“…เมื่อเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ก่อนออก น.ส. 3 ก. ว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส. 3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ฟ้องคดี…”
...............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กรมที่ดิน ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเงิน 4.91 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 3% ปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี กรณีออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ของ ธนาธร เนื้อที่รวม 81 ไร่เศษ
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า แม้ว่าคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 นั้น จะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจาก ธนาธร ซึ่งเป็น ‘บุคคลภายนอก’ ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าว โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย
ดังนั้น เมื่อนายอำเภอจอมบึง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส. 3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่
กรมที่ดิน จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง ในการออก น.ส. 3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นั้น (อ่านประกอบ : ซื้อที่ดินโดยสุจริต! ‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน’ชดใช้‘ธนาธร’ 4.9 ล.ปมเพิกถอน‘น.ส.3ก.’ราชบุรี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดของคำวินิจฉัยของ 'ศาลปกครองกลาง' ในคดีดังกล่าว ดังนี้
@เพิกถอน‘น.ส.3 ก.’ชอบด้วยกม. เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าฯ
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่ให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.5(2)/14696 ลงวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ประเด็นที่สอง การออก น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แล้วต่อมา น.ส. 3 ก. ดังกล่าวถูกเพิกถอน เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) หรือไม่ หากเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) และที่ 2 (กรมที่ดิน) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่เพียงใด
ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่ให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.5(2)/14696 ลงวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ตำแหน่งที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ‘ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)’ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 หรือไม่
จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันตรวจสอบตำแหน่งที่ดินตามหลักวิชาการที่ดินและหลักวิชาการแผนที่ โดยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งค่าพิกัดในพื้นที่จริง และดำเนินการย้ายตามรูปแปลงเพื่อกำหนดแนวเขตป่าแล้ว
ปรากฏว่า ที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) ออกตามโครงการเดินสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2521 อยู่ในบริเวณแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร ‘ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี’ หมายเลข 85
และต่อมาได้มีการกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ‘ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี’ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แม้มติ ครม.จะมิใช่กฎหมาย แต่ มติ ครม.ดังกล่าว เป็นมติที่เกี่ยวกับการสงวนที่ดินให้คงไว้เพื่อป่าไม้อันถึงได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ดังนั้น สถานะของที่ดิน จึงเป็นป่าไม้ถาวรโดยผลทางกฎหมายแล้ว จึงเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยเดินสำรวจ ตามมาตรา 58 หรือการออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 18 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 แล้ว เห็นว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ‘ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี’ ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ทั้ง 2 แปลง
จึงต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
กรณีจึงฟังได้ว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่ออกตามโครงการเดินสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2521 อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร จึงเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรองอธิบดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) มอบหมาย มีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก. ได้
ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงหมาดไทย) ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.5 (2)/14696 ลงวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) โดนอาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
@อ้างเหตุ‘ครอบครอง’ทำประโยชน์ในที่ดินก่อนปี 2497 ไม่ได้
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 มีการครอบครองทำประโยชน์ก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และก่อนที่ ครม.จะมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2521 กำหนดให้บริเวณที่ตั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเขตป่าไม้ถาวร นั้น
เห็นว่า ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในวันที่ 1 ธ.ค.2497 นั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และประกาศที่เกี่ยวข้อง
กล่าวคือ ต้องมีการแจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน แบบ ส.ค.1 ต่อนายอำเภอท้องที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลา และผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้มีคำสั่งผ่อนผันการแจ้งการครอบครองที่ดินให้เป็นการเฉพาะราย
ผู้ครอบครองและผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ย่อมเป็นอันสิ้นสิทธิครอบครองที่ดิน ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ เพื่อออกหนังสือ น.ส. 3 ก. โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ ในการออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 ว่า นาย อ. ได้นำสำรวจที่ดิน โดยไม่มีหลักฐานการครอบครอง
และได้ระบุถึงการได้ที่ดินมาว่า รับซื้อจาก นาย พ. เมื่อ พ.ศ.2513 และครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องเสมอมา โดย นาย พ. ได้ครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ พ.ศ.2495 รวมเวลาครอบครองทำประโยชน์ 25 ปี โดยไม่ได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)
ส่วนในการออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 159 นาย ช. ได้นำสำรวจที่ดินโดยไม่มีหลักฐานการครอบครองและได้ระบุถึงการได้ที่ดินมาว่า รับซื้อจาก นาย ฟ. เมื่อ พ.ศ.2514 และครอบครองทำประโยชน์เสมอมา โดยนาย ฟ. ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตั้งแต่ พ.ศ.2493 รวมเวลาครอบครองทำประโยชน์ 27 ปี แต่ไม่ได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)
ที่ดิน น.ส. 3 ก. ทั้ง 2 แปลงของผู้ฟ้องคดี จึงมีการทำประโยชน์มาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินจะมีผลบังคับในวันที่ 1 ม.ค.2497 และเมื่อนาย พ. และนาย ฟ. ผู้ครอบครองที่ดินในขณะนั้น ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน แบบ ส.ค.1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
จึงถือว่านาย พ. และนาย ฟ. เจตนาสละสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทในวันที่พ้นกำหนด 180 วันนับแต่ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มีผลบังคับใช้ และเมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งผ่อนผันเป็นการเฉพาะราย จึงทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของรัฐตามมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
และแม้ว่าจะมีการเพิ่มความในมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ โดยไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ตลอดจนผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าว แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินหรือมีสิทธิขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโนชน์ในวันเริ่ม
แต่ก็ถือว่าเป็นกรณีที่รัฐต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งยังมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ ได้สิทธิในที่ดิน โดยต้องแจ้งต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอฯ ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่ปิดประกาศของผู้ว่าฯ
โดยหาได้หมายความว่า ผู้แจ้งจะมีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือเป็นการรับรองสิทธิในที่ดินดังกล่าวทันที แต่การจะพิจารณาออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่บุคคลใด ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดด้วย
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ครม. มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2521 กำหนดให้บริเวณที่ตั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นเขตป่าไม้ถาวร ‘ป่าฝั่งซ้ายของแท่น้ำภาชี (หมายเลข 85)’ ทำให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร
ผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจอ้างว่ามีการนำเดินสำรวจและพิสูจน์สิทธิตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ของเจ้าของที่ดินเดิมเป็นหลักฐานที่รองรับว่า ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
@ออก ‘น.ส.3 ก.’ มิชอบ ต้นเหตุ‘กรมที่ดิน’ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ประเด็นที่สอง การออก น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แล้วต่อมา น.ส. 3 ก. ดังกล่าวถูกเพิกถอน เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) หรือไม่ หากเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) และที่ 2 (กรมที่ดิน) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่เพียงใด
เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
จากบทบัญญัติของกฎหมายเห็นได้ว่า การกระทำที่จะถือเป็นการละเมิดจะต้องประกอบไปด้วย การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว
ดังนั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นละเมิด หรือหากจะมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ความเสียหายดังกล่าว มิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าการกระทำนั้น เป็นการละเมิดเช่นกัน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน ออกให้แก่ นาย อ. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
ได้ที่ดินมาโดยการซื้อ เมื่อปี พ.ศ.2513 ต่อมา นาย อ. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528 ส่วน น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา
ออกให้แก่ นาย ช. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตามโครงการเดินสำรวจออก น.ส. 3 ก. โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ที่ดินมาโดยการซื้อ เมื่อปี พ.ศ.2514 ต่อมา นาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528
และบริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวม 2 แปลงให้แก่นาย ส. และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2543
เมื่อผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ได้รับความเสียหาย เพราะต้องสูญเสียสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวไป
ทั้งนี้ แม้ว่านายอำเภอจอมบึง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) จะเป็นผู้ดำเนินการออก น.ส.3 ก. ก็ตาม แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน นายอำเภอจอมบึง จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
นายอำเภอจอมบึง จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออก น.ส.3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นภารกิจของสำนักงานที่ดินอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) เป็นผู้ดำเนินการในเบื้องต้น แล้วเสนอเรื่องให้นายอำเภอลงนามออก น.ส. 3 ก.
เมื่อเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ก่อนออก น.ส. 3 ก. ว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส. 3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้
แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออก น.ส. 3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงแต่อย่างใด
@สั่ง‘กรมที่ดิน’ชดใช้ 4.9 ล้าน เหตุ‘ธนาธร’ได้ที่ดินมาโดยสุจริต
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี (ธนาธร)เพียงใด
เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
โดยในส่วนของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) เมื่อได้มีการออก น.ส. 3 ก. แล้ว เอกสารสิทธิดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ทางราชการออกให้แก่ประชาชนและเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินโดยถูกต้องสมบูรณ์ บุคคลทั่วไปย่อมเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้มีชื่อใน น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ดังกล่าว
เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้สอยและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) เป็นผู้ที่ซื้อที่ดินและครอบครองโดยสุจริต โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออก น.ส. 3 ก. มาก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
เมื่อผู้ฟ้องคดี มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ดังกล่าวทั้ง 2 แปลง ตามราคาประเมิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ประเมินราคาไว้ เพื่อใช้เก็บค่าธรรมเนียมของราชการ โดยที่ดิน น.ส. 3 ก) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 พนักงาน เจ้าหน้าที่ได้ประเมินราคาไว้ 3,019,525 บาท ณ วันที่ 23 พ.ค.2543
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีขอคำนวณอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2543 จากต้นเงินดังกล่าวจนถึงวันที่ฟ้องคดีนี้ (วันที่ 10 ต.ค.2565) ตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 4,785,782.98 บาท
เห็นว่า การพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีจากการถูกเพิกถอน น.ส. 3 ก. ทั้งสองแปลง จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก.
เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ในการออก น.ส. 3 ก. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีที่ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและครอบครองที่ดินมาโดยสุจริต โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออก น.ส. 3 ก. มาก่อน
เมื่อรองอธิบดีซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) มอบหมาย ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 โดยผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 และไม่ปรากฏว่า มีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว
จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ โดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559-พ.ศ.2562 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอน น.ส. 3 ก.
เมื่อ น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 มีเนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559-พ.ศ.2562 ราคาตารางวาละ 160 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,800,000 บาท
และ น.ส.3 ก. เลขที่ 159 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559-พ.ศ.2562 ราคาตารางวาละ 190 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,900,730 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 5,700,730 บาท
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ฟ้องคดี (ธนาธร) มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดีคิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 126,528.23 บาท เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด เมื่อค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้เงินอันเกิดแต่มูลละเมิด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงผิดนัดชำระหนี้เงินมาตั้งแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดี (10 ต.ค.2565) คิดเป็น 126,528.23 บาท นั้น
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อศาลว่า นับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท ประกอบกับการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การแสวงหารายได้ในการปล่อยให้ผู้อื่นเช่าเพื่อทำไร่ทำสวนก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน
กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
สำหรับดอกเบี้ยที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินค่าเสียหาย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นั้น
เห็นว่า โดยที่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2564 กำหนดให้ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหาย
เมื่อศาลได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,912,311.21 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของคดีเพิกถอน น.ส.3 ก. จำนวน 2 แปลง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ‘กรมที่ดิน’ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นเงินกว่า 4.9 ล้านบาท เนื่องจากซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริต ขณะที่ชนวนเหตุสำคัญที่รัฐต้องจ่ายค่าชดใช้ดังกล่าว เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐออก ‘น.ส. 3 ก.’ โดยมิชอบ!
อ่านประกอบ :
- ซื้อที่ดินโดยสุจริต! ‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน’ชดใช้‘ธนาธร’ 4.9 ล.ปมเพิกถอน‘น.ส.3ก.’ราชบุรี
- ‘ศาล ปค.’นัดตัดสินคดี‘ธนาธร’ฟ้อง‘มท.-กรมที่ดิน’ปมเพิกถอน‘น.ส.3ก.’ 2.1 พันไร่ 27 ก.ย.นี้
- ‘ศาล ปค.’นัดนั่งพิจารณา‘ครั้งแรก’ คดี‘ธนาธร’ฟ้อง‘กรมที่ดิน’ปมเพิกถอน‘น.ส.3 ก.’ 2.1พันไร่
- 'นิพนธ์'แจงไทม์ไลน์เพิกถอน น.ส.3 ก.ของ'ธนาธร-แม่'ปัดใช้อำนาจแทรกแซง
- 'นิพนธ์'ชี้ที่ดิน'แม่ธนาธร'ส่วนใหญ่รุกป่าราชบุรี คาด 1-2 วันรู้ผล
- กรมป่าไม้แจ้งอัยการ เห็นแย้ง ตร.สั่งไม่ฟ้อง'สมพร-ลูก'คดี น.ส.3 ก.2 พันไร่รุกป่าราชบุรี
- ตั้งทีมสอบพิกัดรายแปลง น.ส.3 ก.2 พันไร่‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’ยังไม่ชัดอยู่เขตป่าหรือไม่
- 1 ปียังเงียบ! กรมป่าไม้ทำหนังสือจี้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอน น.ส.3 ก. 2,154 ไร่ ‘สมพร’
- ที่ดิน ส.ป.ก. 354 ไร่‘มิตรผล’ ขายสิทธิ ให้ บ.ในเครืออีก 2 ทอด หลังซื้อจากชาวบ้าน
- ถือครอง ส.ป.ก.4-01 กว่า 354 ไร่! บ.เครือมิตรผล ผู้ขาย น.ส. 3 ก. คดีรุกป่า ให้‘ธนาธร’
- เปิด ‘ภ.บ.ท.5 - ใบจอง’ 3 ฉบับ ชนวน ส่ง ปปง. สอบ ‘สมพร’ รุกป่า จ.ราชบุรี‘
- อีกคดี! กรมป่าไม้ ส่ง ปปง. สอบ‘สมพร’ ถือครอง น.ส.2 - ภ.บ.ท.5 รุกป่า 440 ไร่
- บ.ไร่อ้อยมิตรผล ผู้ขาย น.ส. 3 ก. คดีรุกป่า จ.ราชบุรี ให้ ‘ธนาธร’ เป็นใคร?
- หนังสือบิ๊กกรมป่าไม้ ชงเพิกถอน น.ส.3 ก. 2,154 ไร่ ‘สมพร’กับลูก
- บันทึกถ้อยคำ ‘สมพร-ชนาพรรณ’ รู้ น.ส.3 ก. อยู่ในป่าสงวนฯ ก่อนซื้อที่ดิน จ.ราชบุรี
- ดูชัดๆ น.ส.3 ก. 27 ไร่ ‘ชนาพรรณ’ พี่สาวธนาธร คดีรุกป่า 2,154 ไร่
- คนยื่นรังวัดอยู่ จ.นครปฐม ! น.ส.3 ก. 38 ไร่ ‘สมพร’ คดีรุกป่า จ.ราชบุรี 2,154 ไร่
- เปิด น.ส.3 ก. 38 ไร่ ‘สมพร’ คดีรุกป่า 2,154 ไร่ จ.ราชบุรี ซื้อจากคนใกล้ชิด 9 แปลงปี 2557
- เผยโฉม น.ส.3 ก. ‘ธนาธร’ 43 ไร่ ฉบับคดีรุกป่า จ.ราชบุรี ซื้อจาก กก.เครือไทยซัมมิท
- เปิด น.ส.3 ก. 81 ไร่‘ธนาธร’ได้ปี 2543 ก่อนโดนคดีรุกป่า จ.ราชบุรี 2,154 ไร่พร้อมแม่-พี่สาว
- ‘ธนาธร’ ปี 61 เสียภาษี 2.9 ล. -บัญชีทรัพย์สิน ไม่มีรายได้จากโอนหุ้น 14 บริษัทปี 62
- ‘ธนาธร’ เรือยอร์ช นาฬิกาเรือนละ 5 แสน -เมียมีครบ ตู้ไวน์ เครื่องเพชร กระเป๋าหรู 12 ใบ
- โชว์ละเอียดสัญญาปล่อยกู้‘ธนาธร-อนค.’ 2 ครั้ง 191 ล.-คิดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน?
- ทรัพย์สิน‘ธนาธร’ 5.6 พันล.ปล่อยกู้อนาคตใหม่ 191 ล.-'คฑาเทพ'มีโคตรเหล็กไหล พันล.