"...ทั้งหมดนี้ คือ นักการเมืองสังกัดพรรคภูมิใจไทยจำนวน 6 ราย ที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินลงโทษในคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่บางกรณีคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในส่วนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ถูกคาดการณ์ว่าหลังคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา อาจจะต้องต่อสู้กับคดีอื่นๆ ที่จะตามมาอีกจำนวนมาก อาทิ คดีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ เป็นต้น..."
กำลังเป็นที่สนใจของสังคม!
กรณีเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ สส.จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) คมนาคม (ผู้ถูกร้อง) สส.สังกัดพรรคภูมิใจไทย ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง
โดยผลคำวินิจฉัยให้นายศักดิ์สยามถูกตัดสิทธิ์ความเป็น รมว.คมนาคม ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่
- 'ศักดิ์สยาม'ไม่รอด! ศาล รธน. วินิจฉัยให้ความเป็น รมต. สิ้นสุดลง ปมถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ
- สรุป! คำวินิจฉัยคดีหุ้น หจก.บุรีเจริญ หลักฐานมัดใบเสร็จติดตามนาย 'ศักดิ์สยาม’ เจ้าของตัวจริง
อย่างไรก็ดี นายศักดิ์สยามไม่ใช่นักการเมืองสังกัดพรรคภูมิใจไทยคนแรก ที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินคดีให้พ้นตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ยังมีนักการเมืองสังกัดพรรคภูมิใจไทยหลายรายที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินให้พ้นตำแหน่งทางการเมือง และถูกลงโทษในคดีอาญาตามมาด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมรายชื่อและรายละเอียดของนักการเมืองสังกัดพรรคภูมิใจไทยที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นนักการเมือง มานำเสนอ ดังนี้
@ คดีดัง 3 สส.ภูมิใจไทยเสียบบัตรแทนกัน
คดีดังกล่าวเกิดเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์, นายภูมิศิษฏ์ คงมี และนางนาที รัชกิจประการ ไม่อยู่ในการประชุมดังกล่าว แต่เมื่อมีการแสดงตนและลงมติโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ก็ปรากฏว่าชื่อของบุคคลทั้งสามในการยืนยันตัวตนและลงมติ ต่อมาอัยการสูงสุดสั่งฟ้องบุคคลทั้ง 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยศาลมีคำพิพากษาจำคุกบุคคลทั้ง 3 คนละ 9 เดือน ให้นายฉลอง, นายภูมิศิษฏ์ พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนนางนาทีพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนโจทก์ฟ้องคดีดังกล่าว และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลทั้งสามตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ (อ่านข่าวประกอบ: วางหลักทรัพย์คนละล้าน! อดีต3 ส.ส.ภูมิใจไทย โดนคุก 9 ด.คดีเสียบบัตรแทน ได้ประกันตัวแล้ว)
ขณะเดียวกันป.ป.ช.ยังยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 3 กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม โดยศาลพิพากษาว่า บุคคลทั้ง 3 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งผู้คัดค้านทั้ง 3 ตลอดไป และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งผู้คัดค้านทั้ง 3 เป็นเวลา 10 ปี (อ่านข่าวประกอบ: ถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี! ศาลฎีกาพิพากษาคดี 3 สส.ภูมิใจไทยฝ่าฝืนจริยธรรม เสียบบัตรแทนกัน)
@ เปิดประวัติโดยย่ออดีต 3 สส.เสียบบัตรแทนกัน
- นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทยสำเร็จการศึกษาการศึกษา ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์)) เคยดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดพัทลุง
- นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย สำเร็จการศึกษาการศึกษา ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง (รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต) เคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง
- นางนาที รัชกิจประการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตเหรัญญิกพรรคภูมิใจไทย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จาก Sommerset University ประเทศอังกฤษ ปริญญาโทครุศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการจัดการคุณภาพ) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปริญญาเอกคณะศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพัทลุง
@ รมช.ศึกษา ‘กนกวรรณ’ พรรคภูมิใจไทย ออกโฉนดที่ดินปราจีนบุรีรุกป่าเขาใหญ่
กรณีนี้ป.ป.ช. โจทก์ยื่นฟ้อง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนส.ค. 2565 กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2545 นางกนกวรรณดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ต.เนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน ทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่
โดยศาลได้พิพากษาว่านางกนกวรรณมีความผิด ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ลงโทษหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา (อ่านข่าวประกอบ: จบชีวิตทางการเมือง! ศาลฎีกาพิพากษา 'กนกวรรณ' ผิดจริยธรรม คดีรุกป่าเขาใหญ่)
@ เปิดประวัติ ‘กนกวรรณ วิลาวัลย์’
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2509 ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี มีชื่อเล่นว่า โอ๊ะ เป็นบุตรีของนายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรีหลายสมัย และนางสุภาภร วิลาวัลย์
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอกคณะสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
นางกนกวรรณ สมรสกับนายปกรณ์ ศรีจันทร์งาม มีบุตร-ธิดา 3 คน
ในปี พ.ศ. 2548นางกนกวรรณลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต 1 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้รับเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ในระหว่างปี พ.ศ. 2550-2560 นางกนกวรรณเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาการเมืองการปกครองไทย (Thai Politics Government) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 สังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งในรอบแรกไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคได้ สส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 14 ที่นั่ง ต่อมานางกนกวรรณได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 และได้รับการเรียกขานจากสื่อมวลชนว่า ‘ครูโอ๊ะ’
จนกระทั่งในกลางปี พ.ศ. 2563 ได้มีการประกาศเลื่อนให้นางกนกวรรณดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแทนนางนาที รัชกิจประการ ที่ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ให้พ้นจากตำแหน่งตาม มาตรา 101 (13) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่ต่อมาไม่นานนางกนกวรรณได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดทางให้นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากรได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
@ รมว.คมนาคม ‘ศักดิ์สยาม’ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าฐานซุกหุ้นหจก.บุรีเจริญ
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราเคยตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกช่วงต้นปี 2564 ต่อมาข้อมูลที่สำนักข่าวนำเสนอเคยถูกสส.ฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำไปใช้อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมพิจารณาเรื่องที่ 8/2566 ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 และชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
จนกระทั่งวันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระบุว่านายศักดิ์สยามมีความผิดจริง และต้องถูกตัดสิทธิ์ความเป็น รมว.คมนาคม ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ (อ่านข่าวประกอบ: ย้อนไทม์ไลน์ ปมถือหุ้นรับเหมา‘ศักดิ์สยาม’ ก่อนศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่)
@ เปิดประวัติ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีชื่อเล่นว่า โอ๋ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของนายชัย ชิดชอบ กับนางละออง ชิดชอบ (เป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ และพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
นายศักดิ์สยาม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง รุ่น 33) ปริญญาโทพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นายศักดิ์สยาม เคยรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ)
ในปี พ.ศ. 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งให้นายศักดิ์สยาม เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล)
ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานยศ นายกองเอก
นายศักดิ์สยาม สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมือง ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งก่อนหน้านั้นพี่ชาย (นายเนวิน ชิดชอบ) ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 นายศักดิ์สยามได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 15 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
@ สส.ภูมิใจไทย นครศรีธรรมราช เขต 8 โดนกกต.ให้ใบแดงแรกหลังเลือกตั้ง 66
กรณีนี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือถึงนายสุเทพ บุณยเกียรติ ผู้ร้องเรื่อง แจ้งมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยหนังสือที่ลต (นศ) 0003/20 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช 55 หมู่ที่ 3 ต.นาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรี ธรรมราช ลงวันที่ 5 ม.ค. 2567 เรื่องแจ้งมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ระบุว่ากกต.ได้มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ผู้ถูกร้องที่ 1
สั่งให้มีการเลือกตั้งสส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทน นางมุกดาวรรณ ผู้ถูกร้องที่ 1 และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 รับผิดในค่าใช้จ่าย
ให้ศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าวในประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 9 นายวีระศักดิ์ คชเชนทร์ ผู้ถูกร้องที่ 3 ในประเด็นที่ 2 และ จ.ส.อ.ถาวร แก้วศรีอ่อน ผู้ถูกร้องที่ 1 ในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 9 ส่วนประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 8 ให้ยกคำร้องในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
@ เปิดประวัติ ‘มุกดาวรรณ’
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย และปริญญาโทสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งหมดนี้ คือ นักการเมืองสังกัดพรรคภูมิใจไทยจำนวน 6 ราย ที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินลงโทษในคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่บางกรณีคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในส่วนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ถูกคาดการณ์ว่าหลังคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา อาจจะต้องต่อสู้กับคดีอื่นๆ ที่จะตามมาอีกจำนวนมาก อาทิ คดีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ เป็นต้น
หากมีความคืบหน้าประการใด สำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
หมายเหตุ: ที่มาภาพประกอบข่าว นางกนกวรรณ: ejan.co, นายศักดิ์สยาม: infoquest.co.th