“...ลอง ๆ คุยกับท่าน ละกัน เพราะยอดมันต่างเยอะ ตอนแรกพี่คิดว่ายอดมันยึดกันไม่มาก เพราะมันสองปีแล้ว รวมแล้วมันสองแสน กว่าบาท...จบที่พี่ก็ต่างกันนิดหน่อย คือ 10 % อาจจะลดนิดหน่อย...แต่ถ้าลดมากอย่างที่น้องว่า ต้องจบที่ท่าน พี่ตัดสินใจไม่ได้...”
ISRA-EXCLUSIVE : กรณีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับพวก คือ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน นายอาคม คงพันธ์ ทุจริตเรียกรับเงินค่าดำเนินการในการขอคืนภาษีอากร ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 149 (เดิม), พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 5 ปี
ขณะที่ นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อนข้อมูลที่มาคดีนี้ ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินดังกล่าว มาให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า
หนึ่ง.
จุดเริ่มต้นคดีเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.2558 เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว ได้ร่วมกันจับกุม น.ส.สุวรรณี ศรีรัศมี ตำแหน่งสรรพกรพื้นที่สมุทรปราการ 3 (ระดับ 9) และ น.ส.พัชรินทร์ อรัญมะโน นักตรวจสอบภาษีชำนาญการ 2 ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ พร้อมด้วยของกลาง ธนบัตร เงินสด ใบละ 1,000 บาท จำนวน 150 ใบ เป็นเงิน 150,000 บาท เป็นผลสืบเนื่องจาก พ.ต.อ.พีรพล โชติกเสถียร ผกก.สภ.บางแก้ว ในขณะนั้น ได้รับการประสานจาก พ.ต.ท. สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท. ว่า มีเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 มีการเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกขอคืนภาษี จึงได้วางแผนเข้าทำการจับกุมโดยนำเงินสดของกลาง จำนวน 150,000 บาท มาลงบันทึกประจำวันที่ สภ.บางแก้ว
สอง.
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. จึงได้เดินทางไปที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับผู้เสียหายได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปในห้องของเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 เพื่อชำระให้แก่ น.ส.สุวรรณี และ น.ส.พัชรินทร์ ผลการตรวจสอบภายในห้องสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 พบของกลางสอดอยู่ในแฟ้ม ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะของเจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. จึงได้ตรวจยึดของกลางดังกล่าวพร้อมกับเชิญตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คนมาที่ สภ.บางแก้วเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงขณะนั้น ยังไม่ชี้ชัดว่า สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 กระทำผิดหรือไม่ เนื่องจากช่วงเย็นลูกน้องได้นำแฟ้มเอกสารและซองใส่ธนบัตรอยู่ในแฟ้มนำเข้ามาไว้ในห้องทำงาน และน.ส.สุวรรณี ไม่รู้ ไม่ได้เปิดแฟ้มออกดูเพราะกำลังเลิกงานกลับถูกจับกุม
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า น.ส.สุวรรณี อุปนิสัยเป็นเงียบๆไม่สุงสิงกับใคร
ขณะที่ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
- คุกคนละ 5 ปี! อดีตสรรพากรสมุทรปราการ 3 บางพลี-พวก ทุจริตเรียกเงินค่าขอคืนภาษี
- ย้อนคดี! จับสด ซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตเรียกเงินค่าคืนภาษี คุกคนละ 5 ปี-ไล่ออกราชการ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ตัดสินคดีนี้เพิ่มเติม พบว่า มีการระบุรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 3 ราย เกี่ยวกับการเรียกรับค่าตอบแทนเพื่อดำเนินการคืนภาษีให้เอกชนผู้เสียหายโดยเร็ว คิดค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของวงเงินภาษีที่จะได้รับคืน โดยมีกรรมการบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้
ทั้งที่ ตามกระบวนการคืนภาษีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายตอบแทนแต่อย่างใด
รายละเอียดสำคัญ ปรากฏตามคำวินิจฉัยของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป
@ กระบวนการคืนภาษีกรมสรรพากร
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งสามกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลฯ ได้ความตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เบื้องต้นว่า ในการพิจารณาตรวจวิเคราะห์คืนภาษี ในปีภาษี 2556 และปี 2557 ของ บริษัท ท. (ชื่อย่อ) เป็นปัญหาคดีนี้ เป็นอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบของทีมกํากับดูแลผู้เสียภาษี ก.08 ที่มี นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จําเลยที่ 2 นักตรวจสอบภาษีชํานาญการ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมย่อย ก.083 เป็นผู้ตรวจสอบ ในสังกัดทีม กํากับดูแลผู้เสียภาษี ก.08 ที่มี นายอาคม คงพันธ์ จําเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าทีม โดยมีหน้าที่ตรวจพิจารณาทําความเห็นผลการ ตรวจสอบ เพื่อพิจารณาเสนอ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่มีอํานาจพิจารณาอนุมัติ สั่งคืนภาษี
การพิจารณาคืนภาษีของบริษัท ท. ในปีภาษีที่ 2556 นั้น เมื่อจําเลยที่ 2 ได้วิเคราะห์และตรวจสอบเสร็จแล้ว ครั้นวันที่ 3 กันยายน 2558 จึงจัดทํารายงานการวิเคราะห์และตรวจนิติบุคคล ที่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลชําระไว้เกิน หน่วยงานสํานักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ทีมย่อย 083 รายบริษัท ท. รอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2556 เห็นควรแจ้งคืนภาษีที่ชําระไว้เกินและมีสิทธิ์ได้รับคืน จํานวน 1,243,753.55 บาท เสนอต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งจําเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าทีมใหญ่ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าเห็นด้วย ให้แจ้งคืนภาษีเงินได้จํานวนดังกล่าวตามเสนอ
วันที่ 4 กันยายน 2558 จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ผู้มีอํานาจสั่งการได้อนุมัติแจ้งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามผลการตรวจ
วันที่ 4 กันยายน 2558 จําเลยที่ 3 ทําบันทึกถึงหัวหน้าส่วนกรรมวิธีและงานคืนภาษี (งานคืนภาษี) เพื่อดําเนินการต่อไป
วันที่ 8 กันยายน 2554 ส่วนกรรมวิธีและการคืนภาษี ทําบันทึก เสนอจําเลยที่ 1 เพื่อลงนามในหนังสือแจ้งคืนภาษี และจําเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติตามเสนอ และลงนามในหนังสือ แจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) ถึงบริษัท ท. จํานวน 1,283,753.55 บาท
โดยแจ้งว่าให้นําหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีไปแสดงขอรับเงินคืน ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลีและมีการลงรายการระบบทะเบียน ณ คุมรายการและจัดทําบัญชีผู้เสียภาษีในระบบคอมพิวเตอร์ ระบุว่ามีการคืนภาษีจํานวน 1,283,753.55 บาท โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คหมายเลข XXX ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 และการพิจารณาคืนภาษีในปีภาษีที่ 2557 จําเลยที่ 2 ได้วิเคราะห์และตรวจสอบเสร็จแล้ว
ครั้นวันที่ 23 กันยายน 2558 จําเลยที่ 2 เสนอรายงานการวิเคราะห์และตรวจนิติบุคคลที่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลชําระไว้เกิน หน่วยงานสํานักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ทีมย่อย 083 รายบริษัท ท. รอบระยะเวลา บัญชี 1 มกราคม 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2557 เห็นควรแจ้งคืนภาษีจํานวน 1,162,717.74 บาท
จําเลยที่ 3 ฐานะหัวหน้าทีมใหญ่ พิจารณาแล้วมีความเห็น เห็นด้วยให้แจ้งคืนภาษีเงินได้จํานวนดังกล่าวตามเสนอ
จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ผู้มีอํานาจสั่งการ ได้อนุมัติแจ้งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามผลการตรวจ วันที่ 24 กันยายน 2558
จําเลยที่ 3 หัวหน้าทีมกํากับดูแล ก.08 ทําบันทึกข้อความถึงหัวหน้าส่วนกรรมวิธี และงานคืนภาษี (งานคืนภาษี) เพื่อดําเนินการต่อไป วันที่ 25 กันยายน 2558 ส่วนกรรมวิธีและคืนภาษี ทําบันทึกเสนอจําเลยที่ 1 เพื่อลงนามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) ให้แก่บริษัท ท.
จําเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติ และลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) จํานวน 1,162,717.74 บาท แจ้งให้บริษัท ท. ทราบเพื่อนําหนังสือแจ้งคืนภาษีพร้อมเอกสารเพื่อขอรับเงินคืน ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่ สาขาบางพลี และมีการลงรายการระบบทะเบียนคุมรายการและจัดทําบัญชีผู้เสียภาษีในระบบคอมพิวเตอร์ ระบุว่ามีการเงินคืนภาษีจํานวน 1,162,717,74 บาท โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คหมายเลข XXX ลงวัน 19 ตุลาคม 2558 และนาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ได้รับเช็คการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีดังกล่าวแล้ว
เห็นได้ว่าในขั้นตอนการพิจารณาตรวจวิเคราะห์และพิจารณาอนุมัติ ให้มีการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษี ให้แก่บริษัท ท. ได้ดําเนินการแล้วเสร็จไปแล้วก่อนวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่จะครบกําหนดจําเลยที่ 3 เกษียณอายุราชการ
แม้จะมีการสั่งจ่ายเช็คคืนภาษีของปีภาษี 2557 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จําเลยที่ 3 เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ตาม
แต่ผลของการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีก็เป็นผลมาจากการตรวจวิเคราะห์และพิจารณาดําเนินการโดยจําเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าทีมกํากับดูแลผู้เสียภาษี ก.08 นั่นเอง
@ เปิดตัว นาง ก. ตัวกลางเจรจาขอคืนภาษีเร็ว แต่ต้องจ่าย 10%
นาง ก. กรรมการผู้จัดการบริษัท ม. (ชื่อย่อ) พยานโจทก์ ซึ่งรับจ้างดําเนินการขอคืนภาษีให้บริษัท ท. เบิกความว่านาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ได้พูดคุยกับพยานว่าการขอคืนภาษีทั้งสองปีภาษีดังกล่าวนั้น อยากจะให้เกิดความรวดเร็ว จะได้นําเงินคืนภาษีมาเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยขอเร่งรัดให้พยานดําเนินการ และนาย ว. แจ้งว่าหากจะให้ทางบริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อให้ได้การคืนภาษีอย่างรวดเร็วนั้น ทางบริษัทสามารถจ่ายให้ได้เป็นเงินประมาณร้อยละ 10
เมื่อพยานได้พบส่วน อ. (ซึ่งก็คือจําเลยที่ 3) ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนงานที่ควบคุมดูแลผู้เสียภาษี จึงแจ้งให้ทราบว่าทางบริษัท ท. ต้องการให้มีการคืนภาษีโดยอยากให้เรื่องจบออกมาเร็ว ๆ เพราะต้องการใช้เงิน ซึ่งฝ่ายนาย ว. แจ้งว่าหากจะให้ทางบริษัทต้องจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อให้ได้การคืนภาษีออกมาอย่างรวดเร็วนั้น ทางบริษัท ท. ก็สามารถ จะจ่ายให้ได้เป็นเงินประมาณร้อยละ 10 ซึ่งพยานบอกกับจําเลยที่ 3 เช่นนั้น
ในตอนแรกจําเลยที่ 3 ยังไม่ได้ พูดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้กับพยานอย่างไร และต่อมาทางบริษัท ท. ก็ติดต่อพยานขอให้เร่ง ดําเนินการตามที่เคยบอกพยานดังกล่าว
พยานจึงไปติดต่อกับจําเลยที่ 3 เช่นที่เคยติดต่อและพูดคุยดังกล่าว ซึ่งมีการติดต่อกับจําเลยที่ 3 หลายครั้ง
จนจําเลยที่ 3 พูดคุยกับพยานในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า ก็จะดําเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ก็จะมีการเร่งเรื่องคืนภาษีทั้งสองปีให้กับบริษัท ท. ก่อนที่จําเลยที่ 3 จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2558
@ ทวงถามค่าใช้จ่าย 10 % แลกคืนภาษีเร็ว
นาง ก. เบิกความต่อไปอีกว่า เมื่อทราบว่านาย ว. ได้รับเงินคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีแล้ว
พยานจึงทวงถามเรื่องค่าใช้จ่ายที่รับว่าจะจ่ายตอบแทนให้ทางเจ้าหน้าที่สรรพากร
นาย ว. แจ้งพยานว่าจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานเอง พยานจึงแจ้งไปว่าก็ขอยุติการทําหน้าที่ประสานงานการขอคืนภาษีดังกล่าวต่อไป
คําเบิกความของนาง ก. สอดคล้องกับบันทึกถ้อยคําที่นาง ก. เคยให้ไว้ต่อ พนักงานไต่สวน สํานักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560
การที่นาง ก. กรรมการผู้จัดการบริษัท ม. ซึ่งรับจ้างดําเนินการเกี่ยวกับการขอคืนภาษีให้ บริษัท ท. ตามที่บริษัท ท. จะต้องยื่นเรื่องและดําเนินการติดต่อขอคืนภาษีดังกล่าวที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่มีจําเลยที่ 2 เป็นนักตรวจสอบภาษีหัวหน้าทีมย่อย ก.083 ที่รับผิดชอบการตรวจคืนภาษีของบริษัท ท. ดังกล่าว และมีจําเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าทีมกํากับ ดูแลผู้เสียภาษี ก.08 เป็นผู้บังคับบัญชาโดยเป็นหัวหน้าทีมตรวจสอบภาษีตามสายงาน ซึ่งต้องมีการประสานงาน ติดต่อเกี่ยวกับการพิจารณาขอคืนภาษีตลอดจนต้องดําเนินการในการจัดหาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เสนอแก่ผู้ตรวจสอบภาษีตามที่ผู้ตรวจสอบภาษีต้องการ ทั้งการติดต่อขอคืนภาษีให้แก่ผู้มารับบริการก็เป็นอาชีพในการ ประกอบกิจการของนาง ก. ที่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ม. ที่ต้องดําเนินการเป็นปกติธุระและต้องติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่สรรพากรที่เกี่ยวข้องเสมอ
พฤติการณ์เช่นนั้น ย่อมทําให้ นาง ก. มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกันกับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ได้
คําเบิกความของนาง ก. ยังสอดคล้องกับคําเบิกความของนาย ว. ผู้กล่าวหา พยานโจทก์อีกปาก ที่เบิกความในส่วนนี้ว่า นางสาว ก. ซึ่งพยานเรียก ชื่อเล่นว่า “คุณใหม่” บอกพยานว่าจะมีการคืนภาษีให้ทั้งสองปีภาษี
แต่กรมสรรพากรจะขอ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าดําเนินการเพื่อให้คืนภาษีโดยเร็ว
เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่เกษียณในปีนั้น ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเป็นใคร พยานบอกกับนางสาว ก. ว่าตกลง เพื่อที่จะได้เงินคืนภาษีดังกล่าวมาหมุนเวียนในบริษัท กับทั้งมีการค้าง การคืนภาษีมาสองปีแล้ว หากได้รับคืนเงินเร็วก็จะนํามาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจได้
สอดคล้องกับที่ นาย ว. เคยให้ถ้อยคําต่อพนักงานไต่สวน สํานักงาน ป.ป.ช. ไว้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และสอดคล้องกับที่นาย ว. เขียนหนังสือร้องเรียนฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรเรียกรับเงินเกี่ยวกับการคืนภาษี โดยเรียกรับเงิน 10 % ของจํานวนเงินภาษีที่ขอคืน และสอดคล้องกับบันทึกปากคําที่นาย ว. เคยให้ปากคําต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางแก้ว เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ว่าการขอคืนภาษีดังกล่าว ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดําเนินการเป็นเงินสิบเปอร์เซ็นต์ของจํานวนเงินที่ขอคืน
โดยอ้างว่าหัวหน้าส่วนชื่ออาคม ไม่ทราบนามสกุลจะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2558 จึงจะรีบจัดการให้แล้วเสร็จก่อนการเกษียณ
พยานตกลงจะให้ตามที่นางกัลยาแจ้งให้ทราบ
ต่อมาเมื่อพยานได้รับเงินคืนภาษีดังกล่าวแล้วนาง ก. ได้ทวงถามเงินดังกล่าว พยานจึงบอกว่าจะขอต่อรองกับเจ้าหน้าที่สรรพากรดังกล่าวเอง
@ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมีน้ำหนักน่าเชื่อ
ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนดังกล่าวในส่วนนี้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า ในการพิจารณาตรวจวิเคราะห์การคืนภาษีในปีภาษี 2556 และ 2557 ของเจ้าหน้าที่ของสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ในรายบริษัท ท. ดังกล่าว ก่อนที่ จะมีการตรวจคืนภาษี มีกรณีที่เจ้าหน้าที่สรรพากรของสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคืนภาษีดังกล่าวได้แจ้งแก่นาง ก. และนาง ก. แจ้งให้นาย ว. กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท. ทราบว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรดังกล่าวขอเรียกรับเงินตอบแทนการทําหน้าที่พิจารณาตรวจคืนภาษีเป็นเงินร้อยละสิบของจํานวนเงินที่คืนภาษีดังกล่าวจริง
เพราะหากไม่เคยมีการเรียกรับเงินตอบแทน จากการพิจารณาตรวจคืนภาษีดังกล่าวมาก่อนแล้ว มาภายหลังเมื่อบริษัท ท. ซึ่งก็ได้รับเช็คสั่งจ่าย การคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมไม่มีเหตุผลหรือความจําเป็นใด ที่นาย ว. กรรมการผู้จัดการของ บริษัทจะต้องพยายามขวนขวายที่จะติดต่อจําเลยที่ 2 และมีการขอเข้าพบจําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมกํากับ ดูแลผู้เสียภาษี ก.08 ซึ่งเป็นทีมที่รับผิดชอบในการตรวจคืนภาษีให้แก่บริษัทของตนเพื่อเจรจาเกี่ยวกับการ คืนภาษีดังกล่าว
เพราะการได้รับเงินคืนภาษีตามปกติทั้งไม่จําต้องใช้จ่ายหรือสูญเสียเงินใด ๆ ในการได้รับ การคืนภาษีดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่ นาย ว. และทางบริษัทยิ่งกว่า
@ ซ้อนแผนติดกล้องบันทึกวิดีโอเป็นหลักฐาน
ทั้งการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีดังกล่าว ก็แล้วเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ความว่ายังมีกรณีที่ทางบริษัทจะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่สรรพากรที่รับผิดชอบในการตรวจคืนภาษีเกี่ยวกับเรื่องเอกสารหลักฐานใด ๆ ที่เจ้าหน้าที่สรรพากรดังกล่าวยังต้องการเกี่ยวกับการพิจารณาคืนภาษีดังกล่าวอีก ซึ่งเกี่ยวกับการติดต่อจําเลยที่ 2 และขอเข้าพบและเจรจากับจําเลยที่ 3 ในวันที่ 26 ตุลาคม 2558 นั้น ได้ความตามคําเบิกความของนาย ว. ผู้กล่าวหาว่า นาย ว. ได้เขียนหนังสือร้องเรียน ต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่า ในการขอคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีดังกล่าวทางสรรพากรมีการเรียกรับเงิน 10% ของจํานวนเงินภาษีที่ขอคืน จึงขอให้สํานักงาน ป.ป.ท. ทําการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ท. รับเรื่องไว้ในวันดังกล่าวและเจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ท. โดยพันตํารวจโทศิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อํานวยการกองปราบปรามการทุจริต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีคําสั่งมอบหมายให้ดําเนินการต่อไปในเรื่องนี้
จึงมอบกล้องบันทึกวิดีโอแบบเม็ดกระดุมให้ผู้กล่าวหาเพื่อใช้ในการ บันทึกเหตุการณ์เมื่อจะเข้าไปเจรจาเรื่องการมอบเงินให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตามที่มีการเรียกรับเงินดังกล่าว
ครั้นวันที่ 26 ตุลาคม 2558 นาย ว. ได้นัดหมายและเข้าไปพบจําเลยที่ 2 ที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่ สมุทรปราการ 3 โดยติดกล้องบันทึกวีดีโอแบบเม็ดกระดุมไว้ที่บริเวณหน้าอกเปิดบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ และได้พบจําเลยที 2 ซึ่งจําเลยที่ 2 พาผู้กล่าวหาไปพบจําเลยที่ 3 ที่โต๊ะทํางานของจําเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้กัน กับโต๊ะทํางานของจําเลยที่ 2 ผู้กล่าวหาจึงได้พูดคุยเจรจากับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 เรื่องการคืนเงินภาษี เงินได้ทั้ง 2 ปีภาษีของบริษัท ท. ดังกล่าว ปรากฏตามบันถูกถอดถ้อยคําสนทนาตามคลิปวิดีโอ วันที่ 26 ตุลาคม 2558 และคลิปวิดีโอตามวัตถุพยานหมาย ซึ่งตาม รายงานผลการตรวจพิสูจน์ ระบุว่าตรวจ ไม่พบร่องรอยการตัดต่อในแฟ้มข้อมูลเสียง ซึ่งตามแฟ้มข้อมูลรายการที่ 2 ชื่อแฟ้ม MOVlooom.avi ขนาด ความยาว 21.12 นาที ซึ่งมีสาระภาพและเสียงและบทสนทนาตรงกันกับบันทึกถอดถ้อยคําดังกล่าว
เมื่อ พิจารณาบันถูกถอดถ้อยคําสนทนาและคลิปวิดีโอ ดังกล่าว ซึ่งถอดถ้อยคําระบุว่า “พัชรินทร์” หมายถึงจําเลยที่ 2 “คุณ ว." หมายถึง นาย ว และ “ส่วนอาคม” หมายถึงจําเลยที่ 3
และคําว่า “ท่าน” นั้นนาย ว. เบิกความว่าตามความเข้าใจของพยานก็คือผู้บังคับบัญชาที่เหนือจําเลยที่ 3 ขึ้นไป และได้ความตามคําเบิกความ ของนาย ว. และจําเลยที่ 2 เกี่ยวกับกรณีที่นาย ว.ได้นัดหมายและเข้าพบจําเลยที่ 1 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และมีการส่งมอบเงินที่เตรียมไว้
@ นัดหมายให้มาพบ "ท่าน"
ในการวางแผนล่อส่งมอบเงินสินบนและจับกุมนั้น มีการสนทนากัน ดังที่ปรากฏในบันทึกถอดถ้อยคําสนทนาตามคลิปวิดีโอว่า “ท่าน” ดังกล่าวก็คือจําเลยที่ 1 ซึ่งการเข้าพบเพื่อเจรจาในวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ก็เป็นการเจรจาและจบลงว่ามีการนัดหมายให้นายว. มาพบ “ท่าน” ซึ่งก็คือจําเลยที่ 1 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 นั่นเอง
ดังนี้คําว่าท่าน ในบทสนทนาวันที่ 26 ตุลาคม 2558 จึงหมายถึงจําเลยที่ 1 ซึ่งดํารงตําแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่เหนือจําเลยที่ 3 และเป็นผู้มีอํานาจในการพิจารณาอนุมัติในการตรวจคืนภาษีให้แก่บริษัท ท. นั่นเอง ซึ่งได้ความอันมีสาระสําคัญในบันทึกถอดถ้อยคําสนทนา เป็นเรื่องราวที่จําเลยที่ 2 แนะนํานาย ว. ให้จําเลยที่ 3 รู้จัก และนาย ว. ถามจําเลยที่ 3 ว่าชื่อ อะไรและใช่บุคคลที่คุณใหม่ซึ่งก็คือนาง ก. เคยบอกว่าชื่อ “ส่วนอาคม” ให้นาย ว. ทราบหรือไม่ และจําเลยที่ รู้จักกับคุณใหม่หรือไม่ ซึ่งจําเลยที่ 3 ก็รับว่ารู้จัก จําเลยที่ 2 บอกชื่อจําเลยที่ 3 แก่นาย ว.ว่า “ส่วนคม"
นายว . ถามว่า ใช่คนเดียวกันหรือไม่ จําเลยที่ 3 ก็รับว่า “อ๋อ เคร เคร” อันมีความหมายว่า “ส่วนคม" ที่จําเลยที่ 2 กล่าวถึง และ “ส่วนอาคม” ที่นาย ว. กล่าวถึงว่าคุณใหม่หรือนาง ก. เคยบอกแก่นาย ว. ก็คือจําเลยที่ 3 นั่นเอง
และในการสนทนาในตอนแรก จําเลยที่ 3 ได้พูดกับนาย ว. ว่า “พอดีว่าจะนัดคุย เรื่องที่ตกลงกับคุณใหม่อ่ะนะ ว่าจะเจรจา” อันมีความหมายว่าจําเลยที่ 3 ได้เคยรู้จักพูดคุยและเคยมีเรื่องเจรจา และตกลงกันไว้กับนาง ก. และเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับนาย ว. ที่นาย ว. ต้องเคยรับรู้การเจรจาและยังไม่สามารถตกลงกันได้หรือยังดําเนินการไม่แล้วเสร็จและเป็นเรื่องสําคัญที่นาย ว. จะสามารถ เจรจาและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
@ คำต่อคำบทสนทนาเจรจาต่อรอง
เมื่อการตรวจคืนภาษีที่นาย ว. กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท. ว่าจ้างให้นางก. หรือคุณใหม่ ดําเนินการและได้รับการคืนภาษีทั้ง 2 ปีภาษีแล้ว จึงไม่มีกรณีที่นายวรากร จะต้องมาพบเพื่อเจรจากับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ในเรื่องขั้นตอนหรือเอกสารเกี่ยวกับการตรวจคืนภาษี ดังกล่าวอีก
ซึ่งนาย ว. และนาง ก. ก็เบิกความว่า มีเพียงเรื่องเงินที่นาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. รับว่าจะจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรในการตรวจคืนภาษีดังกล่าวเท่านั้น
จึงเชื่อว่าการที่ นายว . มาขอพบจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ในวันนี้ ก็เพื่อเจรจาถึงยอดเงินที่ทางบริษัท ท. จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรในการตรวจคืนภาษีดังกล่าว
ซึ่งได้ความตามบันทึกถอดถ้อยคําสนทนาต่อไปอีกว่า นาย ว. กล่าวว่า “อยากให้จบตัวเลขกับท่านไปเลยว่า เป็นยังไง
จําเลยที่ 3 กล่าวว่า “คือท่านเขาไม่คุยตัวเลข เขาให้พี่กับน้องเค้าคุยตัวเลขอ่ะนะ” และว่า “เรื่องตัวเลขท่านไม่คุย เค้าโยนมา”
นาย ว. กล่าวว่า “คือตอนแรกเนี่ยมันมีสองยอด ยอด 10 % มันอยู่สองแสน กว่าบาท ส่วนมีตัวเลขอยู่ไหมครับ”
จําเลยที่ 3 กล่าวว่า “มีตัวเลขอยู่”
นาย ว. กล่าวว่า “ตัวแรกมัน หนึ่งล้านกว่า"
จําเลยที่ 3 กล่าวว่า “ไม่ถึง ไม่ถึงสองแสนบาท มันล้านกว่าบาท และก็ปีที่ สองมัน”
นาย ว. จึงกล่าวว่า “ มีปีอะไรครับ ปี 56 ล้านสองแปดสามจุดห้าสาม ปี 57 ล้านหนึ่งหกสองเจ็ดจุดเจ็ด ก็นั่นแหละ รวมกันมันก็สองแสนเศษ ๆ”
จําเลยที่ 3 จึงว่า “ ก็สองแสนกว่า อืม ก็ประมาณนั้นแหละ ทีนี้น้องจะตกลงยังไง"
นาย ว. จึงว่า “คือตอนแรกตอนนั้นคุยกับคุณใหม่ไว้ 10 เปอร์เซ็นต์เนี่ย มันก็เศรษฐกิจยังดี ๆ อยู่ แต่ตอนนี้ รายได้แทบจะไม่มีเลยครับ"
@ วรรคทอง "ต้องจบที่ท่าน พี่ตัดสินใจไม่ได้”
นอกจากนี้นายว.ยังกล่าวในลักษณะเสนออีกว่า “ส่วนคิดว่าจะช่วยได้เท่าไหร่ครับ กะว่าสองปีแล้วไม่สองแสนได้ไหมครับ พอดีผมไม่มีออเดอร์เลยตอนนี้ มันจะลําบาก ผมต้องเลื่อนจ่ายตังค์ซัพพลายเออร์ตังสองสามเจ้า”
จําเลยที่ 3 จึงกล่าวว่า “ถ้าไม่งั้นน้องก็ต้องคุยกับท่านพรุ่งนี้”
นาย ว. กล่าวอีกว่า “เพราะว่าตอนนี้ผมมีอยู่ เท่าที่ให้ได้มีอยู่แสนเศษ ๆ เท่านั้น”
จําเลยที่ 3 จึงว่า “ลอง ๆ คุยกับท่าน ละกัน เพราะยอดมันต่างเยอะ ตอนแรกพี่คิดว่ายอดมันยึดกันไม่มาก เพราะมันสองปีแล้ว รวมแล้วมันสองแสน กว่าบาท”
และกล่าวว่า
“จบที่พี่ก็ต่างกันนิดหน่อย คือ 10 % อาจจะลดนิดหน่อย"
"แต่ถ้าลดมากอย่างที่น้องว่า ต้องจบที่ท่าน พี่ตัดสินใจไม่ได้”
***********
เนื้อหาคำพิพากษาส่วนนี้ ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ อีก
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนหน้า