"...ในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เครื่องมือตรวจอากาศประเภทต่างๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยา นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผูกขาดการจัดซื้อกับเอกชนบางกลุ่มมาโดยตลอด ครุภัณฑ์ของเอกชนบางกลุ่ม เคยถูก สตง.ตรวจสอบพบปัญหา แต่ปัจจุบันเอกชนกลุ่มนี้ก็ยังคงได้รับงานจากกรมอุตุนิยมวิทยามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และต้องการให้สำนักข่าวอิศรา เข้ามาช่วยทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อไป..."
ประเด็นข้อร้องเรียนการจัดประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เครื่องมือตรวจอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กำลังติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอยู่ในขณะนี้
หลังได้รับแจ้งข้อมูลว่า การจัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเอกชน 1 ราย ปรากฎชื่อเป็นผู้ชนะได้รับงานว่าจ้างไปจำนวนหลายสัญญา
เบื้องต้น จากการสืบค้นข้อมูลสำนักข่าวอิศรา พบว่า ในช่วงปี 2559 , 2563 และ 2565 บริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด รายเดียว ได้รับงานไปจำนวน 10 สัญญา รวมวงเงินกว่า 240 ล้านบาท และเมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคางานทั้ง 10 โครงการ ดังกล่าว พบว่า ในการประกวดราคางาน 9 โครงการ ที่บริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด ได้รับงานไป มีเอกชนรายเดียว คือ บริษัท เอ็กเซล คอนซัลแตนท์ส จำกัด ปรากฏชื่อเป็นผู้เทียบยื่นซองเสนอราคาแข่งขันงานทุกโครงการ
ขณะที่ การจัดซื้อจ้างงานสัญญาเหล่านี้ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฎข้อมูลถูกหน่วยงานตรวจสอบสอบพบปัญหาความไม่โปร่งใสแต่อย่างใด
ปัจจุบัน สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างติดต่อผู้บริหารกรมอุตุฯ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นทางการต่อสาธารณชน
- ร้องสอบ! กรมอุตุฯผูกซื้อเครื่องตรวจอากาศ AWS บ.เจ้าเดียวเพียบ-สัญญาล่าสุด 217ล.เสี่ยงกีดกัน
- คนเก่าทำไว้! 'ประเสริฐ' รมว.ดิจิทัล แจงปมเครื่องตรวจอากาศ 217 ล.ไม่เข้าคกก.จัดหาระบบคอมฯ
- เจาะลึก!จัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศ AWS 10 โครงการ 240 ล. ผู้ชนะแข่งคู่เทียบรายเดียว 9 ส.
- เปิดตัว บ.คู่เทียบ แข่งงานจัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศ AWS 9 โครงการ ไม่เคยชนะ
อย่างไรก็ดี ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2560 สำนักข่าวอิศรา เคยเสนอผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัญหาเครื่องมือตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยาชำรุด ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ มาแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบกิจกรรมการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัด และพยากรณ์อากาศ ตามกรอบแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2558 ของกรมอุตุนิยมวิทยา จำนวน 11 ประเภท เพื่อทราบผลการดำเนินงานการใช้ประโยชน์และการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ตลอดจนปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่า รวมทั้งเพื่อให้เกิดมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศต่อไป
จากการตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศโดยการสุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ จำนวน 11 ประเภท ตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเครื่องมือที่กำหนด พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ และการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่าหรือบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในขณะที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2559 ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมและบำรุงรักษา เป็นเงินจำนวน 655.74 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 131.15 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ จำนวน 2,414.64 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 482.93 ล้านบาท)
ผลการตรวจสอบ มี 2 ประเด็นข้อตรวจพบ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศในภารกิจหลักสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยา จำนวนมากเกิดการชำรุดเสียหาย โดยมีจุดอ่อนอย่างมากเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์
การลงทุนสำหรับเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศเพื่อใช้ในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2559 เป็นจำนวนเงิน 2,414.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.65 ของเงินงบประมาณทั้งหมด ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเครื่องมือตรวจวัดทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง มีระบบการทำงานซับซ้อน และมีการเปิดใช้งานตลอดเวลา ทั้งนี้งบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ เฉลี่ยปีละประมาณ 131.15 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องมือการตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหาย ไม่ได้รับการซ่อมแซม โดยเร็ว และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ใช้เวลานานมากในการดำเนินการ ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนโดยไม่เกิดความคุ้มค่าของเงินงบประมาณอย่างเต็มที่ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,055.29 ล้านบาท และที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้
กรณีที่เกี่ยวข้องกับระบบเตือนภัยที่เกิดจากเครื่องมือไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่าง สม่ำเสมอ เช่น แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) ซึ่งเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน รายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1.1 เครื่องมือการตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จำนวน 8 ประเภท รวมจำนวน 1,192 รายการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.46 และ 39.03 ของรายการและมูลค่าเครื่องมือที่สุ่มตรวจสอบตามลำดับ
ทั้งนี้ มูลค่าเครื่องมือที่ชำรุดสามารถระบุได้เพียงรายการเท่านั้น โดยระยะเวลาที่เครื่องมืออยู่ในสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้สถานีส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไขได้ เนื่องจากไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมและบำรุงรักษา รวมทั้งเครื่องมือมีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ชำรุด จำนวน 8 ประเภท ดังนี้
1.1.1 เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ จำนวน 6 สถานี รวมมูลค่าการติดตั้ง 566.56 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.15 และร้อยละ 48.18 ของจำนวนสถานีและมูลค่าการติดตั้งที่สุ่มตรวจสอบตามลำดับ ระยะเวลาที่ชำรุดประมาณ 1 – 2 ปี โดยพบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานยาวนาน สภาพเก่า หาอะไหล่ทดแทนยาก ไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม หรืออะไหล่บางรายการ ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ ในขณะที่ขั้นตอนการจัดซื้อมีหลายขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลานาน
1.1.2 เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) เครือข่ายสถานีฝนอัตโนมัติประสบปัญหาขัดข้องไม่สามารถแสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ได้ทั้ง 930 สถานี เป็นระยะเวลามากกว่า 7 เดือน โดยไม่สามารถเข้าระบบทางเว็บไซด์ได้ สาเหตุเกิดจาก server ของระบบประมวลผล ของศูนย์ปฏิบัติการตรวจวัดฝนอัตโนมัติมีการขัดข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและการดำเนินงานที่จะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- วันที่ 3 มิถุนายน 2558 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการและแก้ไขเครือข่ายสถานีฝนอัตโนมัติให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานได้โดยเร็ว ตลอดจนมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อโปรดพิจารณาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- วันที่ 4 ธันวาคม 2558 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการ รวมถึงมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อโปรดทราบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการควบคุม กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานของกรมอุตุนิยมวิทยาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ชี้แจงและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุง ดูแล และจัดทำแผนการดำเนินการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ 930 สถานี เพื่อให้สามารถรายงานปริมาณน้ำฝนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ครบถ้วนทุกสถานีแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ
1.1.3 เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) จากการจัดเก็บข้อมูลการแสดงผลเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา จำนวน 82 วัน พบว่ามีสถานีที่แสดงผลออฟไลน์จำนวนมาก เกิดจากหลายสาเหตุเบื้องต้น เช่น ระบบ Server รับรายงานผล/สัญญาณ เข้าระบบแสดงผลในส่วนกลางขัดข้อง ระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่มีปัญหาระบบไฟฟ้า ที่ใช้ภายในสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ติดตั้ง AWS มีการขัดข้อง หรือชุดอุปกรณ์ของเครื่องมือตรวจอากาศ อัตโนมัติมีการชำรุด อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่อยู่ในสถานะออฟไลน์ของสถานีส่วนใหญ่มีระยะเวลาหลายวัน แสดงให้เห็นได้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามและซ่อมแซมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
1.1.4 เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) อุปกรณ์ตรวจวัดและชุดอุปกรณ์ประกอบ ชำรุดทั้งหมด 7 สถานี จากจำนวน 10 สถานี ที่สุ่มตรวจสอบ ได้แก่ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ที่ติดตั้งท่าอากาศยานตรัง พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา สกลนคร สถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์ และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 83.40 ล้านบาท โดยอุปกรณ์ที่ชำรุดบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีอายุการใช้งานมานาน
1.1.5 เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ จากการตรวจสอบข้อมูลจำนวน 500 สถานี พบว่า เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด และไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานได้อย่างเหมาะสม จำนวน 144 สถานี คิดเป็นร้อยละ 28.80 ของจำนวนสถานีที่ตรวจสอบ มูลค่ารวมประมาณ 1.37 ล้านบาท โดยอุปกรณ์ ตรวจวัดที่ชำรุด ได้แก่ แก้วตวงวัดฝน เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด–ต่ำสุด ถังวัดฝนไซโครมิเตอร์ (ตุ้มแห้ง – ตุ้มเปียก) ตู้สกรีน เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบไซฟอน แผ่นไม้วัดระดับน้ำ และชุดเครื่องวัดน้ำระเหย พร้อมถาด ระยะเวลาการชำรุดตั้งแต่ 1 – 3 เดือน ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ปี และสูงสุดมากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ยังพบประเด็นปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ สถานีฝนอำเภอที่สุ่มตรวจสอบ ร้อยละ 33.96 ไม่เคยมีการตรวจเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา เครื่องมือมีอายุการใช้งานนาน สภาพเก่า ปัญหาความล่าช้า ในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเครื่องมือที่ชำรุด
1.1.6 เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จากการตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงาน จำนวน 24 สถานี พบว่าอุปกรณ์ตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด จำนวน 17 รายการ ใน 9 สถานี ระยะเวลา ที่ชำรุดตั้งแต่ 1 – 3 ปี โดยปัญหาสำคัญคือเป็นอุปกรณ์รุ่นเก่าที่มีการจัดซื้อมานานยังไม่สามารถจัดหาอะไหล่สำหรับการซ่อมแซมได้ และในจำนวนรายการอุปกรณ์ที่ชำรุดบางสถานีถือเป็นรายการอุปกรณ์ การตรวจวัดหลักสำคัญทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะ ได้แก่ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิใต้ดินที่ระดับความลึกต่าง ๆ อุปกรณ์การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เครื่องวัดลมที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศ เพื่อการเกษตร เป็นต้น
1.1.7 เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้นชำรุด จำนวน 10 แห่ง รวมจำนวน 17 รายการ มูลค่าประมาณ 0.15 ล้านบาท ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือที่ชำรุด ได้แก่ เทอร์โมไฮโกรกราฟ บาโรกราฟ ไมโครบาโรกราฟ เทอร์โมมิเตอร์ลอยน้ำ เทอร์โมมิเตอร์ต่ำสุดยอดหญ้า เทอร์โมมิเตอร์สูงสุด เครื่องวัดลม ถาดน้ำละเหย เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบไซฟ่อน และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ แบบชั่งน้ำหนัก
1.1.8 เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก มีจำนวนทั้งหมด 16 สถานีทั่วประเทศ จากการตรวจสอบ จำนวน 9 สถานี พบว่าเครื่องมือหลักสำคัญของสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ (รายละเอียดดังแสดงในประเด็นข้อตรวจพบที่ 2) และเครื่องมือบางรายการมีการชำรุด จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เครื่องวัดลมปากถาด เสาบรรทัดวัดระดับน้ำ เทอร์โมไฮโกรกราฟ (สถานี อุตุนิยมวิทยาท่าตูม (สุรินทร์)) และเทอร์โมไฮโกรกราฟ (สถานีฯ สระแก้ว)
ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาทั้ง 3 ประเภท จำนวน 47 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ของสถานีอุตุนิยมวิทยามีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง และเครื่องมือฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบ Manaul ไม่ทันสมัย ซึ่งอาจทำให้การรายงานผลการตรวจมีความล่าช้าและอาจเกิดความคลาดเคลื่อน รวมถึงปัญหาการดำเนินการซ่อมแซมเครื่องมือฯ ที่ชำรุดมีความล่าช้า เนื่องจากไม่มีอะไหล่ทดแทน
จุดอ่อนสำคัญเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนการปฏิบัติงานด้านการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษา เครื่องมือที่มีอยู่และใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นเฉพาะแผนปฏิบัติงานด้านการจัดหาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ หรือเพื่อติดตั้งให้ทั่วถึงครอบคลุมระดับพื้นที่ ขาดการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศแต่ละรายการที่มีอยู่ และปัญหาด้านการประสานงานและบูรณาการกันของหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และการดูแลซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนมีความล่าช้าในกระบวนการและขั้นตอนของการแจ้งและดำเนินการตามลำดับชั้น อนึ่ง ปัญหาความล่าช้า ในกระบวนการดำเนินการซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รายงานปัญหากรณีการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบ Main Meteorological Operational Office : Main MET ไปยังปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามหนังสือที่ ตผ 0015/6652 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558
1.2 การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา
1.2.1 เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพบว่าแบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) เสื่อมสภาพมีการใช้งานมากกว่า 2 ปี จำนวน 23 สถานี บางสถานีพบปัญหา UPS ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้มาเป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 5 ปี
ปัญหาเครื่องปรับอากาศไม่ได้รับการบำรุงรักษา ล้างทำความสะอาดตามรอบระยะเวลา บางแห่งมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในจุดที่ไม่สามารถให้ความเย็นกับเครื่องมืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำคัญได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ อาจเป็นปัญหาสำคัญ ประการหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือที่ต้องทำงานตลอดเวลา รวมถึงสถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่ได้รับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ห้องควบคุมอุณหภูมิเพียงเครื่องเดียว ซึ่งหากเกิดการชำรุดเสียหายจะไม่มีเครื่องปรับอากาศสำรองได้ ทั้งนี้ จากการสุ่มสังเกตการณ์ จำนวน 36 แห่ง พบว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.67 ของทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ พบปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยจำนวน 11 แห่ง ขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี
1.2.2 การจัดทำทะเบียนคุมพัสดุและทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ ไม่เหมาะสม ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน รวมถึงการควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานไม่รัดกุม ไม่เหมาะสม จากการสุ่มตรวจสอบพบว่าสถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่มีจุดอ่อนเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ และทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ โดยไม่ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่กำหนด กล่าวคือ
1) การจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ (สุ่มสถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 85 แห่ง)
- ระบุรหัสครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ จำนวน 80 สถานี
- ระบุมูลค่าครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ ทั้งหมดทุกแห่ง 85 สถานี
- ระบุวัน เดือน ปี ที่ได้มาของรายการครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ จำนวน 30 สถานี
2) การจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซม (สุ่มสถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 67 แห่ง)
- ไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ จำนวน 47 สถานี
- จัดทำทะเบียนคุมฯ บางประเภทเครื่องมือ จำนวน 7 สถานี
@ สตง.สอบพบว่าครุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจำนวนมากไม่ได้เขียนรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวครุภัณฑ์ โดยบางรายการมีการติดตั้งมาเป็นระยะเวลานานแล้วแต่ยังไม่มีรหัสครุภัณฑ์ เช่น เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินเชียร์ (LLWAS) และเครื่องมือเรดาร์ตรวจอากาศที่ติดตั้ง ณ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2556
นอกจากนี้ พบว่าครุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจำนวนมากยังไม่มีรหัสครุภัณฑ์ โดยบาง รายการมีการติดตั้งมาเป็นระยะเวลานาน เช่น เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ระบบตรวจวัด วินด์เชียร์ และเครื่องมือเรดาร์ตรวจอากาศที่ติดตั้ง ณ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2556 โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่ารายละเอียดของรหัสครุภัณฑ์จะอยู่ที่งานพัสดุในส่วนกลาง
3) การควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานตรวจอากาศของสถานีตรวจอากาศชั้นบนไม่รัดกุม ไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการสูญหายได้ จำนวน 4 แห่ง จากจำนวน 9 แห่ง ที่สุ่มตรวจสอบ ประกอบกับบางสถานีฯ บันทึกข้อมูลทะเบียนคุมการเบิก-จ่าย วัสดุตรวจอากาศชั้นบน ไม่ครบถ้วน อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้มีการดำเนินการโดยไม่เหมาะสมได้
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ให้มีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีสำหรับการซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้มีความชัดเจน ครอบคลุมรายการ เครื่องมือและอุปกรณ์ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด รวมถึงการวางแผนด้านการจัดหาอะไหล่สำรองตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการซ่อมแซม หรืออาจวางแผนการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จัดซื้อจากต่างประเทศ หรือไม่มีอะไหล่ที่ผลิตได้ภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่เครื่องมืออาจเกิดการชำรุดเสียหาย
2. ให้มีการสำรวจวางแผนการจัดทำและบันทึกข้อมูลทะเบียนคุมเครื่องมืออุปกรณ์ตามระเบียบที่กำหนดให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบบันทึกข้อมูลประวัติการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์แต่ละรายการไว้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ข้อมูลสำหรับวางแผนการจัดหาเครื่องมือใหม่ทดแทน หรือวางแผนด้านการซ่อมแซม บำรุงรักษา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามรอบระยะเวลาโดยเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ อาจมีการตั้ง คณะทำงานเพื่อจัดทำรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงรวบรวมข้อมูลการสำรวจ จากหน่วยงานระดับพื้นที่ทั้งหมดของกรมอุตุนิยมวิทยา และจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลกลางของหน่วยงาน ตลอดจนให้มีการวางแผนบันทึกปรับปรุงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องต่อไป
3. กำหนดนโยบายให้มีความชัดเจนด้านการบริหารการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ที่ติดตั้งหรือมีการใช้งานอยู่ในแต่ละสถานี หรือตามภารกิจของแต่ละสถานี ให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน และสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน โดยเคร่งครัด อนึ่ง ให้มีการพิจารณาทบทวนความจำเป็น ความเหมาะสมของเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นไปโดยเหมาะสม หรือมีความซ้ำซ้อนของงาน หรือเกิดประโยชน์ในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด และกำหนดนโยบายในการจัดการรวมถึงการจำหน่ายรายการที่อาจเกินความจำเป็น ซ้ำซ้อน หรือไม่คุ้มค่าต่อการซ่อมแซม เพื่อลดภาระในการดูแล บำรุงรักษา ลดการใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า และลดภาระการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานอื่นที่มีความจำเป็นได้อย่างเต็มที่ต่อไป
4. ให้มีการทบทวน สำรวจระบบ หรือประเมินผลกระบวนการทำงานของหน่วยงานภายในกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำข้อมูลมาใช้สำหรับวางแผนปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ หรือปรับปรุงระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยอาจมีการกำหนดกรอบตัวชี้วัดด้านระยะเวลาเกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงของความล่าช้าในการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. กำหนดนโยบาย หรือกำหนดแนวทางเกี่ยวกับผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ในการซ่อมแซม บำรุงรักษา เครื่องมืออุปกรณ์แต่ละรายการของกรมอุตุนิยมวิทยาให้มีความชัดเจน โดยอาจให้มีการแบ่งกลุ่มรายการ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือแบ่งตามสภาพที่เกิดการชำรุดเสียหาย กำหนดหน่วยงานที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน ตามศักยภาพความพร้อมของหน่วยงานภายใน กรณีที่เห็นว่าเกินศักยภาพหรือเป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ อาจกำหนดนโยบายให้หน่วยงานเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ โดยดำเนินการภายใต้ระเบียบแบบแผนของทางราชการ ทั้งนี้ให้มีการกำหนดแผนช่วงระยะเวลาที่จะต้องเข้าทำการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซม เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบถือปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดบางรายการที่อาจเกิดความไม่คุ้มค่า และเครื่องมือตรวจวัดบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
จากการสุ่มตรวจสอบรายการเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศเครื่องมือตรวจวัดบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบกับเครื่องมือมีการติดตั้ง และใช้งานมานานโดยต้องอาศัยบุคลากรในการตรวจวัดจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกวัน หรือเป็นแบบ Manual ในขณะที่ปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่องมือที่ทันสมัยแบบอัตโนมัติที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นปัจจุบันมากกว่า หรือสถานีตรวจวัดอากาศบางสถานีไม่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจวัดที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสถานีได้ เช่น สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก หรือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร เป็นต้น รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 7.18 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายการเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากเหตุชำรุดเสียหายและรอการซ่อมแซมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรายละเอียดปรากฏดังประเด็นข้อตรวจพบที่ 1 ข้างต้นแล้ว ประเด็นปัญหาโดยสรุปดังนี้
2.1 เครื่องมือตรวจวัดสถานีฝนอำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 1,197 แห่ง รวมมูลค่าประมาณ 22.45 ล้านบาท ติดตั้งมานานไม่น้อยกว่า 71 ปี ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในภารกิจอย่างคุ้มค่า และข้อมูลการตรวจวัดที่จัดเก็บได้ โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่แต่งตั้งขึ้นอาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน และไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) รวมมูลค่า 240.49 ล้านบาท กระจายทั่วประเทศ รวมถึงอาจเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 2.00 ล้านบาท สำหรับค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝน ทั้งนี้ไม่รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทดแทนกรณีชำรุดเสียหาย
ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้ทบทวนผลการดำเนินงานตามโครงการสถานีฝนอำเภอ และรายการค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ราชการโครงการสถานีฝนอำเภอ ตามหนังสือที่ ตผ 0015/3283 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพบประเด็นปัญหาความเสี่ยง ดังนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการตรวจวัดของสถานีฝนอำเภออย่างคุ้มค่า การรายงานข้อมูลผลตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอไม่ครบถ้วนและข้อมูลที่จัดเก็บมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง และไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า สถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานข้อมูลจากการตรวจวัดตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้จากการตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องการติดตั้งเครื่องมือส่วนใหญ่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด ไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่ได้รับแต่งตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมการตรวจวัดฝน การเก็บข้อมูล และการรายงาน ประกอบกับขาดการติดตามตรวจเยี่ยมสอบทานข้อมูลอย่างเคร่งครัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อความถูกต้อง เชื่อถือได้ของข้อมูล
2.2 สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จากการตรวจสอบ จำนวน 9 สถานี พบว่า แต่ละสถานีมีการตรวจอากาศทั่วไปโดยมีเครื่องมือติดตั้งที่สนามอุตุนิยมวิทยาเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น และมีเครื่องมือตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาอุทกโดยเฉพาะสำหรับวัดระดับน้ำและความเร็วกระแสน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 5.17 ล้านบาท ทั้งนี้บางรายการไม่เคยมีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการวัดระดับน้ำและกระแสน้ำแต่อย่างใด ได้แก่ เครื่องวัดระดับน้ำแบบจดบันทึก (อัตโนมัติ) รวมมูลค่า 1.99 ล้านบาท และเครื่องวัดกระแสน้ำพร้อมอุปกรณ์ รวมมูลค่า 2.58 ล้านบาท
2.3 สถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร จากการที่เครื่องมือตรวจวัดมีสภาพชำรุดไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข ส่งผลให้การดำเนินงานไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร อีกทั้งส่วนใหญ่มีลักษณะการตรวจวัดเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น หรือเป็นการตรวจอากาศทั่วไปเป็นหลักประกอบกับบางสถานีไม่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจวัดที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการใช้ข้อมูลสำหรับการเกษตรได้ ในขณะที่อุปกรณ์ที่ติดตั้งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนาน การบริหารจัดการมีต้นทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับเครื่องมือการตรวจวัดด้านการเกษตรปัจจุบันมีการติดตั้งที่สถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดในบางจังหวัด ทั้งนี้หากการดำเนินงานไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์หลักอย่างแท้จริงจะทำให้การใช้ทรัพยากรโดยไม่เกิดความคุ้มค่า และไม่เกิดการพัฒนาบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานประจำเฉพาะสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ให้มีการสำรวจ ประเมินผลการใช้ประโยชน์ หรือสถานะการใช้งาน ณ ปัจจุบันของเครื่องมือ ตรวจวัดและพยากรณ์อากาศทุกประเภทที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักในส่วนกลาง ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาค และสถานีอุตุนิยมวิทยาทุกแห่ง เพื่อทราบถึงรายการ จำนวน การใช้ประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ สภาพความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาให้เป็นไปในทิศทางที่จะเกิดประโยชน์ในภารกิจของหน่วยงานอย่างคุ้มค่า เหมาะสม รวมถึงกรณีเครื่องมือที่ชำรุดเสื่อมสภาพที่อาจต้องมีการจำหน่ายต่อไป
2. ให้พิจารณาทบทวนความจำเป็นของเครื่องมือตรวจวัดทั้งสถานีฝนอำเภอ เครื่องมือ ตรวจวัดของสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร และสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก เพื่อทราบว่ามีความสอดคล้อง เหมาะสมของการดำเนินงานสามารถตอบสนองภารกิจของหน่วยงานได้เพียงใด เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของแต่ละสถานีเพียงใด หรือยังมีความจำเป็นต่อการใช้งานต่อไปหรือไม่ในขณะที่มีเครื่องมือ รายการอื่นที่อาจมีความทันสมัย และสามารถใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการบริหารจัดการเครื่องมือตรวจวัดของแต่ละสถานีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม ไม่เป็นภาระด้านบุคลากร ตลอดจนการดูแล บำรุงรักษา และเพื่อสามารถใช้ในการปฏิบัติงานในภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาได้อย่างคุ้มค่าต่อไป
เบื้องต้น มีรายงานข่าวว่า กรมอุตนิยมวิทยา ได้ทำหนังสือชี้แจงปัญหาและอุปสรรค์ในการดำเนินงาน ต่อสตง. ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ความสำคัญและตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อเสนอแนะ ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้นำแนวทางที่เสนอมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขของระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ โดยพิจารณาผลกระทบต่อประชาชน พื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ เป็นสำคัญ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม แม้ว่าการดำเนินงานและบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ภายใต้กรอบเวลาและวงเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และระเบียบของทางราชการ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ด้วยความรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นได้ นอกจากนั้นระบบยังมีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะด้านและจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของกรมอุตุนิยมวิทยาทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้ เช่น ระบบสื่อสารข้อมูลจากหน่วยงานผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตขัดข้อง เป็นต้น
2. กรมอุตุนิยมวิทยามีความเห็นว่าวิธีการประเมินมูลค่าและความคุ้มค่าการใช้ประโยชน์ของระบบหรือเครื่องมือ ควรนำข้อมูลเกี่ยวกับการเสื่อมราคาของเครื่องมือและอุปกรณ์ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางและนำมูลค่าของการใช้ประโยชน์ข้อมูลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ใช้ประกอบการพิจารณามูลค่าและความคุ้มค่าการใช้ประโยชน์ของเครื่องมือ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการคำนวณมูลค่าของเครื่องมือตามจริงตลอดอายุการใช้งานว่ามีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้สำหรับการลงทุนมากน้อยหรือไม่เพียงใด
3. การปฏิบัติงานของกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อการติดตามสภาวะอากาศร้ายและแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ มิได้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากระบบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ใช้ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ด้านอุตุนิยมวิทยาประเมินความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยกเว้นเครื่องมือที่มีการใช้งานเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความปลอดภัยสูง เช่น เครื่องมือตรวจอากาศการบิน กรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้มีการบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์นั้นไว้เป็นอันดับแรก ในบางสนามบินที่มีความสำคัญของประเทศจำเป็นต้องมีการจ้างเหมาบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการให้บริการข้อมูล ตามมาตรฐานสากล และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของความถูกต้องและความปลอดภัยของผู้รับบริการซึ่งถือได้ว่าที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
4. ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการควบคุม การบำรุงรักษาระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในการปฏิบัติงาน กรมอุตุนิยมวิทยากำลังดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะต่อไป
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ กรมอุตุนิยมวิทยาในขณะนั้น พบว่า นับตั้งแต่ปี 2544 -2559 (เท่าที่ตรวจสอบพบ) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ทำสัญญาจัดซื้อปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องมือเกี่ยวกับสถานีฝนอำเภอ มาแล้ว จำนวน 13 สัญญา คิดเป็นวงเงิน 326,497,360 บาท พบว่ามีเอกชนบางรายปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาขายเครื่องมือประเภทนี้ ให้กับกรมอุตุนิยมวิทยาจำนวนหลายสัญญา
จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เครื่องมือตรวจอากาศประเภทต่างๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยา นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผูกขาดการจัดซื้อกับเอกชนบางกลุ่มมาโดยตลอด ครุภัณฑ์ของเอกชนบางกลุ่ม ที่เคยถูกสตง.ตรวจสอบพบปัญหา ปัจจุบันเอกชนกลุ่มนี้ก็ยังคงได้รับงานจากกรมอุตุนิยมวิทยามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และต้องการให้สำนักข่าวอิศรา เข้ามาช่วยทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อไป
ข้อเท็จจริงประเด็นเรื่องการผูกขาดการจัดซื้อกับเอกชนบางกลุ่มมาโดยตลอด เป็นจริงหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามนำความจริง มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อ่านประกอบ:
- พบเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล.! สตง.จี้อธิบดีแก้ไขปัญหาด่วน
- ติดตั้ง71 ปี ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ละเลงงบร้อยล.! สตง.จี้กรมอุตุฯทบทวนสถานีฝนอำเภอ
- หวั่นมาตรฐานการบินไม่ผ่านไอซีเอโอ!สตง.ชงบิ๊กตู่สางปัญหาเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯ
- 15ปี13สัญญา326ล.! เจาะข้อมูลจัดซื้อเครื่องตรวจวัดฝนกรมอุตุฯ-บ.เดียวได้งาน250ล้าน
- ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.ชำแหละเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล. (1)
- บำรุงรักษาไม่เป็นระบบ! ผลสอบ สตง. ฉบับเต็มชำแหละเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯพันล.(2)