“…ปัจจุบันมีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 อยู่ในมือนายทุนหรือคนที่ปล่อยกู้ ซึ่งตามระเบียบปัจจุบัน ‘คนซื้อไม่ได้สิทธิ์ คนขายเสียสิทธิ์’ หากระเบียบฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ อาจจะเป็นช่องให้นายทุนใช้เกษตรกรมาขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม และเข้ามาซื้อขายที่ดินในราคาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนั้นก็ปล่อยขายทำกำไร โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว…”
........................................
เริ่มต้น ‘นับหนึ่ง’ อย่างเป็นทางการ
สำหรับการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ‘ส.ป.ก.4-01’ เป็น ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’
หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) 2 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้เกษตรกรที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 นำ 'เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.' ไปยื่นขอปรับปรุงเป็น ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ ได้
ที่สำคัญเกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตร หรือ ‘โฉนดครุฑสีเขียว’ สามารถนำที่ดิน ‘บางส่วน’ ไป ‘ขาย’ หรือ ‘เปลี่ยนมือ’ ให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อย 2 ปี และต้องได้รับความยินยอมจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ก่อน
“ข้อ 7 เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถ และไม่นำที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจาก ส.ป.ก.
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีการโอนให้เป็นไปตามที่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอน หรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อและการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 กำหนด
ห้ามมิให้ผู้ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรเปลี่ยนมือ สละสิทธิ หรือกระทำการอื่นใด เพื่อให้บุคคลอื่นได้รับสิทธิในโฉนดเพื่อการเกษตรแทนตน ภายในสองปี นับแต่วันที่ออกโฉนดเพื่อการเกษตร เว้นแต่เป็นการจัดที่ดินแทนที่แก่คู่สมรส บุตร เครือญาติหรือทายาท
(2) ยินยอมทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจัดให้ โดยมีค่าชดเชยและต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว…” ระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯฉบับปี 2535 ระบุ
ขณะที่ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯฉบับปี 2564 ระบุว่า
“ข้อ 29/1 เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่
เมื่อได้รับคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่จากเกษตรกรอื่นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ ส.ป.ก. พิจารณาคัดเลือกและดำเนินการทางทะเบียน โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 19 และข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (อ่านประกอบ : มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯแพร่ระเบียบฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’-เปิดทางซื้อขายเปลี่ยนมือได้)
ล่าสุด วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า หลังจากระเบียบทั้ง 2 ฉบับ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขอให้ ส.ป.ก. เร่งรัดการดำเนินการออกโฉนด ทั้งนี้ ตามกำหนดการจะแจกโฉนดเพื่อการเกษตรฉบับแรกพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 15 ม.ค.2567
ข้อมูลจาก ส.ป.ก. ระบุว่า มีเกษตรกรที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และเข้าเงื่อนไขยื่นขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งสิ้น 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407 ไร่ โดย ส.ป.ก.ได้เปิดให้เกษตรกรยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2566
“พื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ จะต้องเป็นแปลงที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีฐานข้อมูลรายแปลงตรงกันกับระบบจัดที่ดินออนไลน์ (Alro Land Online) และไม่มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์” เอกสารข่าว ส.ป.ก. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2566 ระบุ
(วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข)
@‘ป.ป.ช.’เฝ้าระวังนโยบายปรับปรุง ‘ส.ป.ก.4-01’
การผลักดันนโยบายปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ถูกจับจ้องและมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่า เป็นนโยบายที่อาจเปิดทางให้ ‘นายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์’ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาศัยเกษตรกรเป็น ‘นอมินี’ เข้ามาถือครองที่ดินของรัฐ หรือไม่
สะท้อนได้จากท่าทีของคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ที่มี สุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน ที่มีมติให้ 'สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต' ศึกษาและเฝ้าระวัง 'การทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุง ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม'
“มีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ของ ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรฯ
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ประสงค์จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ โดยการนำที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร
โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และป้องกันมิให้ที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยเกษตรกรถือครองที่ดินแทน” รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุ (อ่านประกอบ : ป้องกันนายทุนฮุบที่ดิน! ป.ป.ช.เฝ้าระวังทุจริต นโยบายเปลี่ยน‘ส.ป.ก.’เป็น‘โฉนด’ 22 ล้านไร่)
@7 ข้อกังวล-ข้อเสนอปรับปรุง‘ส.ป.ก.’เป็น‘โฉนดฯ’
ขณะเดียวกัน ในการรับฟังความคิดเห็น ร่างระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่...) พ.ศ... ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-10 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา
ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 526 ราย มีข้อกังวลและมีข้อเสนอแนะกรณีการปรับปรุง ส.ป.ก.4-01 เป็น ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ (เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ ตามระเบียบฯที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566) สรุปได้อย่างน้อย 7 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก การปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. เป็นโฉนดฯ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ‘การเป็นที่ดินของรัฐ’ และต้องมีแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด และข้อขัดแย้งทางกฎหมายหรือคดีความที่อาจเกิดกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของ ‘เกษตรกรอื่น’ ที่จะเข้ามาสิทธิในที่ดิน
ประเด็นที่สอง ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงจาก ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม และต้องระบุให้ชัดเจนว่า ส.ป.ก.4-01 มีความแตกต่างจากโฉนดเพื่อเกษตรกรรมอย่างไร เช่น สิทธิในการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ส.ป.ก.4-01 และโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ต่างก็เป็นสิทธิประเภทเดียวกัน จึงสมควรยกเลิกการออก ส.ป.ก. 4-01 ทุกกรณี
ประเด็นที่สาม เห็นควรให้เปลี่ยนแปลง ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมด เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด จะได้ไม่ต้องทำงานหลายรอบ รวมทั้งจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ เป็น ‘หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์’
เพราะไม่เช่นนั้น ประชาชนอาจเกิดความเข้าใจผิดกับ ‘โฉนดที่ดิน’ ซึ่งหมายถึง ‘หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน’ ทั้งนี้ ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนหนึ่ง ยังเห็นว่าไม่ควรใช้ชื่อคำว่า ‘โฉนด’ เพราะอาจเกิดความเข้าใจพลาดคลาดเคลื่อนว่าเป็นแบบเดียวกับโฉนดที่ดิน
นอกจากนี้ ผู้แสดงความคิดเห็นบางส่วนเห็นว่า ไม่ควรเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม เนื่องจากสิทธิไม่ได้ต่างกัน และไม่ได้แก้ปัญหาการถือครองที่ดินที่แท้จริง และมีข้อเสนอแนะว่าการออกโฉนดฯ ควรกำหนดให้ดำเนินการเฉพาะพื้นที่ที่มีการดำเนินการ One Map เรียบร้อยแล้ว
ประเด็นที่สี่ ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้นายทุนหรือนอมีนีเข้ามาถือครองโฉนดเพื่อเกษตรกรรม โดยการกำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้เกษตรกร เช่น ควรดูตามวัตถุประสงค์ทำการเกษตรเป็นหลัก เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ กำหนดเพดานรายได้ของผู้ที่ได้รับสิทธิ กำหนดคุณสมบัติผู้ซื้อต้องเป็นเกษตรกรและทำประโยชน์ในที่ดินนั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นส่วนหนึ่งเห็นว่า การเปิดให้โฉนดเพื่อเกษตรกรรมมีการซื้อขายได้นั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้ที่ดิน ส.ป.ก. จะตกอยู่กับนายทุน
“ร่างข้อกำหนดนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ในการซื้อขาย เหมือนเป็นการรับรองให้ผู้ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ได้สิทธิ และอาจเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรกระทำผิดระเบียบฯ ให้บุกรุกที่ดินของรัฐ และเสี่ยงต่อที่ดิน ส.ป.ก. ตกไปอยู่นายทุนมาก แม้ครอบครองแบบจำกัดจำนวน แต่นอมินีจะเยอะตาม โฉนดจะไปสู่นายทุน” ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนหนึ่ง ระบุ
ประเด็นที่ห้า ปัจจุบันมีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 อยู่ในมือนายทุนหรือคนที่ปล่อยกู้ ซึ่งตามระเบียบปัจจุบัน ‘คนซื้อไม่ได้สิทธิ์ คนขายเสียสิทธิ์’ หากระเบียบฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ อาจจะเป็นช่องให้นายทุนใช้เกษตรกรมาขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม และเข้ามาซื้อขายที่ดินในราคาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนั้นก็ปล่อยขายทำกำไร โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี มีผู้แสดงความเห็นว่า ควรนิยามคำว่า ‘เกษตรกร’ ใหม่ เพราะเกษตรกรบางรายประกอบอาชีพอื่น แต่สามารถทำการเกษตรไปด้วยได้ รวมถึงควรกำหนดให้บุคคลทั่วไปนอกเหนือจากเกษตรกรถือครองโฉนดฯได้ แต่ต้องทำเกษตรเท่านั้น และกำหนดขนาดการถือครองเฉพาะบุคคลกลุ่มนี้ไม่เกินรายละ 10 ไร่
ประเด็นที่หก การเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. กันอย่างกว้างขวาง เหมือนเป็นการอนุญาตให้ขายสิทธิอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนมือได้โดยง่ายนั้น จะทำให้เกิดผู้ไร้ที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น จะมีการบุกรุกที่ดินของรัฐใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการเรียกร้องให้รัฐจัดหาที่ดินแปลงใหม่เพื่อทดแทนเรื่อยๆ
ประเด็นที่เจ็ด กรณีการให้เกษตรกรสามารถนำโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคาร นั้น ยังมีปัญหาอยู่ว่า เมื่อที่ดินยังมีสถานะเป็นของรัฐแล้ว การนำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ที่ดินดังกล่าวสามารถยึดและขายทอดตลาดได้หรือไม่ หากไม่สามารถยึดได้ เหตุใดธนาคารจึงต้องรับความเสี่ยง
@หากไม่มีกลไกตรวจสอบดีๆ ‘ที่ดิน’จะตกไปสู่นายทุน
“จริงๆก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของ ส.ป.ก. อยู่ ยังเป็นที่ดินของรัฐ แต่ที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้นมา คือ สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ และถ้าซื้อขายเปลี่ยนมือนั้น ไม่มีกลไกลในการตรวจสอบดีๆ มันก็จะตกไปอยู่ในมือคนที่มีสตางค์และนายทุน หรืออาจทำให้นายทุนมาเช่าทำกิจการขนาดใหญ่มากขึ้น เพราะเกษตรกรสละสิทธิ์ได้
นี่เป็นข้อกังวล ดังนั้น หากไม่มีกลไกตรวจสอบดีๆ ก็จะกลายเป็นประโยชน์ให้นายทุนส่วนหนึ่งไป” อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(อภิชาติ ศิริสุนทร)
อภิชาติ กล่าวด้วยว่า มีความเป็นได้ที่นายทุนจะใช้ ‘นอมินี’ เข้ามาซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีการปรับปรุงเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็มีการดำเนินในลักษณะที่ว่า นายทุนใช้นอมินีเข้ามาถือครองที่ดิน ส.ป.ก. อยู่แล้ว ดังนั้น ภาครัฐ โดย ส.ป.ก.จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบที่อย่างเข้มข้น
“การซื้อขาย (โฉนดเพื่อการเกษตร) ถ้าหากไม่ผ่านกลไกของรัฐ จะกลายเป็นว่าไม่มีการตรวจสอบ แล้วก็จะมีการเอานอมินีมาถือครองได้ ดังนั้น จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบที่เข้มข้น เช่น กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด มีขั้นตอนในการพิสูจน์ เพื่อให้มันตรงสิทธิ์จริงๆ เป็นเกษตรกรจริงๆ และหากพบว่าเป็นนายทุนก็ต้องเอาคืน” อภิชาติ กล่าว
อภิชาติ เสนอว่า ในการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตร นั้น จะต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ซื้อ เช่น ถ้าเป็นเกษตรกรควรกำหนดว่าต้องมีทรัพย์สินไม่เกินเท่าไหร่ และที่ดินที่แต่ละรายจะถือครองได้นั้น รวมกันแล้วต้องไม่เกินกี่ไร่ เป็นต้น
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากนี้ภาครัฐ คือ ส.ป.ก. จะมีมาตรการในการปิดช่องโหว่ไม่ให้ ‘นายทุนหรือนอมินี’ เข้ามาครอบครองที่ดินของรัฐ ผ่านการถือครอง ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ ได้อย่างไร?
อ่านประกอบ :
มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯแพร่ระเบียบฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’-เปิดทางซื้อขายเปลี่ยนมือได้
เปิดร่างระเบียบฯเปลี่ยน 'ส.ป.ก.'เป็น'โฉนดฯ'-ยกเลิกเงื่อนเวลา'ทายาท'ยื่นคำขอ'ตกทอดทางมรดก'
ซื้อขาย-ค้ำเงินกู้ได้!‘โฆษกรบ.’เผยเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’มีผลบังคับใช้ 15 ธ.ค.นี้
ป้องกันนายทุนฮุบที่ดิน! ป.ป.ช.เฝ้าระวังทุจริต นโยบายเปลี่ยน‘ส.ป.ก.’เป็น‘โฉนด’ 22 ล้านไร่