พบข้อมูลว่ามีเงินอีกจำนวน 9.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (318,864,000 บาท) ไหลไปยังบัญชีที่ลงทะเบียนในชื่อของนายหวัง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเชือดหมูอีกเช่นกัน และเงินจำนวนนี้ถูกตรวจสอบพบว่ามีการทำธุรกรรมโอนย้ายไปมากว่า 50 ครั้งในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.2565
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวข้องกับนายหวัง หยี่ เฉิง นักธุรกิจจีนที่ถูกสำนักข่าวนรอยเตอร์สระบุว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับกรณีบัญชีสกุลเงินดิจิทัล (คริปโต) ฉ้อโกงคิดเป็นเงินไทยนับพันล้านบาท โดยนายหวังทำงานให้กับสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย-เอเชีย และมีภาพเคยมอบดอกไม้ให้กับนายตำรวจระดับผู้บังคับการในหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์
ขณะที่นายกสมาคมฯ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่านายหวังถูกเชิญออกไปได้ 3 เดือนแล้วเพราะว่าไม่ได้ร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมตามเป้าหมายของสมาคมฯ
- เชิญออกไป 3 เดือนแล้ว! เปิดตัวสมาคมชาวจีนในไทย แจงไม่เกี่ยวข้องนักธุรกิจคดีโกงคริปโตพันล.
- ต้องให้ สตช.สอบ! ผบช.สอท.แจงข่าวนักธุรกิจจีนเอี่ยวฉ้อโกงคริปโตพันล.รู้จักตำรวจไทย
- สื่อนอกเปิดโปงนักธุรกิจจีน ใกล้ชิดตำรวจ-นักการเมืองไทย โยงบัญชีฉ้อโกงคริปโต พัน ล.
จากรายงานดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้สืบค้นข้อมูลประวัติของนายหวัง รวมไปถึงและพฤติการณ์การฉ้อโกงคริปโตที่ปรากฎบนสำนักข่าวรอยเตอร์ส
มีรายละเอียดดังนี้
สำหรับนายหวัง ยี่เฉิง เกิดในปี ค.ศ.1982 หรือปี 2525 ที่เมืองท่าหนิงโป ตั้งอยู่ ณ ชายฝั่งตะวันออกของจีนตามบัตรประจําตัวที่ใช้ในการลงทะเบียนบัญชีคริปโต
ตอนที่นายหวังอายุได้ 20 ปลายๆ จนถึง 30 ต้นๆ เขาได้เริ่มทำธุรกิจหลายอย่างในประเทศจีน ซึ่งส่วนมากแล้วจะเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมไปถึงเกี่ยวกับการขายคอมพิวเตอร์และการขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ตามข้อมูลบริคนสนธิที่ปรากฏสู่สาธารณะ
โดยในบันทึกบริษัทแห่งหนึ่งระบุว่าหนึ่งในบริษัทของนายหวังพบว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายรังนกซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมที่มักจะกินกับน้ำแกงในประเทศจีน
ในปี 2561 นายหวังได้ย้ายที่อยู่ลงมาทางใต้ ที่เมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเมืองริมฝั่งเช่นกัน ตามข้อมูลในบัตรประชาชน และในเดือน ก.ย.ปีเดียวกันนั้นเอง ธุรกิจของเขาในเมืองหนิงโปเกือบทั้งหมดก็ได้ยกเลิกการจดทะเบียนเว้นแต่บริษัทที่ชื่อว่า Ningbo Laizheda E-Commerce Company ซึ่งบริษัทนี้ทางสำนักข่าวรอยเตอร์สได้ติดต่อสอบถามไปเช่นกัน แต่ไม่มีการตอบกลับมา
หน้าเว็บบริษัท Ningbo Laizheda E-Commerce Company
และในปี 2561 เช่นเดียวกัน นายหวังก็ได้ขยายธุรกิจของตัวเองมายังประเทศไทย โดยจากข้อมูลบริคนสนธิในประเทศไทย พบว่าเขาได้เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่ชื่อว่า บ. (ขอสงวนชื่อเต็ม) ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทนี้ถือว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับคริปโตรายใหญ่ในประเทศจีน
โดยบริษัท บ. ได้ตอบกลับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่านายหวังนั้นไม่ใช่พนักงานของบริษัท แต่เป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด และยืนยันด้วยว่าบริษัทได้จัดหาและขายเครื่องขุดบิทคอยน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อนึ่งบัญชีคริปโตของนายหวังได้รับการจดทะเบียนในเดือน พ.ย.2563 ตามข้อมูลบันทึกที่สำนักข่าวรอยเตอร์สได้ไปตรวจสอบกับบริษัทวิเคราะห์บล็อกเชนจำนวนสามแห่ง พบว่าบัญชีของนายหวังเป็นบัญชีสกุลเงินคริปโตชื่อว่า Binance โดยบัญชีนี้จะมีอายุประมาณสองปี ก็คือจนถึงเดือน พ.ย.2565 และบัญชีส่วนใหญ่ถูกเข้าถึงจากที่กรุงเทพ
สำหรับยอดเงินฝากยอดแรกพบว่ามายังบัญชีเมื่อต้นปี 2564 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็วจนถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (3,510,400 บาท) ตามบันทึกข้อมูลทางการเงิน
ต่อมาพบว่านายหวังได้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย-เอเชียเมื่อเดือน ต.ค.2564 อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมฯ ยืนยันว่านายหวังถูกเชิญออกจากสมาคมฯไปแล้ว
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลด้วยว่าในช่วงเวลาที่นายหวังทำงานให้กับสมาคมฯ เขาได้เคยพบปะ ติดต่อ และมอบของขวัญให้กับนักการเมืองใหญ่รายหนึ่ง แต่ในช่วงเดือน พ.ย.2565 นักการเมืองรายนี้ได้ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อหลักไปแล้วว่าไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับทุนจีนสีเทาแต่อย่างใด
ในปี 2565 ความเคลื่อนไหวบัญชีคริปโตของนายหวังก็พบการเพิ่มขึ้นไปจนถึงเกือบ 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,770,174,500 บาท) หรือก็คือเกือบหกเท่าจากปีก่อนหน้า ตามบันทึกที่สำนักข่าวรอยเตอร์สได้ตรวจสอบ
@โครงข่ายอันซับซ้อน
บริษัท Coinfirm บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชนที่ตรวจสอบข้อมูลให้สำนักข่าวรอยเตอร์สกล่าวว่าเงินที่ถูกฝากไปนั้นพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเชือดหมูในช่วงก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ก.พ.2565 (การเชือดหมูหมายถึงวิธีการหลอกลวงรูปแบบใหม่ โดยจะเป็นการทำให้เหยื่อตายใจ จนยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวด้วยความไว้วางใจหรือกระทั่งยอมโอนเงินไปให้)
ในช่วงเวลาดังกล่าว คริปโตที่ถูกขโมยไปนั้นจะถูกย้ายไปยังบัญชีผ่านรูปแบบการแบ่งชั้นอย่างซับซ้อน ใช้กระเป๋าเงินหลายใบ โดยนายโรมัน บีดา หัวหน้าฝ่ายสืบสวนการทุจริตของ Coinfirm ในช่วงเดือน พ.ค. ได้ให้ข้อมูลว่าคริปโตถูกย้ายไปมาระหว่างกระเป๋าหลายสิบใบและผสมกับเงินทุนจากแหล่งอื่นๆประกอบกัน
พบข้อมูลว่ามีเงินอีกจำนวน 9.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (318,864,000 บาท) ไหลไปยังบัญชีที่ลงทะเบียนในชื่อของนายหวัง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเชือดหมูอีกเช่นกัน และเงินจำนวนนี้ถูกตรวจสอบพบว่ามีการทำธุรกรรมโอนย้ายไปมากว่า 50 ครั้งในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.2565
นายบีดากล่าวต่อไปว่าบริษัท Coinfirm ได้เชื่อมโยงเงินเหล่านี้กับการหลอกลวง การเชือดหมู โดยรวบรวมข้อมูลจากเหยื่อหลายรายและจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
บริษัท Coinfirm ระบุว่าเงินทุนที่มาจากการเชือดหมูนั้นมีด้วยกันสี่ครั้ง ครั้งหนึ่งมาจากเว็บไซต์ชื่อว่า bigoneit.site โดยเว็บไซต์นี้พบว่านำเอาเงินบางส่วนจากเหยื่อจากแคลิฟอร์เนียที่ถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุน ก่อนจะส่งเงินไปยังบัญชีที่ลงทะเบียนในชื่อของนายหวัง แน่นอนว่าเว็บไซต์นี้เป้นเว็บไซต์ปลอมของเว็บไซต์ BigOne ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายคริปโตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
มีผู้แจ้งเตือนจากแคลิฟอร์เนียเตือนภัยเกี่ยวกับเว็บไซต์ bigoneit.site (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นคนเดียวกับที่เป็นเหยื่อในข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์สหรือไม่)
กรณีเหยื่อจากแคลิฟอร์เนียนั้นพบว่าเป็นชายชาวสหรัฐฯเชื้อสายจีนในวัย 71 ปี ทำงานอยู่ในร้านรับปรับปรุงบ้านและอาศัยอยู่ตัวคนเดียว โดยนับตั้งแต่ที่เขาได้ย้ายมายังสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 80 ชายคนนี้ได้พยายามสร้างฐานะจากการทำงาน เงินบำนาญ และการซื้อขายหุ้นตามหลานสาว (หลานลุง) ของเขา
ในเดือน มี.ค.2565 เขาได้รับข้อความจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นหญิงสาวชื่อว่า “เอ็มม่า” ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นเขาและเอ็มม่าได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านการพูดคุยกัน โดยเอ็มม่าสนับสนุนให้เขาส่งคริปโตไปยังเว็บไซต์หลอกลวง สลับกับการพูดคุยอีกเล็กๆน้อยๆ และการส่งรูปภาพผู้หญิงอายุน้อย หุ่นดี ผมยาว ที่เอ็มม่าบอกว่าเป็นรูปของเธอเอง
ส่งผลทำให้ในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ชายจากแคลิฟอร์เนียคนนี้ได้ทุ่มเงินไปกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (94,581,000 บาท) ตามคำกล่าวอ้างของผู้เป็นหลานสาว
โดยเหยื่อที่ขอไม่ระบุตัวตนยอมรับว่าการพูดเกลี้ยกล่อมของเอ็มม่านั้นทำให้เขาเชื่อว่าสามารถจะทำเงินได้ แต่เขาพบว่าถูกหลอกเนื่องจากเขาไม่สามารถถอนเงินได้ ครอบครัวของเขาจึงได้แจ้งความการโจรกรรมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐฯ
“ผมไว้ใจเธอ ผมเป็นคนดีเกินไป จากสแกมเมอร์มักจะใช้จุดอ่อนของคุณเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขาต้องกมา” เหยื่อกล่าว
บริษัท Coinfirm ระบุต่อไปด้วยว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 กิจกรรมในบัญชีคริปโตที่ลงทะเบียนไว้ในชื่อของนายหวังก็หยุดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งรูปแบบการโอนเงินไปยังบัญชีบ่งชี้ว่าทาง Binance อาจจะเริ่มสอบสวนภายในและระงับบัญชีดังกล่าวแล้ว
เรียบเรียงจาก:https://www.reuters.com/investigates/special-report/fintech-crypto-fraud-thailand/
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าหน่วยงานตำรวจในไทย ได้มีการสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการแล้วหรือไม่
นายหวัง หยี่ เฉิง และผู้เกี่ยวข้องยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่