"...ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นต้น ว่าบุคคลทั้ง 5 ราย ได้ร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย จำนวน 600,000 บาท จากการสืบสวนพบว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย โดยแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่ขั้นตอนที่ผู้เสียหายชนะการเสนอราคาและได้เข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลตลุกดู่ จนกระทั่งได้ดำเนินการตามสัญญารับจ้างแล้วเสร็จ.."
สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก!
ต่อกรณี เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) รักษาราชการแทนตำรวจทางหลวง (รรท.ผบก.ทล.ฉ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป.รรท.ผบก.ปปป.พ.ต.อ.แมน แม่นแย้ม รองผบก.ปปป. พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.4.บก.ปปป.สนธิกำลัง พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4.บก.ป. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.และป.ป.ช.นำกำลังเจ้าหน้าที่และชุดปฏิบัติการพิเศษ “หนุมาน กองปราบ” ลุยตรวจค้น 8 จุด ในจ.อุทัยธานี เพื่อกวาดล้างจับกุมขบวนการเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินสิบบนจากผู้ประกอบการทำโครงการก่อสร้างระบบประปา ในพื้นที่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน และ ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
โดยหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญ คือ นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ ซึ่งมีสถานะเป็นลูกเขยของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นสามีของ น.ส.อัลฑริกา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาวคนที่ 4 ของ นายชาดา
ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำภารกิจสำคัญในการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลและมาเฟียทั่วประเทศ
สำหรับปฏิบัติการ 3 ป. (ปปป., ป.ป.ช., ป.ป.ท.) บุกจับกุมขบวนการเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินสิบบนจากผู้ประกอบการทำโครงการก่อสร้างระบบประปา ในพื้นที่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน และ ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจต่อกรณีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อมูลสำคัญมานำเสนอ แบบครบชุด ณ ที่นี้อีกครั้ง
ผู้ต้องหา
ผู้ต้องหา มีจำนวน 5 ราย คือ
1.นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ อายุ 45 ปี
2.นายธนภัสสร์ ดุลยาธิการ ตำแหน่งปลัดเทศบาลตลุกดู่ อายุ 47 ปี
3.นายกุลธัช สามัคคี ผู้ช่วยนายช่างโยธาเทศบาลตลุกดู่ อายุ 23 ปี
4. นายมานพ ติดติมานพ อายุ 51 ปี
5.นายยิ่งยง คชาชาญ อายุ 22 ปี
วีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุม
ข้อกล่าวหา
กรณีร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากผู้เสียหายซึ่งเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลตลุกดู่ ในโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแบบบาดาลขนาดใหญ่ของเทศบาลตำบลหาดทนง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี และของเทศบาลตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี
โดยปรากฏพยานหลักฐานในชั้นต้น ว่าบุคคลทั้ง 5 ราย ได้ร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย จำนวน 600,000 บาท จากการสืบสวนพบว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย โดยแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่ขั้นตอนที่ผู้เสียหายชนะการเสนอราคาและได้เข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลตลุกดู่ จนกระทั่งได้ดำเนินการตามสัญญารับจ้างแล้วเสร็จ
จุดเริ่มต้นคดี
สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปปป. ได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของ เทศบาลตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานีมีพฤติกรรมให้คนโทรศัพท์ไปข่มขู่ผู้ประกอบการที่พยายามเข้าร่วมประมูลของ โครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ของเทศบาลตำบลหาดทนง และ เทศบาลตลุกดู่ ว่าอาจจะเข้าพื้นที่ไม่ได้ และไม่มีใครขายวัสดุให้ ซึ่งภายหลังจากผู้เสียหายเข้าประมูลโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านฯ และชนะ การประมูลโครงการดังกล่าว ก็ยังถูกข่มขู่และมีการใช้อิทธิพลต่อเนื่อง เพื่อสร้างอุปสรรคในการทำงาน ทำให้ ผู้เสียหายไม่สามารถหาวัสดุมาสร้างตามสัญญาได้
เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถูกเรียกค่าปรับ และยังถูกเจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลตลุกดู่ บ่ายเบี่ยงไม่รับการตรวจการจ้างอีกด้วย (คือ ผอ.กองช่าง และ ปลัด เทศบาลตำบลตลุกดู่)
ต่อมา นายกเทศมนตรีตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เรียกผู้เสียหายเข้าไปคุยเจรจา พร้อม ขอเงิน จำนวนร้อยละ 15 ของวงเงินตามสัญญา ( 2 โครงการ รวมประมาณ 1,000,000 บาท) ซึ่งผู้เสียหาย ต่อรองเหลือ โครงการละ 300,000 บาท ( รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท) การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย
บุคคลปริศนาโทรศัพท์มาข่มขู่ให้ถอนตัว
ขณะที่จากการสืบสวนข้อมูลของเจ้าหน้าที่เบื้องต้น ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากผู้เสียหายยื่นสิทธิ์เข้าร่วมประมูลได้ไม่นาน ได้มีบุคคลปริศนาโทรศัพท์มาข่มขู่ให้ถอนตัว อ้างว่ามีผู้ใหญ่อยากได้โครงการนี้ไปทำ พร้อมเสนอเงินหลายหมื่นบาท เป็นค่าชดเชยหรือค่าเสียเวลาให้
แต่ทางผู้เสียหายไม่สนใจ จึงตอบปฏิเสธกลับไป พร้อมกับยื่นประมูลตามเดิมจนชนะการประมูลได้รับงานทั้ง 2 โครงการถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายได้ในที่สุด
หลังจากชนะการประมูลได้รับงานก่อสร้างทั้ง 2 โครงการแล้วนั้น ผู้เสียหายกลับไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดทำการล็อบบี้สั่งห้ามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง แคมป์ปูนซีเมนต์ทุกแห่งในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ขายปูนหรืออุปกรณ์ที่ให้กับผู้เสียหาย จนเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการก่อสร้าง ไม่สามารถดำเนินงานจัดสร้างได้ตามแผนที่วางไว้
นายกเทศบาลฯ เรียกเจรจารับเงินจำนวน 6 แสน
ทางเจ้าหน้าที่ อบต.ตลุกดู่ ก็โทรมาขู่ให้ถอนตัว ให้ทิ้งงาน ให้งานคนอื่นทำ ผู้เสียหายจึงเจรจากับนายกเทศบาลตลุกดู่ ก็มีการเรียกรับเงินจำนวน 6 แสนบาท
โดยในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นายวีระชาติ ได้เรียกผู้เสียหายมาเข้าพบจำนวน 3 ครั้ง ก่อนยื่นข้อเสนอให้ผู้เสียหาย ยอมจ่ายเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อที่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการทั้ง 2 แห่งได้อย่างปกติ ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือ 6 แสนบาท โดยนัดหมายส่งมอบเงินกัน เรื่องนี้ผู้เสียหายเป็นผู้ประกอบการได้รับการประมูล แต่กลับได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ในทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้รับเหมาถอยไป เริ่มตั้งแต่ให้รับเงินอย่างเดียวหมื่นบาทแต่ไม่ต้องซื้อซอง จนกระทั่งในระหว่างกรดำเนินการก็มีโทรศัพท์ขู่ว่าให้หยุดทำงานแล้วรับเงินที่เป็นเปอร์เซ็นต์ไป
สำหรับรายละเอียดโครงการนี้เป็นโครงการแทงก์ประปาหมู่บ้านมีมูลค่า 3 ล้านกว่าบาท ตัวโครงการสัญญาประมาณ 7 เดือน เริ่มบิดดิ้ง (กระบวนการประกวดราคา) ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565
ต่อมาผู้เสียหายจึงได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จากการสืบสวน พบพยานหลักฐานชัดเจนเชื่อได้ว่า นายวีรชาติฯ นายกเทศมนตรีตำบลตลุกดู่ , ปลัด เทศบาลตำบลตลุกดู่ และ ผอ.กองช่าง มีพฤติการณ์ร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินตามที่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์จริง มี การใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในทางมิชอบและโดยทุจริตเรียกรับสินบนจากผู้เสียหายดังกล่าว อีกทั้งมี การใช้ นายมานพฯหรือเหน่ง เป็นผู้เจรจาพูดคุยนัดหมายรับเงินกับผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ได้ขอศาลออกหมายจับบุคคลดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งขอหมายค้น เพื่อเข้าค้นจับกุมบุคคลตาม หมายจับ และค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ใช้ในการกระทำความผิด
3 ป. วางแผนเข้าจับกุม
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จึงประสานความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. และป.ป.ท. เพื่อใช้วิธีวางแผนเข้าจับกุมในขณะที่ทำการส่งมอบเงินกัน โดยได้นัดหมายให้ผู้เสียหายนำเงินสดจำนวน 600,000 บาท มาลงบันทึก ปจว.ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการส่งมอบให้ นายมานพฯหรือเหน่ง ตามที่มีการเจรจากันก่อนหน้านี้
กระทั่งวันที่ 24 ต.ค.เมื่อถึงเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้นัดให้ผู้เสียหาย นำเงินสด 600,000 บาท ที่ ลง ปจว.เป็นหลักฐานแล้ว ไปส่งมอบให้กับ นายมานพฯหรือเหน่ง บริเวณหน้าธนาคารแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ทัพ ทัน โดยมีเจ้าหน้าที่ ปปป. , ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ได้วางกำลังซุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ ก่อนที่จะมีการ ส่งมอบเงินตามที่มีการเจรจากันไว้ โดยขณะที่ นายมานพฯหรือเหน่ง และนายยิ่งยงฯ กำลังเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าแสดงตัว เพื่อจับกุม แต่ขณะนั้นเอง นายมานพฯหรือเหน่ง กลับพยายามวิ่งหลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สุดท้ายไม่รอดถูกสกัดจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ พร้อมถุงกระดาษสีน้ำตาล ซึ่งภายในบรรจุเงินสด จำนวน 600,000 บาท มีหมายเลขบนธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ ลง ปจว.ไว้ทุกฉบับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึง แสดงหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายมานพฯหรือเหน่ง พร้อมทั้งจับกุมนาย นายยิ่งยงฯ ตามเป็นความผิด ซึ่งหน้า พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ
ส่วน นายวีรชาติฯ นายกเทศมนตรีตำบลตลุกดู่ ถูกจับกุมที่บ้านพัก ที่ ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัด อุทัยธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าแสดงหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหาให้นายวีรชาติฯ พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ
ส่วนของ นายธนภัสสร์ฯ ปลัดเทศบาลตำบลตลุกดู่ และ นายกุลธัชฯ ช่างควบคุมงานของเทศบาลตำบลต ลุกดู่ ถูกจับกุม ได้ที่ เทศบาลตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าแสดงหมายจับและ แจ้งข้อกล่าวหาให้นายธนภัสสร์ฯ และ นายกุลธัชฯ พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบเช่นเดียวกัน
จากนั้นนำตัวผู้ต้องหา ทั้งหมดไปตรวจค้นสถานที่เกี่ยวข้องตามหมายค้น เพื่อขยายผลและรวบรวม พยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนนำตัวส่งพนักงานสวนสวน บก.ปปป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สรุปพฤติการณ์
จากการทำแผนประทุษกรรม ในคดีนี้ สามารถสรุปได้ว่า
นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ เป็นผู้สั่งการ
นายธนภัสสร์ ดุลยาธิการ ปลัดเทศบาลตลุกดู่ นายกุลธัช สามัคคี ผู้ช่วยนายช่างโยธาเทศบาลตลุกดู่ เป็นผู้เจรจากับผู้รับเหมา เจรจาให้บริษัทอื่นเข้าทำงานและไปพบกับตัวนายกเทศบาล
นายมานพ ติดติมานพ เป็นคนที่เข้ามาเจรจาเรื่องเงินรับช่วงต่อจากนายกและเป็นคนรับเงิน
ส่วนนายยิ่งยง คชาชาญ มากับนายมานพ
ในทางกฎหมาย นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ นายธนภัสสร์ ดุลยาธิการ ปลัดเทศบาลตลุกดู่ นายกุลธัช สามัคคี ผู้ช่วยนายช่างโยธาเทศบาลตลุกดู่ จะถูกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 149
โดยมาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ส่วนนายมานพ ติดติมานพ และ นายยิ่งยง คชาชาญ จะถูกโดนดำเนินคดีฐานสนับสนุนการกระทำผิด
ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ขณะที่คดีนี้ ศาลยังมิได้มีการติดสินชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดจริง ผู้ต้องหาทุกรายยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ท่าที 'ชาดา ไทยเศรษฐ์'
สำหรับท่าที่ของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นั้น
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวได้คุยกับนายชาดาแล้ว ก็ไม่ได้ขออะไรแค่บอกว่า “พี่ก็ว่าไปตามกฎหมายเลย ถ้ากฎหมายมันว่ายังไงก็ว่าไปเลย เตือนแล้วใครไม่หยุดก็รับในสิ่งนั้นไป”
ชาดา ไทยเศรษฐ์
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการอย่างเด็ดขาดถ้าดูพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วพบว่าเข้าข่ายตามที่ถูกกล่าวหาให้สั่งหยุดหน้าที่ ทันทีเหมือนกับกรณีที่นายกเทศบาลเมืองบางแก้วจังหวัดสมุทรปราการถูกทั้ง 3 หน่วยงานบุกจับสดคาหลักฐาน ด้วย ส่วน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมีการแถลงข่าวในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ด้วย
ผลเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวประกอบ :