"...ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย อสส.ได้มีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นฟ้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย แต่มีการแยกสำนวนฟ้องเนื่องจากเห็นว่า พฤติการณ์ไม่สนับสนุนกันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยคดีในส่วนของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่แยกฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1..."
ISRA-SPECIAL : คำสั่งแต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญเพื่อช่วยงานตามภารกิจต่างๆ ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
กำลังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย โดยให้ นางนลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนไปแล้ว
- ‘เศรษฐา’ ตั้ง 'นลินี ทวีสิน' เป็นที่ปรึกษานายกทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
- ทำไมต้องฮือฮา! เปิดประวัติ 'นลินี ทวีสิน' ที่ปรึกษา'เศรษฐา'ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยสมัย 3
ล่าสุด เป็นคิวของการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 9 ราย
โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา ขณะที่ที่ปรึกษานายกฯ ประกอบด้วย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, นายพิชัย ชุณหวชิร, นายศุภนิจ จัยวัฒน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมล ศรีวิกรม์, นายพิชิต ชื่นบาน, นายชลธิศ สุรัสวดี, นายชัย วัชรงค์และนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์
เช่นเดิม เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลปูมหลังประวัติโดยสังเขปของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทั้ง 9 รายดังกล่าวมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลแต่ละคนมาไว้ที่นี้แล้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีชื่อเล่นว่า โต้ง เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของนายเก่ง ณ ระนอง และนางวิลัดดา ณ ระนอง (สกุลเดิม หาญพานิช)
สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ, มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2523 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางเกสรา ณ ระนอง (สกุลเดิม ธนะภูมิ) บุตรสาวของพลเอก พร และนางเรณี ธนะภูมิ มีบุตร 3 คน คือ ต้น, ต่อ และตรี ณ ระนอง
@ การทำงาน
นายกิตติรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังพ้นตำแหน่งได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2553 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 ถึงปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด 14 ปี 2002 , ชุดเอเชียนเกมส์ 2006 , ทีมชาติชุดใหญ่ 2008
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 นายกิตติรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลายปีเดียวกันสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาลได้ร่วมกันตั้งฉายาให้นักการเมืองประจำปี ซึ่งกิตติรัตน์ได้รับฉายาว่า "ปุเลง...นอง" จากกรณีที่นายกิตติรัตน์ร้องไห้เมื่อคราวน้ำเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในปี 2554
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 นายกิตติรัตน์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นายกิตติรัตน์ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แถลงต่อสื่อมวลชนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเรียกว่าเป็น "โกหกสีขาว" ต่อมาได้รับการกล่าวถึงในความเหมาะสม และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยจนนำไปสู่ประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 นายกิตติรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายกิตติรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 11 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
และในปี พ.ศ. 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
@ มีประวัติถูกป.ป.ช.ชี้มูล
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีความนั้น เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก ในคดีการระบายข้าวจำนวน 3 แสนตัน ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 30,000 ตัน ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีข้าวบูล็อค
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังต่อไปนี้
1. การกระทำของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
2. การกระทำของนายสุรศักดิ์ ศรีประภา นายพิทีรต์ ตั้งพสสวัสดิ์ หรือนายพิพรรธารย์ มาตธินินทร์ นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวก มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
- ฉบับเต็ม! พฤติการณ์-มติทางการ ป.ป.ช.ชี้มูล‘กิตติรัตน์-อดีตบิ๊ก อคส.’คดีข้าวบูล็อค
- ‘กิตติรัตน์’ผิด ม.157-จนท.พาณิชย์-อคส.โดนด้วย! มติ ป.ป.ช. 7:2 ชี้มูลคดีข้าวบูล็อค
- ป.ป.ช.เพิ่มชื่อจนท."พาณิชย์-อคส.-คต."พ่วง"กิตติรัตน์"คดีข้าวอินโดฯ3 แสนตัน
- ป.ป.ช.ลุยสอบ"สยามอินดิก้า" ปรับปรุงข้าวส่งอินโดฯ -"กิตติรัตน์" โดนด้วย
@ อสส.ส่งเรื่องฟ้องคดีศาลฯ แล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)ได้รับการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการชี้มูลคดีข้าวบูล็อคจากแหล่งข่าว ป.ป.ช. ว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย อสส.ได้มีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นฟ้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย แต่มีการแยกสำนวนฟ้องเนื่องจากเห็นว่า พฤติการณ์ไม่สนับสนุนกันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยคดีในส่วนของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่แยกฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2502 เป็นบุตรของนายวิศว์ และนางจรัสพิมพ์ ลิปตพัลลภ และเป็นน้องชายของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ สำเร็จการศึกษา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายเทวัญ มีบุตรชาย คือ นายธารณ ลิปตพัลลภ นักดนตรีและหนึ่งในสมาชิกวงลิปตา
@ การทำงาน
นายเทวัญ เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคสามัคคีธรรม
ในปี 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
ในปี 2561 นายเทวัญได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 4
ต่อมาได้เข้าร่วมรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่งในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นายเทวัญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้มีการปรับสัดส่วนคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 4 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสามัคคีธรรม
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคชาติพัฒนา → พรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติพัฒนา
@ สอบธุรกิจเทวัญ ลิปตพัลลภ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวสืบสวนเกี่ยวกับบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญารับจ้างงานระหว่างปี 2544-2562 (18 ปี) หลายสิบสัญญา รวมวงเงิน 5-6 พันล้านบาท จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีชื่อของนายเทวัญ ลิปตพัลลภเป็นทนายความรับรองให้การแจ้งกรรมการของบริษัท
โดยสำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปยังนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่ปรากฎชื่อเป็นทนายในเอกสารบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด เมื่อปี 2554 ทั้งนี้รัฐมนตรีรายนี้ ให้สัมภาษณ์ย้ำอย่างน้อย 3 ครั้งว่า ไม่ทราบรายละเอียด และติดประชุมอยู่ ก่อนจะวางสายไป
นายพิชัย ชุณหวชิร
นายพิชัย ชุณหวชิร เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2492 สำเร็จการศึกษาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก Indiana University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา ดุษฏีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ ทางบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
@ 'อิศรา' เคยสืบค้นข้อมูลการทำงาน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 สำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลของนายพิชัย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2556 นายพิชัย ชุณหวชิร เคยดำรงตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มาแล้วจำนวน 54 ตำแหน่ง ซึ่งในจำนวนตำแหน่งที่ได้รับไปทั้งหมด อยู่ในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตรงจำนวน 5 ตำแหน่ง และคาบเกี่ยวกันช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่
ปี: พ.ศ.2556 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2556 ประธานกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 คณะกรรมการบริหาร ประธาน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 ประธานกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 ประธานกรรมการ กรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ อดีตกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
นอกจากนี้ พิชัย ชุณหวชิร ยังเป็นกรรมการบริษัทไทยออยล์ เพาเวอร์ ในปี 2543-2554 ขณะที่ปี 2541-2554 เป็นกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม และในปี 2551-2552 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. ส่วนปี 2550-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (ประเทศไทย) โดยในปี 2548-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. เคมิคอล ปี 2543-2552 เป็นประธานกรรมการ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย และในปี 2539-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย อีกทั้งยังเป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2546-2551 และปี 2544-2550 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.
นอกจากนี้ในปี 2556-ปัจุจุบัน เป็นประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และในปี 2564 - ปัจจุบัน เป็นกรรมการ บริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ จำกัด
@ การดำรงตำแหน่งกรรมการ/อื่นๆ ในปัจจุบัน
บริษัทจดทะเบียนอื่น
- ประธานกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
- ประธานกรรมการ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)
กิจการอื่นที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน
- นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย
- รองประธานกรรมการ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธานสมาพันธ์มวยสากลแห่งทวีปเอเชีย (ASBC)
@ พยานปากเอกคดีจำนำข้าว
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลของนายพิชัย ชุณหวชิร หนึ่งในพยานจำนวน 7 ปาก ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เรียกตัวมาให้ปากคำคดีปล่อยปละเลยละการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา
เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุในหนังสือยื่นคำร้องถึงเหตุผลการเสนอชื่อ 'พิชัย ชุณหวชิร' เป็นมาพยานครั้งนี้ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นพยานผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านบัญชีและเป็นพยานบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า แต่ได้เสียสละยอมมาให้ปากคำเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช."
นายศุภนิจ จัยวัฒน์
นายศุภนิจ ประธานกรรมการบริษัท อาโนส์ กรุ๊ป 2020 จำกัด เป็นเพื่อนสนิทกับนายเศรษฐา นายศุภนิจ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมสไตล์บูติก คือ โรงแรมสีลม ศิรีนทร์ โรงแรมโพธิ ศิรีนทร์ จ.เชียงใหม่ และโรงแรมบ้านบาหยัน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
@ การศึกษา
- ปริญญาตรี Bachelor of Science - Engineering University of Wisconsin - Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ปริญญาโท MBA (บริหารธุรกิจ) University of Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกา
- หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร (ปรอ.) รุ่นที่ 26 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
@ การทำงาน
2541 - ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการบริษัท ประภาวสุ จำกัด
2554 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการบริษัท วิคเตอร์ มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด
2558 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการบริษัท อาโนส์ กรุ๊ป 2020 จำกัด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมล ศรีวิกรม์
ผศ.พิมล เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2507 เป็นลูกชายของนายเฉลิมพันธ์ และคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ ที่มีรากฐานทางธุรกิจ ทางการเมืองมั่นคงครอบครัวหนึ่ง นายเฉลิมพันธ์เป็นนักการเมือง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และลาออกมาตั้งกลุ่ม "10 มกราฯ" ปี 2530 ช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ด้านคุณหญิงศศิมาเป็นแม่บ้าน ที่คอยสนับสนุนทางการเมือง มีธุรกิจโรงเรียนศรีวิกรม์ สอนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และเปิดสอน ถึงระดับการบริหารธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทต่างๆมากมาย แต่การดำเนินบริษัทมาถึง ปี 2540 ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ลดค่าเงินบาท ทำให้ธุรกิจครอบครัว ได้รับผลกระทบสาหัส
@ การศึกษา
- มัธยมตอนปลาย - โรงเรียนคลิฟตัน เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ
- ปริญญาตรี - คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2529
- ปริญญาโท - บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองลอสแอนเจลิส (UCLA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2532
@ การทำงาน
ผศ.พิมล ก้าวเข้าสู่การเมือง เป็นเลขาส่วนตัว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ครั้งแรก เมื่อพรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งปี 2544 ต่อมาผศ.พิมลเอง ลงเลือกตั้ง สส.เขต เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทย เขต 18 กรุงเทพมหานคร
หลังจากช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ผศ.พิมล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และได้เข้าไปช่วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก่อตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย และภายหลังได้เข้าร่วมกลุ่มกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ตั้งเป็นพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬาของพรรค
@ ประสบการณ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ส.ส.เขต พรรคไทยรักไทย กรุงเทพมหานคร ปี 2544 และ 2548
- นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย
- ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงพานิชย์ 2538-2539
- รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 2546-2547
- เลขานุการ รมว.กระทรวงการคลัง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) 2547
นายพิชิต ชื่นบาน
นายพิชิต เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองงในฐานะอดีตมือกฎหมายครอบครัวชินวัตร และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ
@ การศึกษา
ทั้งนี้นายพิชิต จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขากฎหมายมหาชน เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
@ การทำงาน
นายพิชิต เป็นที่รู้จักเป็นที่รู้จักในฐานะอดีตมือกฎหมายครอบครัวชินวัตร ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และเคยตกเป็นข่าวดัง เมื่อศาลมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล จากกรณีมีข่าวหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายพิชิต มีบทบาทในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอยู่เบื้องหลังในกลั่นกรองระเบียบกฎหมาย และมีบทบาทในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม จนกระทั่งมีการรัฐประหาร 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อสู้คดีจำนำข้าว นายพิชิตก็ยังทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความสู้คดีให้โดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2562 นายพิชิต ได้รับตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ แต่ไม่ได้นั่งอยู่ในกรรมการบริหารพรรค กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคในเวลาต่อมา
ในช่วงการจัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ชื่อ พิชิต ชื่นบาน เคยปรากฏชื่อว่าจะได้เข้ามา นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนที่จะเจ้าตัวจะออกมาประกาศไม่รับตำแหน่งในภายหลัง
- กาง รธน.ส่องคุณสมบัติ ‘พิชิต ชื่นบาน’ จากทนายถุงขนม สู่(ว่าที่) รมต.?
- ‘พิชิต ชื่นบาน’ ประกาศไม่รับตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ หวัง รบ.ใหม่เดินหน้า
นายชลธิศ สุรัสวดี
นายชลธิศ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นหลานชายนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2560 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ มีมติอนุมัติรับโอนนายชลธิศเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558
@ การศึกษา
- ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (วนศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วนศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
@ การทำงาน
- อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายชัย วัชรงค์
นายชัย จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@ การทำงาน
นายชัย เคยทำงานในตำแหน่ง Managing Director บริษัท แนคโคห์แลน จำกัด ซึ่งทำธุรกิจร้านขายปลีกสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท แนคเนเจอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการค้าอุปกรณ์ทางการเกษตร และยาสีฟันสมุนไพร
วันที่ 7 มิ.ย. 2565 พรรคเพื่อไทย เปิดตัว นายชัย วัชรงค์ ในบทบาทของนักวิชาการด้านการเกษตรสมัยใหม่ เข้าเป็นสมาชิกพรรค และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเกษตร พรรคเพื่อไทย พร้อมกันนั้นยังเป็นผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 91 ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
โดยในครั้งนั้น นายชัย วัชรงค์ ได้ให้เหตุผลที่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยว่า เพราะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมี DNA บางอย่างที่ตรงกับใจตนมาก ๆ ตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว และมีสไตล์ในการทำการเมืองที่เน้นการจัดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยี คิดแบบก้าวหน้า และยังเป็นพรรคการเมืองที่ทำงานด้วยความจริงใจกับเกษตรกรมากที่สุด เอาจริงเอาจังในการพัฒนาภาคการเกษตร
ในปี 2566 หลังจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา 1” นายชัย วัชรงค์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
@ บทบาททางการเมือง
ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ชื่อของ นายชัย วัชรงค์ ปรากฎผ่านสื่อ ในนามอุปนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย โดยมี นายยืนยง โอภากุล หรือ “แอ็ด คาราบาว” ดำรงเป็นนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย ซึ่งทั้งสองคนมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการปิดสนามไก่ชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในเวลานั้น ก่อนจะมีบทบาทในฐานะนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทยในเวลาต่อมา
ในสมัยรับบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชื่อของ นายชัย วัชรงค์ ปรากฎผ่านสื่ออีกครั้งในบทบาทนักวิชาการที่ออกมาตอบโต้ นพ.วรงค์ เดชวิกรม สส.พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เกี่ยวกับประเด็นนโยบายจำนำข้าว โดยเขาเป็นคนยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าว ชาวนาได้ประโยชน์มหาศาล และประเทศมีรายได้จากการขายข้าว และกลายเป็นพยานคนสำคัญในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเป็นผู้อธิบายความเรื่องความสำเร็จของนโยบายจำนำข้าว
@ รับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ครั้งแรกวันที่ 13 ก.ย.2566 หลังแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ก.ย.2566 เห็นชอบแต่งตั้งนายชัย วัชรงค์ ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมข้าราชการเมืองอื่นลอตใหญ่รวม 34 ตำแหน่ง
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์
นายสุรยุทธ เป็นอดีตผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และปรากฎในรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยต้องยื่นกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 78
นอกจากนี้นายสุรยุทธยังเป็น กรรมการบริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
*************
เหล่านี้คือประวัติโดยสังเขปของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทั้ง 9 คน จะเห็นได้ว่า หลายคนล้วนเคยมีบทบาทสำคัญในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อน ปัจจุบันบางคนยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีทุจริตเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลด้วย
ส่วนที่ปรึกษาทั้ง 9 คน จะมีบทบาทสำคัญอย่างไรในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน
ต้องติดตามดูกันต่อไป