"...เงินสดในซองสีน้ำตาลที่พยานเบิกถอนและเตรียมมานั้นมีจํานวน 150,000 บาท และตั้งใจจะให้เพียง 100,000 บาท จึงดึงเงินในซองดังกล่าวออกจํานวน 50,000 บาท ส่วนเงินจํานวน 100,000 บาท ก็พับไว้ในซองดังกล่าววางไว้บนโต๊ะของจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 นําซองธนบัตรดังกล่าวใส่ไว้ ในแฟ้มเสนองานแล้วเห็นเดินเข้าไปที่ห้องจําเลยที่ 1 แล้วเดินกลับออกมาตัวเปล่าตรงที่บริเวณที่พยานยืนอยู่ตรงโต๊ะทํางานของจําเลยที่ 2 พยานจึงยกมือขึ้นลูบที่หัวของตนเอง เป็นสัญญาณว่าได้มอบเงินให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้ว..."
ISRA-EXCLUSIVE : ฉบับเต็ม คำพิพากษา คุกคนละ5 ปี อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
กรณีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับพวก คือ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน นายอาคม คงพันธ์ ทุจริตเรียกรับเงินค่าดำเนินการในการขอคืนภาษีอากร ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 149 (เดิม), พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 5 ปี
ขณะที่ นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดคำพิพากษาในคดีนี้ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 3 ราย เกี่ยวกับการเรียกรับค่าตอบแทนเพื่อดำเนินการคืนภาษีให้เอกชนผู้เสียหายโดยเร็ว คิดค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของวงเงินภาษีที่จะได้รับคืน โดยมีกรรมการบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้ ทั้งที่ ตามกระบวนการคืนภาษีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายตอบแทนแต่อย่างใด และข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ นายอาคม คงพันธ์ จําเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าทีม โดยมีหน้าที่ตรวจพิจารณาทําความเห็นผลการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาเสนอ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่มีอํานาจพิจารณาอนุมัติ สั่งคืนภาษี นายอาคม ถูกเรียกว่า หัวหน้าส่วน 'อาคม' เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2558 หลังถูกสอบสวน ให้การรับสารภาพ ก่อนจะได้รับการลดโทษ จากจำคุก 5 ปี หรือ 2 ปี 6 เดือน
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คุกคนละ 5 ปี! อดีตสรรพากรสมุทรปราการ 3 บางพลี-พวก ทุจริตเรียกเงินค่าขอคืนภาษี
- ย้อนคดี! จับสด ซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตเรียกเงินค่าคืนภาษี คุกคนละ 5 ปี-ไล่ออกราชการ
- ขอ 10% (1) ฉบับเต็ม คำพิพากษา คุกคนละ5 ปี อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
- หน.ส่วน 'อาคม' รับสารภาพ (2) ฉบับเต็ม คำพิพากษา อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดในคำพิพากษาส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ของ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี อดีตสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 และ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ รวมไปถึงรายละเอียดปฏิบัติการจับสดของเจ้าหน้าที่ สํานักงาน ป.ป.ท. ที่มีการวางแผนส่งมอบ เงินสินบน และเข้าทำการจับกุมตัวจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ถึงห้องทำงานด้วย
รายละเอียดทั้งหมด ปรากฏนับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป
***************
(ต่อเนื่องจากรายละเอียด พฤติการณ์ นายอาคม คงพันธ์ จําเลยที่ 3 ที่นำเสนอไปในตอนที่แล้ว)
พฤติการณ์ละเอียด อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง
ในคำพิพากษาคดีนี้ ได้ระบุพฤติการณ์ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี อดีตสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 และ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เอาไว้ว่า ในส่วนของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 นั้น นอกจากเหตุการณ์ที่นาย ว. ได้เข้าพบ และเจรจากับจําเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ตามบันทึก ถอดถ้อยคําสนทนา ที่นำเสนอไปแล้ว
จากการตรวจสอบหลักฐานพยานเอกสาร ได้ความว่า นอกจาก จําเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบ ตรวจสอบและวิเคราะห์การคืนภาษี ในปีภาษี 2556 และปี 2557 ให้แก่บริษัท ท. ที่เป็น ปัญหาด้วยตนเองแล้ว
ยังได้ความตามคําเบิกความของนาย ว. ผู้กล่าวหา สอดคล้องกับที่นาย ว. ให้ปากคําต่อพนักงานสอบสวน และที่ให้ถ้อยคําต่อพนักงานไต่สวน สํานักงาน ป.ป.ช. ว่า นาย ว. ได้โทรศัพท์ติดต่อจําเลยที่ 2 เพื่อขอเจรจา
แต่จําเลยที่ 2 บอกว่าไม่มี อํานาจตัดสินใจให้คุยกับนายอาคม หัวหน้าส่วน จำเลยที่ 3 และนัดให้นาย ว. เข้าพบกับนายอาคม (จําเลยที่ 3 ) ในวันที่ 26 ตุลาคม 2558
นาย ว. จึงไปพบตามนัด และใช้กล้องบันทึกวิดีโอแบบเม็ดกระดุมบันทึกเหตุการณ์ไว้
เมื่อนาย ว. มาพบจําเลยที่ 2 ที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 จําเลยที่ 2 ก็นํานาย ว. ไปพบและแนะนําให้จําเลยที่ 3 รู้จักว่า คือ นาย ว.
ในการสนทนาและเจรจาระหว่างกัน แม้คําสนทนาส่วนใหญ่ จะเป็นการสนทนาระหว่างนาย ว. กับจําเลยที่ 3 โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองยอดเงินที่นาย ว. จะขอจ่ายให้ ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ นาย ว. ให้ปากคําต่อพนักงานสอบสวนว่า จําเลยที่ 2 แจ้งว่าไม่มีอํานาจตัดสินใจ และให้นาย ว. คุยกับนายอาคม หัวหน้าส่วน และนัดให้ นาย ว. เข้าพบกับนายอาคม (จําเลยที่ 3) เพื่อเจรจา
แต่ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับ บทสนทนา ของ จำเลยที่ 1 กับนาย ว. ระหว่างที่เข้าไปพบปะพูดคุยในห้องทำงานด้วย
บทสนทนา อดีตซี 9 สรรพากร - ผู้เสียหาย "คุณพัชรินทร์ โอเค ก็โอเค”
โดยมีคำพูดของ จําเลยที่ 1 ที่กล่าวกับ นาย ว. ว่า “คือเอาสบายใจละกันเพียงแต่คุยกับพัชรินทร์เค้าให้รู้เรื่องอะ เค้าเป็นคนทํา อืม ๆ ก็ไม่ ก็ ๆ เอาสบายใจแล้วคุยกับพัชรินทร์รู้เรื่อง ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะพี่บอกเค้าแล้วละ เค้าก็มา เล่าให้ฟังอยู่ แต่ไม่เป็นไร ก็นั่นแหละคุยกับพัชรินทร์”
นาย ว. จึงกล่าวว่า “คุณพัชรินทร์ เขาบอกให้คุยกับส่วน เห็นแกบอกว่าส่วนเกษียณไปแล้ว ผมก็บอกว่าผมไม่อยากคุยกับส่วน"
จําเลยที่ 1 จึงว่า “ก็ไม่เป็นไร ๆ เขาก็เซ็นงานผ่านมาอยู่แล้วละ แต่ก็ไม่ซีเรียสนะเอาสบายใจและคุยกับเด็กให้รู้เรื่องละกัน” และกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “ก็ ๆ ไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่เรียกพัชรินทร์มา ก็เดี๋ยวอย่างนี้ เดี๋ยวไปคุยกับพัชรินทร์แล้วก็จะอะไรกัน ก็ ๆ บอกไปเดี๋ยว พี่เรียกพัชรินทร์”
ต่อมาจําเลยที่ 1 ก็เรียกจําเลยที่ 2 เข้าไปพบ และสั่งว่าให้คุยกับบริษัท (ซึ่งหมายถึง นาย ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัท ท. ที่เข้ามาพบและขอเจรจาอยู่ในขณะนั้น) และ จําเลยที่ 1. บอกว่า “อืม ก็ตามนี้ละกัน คุยกับเจ้าหน้าที่นะ พี่ก็ไม่ได้ว่าอะไร โอเคก็ไปคุยกันแล้วก็ไปตกลงกับ น้องเขาเลยนะ (บอกพัชรินทร์) พัชรินทร์ก็จัดการไป พี่ไม่ได้ว่าอะไร ก็ไม่ต้อง (คุยกับ นาย ว. ) โอเคคะ คุยกับ พัชรินทร์เลยนะ”
เมื่อนาย ว. ออกมาจากห้องทํางานของจําเลยที่ 1 และมาพูดคุยกับจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ถามนาย ว. ว่า “ท่านว่าไง”
นาย ว. จึงตอบว่า “ท่านก็บอกว่าให้คุยกับคุณพัชรินทร์ โอเคก็โอเค”
จําเลยที่ 2 จึงว่า “ก็บอกแล้วท่านให้อํานาจส่วนแล้ว”
ชี้ อดีตสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 รับรู้เรื่องราว “เอาสบายใจและคุยกับเด็กให้รู้เรื่องแล้วกัน”
จากบทสนทนาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จําเลยที่ 1 รับว่า รู้จักกับนาง ก. หรือคุณใหม่ (กรรมการบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มารับหน้าที่ประสานงานให้ค่าตอบแทน 10 % ช่วงแรก) ตามที่นาย ว. บอกว่านาง ก. เคยพูดคุยกับจําเลยที่ 1 มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและทราบอีกว่า นาย ว. และนาง ก. ได้เคยพูดคุยกันอยู่กับจําเลยที่ 2 มาก่อนในเรื่องที่นาย ว. เข้ามาพบและจะเจรจา ในวันนี้ ซึ่งจําเลยที่ 2 ก็เคยมาเล่าให้จําเลยที่ 1 ฟังด้วยแล้ว ซึ่งนาย ว. บอกเสนอแก่จําเลยที่ 1 ตั้งแต่ เริ่มสนทนาว่าจะให้เงินเพียงหนึ่งแสนบาท ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดเงินที่นาย ว. บอกเสนอและได้พูดคุยกับจําเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558
ทั้งเมื่อนาย ว. บอกจําเลยที่ 1 ว่าคุณพัชรินทร์ (จําเลยที่ 2) บอกให้ นาย ว. คุยกับส่วน (จําเลยที่ 3) และนาย ว. ว่าไม่อยากคุยกับส่วน
จําเลยที่ 1 ก็รับฟังทั้งยังบอกรับรองไปว่า “อย่างไรจําเลยที่ 3 ก็เซ็นงานผ่านมาอยู่แล้ว และว่า “ เอาสบายใจและคุยกับเด็กให้รู้เรื่องแล้วกัน” ซึ่งในการสนทนาจําเลยที่ 1 จะเรียกจําเลยที่ 2 ตามชื่อของจําเลยที่ 2 ว่าพัชรินทร์และตามถ้อยคําที่จําเลยที่ 1 พูดว่า “เอาสบายใจและคุยกับเด็กให้รู้เรื่องแล้วกัน”
เมื่อพิจารณาถึงการสนทนาทั้งหมดที่จําเลยที่ 1 บอกให้ นาย ว. ไปพูดคุยกับจําเลยที่ 2 เมื่อจําเลยที่ 2 พูดคุยกับนาย ว. โดยถามว่าท่าน (จําเลยที่ 1) ว่าไง นาย ว. จึงตอบว่า “ท่านก็บอกว่าให้คุยกับคุณพัชรินทร์โอเคก็โอเค”
จําเลยที่ 2 จึงว่า “ก็บอกแล้วท่านให้ อํานาจส่วนแล้ว”
ดังนี้จึงมีความหมายว่าที่จําเลยที่ 3 พูดคุยกับนาย ว. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ว่า “คือท่านเขาไม่คุยตัวเลข เขาให้พี่กับน้องเค้าคุยตัวเลขอ่ะนะ”
“ ...เรื่องตัวเลขท่านไม่คุย เค้าโยนมา”
ดังนี้ คําว่า “น้อง” ที่จําเลยที่ 3 กล่าวถึงจึงหมายถึง จําเลยที่ 2 ตามที่จําเลยที่ 1 บอกกับนาย ว. ว่า “โอเคก็ไปคุยกัน แล้วก็ไปตกลงกับน้องเขาเลยนะ (บอกพัชรินทร์) พัชรินทร์ก็จัดการไป พี่ไม่ได้ว่าอะไร ก็ไม่ต้อง... (คุยกับ นาย ว. ) โอเคคะ คุยกับพัชรินทร์เลยนะ”
ดังนั้น จึงฟังได้ว่าก่อนที่นาย ว. จะติดต่อนัดหมายกับจําเลยที่ 2 เพื่อเข้าพบ จําเลยที่ 3 เพื่อเจรจากันนั้น
จําเลยที่ 2 ก็ทราบมาก่อนแล้วว่า นาย ว.จะเข้ามาพบจําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมกํากับดูแลผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นและเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของตนที่ตนเองเรียกว่า “ส่วน” เพื่อเจรจา ถึงยอดเงินที่นาย ว. จะขอลดยอดและจ่ายเงินตามที่มีการเรียกรับในการตรวจคืนภาษีดังกล่าว
โดยทราบด้วยว่าจําเลยที่ 1 ได้มอบให้จําเลยที่ 3 เจรจาในเรื่องดังกล่าวกับนาย ว. ไว้ก่อนแล้วและจากบทสนทนา ระหว่างจําเลยที่ 1 กับนาย ว. ดังกล่าว
จําเลยที่ 1 จะไม่กล่าวถึงจํานวนเงินเป็นตัวเลขยอดสุทธิที่จะรับตามที่ นาย ว. พยายามพูดเสนอ ซึ่งก็สอดคล้องกับที่จําเลยที่ 3 กล่าวกับนาย ว. “คือท่านเขาไม่คุยตัวเลข เขาให้พี่กับน้องเค้าคุยตัวเลขอ่ะนะ” และว่า “เรื่องตัวเลขท่านไม่คุย เค้าโยนมา”
ถ้าสุจริตไม่รับทราบต้องเอะใจ-ไม่พอใจ
ดังนั้นแม้แต่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างนาย ว. กับจําเลยที่ 3 นั้น จําเลยที่ 3 ก็ยังบอกนาย ว. ด้วยว่าจําเลยที่ 1 มอบให้จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 2 คุยเรื่องตัวเลขยอดเงินที่เรียกรับกับนายว.เองและเมื่อจําเลยที่ 1 เจรจากับนาย ว. ถึงยอดเงินที่เสนอว่าอยากจะให้สักหนึ่งแสนบาท
จําเลยที่ 1 ก็บอกให้นาย ว. ไปพูดคุยตกลงกับจําเลยที่ 2 ซึ่งยอดเงินหนึ่งแสนบาทที่นาย ว. พูดเสนอว่าจะให้นั้น หากจําเลยที่ 1 ไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องเงินที่นาย ว. พูดบอกเสนอให้ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่บุคคลทั่วไปที่ประกอบกิจการและมีภาระหน้าที่ที่จะต้อง ชําระภาษีเงินได้ จะมาเสนอให้เงินแก่จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการและมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ภาษี
เมื่อมีการเสนอว่าจะให้เงินดังกล่าว หากจําเลยที่ 1 สุจริตและไม่เคยรับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน บุคคลซึ่งอยู่ในภาวะและวิสัยเยี่ยงจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการมีตําแหน่งหน้าที่ระดับสูงและทํางานด้านการ ตรวจสอบการภาษีดังกล่าว ก็ต้องเอะใจ และต้องรู้สึกไม่พอใจ ที่นาย ว. มาเสนอจะให้สินบนเป็นเชิงหมิ่นเกียรติ ของจําเลยที่ 1 และบรรดาเจ้าหน้าที่ของสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ซึ่งจําเลยที่ 1 ต้องตําหนิว่ากล่าวหรือดําเนินคดีแก่นาย ว. และดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาผิด กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้กระทําการเช่นนั้น
แต่ยังคงเจรจากับ นาย ว. ในเรื่องขอต่อรองยอดเงินที่จะเสนอให้ กับทั้งเงินจํานวนหนึ่งแสนบาท ดังที่นาย ว. กล่าวถึงก็เป็นเงินจํานวนไม่น้อย
แต่จําเลยที่ 1 ก็ไม่ตอบตกลง แต่ยังบอกให้นาย ว. ไปพูดคุยตกลงกับจําเลยที่ 2 อีก
อันมี ความหมายและมีลักษณะว่าแม้เงินจํานวนหนึ่งแสนบาท ตามที่นาย ว. กล่าวบอกกับจําเลยที่ 1 ว่าจะให้นั้น ก็ยังเป็นจํานวนน้อยกว่าจํานวนที่นาย ว. จะต้องจ่ายตามที่มีการตกลงกันไว้ ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดเงิน ร้อยละ 10 ของจํานวนเงินที่มีการตรวจคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษี ที่มีจํานวนประมาณ 241,047 บาทที่มีการเรียกรับ นั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้ก็สอดคล้องกับคําร้องประกอบคํารับสารภาพของจําเลยที่ 3 และคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของจําเลยที่ 3 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จําเลยที่ 3 ให้การ รับสารภาพโดยยอมรับว่าการที่นาง ก. เสนอเงินให้เป็นจํานวน 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ดําเนินการคืนภาษี ของผู้ประกอบการตามหน้าที่นั้น
แม้จําเลยที่ 3 ไม่ได้ตอบตกลงด้วยตนเอง แต่การที่จําเลยที่ 3 เข้าไปแจ้งรายละเอียดต่อจําเลยที่ 1 สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 และกลับมาแจ้งแก่นาง ก. ทราบว่าตกลงตามเสนอนั้น ไม่ว่าจําเลยที่ 3 จะได้กระทําการชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตามถือได้ว่าการกระทําดังกล่าวครบองค์ประกอบ ความผิดฐานร่วมกัน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน ฯลฯ และที่จําเลยที่ 3 ยื่นคําร้องขอให้กันตัวจําเลยที่ 3 เป็นพยานว่าเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงผู้เดียวที่เข้าไปแจ้งต่อจําเลยที่ 1 เรื่องนาง ก. เสนอให้เงินดังกล่าวและจําเลยที่ 1 บอกตกลงตามที่นาง ก. เสนอและให้ดําเนินการต่อไป
จึงเป็นประจักษ์พยาน ว่าจําเลยที่ 1 ได้ตกลงยินยอมที่จะรับเงินเป็นจํานวน 10 เปอร์เซ็นต์ จากนาง ก. โดยมิชอบ
คำรับสารภาพจำเลยที่ 3 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
แม้คําให้การของจําเลยที่ 3 และคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของจําเลยที่ 3 ดังกล่าวจะเป็นของบุคคลซึ่งต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกันกับจําเลยที่ 1 ก็ตาม
แต่คํารับสารภาพและคําชี้แจงดังกล่าวก็เป็นผลร้ายแก่ จําเลยที่ 3 เอง ซึ่งโดยปกติบุคคลจะไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่ตนเองเช่นนั้นและเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามที่ตนเองต้องประสบ กับทั้งต่อมาก็มีเหตุการณ์ที่นาย ว. ขอเข้าพบเพื่อเจรจาต่อรองยอดเงินที่ต้องจ่ายกับจําเลยที่ 3 แต่ตกลงกันไม่ได้และจําเลยที่ 3 บอกให้นายว. ต้องเข้าพบและ เจรจากับจําเลยที่ 1 เอง และจําเลยที่ 2 ก็นัดหมายให้นาย ว. เข้าพบและเจรจากับจําเลยที่ 1 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และเกิดเหตุจับกุมจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 พร้อมเงินสดที่นาย ว. วางแผนส่งมอบสินบน และจับกุมมาดําเนินคดีและมีการดําเนินคดีแก่จําเลยทั้งสาม ซึ่งพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ตรงกับคําให้การรับสารภาพของจําเลยที่ 3 และสอดคล้องกับคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและคําร้องขอให้กันตัว จําเลยที่ 3 ไว้เป็นพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
เปิดปฏิบัติการจับสด คาห้องทำงาน
ในเหตุการณ์วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ก็สืบเนื่อง มาจากเหตุการณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2558 ที่นาย ว. ไปพบจําเลยที่ 2 และเข้าพบจําเลยที่ 3 และเจรจา ต่อรองยอดเงินที่ต้องจ่ายแต่ตกลงกันไม่ได้ และจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 จึงนัดหมายนาย ว. ให้มาพบ และเจราจากับจําเลยที่ 1 เองในวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็คือวันที่ 27 ตุลาคม 2558 จึงเป็นเหตุที่นาย ว แจ้งเรื่องกับพันตํารวจโทศิริพงษ์ ผู้อํานวยการสํานักปราบปรามการทุจริต 2 สํานักงาน ป.ป.ท. และมีการวางแผนส่งมอบ เงินสินบนและจับกุมจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ดังกล่าว
เมื่อนาย ว. เข้าพบพูดคุยเจรจาต่อรองกับ จําเลยที่ 1 แล้ว จําเลยที่ 1 ยังเรียกจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการคืนภาษีให้บริษัท ท. ที่มีนาย ว. เป็นกรรมการผู้จัดการ ที่มาพบเพื่อเจรจาเรื่องการต่อรองยอดเงินตอบแทนการตรวจคืนภาษีดังกล่าว ให้เข้ามาพบและมอบหมายให้เจรจากับนาย ว. ต่อไป
เพราะจําเลยที่ 1 ทราบว่าจํานวน เงินที่นาย ว. เสนอจะจ่ายหนึ่งแสนบาทนั้นเป็นจํานวนน้อยกว่าที่นาย ว. จะต้องจ่ายตามที่จําเลยที่ 3 เคยแจ้งให้จําเลยที่ 1 ทราบและจําเลยที่ 1 เคยตอบตกลงและให้ดําเนินการต่อไป
จนกระทั่งมีการตรวจคืน ภาษีทั้ง 2 ปีภาษี และมียอดเงินที่นาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. จะต้องจ่ายมากกว่า ที่นาย ว. เสนอ
จึงให้ไปเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 2 ต่อไป
ในทํานองว่าหากจําเลยที่ 1 ตกลงจะยอมรับเงิน เพียงจํานวนหนึ่งแสนบาทตามที่นาย ว. เสนอขอลดยอดเงินดังกล่าวทั้งที่ยอดเงินที่เคยตกลงไว้ว่าจะให้มีมากถึงสองแสนบาทเศษ แต่จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทําหน้าที่ในการตรวจคืนภาษีมาแต่ต้นไม่ได้รับรู้ หรือร่วมตกลงด้วยตามยอดเงินที่นาย ว. ขอลดลงเหลือหนึ่งแสนบาทดังกล่าว ก็อาจทําให้จําเลยที่ 2 มีความสงสัยไปได้ว่าจําเลยที่ 1 ตกลงรับเงินจากนาย ว. เท่าใดกันแน่ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดต่อกันได้
จึงต้องการ ให้จําเลยที่ 2 เจรจาและตกลงกับนาย ว. ดังกล่าว และเมื่อนาย ว. มาพูดคุย กับจําเลยที่ 2 ที่บริเวณ โต๊ะทํางานของจําเลยที่ 2 นั้น ตามบันทึกถอดถ้อยคําสนทนายังได้ความอีกว่า
จําเลยที่ 2 ถามนาย ว. ว่า “ท่านว่าไง”
นาย ว. ตอบว่า “ท่านก็บอกให้คุยกับคุณพัชรินทร์ โอเคก็โอเค”
จําเลยที่ 2 จึงกล่าวอีกว่า “ก็บอกแล้วว่าท่านให้อํานาจส่วนแล้ว”
หลังจากนั้นจําเลยที่ 1 เรียกให้จําเลยที่ 2 เข้าไปพบ
จําเลยที่ 2 จึงบอกนาย ว. ให้รออยู่ก่อน
สักพักเมื่อจําเลยที่ 2 กลับออกมา
นาย ว. จึงถามจําเลยที่ 2 ว่า “ท่านว่าไงฮะ”
จําเลยที่ 2 จึงบอกว่า “ ท่านก็บอกว่าตามนั้นแหละ”
นาย ว. จึงกล่าวว่า “เงินจะไปให้ท่าน หรือคุณพัชรินทร์
จำเลยที่ 2 จึงถามว่า “อ๋อคุณเตรียมมาแล้วเหรอ”
นาย ว. ตอบว่า “ก็แสนเดียวให้ท่าน เลยไหม”
จําเลยที่ 2 จึงกล่าวว่า “ยังไม่ให้ท่านเหรอ ท่านก็บอกว่าตอนที่คุยกับคุณก็ตามนั้นไป แล้วถ้าปีหน้ายังไม่รู้ ว่ายังไง เพราะว่ามันนโยบายกรมมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็ต้องดูปีต่อปี”
นาย ว. จึงกล่าวว่า “ อึม เอาตรงนี้ เลยเหรอ”
จําเลยที่ 2 จึงว่า “อ้าวยังไม่ให้ท่านเหรอ”
นาย ว. บอกว่า “ยังเลย” และต่อมาจําเลยที่ 2 ถามว่า “แปบนึง (ลุกไปห้องท่าน) เมื่อกี้พี่คุยกับท่านเรียบร้อยแล้วใช่ไหม”
นาย ว. จึงตอบว่า “อืม คุยแล้วก็ให้ คุณพัชรินทร์ โอเคก็โอเค”
จําเลยที่ 2 จึงกล่าวว่า “อ๋อ ก็ตามนั้นแหละ ตามที่คุณคุยส่วนไว้ แต่เดี๋ยวฝากไว้ก็ได้เดียวเอาให้ท่าน เมื่อท่านเรียกเข้าไปท่านบอกว่าท่านจัดการกันเอง”
นาย ว. จึงว่า “แต่ท่านไม่คุย แล้วใช่ไหม”
จําเลยที่ 2 จึงว่า “อืมก็คุณคุยเมื่อกี้ท่านก็บอกว่าให้มันจบ”
นาย ว. จึงกล่าวขึ้นว่า “ตรงไหนอ่ะ"
จําเลยที่ 2 บอกว่า “ตรงนี้ วางไว้นี่ เดี๋ยวพี่รออยู่นี้ เดี๋ยวเข้าไปให้ เอาวางไว้นี้คุณรออยู่นี่”
จากบทสนทนา ระหว่างจําเลยที่ 2 กับนาย ว. ดังกล่าว ยังสอดคล้องเชื่อมโยงถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 2 ทราบและ รับรู้เรื่องราวที่ นายว. มาพบและพูดคุยเจรจากับจําเลยที่ 3 เพื่อขอลดยอดเงินที่ต้องจ่ายในการตรวจคืนภาษี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จําเลยที่ 1 ก็พูดกับนาย ว. ว่าจําเลยที่ 2 ก็เคยมาเล่าให้จําเลยที่ 1 ฟัง และจําเลยที่ 2 เป็น คนนัดหมายกับนายว. ให้มาพบเพื่อเจรจาขอต่อรองยอดเงินที่ต้องจ่ายกับจําเลยที่ 1 เอง
จําเลยที่ 1 ก็ทราบแล้วว่านาย ว. เสนอจ่ายเพียงหนึ่งแสนบาท แต่จําเลยที่ 1 บอกให้ไปเจรจาตกลงกับจําเลยที่ 2 เพื่อให้จําเลยที่ 2 ทราบและเข้าใจเพราะจําเลยที่ 2 เป็นคนรับผิดชอบตรวจสอบการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีให้แก่บริษัท ท. ที่นาย ว. เป็นกรรมการผู้จัดการดังกล่าว
เมื่อนาย ว. มาเจรจากับจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ยังบอกยืนยันกับนาย ว. อีกว่า ก็เคยบอกแล้วว่าจําเลยที่ 1 เคยให้อํานาจจําเลยที่ 3 ในการเจรจากับนาย ว. มาก่อนแล้ว ดั่งที่นาย ว. ได้เจรจากับจําเลยที่ 3 และเมื่อจําเลยที่ 2 เข้าไปพบจําเลยที่ 1 อีก ยังกลับมา บอกกับนาย ว. อีกว่าจําเลยที่ 1 บอกว่าก็ถือตามยอดเงินที่นาย ว. บอกเสนอจะให้แก่จําเลยที่ 1 ซึ่งก็คือหนึ่งแสนบาทนั่นเอง
ทั้งเมื่อนาย ว. บอกว่าเงินหนึ่งแสนบาทที่เตรียมมาจะมอบให้จําเลยที่ 1 หรือจําเลย ที่ 2 นั้น จําเลยที่ 2 ยังพูดคุยสอบถามจนทราบว่านาย ว. ยังไม่ได้ส่งมอบให้จําเลยที่ 1 จึงบอกให้ นาย ว. วางไว้ที่โต๊ะของจําเลยที่ 2 และบอกให้นาย ว. รออยู่ก่อน
เตรียมของกลางเงินสดในซองสีน้ำตาล 1 แสน -ลูบหัวเป็นสัญญาณ
เหตุการณ์ในลําดับต่อมาได้ความตามคําเบิกความของนาย ว. ว่าเงินสดในซองสีน้ำตาลที่พยานเบิกถอนและเตรียมมานั้นมีจํานวน 150,000 บาท และตั้งใจจะให้เพียง 100,000 บาท จึงดึงเงินในซองดังกล่าวออกจํานวน 50,000 บาท
ส่วนเงินจํานวน 100,000 บาท ก็พับไว้ในซองดังกล่าววางไว้บนโต๊ะของจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 นําซองธนบัตรดังกล่าวใส่ไว้ ในแฟ้มเสนองานแล้วเห็นเดินเข้าไปที่ห้องจําเลยที่ 1 แล้วเดินกลับออกมาตัวเปล่าตรงที่บริเวณที่พยานยืนอยู่ตรงโต๊ะทํางานของจําเลยที่ 2
พยานจึงยกมือขึ้นลูบที่หัวของตนเอง เป็นสัญญาณว่าได้มอบเงินให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้วโดยวางไว้บนโต๊ะของจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสัญญาณที่พยานกับเจ้าพนักงานตํารวจได้พูดคุยกันมาก่อนแล้ว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และเจ้าพนักงานตํารวจก็ได้ขึ้นมาชั้นบน โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. บอกให้พยานไปรอที่สถานีตํารวจภูธรบางแก้ว ซึ่งขั้นตอนการเข้าจับกุมจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 นั้น พันตํารวจโทศิริพงษ์ พยานโจทก์เบิกความว่าพยานกับพวกนํากําลังข้าไปในห้องทํางานของจําเลยที่ 1 พบ จําเลยที่ 1 นั่งอยู่ที่เก้าอี้ตรงโต๊ะทํางานของตนเอง และจําเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่เก้าอี้ด้านหน้าของโต๊ะทํางานจําเลย ที่ 1 และมีพันตํารวจโทวรรณพรตกับพวกดําเนินการตรวจค้นจับกุม
โดย พบสมุดเสนอเซ็นต์งานวางอยู่บน โต๊ะทํางานของจําเลยที่ 1 ที่มีการเปิดออกและมีซองเอกสารวางอยู่ในแฟ้ม เจ้าพนักงานตํารวจจึงเปิดซองเอกสารดังกล่าวพบว่าภายในบรรจุธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 1,000 บาท และนําออกมาวางเรียงและทําการตรวจเปรียบเทียบกับสําเนาธนบัตรที่ลงรายงานประจําวันเกี่ยวกับคดีไว้ ปรากฏตามภาพถ่ายในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ซึ่งคําเบิกความของพันตํารวจโทศิริพงษ์ สอดคล้องกับบันทึกข้อความที่พยานได้จัดทํารายงานเสนอให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบตามเอกสาร สอดคล้องกับบันทึกการจับกุมและที่ให้ถ้อยคําไว้ต่อพนักงานไต่สวน สํานักงาน ป.ป.ช.
ขณะที่ในเหตุการณ์การเข้าตรวจค้นจับกุมดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 และหรือจําเลยที่ 2 ได้โวยวายกล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าต่างฝ่ายต่างไม่รู้เรื่องในการกระทําโดยมิชอบของกันและกันและทําให้ตนเองต้องมาเดือดร้อนกับเรื่องดังกล่าวโดยที่ตนไม่เคยรับรู้หรือเกี่ยวข้องด้วย
***********
เนื้อหาคำพิพากษาส่วนนี้ ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะข้อต่อสู้ของ อดีตสรรพากร ซี 9 จำเลยที่ 1
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนหน้า