให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
การกระทำของจำเลยทำให้รถยนต์ส่วนกลางเสื่อมสภาพเร็วขึ้นและสิ้นเปลืองงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลนางตงวัฒนามากขึ้น เป็นการใช้รถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนาโดยมิชอบและเป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะจำเลยกระทำความผิด ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 3 แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่เช่นเดิมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน และเมื่อเป็นความผิดโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้วก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีก
@ จำเลยทำผิดกม.อาญาม.151-พ.ร.บ. ป.ป.ช. ม.172
สำหรับการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อ 2.1 ถึง 2.151 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2547ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นภาคเรียนที่ 2 ของหลักสูตร ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นช่วงภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ซึ่งเป็นภาคเรียนที่ 10 ของหลักสูตรนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 172 คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ลงโทษในข้อหานี้ได้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้
แต่นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไป ของภาคเรียนที่ 10 ความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ยังไม่ขาดอายุความ
ดังนั้น นับแต่วันดังกล่าวการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ด้วย อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว
@ จำเลยแย้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่กฎหมายให้โจทก์ฟ้องได้
การที่จำเลยให้การว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2554 แต่มีความเห็นหรือวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นเวลา 6 ปีเศษ นับแต่เริ่มไต่สวนซึ่งเกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่ไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เห็นว่า แม้เป็นเวลาเกินสองปี หรือสามปี นับแต่เริ่มดำเนินการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่งหรือวรรคสามก็ตาม แต่ตามมาตราดังกล่าวในวรรคห้ายังบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวน และมีความเห็น หรือวินิจฉัย หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรกรณีโดยเร็ว มิได้บัญญัติให้ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยอีกต่อไป จึงไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยให้การว่า จำเลยลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2552 และพันจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรับเรื่องกล่าวหาจำเลยไว้พิจารณาได้ภายใน 5 ปี นับแต่จำเลยพ้นจากตำแหน่ง แต่คดีนี้กรรมการ ป.ป.ช. มีมติการประชุม ครั้งที่ 974-45/2561 วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 วาระที่ 49 เห็นควรรับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นเวลา 8 ปีเศษ นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2552 การรับคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ไต่สวนพิจารณาจึงไม่ชอบ
เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 55 บัญญัติว่า ยุมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา (3) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาพันจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาไปแล้วเกินห้าปี ในกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องภายในกำหนดเวลา แม้จะพันกำหนดเวลาห้าปีแล้วก็ให้มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งคำกล่าวหา ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ที่กล่าวหาจำเลยใช้รถยนต์ส่วนกลางโดยทุจริต ตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 22 ประกอบหนังสือแจ้งคำกล่าวหาเรื่องจำเลยทุจริต การยุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงชนบท ซึ่งลงวันที่เดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช.สำนักบริหารกลาง รับไว้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 และสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักอำนวยการคณะกรรมการ ลงรับวันที่ 1 สิงหาคม 2551
ดังนั้นจำเลยถูกร้องหรือถูกกล่าวหาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขณะยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา จึงไม่ต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องขึ้นพิจารณา ส่วนมติการประชุม ครั้งที่ 974-45/2561 วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 วาระที่ 49 ที่เห็นควรรับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นการประชุมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 75 วรรคสอง เพื่อจะได้มีความเห็นว่ากรณีมีมูลตามที่กล่าวหาหรือไม่ ตามมาตรา 5 วรรคสอง เท่านั้น หาใช่เป็นวันรับเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาไว้พิจารณาแต่แรกตามคำให้การของจำเลยไม่
การที่จำเลยให้การว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่าจำเลยมีมูลความผิดอาญาแต่ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานประกอบสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดฟ้องเมื่อวันที่ 9 พฤษภาลม 2565 โดยมิได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐานประกอบสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีภายในสามสิบวัน และโจทก์ไม่ได้ยื่นพีองภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 91 และมาตรา 93 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีภายในสามสิบวัน เพื่อให้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อไปเป็นกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อเร่งรัดหรือกำกับในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ลำข้าเกินสมควร ซึ่งอาจทำให้คดีขาดอายุความเป็นผลเสียหายแก่คดีได้และทำให้มองไปได้ถึงเจตนาว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจปฏิบัติหน้าที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย ในทำนองของจำเลยก็เช่นกัน หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดส่งรายงาน สำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยภายในระยะเวลาที่สมควรแล้ว อาจทำให้คดีจำเลยขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ซึ่งก็เป็นผลดีกับจำเลยเองเสียด้วยซ้ำไป
เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่ได้กำหนดเด็ดขาดว่าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ทันภายในสามสิบวันแล้ว อัยการสูงสุดจะไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้นถึงแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยคดีของจำเลยว่ามีมูลความผิดอาญา ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีเกินสามสิบวัน ก็หาทำให้โจทก็ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ส่วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 93 วรรคหนึ่ง นั้น วรรคสองได้บัญญัติให้นำความในมาตรา 77 มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยโดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา 77 วรรคแปด บัญญัติว่าการฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรานี้ย่อมกระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ แต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสูด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วแต่กรณี ต้องดำเนินการสอบสวน หากปรากฏว่าการไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากการจงใจปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใด ให้ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นต่อไปโดยเร็ว ดังนี้การที่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งร้อยแปดสืบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ก็หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีไม่
@ คำให้การจำเลยวินิจฉัยแล้วฟังไม่ขึ้น
การที่จำเลยให้การว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากจำเลยยื่นคำกล่าวหาว่าพลตำรวจเอก วัชรพล กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการพลตำรวจเอก วัชรพล จึงต้องห้ามมีให้เข้าร่วมดำเนินการพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 56 (3) นั้น ก็ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การเพิ่มเติมของจำเลย ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ตามหนังสือเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ว่า กรณีที่จำเลยร้องเรียนไปนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา ดังนั้น พลตำรวจเอก วัชรพล อาจจะไม่ทราบว่าถูกจำเลยร้องเรียนก็ได้ พลตำรวจเอกวัชรพล จึงไม่ใช่ผู้ที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยผู้ถูกกล่าวหา
คำให้การจำเลยดังวินิจฉัยมาแล้วดังกล่าวข้างต้นฟังไม่ขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยคำให้การในรายละเอียดอื่นอีก เนื่องจากไม่มีคุณค่าแก่การรับฟังและไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
@ พิพากษาจำคุก 20 ปี
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี
************
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรารายงานว่าไปแล้วว่า คดียังไม่สิ้นสุด นายนิสมัย ในฐานะจำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าผลการต่อสู้คดีนี้ในท้ายที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญเกี่ยวกับคดีรถหลวง เพื่อไม่ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตสืบไป
- มหากาพย์รถหลวง! 10 ปี ป.ป.ช. ชี้มูลเพียบ 70 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 200 ราย
- จากคดี 'รถหลวง' สู่เบียดบังไฟหลวงชาร์จรถส่วนตัว ปัญหาใหม่ธรรมาภิบาล จนท.รัฐ