“...เรื่องเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานหน่วยงานว่าเป็นอย่างไรนั้น ถ้าผู้บังคับบัญชาท่านนั้นแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมไม่ออก เราก็ค่อนข้างหวาดหวั่น เพราะเรื่องเช่นนี้ยังแยกแยะไม่ออก เรื่องการบริหารจัดการองค์กรที่มีงบประมาณหลายร้อยล้าน ถึงหมื่นล้าน หรือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ท่านจะมีหลักความเป็นธรรมอย่างไร เพราะเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ยังแยกไม่ได้ แต่เอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก..."
กรณีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานรัฐ ประพฤติมิชอบ นำรถยนต์ราชการ หรือ รถหลวง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องฟ้องศาลดำเนินการคดีอาญานั้น
มีข้อมูลยืนยันจากสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นทางการไปแล้วว่า นับตั้งแต่ปี 2556 - 2566 รวมระยะเวลา 10 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดในคดีรถหลวง ไปแล้วกว่า 70 คดี รวมจำนวนผู้ถูกกล่าวหากว่า 200 ราย
หลายกรณีถูกระบุว่า มีการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถยนต์ส่วนตัว นำไปใช้ในภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจราชการ บางกรณีร้ายแรงถึงขนาดนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นต้น สะท้อนภาพให้เห็นความไม่สุจริตภายใต้หลักการธรรมาภิบาล ในการบริหารงานในหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้อำนาจอย่างชัดเจน
ส่วนบทลงโทษของผู้ถูกกล่าวหาในคดีรถหลวง บางรายถูกลงโทษจำคุก บางรายได้รับการรอลงอาญา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในพฤติการณ์การกระทำความผิดแต่ละคดี
- มหากาพย์รถหลวง! 10 ปี ป.ป.ช. ชี้มูลเพียบ 70 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 200 ราย
- 2 ปี 8 คน! บทเรียนคดีรถหลวง ล่าสุด'อดีตนายกฯบ้านโตนด-ธนารักษ์พะเยา'โดนโทษจำคุกรอลงอาญา
- สะท้อนแววทุจริต! ป.ป.ช.เตือน จนท.รัฐ ตระหนัก 'รถหลวง มิใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล' ผิดร้ายแรง
แต่ภาพรวมของปัญหาในเรื่องนี้ ดูเหมือนจะยังไม่จบสิ้น ข่าวการใช้รถหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐ เสมือนเป็นรถยนต์ส่วนตัว ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้การสอบสวนคดีเหล่านี้เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด ยังคงต้องเดินหน้าควบคู่กันไปเช่นเดิม
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ปัญหาการใช้รถหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐเสมือนเป็นรถยนต์ส่วนตัว ยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทย
ปัญหาใหม่ เรื่องการใช้ไฟหลวงชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ กำลังเริ่มก่อตัวให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น และนับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
จากการสืบค้นข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ปัญหาเรื่องการใช้ไฟหลวง ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 3 กรณี
กรณีแรก
มีการระบุร้องเรียนว่า “ผอ.กองคลัง เทศบาลตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ รักษ์โลก คันเก่าเอามาชาร์จจนพังไปคันแล้ว ก็ถอยคันใหม่ป้ายแดง VOLT City EV มาเสียบชาร์จไฟของเทศบาลอีก บางวันเสียบเช้าบางวันเสียบสาย ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน ”
ภาพจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
กรณีสอง
เป็นกรณีข้าราชการสาวสังกัดสำนักงานประกันสังคม จ.ยะลา เข้าช่วยงาน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ตำแหน่งเลขาหัวหน้าศูนย์สนับสนุน มีใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และได้จัดทำสถานีชาร์จ EV Charging Station ใช้เฉพาะส่วนบุคคล ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ของสำนักงาน โดยไม่มีการชำระค่าบริการไฟฟ้า
ภาพจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
กรณีสาม
เหตุเกิดที่ อบต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เป็นกรณี ปลัด อบต. ถอยรถ EV มาเอี่ยม ๆ NETA V เสียบชาร์จไฟที่สำนักงานประจำทุกวัน 4-5 เดือนมาแล้ว
เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
ทั้งนี้ ในส่วนของกรณีแรกและกรณีสองนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลแล้ว
โดยกรณี ผอ.กองคลัง เทศบาลตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดชัยภูมิ พบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นหอประชุมอเนกประสงค์ของสำนักงานเทศบาลตำบลธาตุทอง โดยมีการใช้ไฟฟ้าจากอาคารหอประชุม ซึ่งขณะเข้าตรวจสอบพื้นที่ไม่พบรถยนต์คันดังกล่าว จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลธาตุทอง ทราบว่ารถยนต์ยี่ห้อ VOLT City EV เป็นของผู้อำนวยการกองคลัง โดยใช้รถยนต์คันดังกล่าวตั้งแต่ประมาณวันที่ 10 สิงหาคม 2566 – ปัจจุบัน และได้มีการชาร์จไฟที่เทศบาลเป็นบางครั้ง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น จังหวัดชัยภูมิทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้มีหนังสือแจ้งให้ทางอำเภอภูเขียวตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชัยภูมิ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพจากสำนักงาน ป.ป.ช.
ส่วนกรณี ข้าราชการสาวสังกัดสำนักงานประกันสังคม จ.ยะลา เข้าช่วยงาน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี ได้รับการยืนยันข้อมูลจาก พ.อ.พิพิธ สอนประสาร รอง ผอ.สบค.กอ.รมน.ภาค 4 ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทาง กอ.รมน. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ หากผลการตรวจสอบเป็นประการใด จะแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป ทั้งนี้ ป.ป.ช. ปัตตานี ได้ลงตรวจสอบสถานที่จุดเกิดเหตุและจะได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตรวจสอบอีกทางหนึ่งต่อไป
ป.ป.ช. ปัตตานี ได้ลงตรวจสอบสถานที่จุดเกิดเหตุ / ภาพจากสำนักงาน ป.ป.ช.
ผลการตรวจสอบทั้ง 2 กรณี เป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป ขณะที่ผู้ถูกร้องเรียน ยังมีสิทธิชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนเองได้
แต่จากข้อมูลทั้ง 3 กรณีข้างต้น สำนักข่าวอิศรา สามารถสรุปพฤติการณ์ได้ 3 ประการสำคัญ ดังนี้
1. รถยนต์ที่นำมาใช้ ชาร์จไฟฟ้า เป็นรถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช่รถยนต์หลวง
2. ผู้เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีอำนาจ หรือมีความใกล้ชิดผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้นๆ
3. พฤติการณ์การใช้ไฟหลวง ทำเป็นประจำต่อเนื่อง และไม่มีการจ่ายค่าไฟให้หน่วยงาน
ขณะที่ นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานรัฐ นำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟฟ้า ที่สำนักงานของตนเอง โดยหลักการเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ว่าสามารถแยกแยะได้หรือไม่ ว่าอะไรเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม อะไรเป็นทรัพย์สินของราชการกับทรัพย์สินส่วนตัว วัตถุประสงค์การใช้งานทำไปเพื่อผลประโยชน์ราชการหรือผลประโยชน์ส่วนตัว
“การที่คุณนำรถยนต์ส่วนตัวมาชาร์จไฟฟ้าที่สำนักงาน ต้องดูว่า มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ถ้ามีเหตุจำเป็นเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานราชการ แต่คุณมาเสียบแช่มาทุกวันเป็นประจำจันทร์-ศุกร์ ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องตั้งข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วค่อยมาดูเหตุและผลว่าอะไร แต่ถ้าคุณเจตนาตั้งใจมาใช้ไฟหลวงเลย เป็นเรื่องการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ได้ เพราะเข้ามาสู่เรื่องความเห็นแก่ตัว ไม่อยากชาร์จไฟที่บ้านเพราะสิ้นเปลือง หรือคุณไม่ยอมทำแท่นชาร์จที่บ้านแต่มาทำที่ทำงาน อันนี้ชัดเจนมันชัดส่อถึงเจตนาว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว อันนี้คือสิ่งที่ตัวข้าราชการ ตัวเจ้าหน้าที่รัฐต้องพึงสำนึกไว้ เพราะถ้าคุณทำกับไฟหลวงได้ อีกหน่อยก็ขยายไปเป็นอย่างอื่น เช่น น้ำ กระดาษเอสี่ เป็นต้น” นายภูเทพระบุ
ภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
นายภูเทพ ย้ำว่า “เรื่องเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานหน่วยงานว่าเป็นอย่างไรนั้น ถ้าผู้บังคับบัญชาท่านนั้นแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมไม่ออก เราก็ค่อนข้างหวาดหวั่น เพราะเรื่องเช่นนี้ยังแยกแยะไม่ออก เรื่องการบริหารจัดการองค์กรที่มีงบประมาณหลายร้อยล้าน ถึงหมื่นล้าน หรือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ท่านจะมีหลักความเป็นธรรมอย่างไร เพราะเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ยังแยกไม่ได้ แต่เอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ที่สำคัญถ้าเรากลับไปดูคะแนน ITA (Integrity and Transparency Assessment หรือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการด าเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ) หน่วยงานเหล่านี้มักจะมีปัญหา”
นายภูเทพ ยังย้ำด้วยว่า ปัญหาเรื่องการใช้รถหลวง กับ นำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟฟ้า ที่สำนักงาน เป็นเรื่องการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ได้ ส่วนในเรื่องบทลงโทษ หากเปรียบเทียบกันถึงสองกรณี การนำรถยนต์ส่วนตัวมาชาร์จไฟหลวง มีบทลงโทษหนักกว่า การใช้รถหลวงมาก
“การที่มาใช้ไฟหลวง เป็นเรื่องการเบียดบังยักยอก เข้ากฎหมายอาญา มาตรา 147 และการที่คุณเป็นเจ้าพนักงานรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ รู้อยู่แล้วว่าของหลวงต้องใช้ในงานราชการ อย่าใช้ส่วนตัว แต่คุณก็ยังมาใช้ ก็ต้องโดนมาตรา 157 เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพิ่มอีก”
“ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายป.ป.ช.เฉพาะอยู่ คือ มาตรา 172 หรือถ้าคุณหลุดอันนี้ไป คุณจะไปโดนมาตรา 334 ลักทรัพย์ เพราะ การนำรถยนต์มาชาร์จไฟหลวง เลี่ยงไม่พ้นเรื่องการลักทรัพย์ ซึ่งศาลฎีกาวางไว้แล้วไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่ลักได้ ยังไงก็โดนเรื่องนี้ด้วย ถ้าคุณมีตำแหน่งหน้าที่ เช่น เป็นหัวหน้าสำนักงาน ผมเสียบไฟ ผมก็โดนเบียดบังยักยอก โทษหนัก เพราะผมมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินในสำนักที่เขามอบหมายให้ผมรับผิดชอบ คุณก็โดนมาตรา 335 ด้วย รวมโทษเข้าไปอีก”
เมื่อถามว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีคดีสอบการนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง อยู่กี่คดี
ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตอบว่า ทุกเรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อกระแสหลัก ป.ป.ช. ได้มีการเข้าไปตรวจสอบแล้ว แต่ผลการสอบสวนเป็นอย่างไร ยังบอกไม่ได้
จากข้อมูลคำสัมภาษณ์ของ ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับบทลงโทษคดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง สำนักข่าวอิศรา ได้สำรวจข้อมูลเปรียบเทียบบทลงโทษ
พบว่า
คดีรถหลวง ข้อกฎหมายที่ถูกตัดสินจะมี 2 มาตรา สำคัญ คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
ส่วน คดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง ข้อกฎหมาย จะมี 4 มาตราหลัก ในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 , 334 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 (อ่านรายละเอียดข้อกฎหมายเหล่านี้ท้ายเรื่อง)
ชี้ให้เห็นว่า บทลงโทษคดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง มีความรุนแรงมากกว่า คดีรถหลวงเป็นอย่างมาก
ส่วน คดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. ในขณะนี้ จะมีการประเดิมชี้มูลความผิดใครหรือไม่? ส่งเรื่องฟ้องศาลฯ เพื่อลงโทษตามกฎหมายได้เมื่อไหร่?
คงต้องคอยติดตามดูกันต่อในอนาคต
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งคดีรถหลวง คดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง ดูเหมือนจะภาพสะท้อนของ ปัญหาธรรมาภิบาล ในการบริหารเรื่องความไม่สุจริตของ เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานรัฐในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนอีกหนึ่งกรณี และนับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยโดยเร็ว
@ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 334 ระบุว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
-พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
มาตรา 172 ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง สองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ