เงินลงทุน หลักทรัพย์ ในสิงคโปร์ด้วย 218.4 ล.! ละเอียดยิบ คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ยึดอายัดทรัพย์สินลอตแรก ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ กับพวก คดีแต่งบัญชี บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น 16 รายการ 349.9 ล้าน มากสุดเงินฝากแบงก์ไทยพาณิชย์ 2 แห่ง 100.5 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 พ.ย.2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน ราย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก หลังคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2566 วันที่ 16 พ.ย.2566 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับแต่ที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเนื่องมาจาก บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง
ขณะที่นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและ โฆษก สำนักงาน ปปง. เปิดเผยว่าคณะกรรมการธุรกรรมมีมติ ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก จำนวน 16 รายการ ได้แก่ เงินสด เงินในบัญชีเงินฝาก หลักทรัพย์ และสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมดอกผล รวมมูลค่าประมาณ 349 ล้านบาท
ปปง.ให้ผู้เสียหายยื่นขอคุ้มครองสิทธิคดี‘ชนินทร์’กรณีหุ้น STARK หลังยึดอายัด 349 ล.
ล่าสุดสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.222/2566 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก มีรายละเอียดดังนี้
@รับเรื่องจากดีเอสไอ-ทำบัญชีไม่ถูกต้อง
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการพอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือที่ ยธ 0805/618 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เรื่อง ส่งแบบรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2554 ข้อ 4 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) พบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริงในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 ถึงปี 2565 และการเปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยเปิดเผยงบการเงินประจำปี 2564 ที่มีการตกแต่งบัญชีและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรจะบอกให้แจ้งในแบบแสดงข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร โดยเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงและได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงร้องทุกข์กล่าวโทษนายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวกในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 57/25566 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
@ตรวจสอบพบได้ทรัพย์สิน 16 รายการ
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.529/2566 ลงวันที่ 4 กันยายน 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 649/2566 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินและจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐานปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 16 รายการพร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลในบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
@ใช้อำนาจตาม กม.ปปง.ยึดอายัดชั่วคราว 90 วัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 11/2566 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่องการตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 16 รายการ พร้อมดอกผลมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2569 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฎตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินอาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
@ เปิดละเอียด 14 รายการ
สำหรับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดตามคำสั่งที่ คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.222/2566 มีดังนี้
1.รายการทรัพย์สินที่ยึด ได้แก่ เงินสด 2 รายการ รวม 1,745,000 บาท ผู้ถือกรรมการ/ผู้ครอบครอง นายพีรพัฒน์ เย็นสุดใจ และ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
2.รายการทรัพย์สินที่อายัด 14 รายการ มูลค่า 348,188,130.26 บาท ได้แก่
เงินในบัญชีเงินฝาก ในชื่อผู้ถือกรรมการ/ผู้ครอบครอง นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก 12 บัญชี (12 รายการ) ในจำนวนนี้ ยอดเงินในบัญชีเงินฝากที่มากที่สุด ได้แก่ รายการที่ 11 บัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต ในชื่อบัญชีนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ จำนวน 54,561,516.13 บาท รองลงมา รายการที่ 10 เงินในบัญชีฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต ในชื่อบัญชีนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ จำนวน 46,031,366.08 บาท และ รายการที่ 14 เงินในบัญชีฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลาดพร้าว ในชื่อบัญชีนายชลชาติ บุญเยี่ยมเยียน จำนวน 20,680,251.42 บาท
เงินลงทุน และหลักทรัพย์ รวมถึงทรัพย์สิน ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด ในชื่อ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ในประเทศไทย และ บัญชีประเทศสิงคโปร์ มูลค่า 218,420,937.23 บาท , รายการ เงินและสินทรัพย์ดิจิทัลในบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในชื่อ น.ส.ยสบวร อำมฤต มูลค่า 1,551,810.20 บาท (2 รายการ)
รวม 16 รายการมูลค่า 349,933,130.26 บาท (ดูเอกสาร)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินครั้งนี้เป็นคำสั่งแรก ยังไม่มีข้อมูลว่า ปปง.จะมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของการดำเนินคดีอาญานั้น เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในคดีพิเศษที่ 57/2566 กรณีการทุจริตใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ว่า ขณะนี้การสอบสวนคดีนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรส่งพนักงานอัยการทำความเห็น ‘ควรสั่งฟ้อง’ ผู้ต้องหาล็อตแรก จำนวน 11 ราย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้คดียังไม่มีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมว่านายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
ข่าวเกี่ยวข้อง: