“...ต่อไป สถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่ง จะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้ง สายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก(เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวก การพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุน พัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สินแค่ที่สถานีขนส่งเอกมัย ตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้”นายสุริยะกล่าว…”
กลายเป็นประเด็นร้อนรับปีใหม่
สำหรับกรณีที่นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 9 กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นกรณีสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ จตุจักร หรือ หมอชิต 2 มีสภาพทรุดโทรมและไม่ปลอดภัย ซึ่งในเพจเฟซบุ๊ก ‘ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ - Suphanat Minchaiynunt’ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 66 ระบุถึงปัญหา 14 ประการ ไว้ว่า
1) บันไดเลื่อน 5 ตัว เสียครบ 5 ตัว ประชาชนแบกสัมภาระขึ้นบันได กันอย่างทุลักทุเล
2) ไม่มีลิฟท์โดยสาร
3) จุดดับเพลิง 15 จุด เสีย 10 จุด
4) ห้องปฐมพยาบาลปิด
5) ห้องให้นมบุตรไม่เปิด
6) ชานชาลาไม่มีแอร์ ประชาชนนั่งรอรถไป สูด PM 2.5 ไป
7) เครื่องซื้อตั๋วไม่มีคนใช้ เสียเงินฟรี
8 )ทางเดินเท้าไม่ universal design ลำพังจะลากกระเป๋ายังลำบาก คนพิการไปไม่รอด
9) มืด แสงสว่างน้อย ไม่ปลอดภัย มีจุดเสี่ยงหลายจุด
10) มีพื้นที่ทิ้งร้าง จนคนบุกรุกอาศัย
11) ห้องน้ำไม่ดี
12) ป้ายบอกทางแย่ คนไทยเดินหลง ต่างชาติยืนงง
13) แทกซี่-วิน รับจ้างผิดกฎหมาย คิดค่าบริการที่สูงเกินจริง
14) ไม่มีการเชื่อมต่อจากสถานีขนส่งฯ ไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS ผิดหลักขนส่งมวลชน
จนกระทั่งต่อมา ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 67 ว่า ได้สั่งการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆแล้ว รวมถึงในการเข้าถึงที่ยากลำบาก ก็เพิ่มความเป็นฟีดเดอร์ โดยจะเพิ่มจุดจอด ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ที่สำคัญคือ กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ เนื่องจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน เป็นสถานีขนส่ง "ชั่วคราว" ย้ายมาจากหมอชิตเดิม โดยกระทรวงคมนาคมคาดว่า จะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี และจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาที่ดินมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท
ในความจริงแล้ว ประเด็นการย้าย ‘หมอชิต 2’ เป็นสิ่งที่เคยหารือกันมาแล้วในหลายยุคหลายสมัย โดยในสมัยรัฐบาลก่อน คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการเสนอแผนงานดังกล่าวถึงขั้นเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการย้ายหมอชิต 2 มาแล้ว ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ดังนี้
@พลิกมติ ครม.ปี 58 อนุมัติแผนย้าย ‘หมอชิต 2’
สำนักข่าวอิศราสืบค้นจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 พบว่า ในการประชุมครม.ครั้งนั้น ได้อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ คือ โครงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) โดยที่ประชุม ครม.ครั้งนั้น บขส.เสนอแผนใน 2 ส่วน ซึ่งต้องใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ
แผนแรก จัดสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารย่อย (พหลโยธิน) สำหรับรถตู้โดยสารประจำทางใช้ที่ของ รฟท. ขนาดพื้นที่ 17 ไร่ มอบหมาย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีศึกษาออกแบบ โดยจะต้องรองรับจำนวนเที่ยววิ่งให้ได้ 2,260 เที่ยว/วัน แบ่งพื้นที่เป็นชานชาลาประมาณ 8,800 ตารางเมตร แยกเป็นขาออก 215 ชานชาลา และขาเข้า 30 ชานชาลา คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตรสำหรับจอดสำรองวิน 96 ช่อง และตัวสถานีขนาด 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 13,400 ตารางเมตร
และแผนที่สอง การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) เหตุผลมาจาก รฟท.มีแผนงานจะพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งจำเป็นต้องเอาที่ดินตรงที่เป็นหมอชิต 2 มาใช้ด้วย ดังนั้น บขส. จะต้องหาที่ดินผืนใหม่ที่มีขนาด 80 ไร่ขึ้นไป ต้องตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ รองรับประชาชนที่ใช่งานสถานี 28 ล้านคน/ปี ชานชาลารองรับรถโดยสาร 138 ชานชาลา รองรับรถตู้โดยสารประจำทาง 45 ชานชาลา มีพื้นที่จอดสำรองวิน ที่พักพนักงานประจำรถ และอาคารซ่อมบำรุงเบาพื้นที่ประมาณ 24,600 ตารางเมตร อยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า
ตัวสถานีขนส่ง ซึ่งจะรวมทั้งพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้โดยสารและสำนักงาน จะมีขนาดประมาณ 57,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่ที่เหมาะสมตามที่รายงาน ครม. คือ พื้นที่ที่ติดถ.พหลโยธินด้านเหนือ ไล่ตั้งแต่ ถ.รังสิต-ปทุมธานี ไปจนถึง ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
อย่างไรก็ตาม จากมติ ครม.ปี 2558 จนถึงวันนี้ สถานีขนส่งกรุงเทพฯ (จตุจักร) ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม
@รถไฟ: เจ้าของที่อยากได้คืน
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ในปัจจุบันอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้เริ่มต้นเช่าเมื่อปี 2541 หลังจาก บขส. ต้องคืนที่ดินให้กรมธนารักษ์ นำไปพัฒนาตามแผนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยการเช่าที่ดินได้ทำการขอใช้พื้นที่ ‘ชั่วคราว’ ซึ่ง รฟท.คิดค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ล้านบาท/3 ปี
อย่างไรก็ตาม รฟท.ได้มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2557 เพราะ รฟท.ต้องการนำที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาตามแผนศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แต่ทาง บขส.ยังตื้อขอใช้ที่เดิมและขอจ่ายค่าเช่าในอัตราเดิม ทั้งๆที่ รฟท.ได้บอกกับ บขส.แล้วว่า หากจะเช่าต่อต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้น 5% จากเดิม แต่ บขส.ทั้งไม่ยอมจ่ายและไม่ยอมออกจากพื้นที่
“เรื่องนี้ รฟท.กับ บขส. มีปัญหาจนถึงขั้นต้องยื่นให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ซึ่งต่อมาอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดลงมาว่า เนื่องจากทั้งสองหน่วยงาน อยู่ภายใต้การกำกับโดยกระทารวงคมนาคม จึงเห็นควรให้มีการหารือกันให้เรียบร้อยของทั้งสองหน่วยงาน หนักกว่านั้นคือ ท่านรองปลัดกระทรวงคมนาคม (สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์) เป็นบอร์ดของ บขส. ทำให้บรรยากาศมันยิ่งอึมครึมกันไป” แหล่งข่าวจากรฟท.ระบุ
แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวต่อไปว่า ทางฝ่ายของ รฟท. ก็อยากได้ที่ดินดังกล่าวคืนมาทำประโยชน์อย่างอื่น แต่ทาง บขส.ก็ไม่ยอมคืนให้ ซึ่งทาง บขส. ก็มีแผนในการหาที่ตั้งใหม่ แต่เหมือนยังกั๊กๆ ไม่ยอมออกไป ทำให้มันติดล็อกกันแบบนี้ ส่วนมูลหนี้ที่ติดค้าง รฟท.ไว้ ยังอยู่ระหว่างคำนวณ เพราะทาง รฟท.ต้องคิดค่าเช่าโดยบวกอัตราค่าเช่าที่จะต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ทุกปี โดยต้องคำนวณมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน
แผนพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณย่านบางซื่อภายใต้คอนเซ็ป 'ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน'
ที่มา: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
@บขส.: ที่ดินใหม่ไม่ชัด ย้ายยาก
ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งที่ บขส.ยังต้องใช้ที่ปัจจุบันเป็นสถานีขนส่ง เพราะความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายของทุกๆรัฐบาล ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลมีนโยบายจะย้ายหมอชิต 2 ทำให้ บขส. ต้องยั้งการลงทุนในมือไป เพราะแม้ทุกรัฐบาลจะมีนโยบายย้าย แต่ก็ยังหาที่ดินที่มีความเหมาะสมมาทดแทนไม่ได้ ส่วนแนวคิดที่จะย้ายกลับจุดเดิม คือ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต ก็ทำได้ยาก เพราะเจ้าของสถานที่คือ กรมธนารักษ์ มีนโยบายในการพัฒนาร่วมกับ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ บขส. ให้บริการกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ภาครัฐจึงไม่ได้ให้มีการประกอบธุรกิจ เพื่อให้องค์กรมีกำไร แถมยังให้ บขส.ต้องบริการผู้สูงวัย ข้าราชการ ตำรวจ และทหารด้วย โดยที่ไม่เคยสนับสนุนด้านงบประมาณเลยแม้แต่น้อย
ส่วนข้อเท็จจริงกรณีพิพาทกับ รฟท.กรณีที่ดินหมอชิต 2 ในปัจจุบัน รายงานข่าวระบุว่า เป็นความจริง ซึ่ง บขส. ค้างในส่วนของอัตราค่าเช่าที่ รฟท.ปรับเพิ่ม 5% ทุกปี แต่ส่วนที่เก็บ 21 ล้านบาท/ 3 ปี บขส.จ่ายตลอด โดยเป็นการเช่าเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนดระยะเวลา
@แปลง A เหมาะที่ตั้งใหม่ - ปรับปรุงหมอชิต 2 ใช้เวลา 2 ปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อภิปรายในรัฐสภาไป ทราบมาว่าฝ่ายนโยบายจะเสนอให้ที่ดินเนื้อที่ 32 ไร่ บริเวณบางซื่อแปลง A ของ รฟท. มาใช้
ที่ดินผืนนี้เดิม รฟท. จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ แต่หลังจากที่ รฟท.เปิดประมูล 2 ครั้งแต่ไม่มีเอกชนสนใจ รฟท.จึงปรับแผน โดยนำมาพัฒนาเป็นสำนักงานการรถไฟฯ แทนเนื่องจากอยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อประมาณ 500 เมตร มีโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมการเดินทางทั้งรถไฟฟ้า รถบีอาร์ที ทางด่วนและถนนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ เช่น ถนนกำแพงเพชร ถนนพระรามที่ 6 ถนนเทอดดำริ จึงเหมาะสมเป็นสำนักงานการรถไฟฯ เพราะสะดวกในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ในการพัฒนาแปลง A เป็นสำนักงานการรถไฟฯ จะดำเนินการพร้อมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย เพื่อให้รายได้เข้ามาให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างสำนักงาน ทั้งนี้ คาดว่าฝ่ายนโยบายจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้
เมื่อถามถึงแผนการปรับปรุงหมอชิต 2 ในปัจจุบัน แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า คงต้องทำตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการปรับปรุงใหม่ ภารกิจแรกคือ การรื้อบันไดเลื่อนเก่าที่เอาป้ายปิดไว้ออกก่อน ซึ่งจะมีการออกแบบและสร้างบันไดเลื่อนใหม่
ด้านนางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถานีหมอชิต 2 โดยตามขั้นตอน จะต้องนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) บขส. พิจารณาก่อน ซึ่งปัจจุบันบอร์ดบขส.ยังไม่ครบจึงยังประชุมไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมผุ้ถือหุ้น บริษัท เพื่อแต่งตั้งบอร์ด บขส. ให้ครบตามระเบียบ
ที่ดินแปลง A ย่านบางซื่อ
@สุริยะ : รวมทุกขนส่งไว้ใกล้ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้มีนโยบายในการเร่งพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร นั้น ทางบขส. จะมีการดำเนินการใน 2 ประเด็น ควบคู่กันไป คือ 1. ปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ที่ถนนกำแพงเพชร ในปัจจุบันให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ต่างๆ มีการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่พักคอยของผู้โดยสาร ปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ไม่ให้มีพื้นที่ลับตา เป็นต้น โดยให้ บขส. เร่งจ้างที่ปรึกษา ในการออกแบบ และเร่งดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567
2.ดำเนินการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปอยู่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้บขส.จ้างที่ปรึกษา ศึกษารายละเอียด ออกแบบและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุน ให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาร่วมกับ การรถไฟแห่งปรเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจาก บขส.ใช้พื้นที่ ย่านพหลโยธิน จากรฟท.
นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุนทั้งหมด จะเป็นเท่าไรนั้นต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อน ส่วนตัวเลข 7,000 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่มูลค่าลงทุน แต่เป็นการประเมินทรัพย์สินที่บขส.มีในปัจจุบัน คือที่ สถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งพบว่า พื้นที่ดังกล่าว มีมูลค่าสูง ดังนั้น หากอนาคต หลังย้ายสถานีขนส่งเอกมัย ไปที่สถานีใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว บขส.สามารถนำพื้นที่สถานีขนส่งเอกมัยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้
“ต่อไป สถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่ง จะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้ง สายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก(เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวก การพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุน พัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สินแค่ที่สถานีขนส่งเอกมัย ตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้”นายสุริยะกล่าว
หลังจากนี้ ‘หมอชิต 2’ จะได้รับการปรับปรุงอย่างไร? และจะได้สรุปเรื่องที่ตั้งใหม่ตามที่เจ้ากระทรวงให้ไว้ว่า จะรู้เรื่องในปีนี้หรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไป