“…ข้อ 53/1 เมื่อเกษตรกรยื่นคำร้องขอให้ ส.ป.ก. ออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกร ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จะต้องเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้า (5) ปี…”
........................................
จากกรณีที่ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ เป็น ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ โดยสำนักงาน ส.ป.ก. จะทยอยเปลี่ยน สปก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2567
“พอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร มันแปลว่า ซื้อขายได้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสถาบันการเงินได้ คือ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ได้ดีขึ้น มากขึ้น แล้วใครไม่ได้ทำเกษตรแล้ว หรือทำน้อยลงแล้ว หรือมีหนี้สิน อาจยอมขายบางส่วนเพื่อตัดหนี้เลย แล้วตั้งหลักใหม่ได้” ชัย แถลงหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ‘ส.ป.ก. 4-01’ ไปเป็น ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ รวมถึงแนวทางการอนุญาตให้สามารถนำ ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ ไป ‘ซื้อขาย-เปลี่ยนมือ’ ได้ นั้น
จะอาศัยอำนาจตาม ‘ร่างระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นการปรับปรุง ระเบียบ ค.ป.ก. ฉบับเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ 'ร่างระเบียบ ค.ป.ก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรฯ' ซึ่ง สำนักงาน ส.ป.ก. ได้นำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้
@เพิ่มนิยาม‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม-การจัดให้เข้าทำปย.’
1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามในข้อ 4 คำว่า “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม”
“โฉนดเพื่อเกษตรกรรม หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน”
2.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามใน ข้อ 4 คำว่า “การจัดให้เข้าทำประโยชน์”
“การจัดให้เข้าทำประโยชน์ หมายความว่า การจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงโฉนดเพื่อเกษตรกรรมที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน”
@ตัดเงื่อนเวลากรณี ‘ทายาท’ ยื่นคำขอรับสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.
3.แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 22 โดยตัดกำหนดระยะเวลาที่ให้ทายาทเกษตรกร ซึ่งถึงแก่ความตาย ยื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ
ให้ยกเลิกความในข้อ 22 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
“ข้อ 22 นับแต่วันที่เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินซึ่งได้รับสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ ถึงแก่ความตาย เมื่อทายาทของเกษตรกรดังกล่าวได้ยื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อต่อ ส.ป.ก.จังหวัด ให้พิจารณาการตกทอดทางมรดกโดยนำหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีทายาทที่ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อเกินกว่าหนึ่งราย และเป็นกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างทายาทด้วยกัน ให้พิจารณาตามลำดับ ดังนี้
(1) ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นลำดับแรก
(2) กรณีไม่มีคู่สมรส หรือมีแต่ไม่ขอรับสิทธิดังกล่าว หรือคู่สมรสนั้นไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่ทายาทชั้นบุตร ซึ่งหมายรวมถึง ผู้สืบสันดานของทายาทชั้นบุตรที่ตายก่อนเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน โดยให้เป็นไปตามลำดับ ดังนี้
ก.ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่บุตรเพียงรายเดียว เว้นแต่เป็นกรณีที่อาจให้สิทธิแก่บุตรได้เกินกว่าหนึ่งรายตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 (2) ให้พิจารณาตามข้อตกลงระหว่างบุตรดังกล่าว หากไม่อาจตกลงกันได้ให้บุตรผู้มีสิทธิแต่ละรายได้รับการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่า หรือสิทธิการเช่าซื้อที่ดินตามส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
ข.กรณีที่ดินนั้น ไม่สามารถให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อแก่บุตรตามจำนวนของผู้มีสิทธิทั้งหมด และไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างบุตรผู้มีสิทธิด้วยกัน ให้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากบุตรเหล่านั้นเท่ากับจำนวนแปลงที่อาจแบ่งได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 (2) เป็นผู้ได้รับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตามจำนวนแปลงที่ดินที่อาจให้สิทธิได้
ทั้งนี้ การคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงความเกี่ยวพันระหว่างทายาทนั้นกับเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน เช่น เป็นผู้ร่วมประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นผู้อุปการะหรือได้รับอุปการะ โดยพิจารณาประกอบกับความสามารถในการรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินที่ถึงแก่ความตายเป็นสำคัญ
(3) หากไม่มีทายาทตาม (1) และ (2) หรือมีแต่ไม่ขอรับสิทธิดังกล่าว หรือทายาทนั้นไม่ต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่ทายาทอื่นของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินได้ ถ้าทายาทอื่นผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณานั้นมีจำนวนเกินกว่าหนึ่งราย ให้นำความใน (2) ก. และ ข. ตลอดจนการจัดลำดับและชั้นของทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (ร่างระเบียบข้อ 5)
@ให้สิทธิเกษตรกรยื่นขอสละสิทธิ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ได้
4.เพิ่มเติมข้อ 29/1 และข้อ 29/2 เกี่ยวกับเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ยื่นคำขอสละสิทธิของตนให้แก่เกษตรกรอื่น และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการพิจารณา
ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 29/1 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
“ข้อ 29/1 เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อเกษตรกรรม อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่
เมื่อได้รับคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่จากเกษตรกรอื่นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ ส.ป.ก. พิจารณาคัดเลือกและดำเนินการทางทะเบียน โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 19 และข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (ร่างระเบียบข้อ 6)
และให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 29/2 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
“ข้อ 29/2 ภายใต้บังคับข้อ 12 ระยะเวลาอื่นใดในการพิจารณาเพื่อให้ได้รับโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
กรณีตามวรรคหนึ่ง หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ให้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกินสามสิบ (30) วัน” (ร่างระเบียบข้อ 7)
5.แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 30 โดยตัดกำหนดระยะเวลาให้ทายาทเกษตรกรที่ถึงแก่ความตายยื่นคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่ (การจัดให้เข้าทำประโยชน์)
ให้ยกเลิกความในข้อ 30 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
“ข้อ 30 เมื่อทายาทของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินซึ่งได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ถึงแก่ความ ตาย ได้ยื่นคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่ผู้ตายต่อ ส.ป.ก.จังหวัด ให้พิจารณาการจัดที่ดินแทนที่โดยนำหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 19 และข้อ 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้จัดที่ดินแทนที่แก่ทายาทโดยการจัดให้เข้าทำประโยชน์” (ร่างระเบียบข้อ 9)
@ต้องทำปย.ในที่ดิน‘ส.ป.ก.’ 5 ปี จึงยื่นขอออกโฉนดฯได้
6.เพิ่มเติมข้อ 53/1 และข้อ 53/2 กำหนดส่วนที่เกี่ยวข้องกับโฉนดเพื่อเกษตรกรรม และรายละเอียดการออก การแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกเพิกถอน หรือออกใบแทนโฉนดเพื่อเกษตรกรรม
ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้เป็น “ส่วนที่ 5 โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” และเพิ่มข้อ 53/1 และข้อ 53/2 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
“ส่วนที่ 5
โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ข้อ 53/1 เมื่อเกษตรกรยื่นคำร้องขอให้ ส.ป.ก. ออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกร ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จะต้องเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้า (5) ปี
ข้อ 53/2 การออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกเพิกถอน และออกใบแทนโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ให้นำความในส่วนที่ 1 ส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 เฉพาะที่เกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินมาใช้โดยอนุโลม” (ร่างระเบียบข้อ 9)
7.เพิ่มเติมข้อ 60 ข้อ 61 และข้อ 62 กำหนดการออกหนังสือรับรองสิทธิ การขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมและการสิ้นผลของหนังสือรับรอง การกำหนดให้การวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการที่ คปก. แต่งตั้งตามข้อ 5
และการกำหนดให้ผู้ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ ส.ป.ก. จัดให้แก่เกษตรแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินภายในกำหนดระยะเวลา เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คปก. ประกาศกำหนด
ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 60 ข้อ 61 และข้อ 62 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
“ข้อ 60 เมื่อเกษตรกรซึ่งได้รับ ส.ป.ก.4-01 ได้ยื่นคำขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ให้ ส.ป.ก.จังหวัด ออกหนังสือรับรองสิทธิการขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมไว้เป็นหลักฐาน จนกว่าจะมีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร
กรณีมีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมเรียบร้อยแล้ว ให้หนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งสิ้นผลการรับรอง”
“ข้อ 61 ให้คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งตาม ข้อ 5 ของระเบียบนี้ มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์การสั่งให้สิ้นสิทธิ การเพิกถอนการจัดที่ดินก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ รวมถึงคำขออุทธรณ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา”
“ข้อ 62 ผู้ใดที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้มาดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินกับ ส.ป.ก. จังหวัด ภายในสอง (2) ปี เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามที่กำหนดในระเบียบนี้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับสิทธิโดยการเช่าที่ดิน ขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” (ร่างระเบียบข้อ 10)
จากนั้นไปคงต้องติดตามว่า 'ร่างระเบียบ ค.ป.ก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรฯ' ซึ่งให้อำนาจสำนักงาน ส.ป.ก. ในการเปลี่ยนที่ดิน 'ส.ป.ก. 4-01' เป็น ‘โฉนดเพื่อเกษตรกรรม’ จะประกาศใช้ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
ซื้อขาย-ค้ำเงินกู้ได้!‘โฆษกรบ.’เผยเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’มีผลบังคับใช้ 15 ธ.ค.นี้
ป้องกันนายทุนฮุบที่ดิน! ป.ป.ช.เฝ้าระวังทุจริต นโยบายเปลี่ยน‘ส.ป.ก.’เป็น‘โฉนด’ 22 ล้านไร่