"...การถูก ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความวิตกกังวลไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะคิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ทำงานทุกอย่างตามระเบียบขั้นตอนโดยเคร่งครัด ที่สำคัญจากการสอบถามข้อมูลเอกชนที่เกี่ยวข้องในการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ ได้รับการยืนยันว่า ฝ่ายเอกชนไม่มีใครไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ด้วย..."
กรณีกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการดำเนินงานในขั้นตอนการประกวดราคาว่าจ้างงานพัฒนาระบบบริหารจัดการเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม เว็บไซต์หน่วยงานส่วนกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด วงเงินกว่า 12 ล้านบาท หลังมีการร้องเรียนว่าการดำเนินงานมีการยกเลิกผลผู้ชนะการเสนอราคาที่ไม่เป็นธรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในช่วงปลายเดือน ต.ค.2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้มีมติเห็นชอบผลการสอบสวนเบื้องต้นคดีนี้ และอนุมัติให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นทางการแล้ว โดยข้อกล่าวหาข้าราชการระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรมที่ถูกแจ้ง คือ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
- วธ.งานเข้า! ป.ป.ช.สอบปมจ้างทำเว็บฯส่วนกลาง-ตจว.12 ล.ยกเลิกผลประกวดราคาไม่เป็นธรรม
- ก่อนโดน ป.ป.ช.สอบ! ล้วงข้อมูล วธ.จ้างทำเว็บฯ12 ล.- ยกเลิก 4 ครั้ง ก่อนเจาะจงได้ผู้ชนะ
- บิ๊กขรก.โดนด้วย! ป.ป.ช.อนุมัติแจ้งข้อกล่าวหาคดีวธ.จ้างทำเว็บฯ12 ล.ยกเลิกไม่เป็นธรรม
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานประกวดราคาว่าจ้างงานพัฒนาระบบบริหารจัดการเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม เว็บไซต์หน่วยงานส่วนกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด วงเงินกว่า 12 ล้านบาทดังกล่าว โดยยืนยันใน 3 ประเด็นหลักคือ
1. การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนโดยเคร่งครัด
2. บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ผู้รับจ้าง เป็นหนึ่งในเอกชนที่ปรากฏชื่อเข้าร่วมการเสนอราคางานมาแล้ว ไม่ใช่บริษัทอื่นที่ไม่เคยผ่านการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ มาก่อน และก็เคยทำเรื่องอุทธรณ์การผลการประกวดราคางาน ในครั้งที่ 3 ด้วย
3. ราคาจ้างงานที่เสนอมาก็ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ กระทรวงฯไม่เสียหาย ปัจจุบันการส่งมอบงานครบถ้วนแล้ว
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานประกวดราคา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กรณีสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตรวจสอบการดําเนินงานในขั้นตอนการประกวดราคาว่าจ้างงานโครงการจ้างพัฒนาระบบ บริหารจัดการเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม เว็บไซต์หน่วยงานส่วนกลาง สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัด (Web Portal) ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินงบประมาณ 12,942,600 บาท หลังมีการร้องเรียนว่าการดําเนินงานมีการยกเลิกผลผู้ชนะการเสนอราคาที่ไม่เป็นธรรม นั้น
การจัดประกวดราคาว่าจ้างพัฒนาระบบบริหารจัดการเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมฯ ได้เริ่ม ดําเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ดําเนินการจัดจ้างเป็นไปตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 กฎกระทรวง หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง โดยเคร่งครัด ซึ่งได้ดําเนินการงานจ้างพัฒนาระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ ดังนี้
ครั้งที่ 1 โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) มีผู้ยื่นข้อเสนอ จํานวน 2 ราย คือ บริษัท ทูเฟลโลส์ เน็ตเวิร์ค แอนด์ ดีไซน์ จํากัด และบริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด
เหตุผลที่ต้องยกเลิกการประกวดราคา เพราะผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย ไม่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก เนื่องจากยื่นข้อเสนอไม่เป็นไปตามรายละเอียดขอบเขตของงาน ซึ่งบริษัท ทูเฟลโลส์ เน็ตเวิร์ค แอนด์ ดีไซน์ จํากัด มีการเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมไม่ตรงตามรายละเอียดขอบเขตของงานและยื่นเอกสารวุฒิการศึกษาของบุคลากร ไม่ถูกต้องครบถ้วน
ขณะที่บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เสนอฟังก์ชั่นการใช้งานระบบ ไม่เป็นไปตามรายละเอียดขอบเขตของงาน และยื่นเอกสารวุฒิการศึกษาของบุคลากรไม่ถูกต้องครบถ้วน
ทั้งนี้ ก่อนดําเนินการโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ครั้ง ครั้งที่ 2 คณะกรรมการ ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ปรับแก้ไข TOR ให้ชัดเจน ดังนี้
1.ระบบเว็บไซต์สามารถพัฒนาติดตั้งระบบปฏิบัติการ (Operating System Windows) ได้
2.ระบบสามารถรองรับการทํางานร่วมกับระบบฐานข้อมูล Microsoft SQL Server
จากนั้นมีผู้ยื่นข้อเสนอ จํานวน 2 ราย คือ บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย ก็ไม่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก เนื่องจากยื่นข้อเสนอไม่เป็นไปตามรายละเอียดขอบเขตของงาน
โดยบริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ยื่นเอกสารแสดงประสบการณ์และผลงานไม่เป็นไปตามรายละเอียดขอบเขตของงาน เช่น ยื่นหนังสือรับรอง แต่ไม่ยื่นสัญญาจ้าง ยื่นสัญญาจ้างแต่ไม่ยื่นหนังสือรับรอง และบริษัทเสนอบุคคลพร้อมทั้งเอกสารรับรอง การศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่เอกสารหลักฐานที่เสนอมาพบว่าบริษัทยื่นหลักฐานใบปริญญาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง สําเร็จการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2552 ซึ่งนับจากการสําเร็จการศึกษา มีประสบการณ์ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ประมาณ 12 ปี
ด้านบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด ไม่ได้เสนอรายชื่อและคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อมาประจําศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
การดําเนินการครั้งที่ 3 โดยวิธีคัดเลือก ได้เชิญชวนผู้ประกอบการ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทูเฟลโลส์ เน็ตเวิร์ค แอนด์ ดีไซน์ จํากัด บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด บริษัท กนกสิน เอ็กซปอร์ต อิมปอร์ต จํากัด และบริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จํากัด
ทั้งนี้จากการเชิญชวน 5 ราย มีผู้ยื่นข้อเสนอ จํานวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทูเฟลโลส์ เน็ตเวิร์ค แอนด์ ดีไซน์ จํากัด บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด ซึ่งการดําเนินการครั้งนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือกคือ บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด
แต่ปรากฏว่า บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ได้ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุเหตุผลว่าได้เสนอราคาต่ำกว่าผู้ชนะ รวมถึงมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามประกาศ แต่ไม่ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ
การจัดจ้างครั้งที่ 3 คณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกได้พิจารณาจากคะแนนด้านราคาและ ด้านคุณภาพประกอบกัน ผู้ยื่นเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งผู้อุทธรณ์ได้คะแนน ถ่วงน้ำหนักเท่ากับ ร้อยละ 78.27 ในขณะที่ผู้ได้รับการคัดเลือกได้คะแนนถ่วงน้ำหนักเท่ากับ ร้อยละ 90.52 และจากการพิจารณาข้ออุทธรณ์คณะกรรมการเห็นควรหารือไปยังกรมบัญชีกลางกรณีการอุทธรณ์ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่พัสดุ สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ไปหารือ โดยผลการหารือ เจ้าหน้าที่ กรมบัญชีกลาง แนะนําว่าหากหน่วยงานเห็นด้วยกับคําอุทธรณ์และเห็นว่าการให้คะแนนของคณะกรรมการ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ย่อย หรือขอบเขตของงานกําหนดไม่ชัดเจน ตลอดจนการจัดทําหนังสือเชิญชวนไม่ได้ กําหนดการจัดทําเอกสารการยื่นข้อเสนอ อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ยื่นข้อเสนอ หน่วยงาน สามารถยกเลิกการจัดหาในครั้งนี้ได้ หรือจะกลับไปดําเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลของผู้ยื่นข้อเสนอก็ได้
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 8 คณะกรรมการจึงเห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ และเห็นควรยกเลิกการประกาศผล ผู้ชนะครั้งนี้
ครั้งที่ 4 ดําเนินการโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 โดยวิธีคัดเลือก คณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิมที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของสํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วม ยื่นข้อเสนอ รวมจํานวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด บริษัท แซฟไฟร์ รีเสิร์ช แอน ดีเวลล็อปเมนท์ จํากัด บริษัท บางสมบูรณ์ จํากัด บริษัท เมเนอร์วา จํากัด และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง จํานวน 2 ราย คือ บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด และบริษัท เมเนอร์วา จํากัด โดยบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด ได้คะแนนถ่วงน้ำหนักรวมสูงสุด จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แต่เนื่องจากบริษัทฯ เสนอราคาสูงกว่าวงเงินงบประมาณ คณะกรรมการจึงได้พิจารณาต่อรองราคา
แต่บริษัท ขอยืนยันราคาเดิม คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นราคาที่สูงกว่าวงเงินงบประมาณ ร้อยละ 22 ซึ่งเกิน ร้อยละ 10 ของวงเงินงบประมาณ (ตามระเบียบ ข้อ 58) คณะกรรมการ จึงมีมติยกเลิกการคัดเลือกในครั้งนี้
เนื่องจาก มีการดําเนินการจัดจ้างมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้
ดังนั้นเพื่อมิให้เกิด ความล่าช้าและเกิดความเสียหายต่อราชการ คณะกรรมการจัดจ้างฯ จึงได้เสนอให้ดําเนินการจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามมาตรา 56 (2) (ก) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งกําหนดว่าเมื่อใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้อื่น ข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง การจัดจ้างในครั้งที่ 5 จึงจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
โดยในครั้งนี้คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง ตรงตามเงื่อนไขสํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีหนังสือเชิญชวน บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เนื่องจากเป็นผู้เคยเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และวิธีคัดเลือกครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งที่ 3 ได้คะแนนรวมเป็นลําดับที่ 2 ส่วนบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จํากัด ได้คะแนนรวมครั้งที่ 3 เป็นลําดับที่ 1 แต่ครั้งที่ 4 ได้เสนอราคาสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่กําหนด
คณะกรรมการจึงพิจารณาเห็นสมควรเชิญชวน บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เป็นผู้เสนอราคา โดยได้เสนอราคาที่วงเงิน 11,045,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่กําหนดไว้ (วงเงินที่กําหนดไว้ คือ 12,942,600 บาท) โดยการยื่นข้อเสนอครั้งที่ 5 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ได้ยื่นเอกสารที่เป็นข้อเสนอมีความถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามขอบเขตของงาน
คณะกรรมการจึงมีมติให้ บริษัท ซินเนอร์รี่ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เป็นผู้รับจ้าง
แหล่งข่าวจาก วธ. ยังระบุว่า "การถูก ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความวิตกกังวลไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะคิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ทำงานทุกอย่างตามระเบียบขั้นตอนโดยเคร่งครัด ที่สำคัญจากการสอบถามข้อมูลเอกชนที่เกี่ยวข้องในการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ ได้รับการยืนยันว่า ฝ่ายเอกชนไม่มีใครไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ด้วย"
ทั้งหมดนี้ คือ คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ วธ.ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ ให้กับสำนักข่าวอิศราล่าสุด
ขณะที่ในขั้นตอนการสอบสวนคดีนี้ของ ป.ป.ช.นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหามาตามที่ ป.ป.ช.นัดหมายและรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ป.ป.ช. จะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานครบถ้วนทุกรายแล้ว จะมีการสรุปสำนวนทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสรุปสำนวนการไต่สวนคดีต่อไป
หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาฟังขึ้น ข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.แจ้งก็เป็นอันตกไป
บทสรุปผลการสอบสวนคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป