"...ภายหลังการได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการเปิดเผยจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยว่านางนลินี ทวีสิน มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐ เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว โดยนางนลินี ได้ทำธุรกิจร่วมกับภรรยาของโรเบิร์ต แต่กรณีดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากนางนลินี ว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิด และขอพิสูจน์ตนเองในโอกาสต่อไป..."
ISRA-SPECIAL : เปิดประวัติ 'นลินี ทวีสิน' ที่ปรึกษา'เศรษฐา'ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยสมัย 3
ฮือฮา!
คือ คำขึ้นต้นพาดหัวข่าวของสื่อหลายสำนัก หลังปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ครม.มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
ทำไมสื่อหลายสำนักต้องใช้คำว่า "ฮือฮา" เกี่ยวกับการคัมแบคหวนคืนตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เศรษฐา ของ นลินี ทวีสิน กับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ซึ่งการทำหน้าที่ ผู้แทนการค้าไทย ครั้งนี้ นับว่าเป็นสมัยที่ 3 ของนางนลินี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาย้อนกลับไปดูข้อมูลประวัติเส้นทางชีวิตของนางนลินีในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
นางนลินี ทวีสิน ชื่อเล่น จอย เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 เป็นบุตรของนายเดโอปราภาเดอร์ มิสรา กับนางสัมพันธ์ สุทธิภาค นางนลินีสมรสกับนายปิตินันท์ ทวีสิน แต่สถานะทางกฎหมายของนางนลินีคือ หย่า แต่ยังใช้นามสกุล ทวีสิน ของอดีตสามี ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า เธอใช้ชื่อและนามสกุลที่พ้องกับชื่อพี่สาวของเศรษฐา ทวีสิน ทั้ง ๆ ที่เธอมิได้มีความเกี่ยวดองกันแต่อย่างใด
@ การศึกษา
นางนลินี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเมาต์เฮอร์มอน เมืองดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย และในระดับอุดมศึกษาจากสหรัฐทั้งหมด ประกอบด้วยระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์แมรี รัฐแมริแลนด์ (St. Mary’s College of Maryland), ระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาเอก สาขาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรีเจนต์ (Regent University) รัฐเวอร์จิเนีย
นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมในหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ปรอ.รุ่น 18) และหลักสูตรพรรคการเมืองกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้บริหาร จากสถาบันพระปกเกล้า
@ การทำงาน
นางนลินี ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ SuccessMedia (หนังสือคอมพิวเตอร์) ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2549 แต่ต้องถูกยกเลิกเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน ต่อจากนั้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์)
จากนั้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 125 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 99
ใน พ.ศ. 2561 นางนลินีได้ลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อไทย และย้ายมาสังกัด พรรคเพื่อธรรม พร้อมกับรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคกระทั่งนาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค นางนลินีจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อมาก่อนที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้า พรรคเพื่อธรรม ในเวลาต่อมา กระทั่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นางนลินีลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
@ บทบาทในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นางนลินี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554 กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเฉพาะสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เฉพาะสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ สำนักงานรับรองมาตรฐานและรับรองคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ต่อมาถูกปรับออกจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทยเป็นสมัยที่ 2 แทนนายวรวีร์ มะกูดี ที่ขอลาออกจากตำแหน่ง
@ กรณีติดบัญชีดำของสหรัฐ
ภายหลังการได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการเปิดเผยจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยว่านางนลินี ทวีสิน มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐ เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว โดยนางนลินี ได้ทำธุรกิจร่วมกับภรรยาของโรเบิร์ต แต่กรณีดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากนางนลินี ว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิด และขอพิสูจน์ตนเองในโอกาสต่อไป
ขณะที่ในช่วงเดือนเมษายน 2556 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยร่วมกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ตรวจสอบข้อมูลในฐานของบริษัทบริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) ซึ่งเป็นบริษัทรับจัดการเรื่องการจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตรายใหญ่ของเอเซียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มีชื่อนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทยและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนาย อนุรัช มิสรา น้องชาย เป็นผู้ถือหุ้นและผู้อำนายการบริษัท ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด (Hall Kingston International Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ในปี 2551 (ดูลิ้งค์ข่าวภาษาอังกฤษ: http://www.icij.org/offshore/mugabe-crony-among-thai-names-secret-offshore-files)
นางนลินีและนายอนุรัชเข้าซื้อบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด ด้วยการจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นางนลินีจะเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษา และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมในปีเดียวกัน โดยบริษัทบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด จดทะเบียนก่อตั้งเพียงสองวันก่อนหน้าที่บุคคลทั้งสองเข้าถือหุ้น คือในวันที่ 25 สิงหาคม 2551
ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน สำนักงานควบ คุมทรัพย์สินต่างชาติ ของกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุชื่อนางนลินี ทวีสิน ว่าเป็นหนึ่งในสี่ของบุคคลผู้ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินแก่ประธานาธิปดี โรเบิร์ต มูกาเบ้ และครอบครัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้นายมูกาเบ้สามารถดำเนินการทางการเมืองที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศซิมบับเวต่อไปได้ โดยผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆทางการเงินกับ พลเมืองชาวอเมริกัน อีกทั้งทรัพย์สินใดๆของผู้ถูกขึ้นบัญชีนี้ที่อยู่ในสหรัฐฯก็ต้องถูกอายัดตามกฎหมายของสหรัฐฯ
นางนลินีได้แถลงข่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯในช่วงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์ของตนเองกับครอบครัวมูกาเบ้นั้นเป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนซึ่งไม่มีการดำเนินธุรกิจใดๆเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับการมีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐ เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว ของ นางนลินี ทวีสิน นั้น เคยมีการร้องเรียนเรื่องต่อ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นทางการ ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะร่วมกันพิจารณา จะมีคำวินิจฉัยว่า มิอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมตามระเบียบ
คำวินิจฉัย ระบุว่า จากการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า นางนลินี ทวีสิน เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชี Specially Designated National (SDN) ของสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สิน ต่างชาติ กระทรวงการคลัง (Office of Foreign Assets Control (OFAC), U.S. Department of the Treasury) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แต่เนื่องจากนางนลินี ทวีสิน ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 ดังนั้น กรณีนางนลินี ทวีสิน ถูกกล่าวหาและขึ้นบัญชี SDN ของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่บุคคลดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551
กรณีจึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมตามระเบียบดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าว
จากนั้นประเด็นนี้ ก็เงียบหายไป
@ ส่องธุรกิจ ‘นลินี’
ในช่วงปี 2555 สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นางนลินีทำธุรกิจทั้งสิ้น 25 บริษัท ประกอบ ด้วยธุรกิจขายหนังสือ ซีดีรอม เทป วีดีโอ ให้บริการนำเที่ยว รับจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพักและโรงแรม ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ขายพืชผลทางการเกษตร เสื้อผ้า บริการทำความสะอาด ขายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรคมนาคม สปา และอสังหาริมรัพย์ (ดูตาราง) โดยนางนลินีถือหุ้น 4% ทุกบริษัท โดยมีนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และ นายอนุรัช มิสรา ถือหุ้นใหญ่ จำแนกเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มแรกนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 19 บริษัท (เดือนมิถุนายน –สิงหาคม 2554 นายเกรียงศักดิ์ จดทะเบียนห้างหุนส่วนจำกัดพร้อมกัน 92 แห่ง) ได้แก่
บริษัท ซัคเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส บุ๊คส์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส มีเดีย จำกัด, บริษัท ซัคเซส อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด,บริษัท ซัคเซส เอวิเอชั่น จำกัด ,บริษัท ดูนามิส อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท ซัคเซส แคปปิตอล จำกัด,บริษัท ซัคเซส เทคโนโลยี จำกัด ,บริษัท ซัคเซส แทรเวล จำกัด,บริษัท ซัคเซส บรอดคาสติ้ง เนทเวิร์ค จำกัด,บริษัท ซัคเซส ไบโอเทค จำกัด, บริษัท ซัคเซส พับลิชชิ่ง จำกัด ,บริษัท ซัคเซส ฟาร์ม จำกัด,บริษัท ซัคเซส เลเทอร์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส โฮลดิ้งส์ จำกัด,บริษัท ดูนามิส เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท อี บีสเนส จำกัด ,บริษัท เอเชีย บรอดแบนด์ จำกัด ,บริษัท แอโรพอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
- กลุ่มที่สอง นายอนุรัช มิสรา ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่
บริษัท โกลบอล โซล่าร์ พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท โนวาสเตล จำกัด, บริษัท รอยัล เอเชีย โปรดักส์ จำกัด, บริษัท สปา เมเนจเม้นท์ แอนด์ คอนซัล แตนท์ จำกัด, บริษัท อะควาติส จำกัด และ บริษัท เอเชียเนท พลัส จำกัด
ขณะที่ นางนลินีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัคเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส แทรเวล จำกัด, บริษัท ซัคเซส บรอดคาสติ้ง เนทเวิร์ค จำกัด, บริษัท โกลบอล โซล่าร์ พาวเวอร์ จำกัด,บริษัท รอยัล เอเชีย โปรดักส์ จำกัด, บริษัท อะควาติส จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท วิลล่าอะควาติส จำกัด) และ บริษัท เอเชียเนท พลัส จำกัด
ธุรกิจล่าสุดของนางนลินีคือธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ชื่อ บริษัท โกลบอล โซล่าร์ พาวเวอร์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 33 อาคารซัคเซสทาวเวอร์ ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระรามเก้า 26 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ (เป็นที่ตั้งเกือบทุกบริษัท) นายอนุรัช มิสรา ถือหุ้นใหญ่ 96%
ธุรกิจต่างชาติที่นางนลินีร่วมถือหุ้นคือ บริษัท เอเชียเนท พลัส จำกัด ให้บริการสื่อทางด้านอินเตอร์เน็ต-การโทรคมนาคม จดทะเบียนวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 ทุน 3 ล้านบาท นายคาลู อาราชิชิเก โรฮัน ลาล เสเนวิรัตเน ชาวศรีลังกา 30,000 หุ้น หรือ 10% นายสิวะสวามี อาเยอ รามาจันทรา ชาวศรีลังกา 30,000 หุ้น 10% นายอนุรัช มิสรา ถือหุ้นใหญ่ 65.5% นางพัชรี จิรากร 5% นางนลินี ถือ 4.5%
ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนจดทะเบียนมากสุดคือ บริษัท อะควาติส จำกัด ทุน 150 ล้านบาท ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ที่ตั้งเลขที่ 33 อาคารซัคเซสทาวเวอร์ ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระรามเก้า 26 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นายอนุรัช มิสรา ถือ 14,399,950 หุ้น หรือ 95.9% นางนลินี 600,000 หุ้น หรือ 4%
ธุรกิจที่เลิกกิจการแล้ว 7 กิจการ ได้แก่ บริษัท ไอ เอฟ ดี มีเดีย จำกัด, บริษัท ซัคเซส ไดเรค เซลส์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส ปัสพอร์เทชั่น จำกัด, บริษัท ดูนามิส ยูนิ จำกัด, บริษัท สปา โอเวชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด, บริษัท ซัคเซส บรอดแบนด์ จำกัด, บริษัท ซัคเซส คอนซัลเทค จำกัด
ปัจจุบันสำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจของ นางนลินี ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่? หากมีความคืบหน้าจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป
เหล่านี้คือประวัติเส้นทางชีวิตของนางนลินีในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะได้การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยคนปัจจุบัน ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย
ผลงานการปฏิบัติหน้าที่ของนางนลินี นับจากนี้เป็นอย่างไร
ติดตามกันดูกันต่อไป