"...ต่อไปนี้ เป็นประวัติโดยสังเขป ของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในรัฐบาล 'เศรษฐา 1' ซึ่งหลายคน เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งใหม่เท่านั้น..."
ISRA-SPECIAL : เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่เป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
สำหรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หรือ เศรษฐา 1 ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน ก็เริ่มเข้าไปทำหน้าที่ของตนเองตามกระทรวงต่างๆ แล้ว โดยภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ที่กำลังจะมาถึงคือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งวางกำหนดไว้ในวันที่ 11 ก.ย.นี้
เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดนี้มากขึ้น นอกเหนือจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำประวัติโดยสังเขปมานำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
- โพรไฟล์ 3 รมต.คมนาคม 'สุริยะ' นำทัพคืนรังรอบ 21 ปี-บิ๊กนักธุรกิจรถไฟฟ้าโผล่คีย์แมน?
- โพรไฟล์ 'เศรษฐา ทวีสิน' ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ประเทศไทย
ต่อไปนี้ เป็นประวัติโดยสังเขป ของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในรัฐบาล 'เศรษฐา 1' ซึ่งหลายคน เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งใหม่เท่านั้น
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ประวัติรองนายกทั้ง 6 คน
1. นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายภูมิธรรม เวชยชัย เกิดวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ชื่อเดิม ธวัชชัย มีชื่อเล่นว่า อ้วน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2518 และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2527 และได้ผ่านการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ในปี พ.ศ. 2547
นายภูมิธรรม เป็นข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 14/2560 เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
นายภูมิธรรมเคยเป็นรองผู้อำนวยการโครงการอาสาสมัคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ต่อมาหันมาทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือชินวัตร ในระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2541
นายภูมิธรรม เริ่มเข้าสู่งานการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ในปี พ.ศ. 2544 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ประจำ รศ.ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และเป็นรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้นำเสนอพระราชกฤษฎีกา ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ให้ยุบเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) โดยให้เหตุผลว่า มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีหนี้สินสะสมกว่า 1,800 ล้านบาท และไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจขนส่งของเอกชน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 นายภูมิธรรมถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ในการประชุมพรรคฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 นายภูมิธรรมได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 100 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
2. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เกิดวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2498 สำเร็จการศึกษาชั้น มศ.3 จากโรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ จังหวัดสุโขทัย จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบการศึกษาจาก ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี พ.ศ. 2521 และ ปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาบริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2538
นายสมศักดิ์สมรสกับนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน มีบุตร - ธิดา 2 คน คือ นางสาวณัฐธิดา เทพสุทิน และ นายเทิดไท เทพสุทิน และดำเนินธุรกิจก่อสร้าง (ห้างหุ้นส่วน สุโขทัย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) และกิจการฟาร์ม (เทิดไทฟาร์ม) ซึ่งหลังจากโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการยุบพรรคไทยรักไทย นายสมศักดิ์กลับมาบริหารเทิดไทฟาร์ม พ.ศ. 2556 ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดสุโขทัย
นายสมศักดิ์เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร หรือ กลุ่มวังน้ำยม และ กลุ่มมัชฌิมาเดิม กลุ่มอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวงนอกจากนี้ยังเป็น กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และอดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม
นายสมศักดิ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของพลเอก สุจินดา คราประยูร ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลชุดต่อมาของชวน หลีกภัย จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาในคณะรัฐมนตรีบรรหารได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเช่นเดิม ต่อเนื่องมาจนกระทั่งรัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และยังได้รับการปรับไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลชวน 2 จากนั้นจึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 โดยให้ภรรยาลงสมัครในระบบเขต และยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2545 แล้วจึงปรับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2546 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา จากนั้นในปี 2548 จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปรับเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสมศักดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อ ‘กลุ่มวังน้ำยม’ อันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรค ในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2548 สมศักดิ์ มีนโยบายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ‘โคล้านตัว’ เป็นนโยบายที่จะทำการแจกโคให้แก่เกษตรกรฟรีทั่วประเทศ และเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ สามารถดำเนินการจัดหาโคได้เพียง 21,684 ตัวเท่านั้น
หลังการรัฐประหารในปี 2549 นายสมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มมัชฌิมา’ ต่อมาในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ก็ยังดำเนินการทางการเมือง ด้วยการนำพาสมาชิกที่เหลือไปสังกัดกับทางพรรคประชาราช โดยที่นางอนงค์วรรณได้เป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา แต่ก็อยู่กับทางพรรคประชาราชได้ไม่นาน
เมื่อนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีความเห็นไม่ลงตัวกับนายเสนาะ เทียนทอง กลุ่มของประชัยและสมศักดิ์จึงได้ไปรวมตัวกันใหม่ ในชื่อ พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยที่นางอนงค์วรรณก็ได้เป็นเลขาธิการพรรคด้วย ต่อมาในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ สส. ในกลุ่มของนายสมศักดิ์ จึงได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย และนายสมศักดิ์ ก็ยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า ‘8ส.+ส.พิเศษ’ อันประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายสุวิทย์ คุณกิตติ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายสนธยา คุณปลื้ม และนายสรอรรถ กลิ่นประทุมส่วน ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 นายสมศักดิ์ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 16
ในปี 2561 นายสมศักดิ์ ได้ระบุจะไม่ทำการยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเท่ากับสิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรค และได้ประกาศเข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองของตนจากกลุ่ม วังน้ำยม หรือ มัชฌิมา เป็น กลุ่มสามมิตร โดยจับมือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการ พรรคไทยรักไทย ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรทำการทาบทามบรรดาอดีต ส.ส. ส.ว. และนักการเมืองท้องถิ่นให้เข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ
กระทั่งวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 นายสมศักดิ์ได้แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และได้ย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง พร้อมอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตหัวหน้ากลุ่มสามมิตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
3. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายปานปรีย์ เกิดวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2500 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท จบด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และปริญญาเอก ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ จาก Claremont Graduate University
นายปานปรีย์เริ่มทำงานเป็นข้าราชการ ที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบาย และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และต่อมาในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ในรัฐบาลพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และในปี พ.ศ.2545 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
จากนั้น ระหว่างปี พ.ศ.2546-2548 ดร.ปานปรีย์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และในปี พ.ศ.2547 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการวางแผน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard จนเป็นผลสำเร็จ
ในปี พ.ศ.2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า ในปี พ.ศ.2551-2553 เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ในปี พ.ศ.2556 นายปานปรีย์ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน นายปานปรีย์เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล เกิดวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2509 ชื่อเล่น หนู เป็นทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจ โดยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 นายอนุทิน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในอดีตยังเคยเป็นนักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย และขณะนั้น นายอนุทิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2547
นายอนุทิน สมรสครั้งแรกกับ นางสนองนุช วัฒนวรางกูร เมื่อ พ.ศ. 2533 และมีบุตร 2 คน คือ นางสาวนัยน์ภัค และ นายเศรณี ชาญวีรกูล ต่อมาใน พ.ศ. 2556 ได้หย่าร้าง และสมรสใหม่กับ นางศศิธร จันทรสมบูรณ์ ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 นายอนุทิน ได้หย่ากับ นางศศิธร และปัจจุบันคบหาดูใจกับ นางสุภานัน นิราษิท หรือ จ๋า ภรรยาคนที่ 3
สำหรับการจากลาหย่าร้างกับ นางศศิธร นั้น นายอนุทิน มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ระหว่าง นายอนุทิน กับนางศศิธร มีการระบุสาระสำคัญว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินฉันสามีภรรยากันอีกต่อไป จึงได้ตกลงหย่าขาดจากกันโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย และยอมรับว่าได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นชื่อของฝ่ายใดหรือก่อนขึ้นโดยฝ่ายใดหมดสิ้นแล้ว
ทั้ง 2 ฝ่ายจึงตกลงทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าแบ่งปันทรัพย์สิน ความรับผิดชอบในหนี้สินโดยระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยา คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีบุตรร่วมกันที่จะต้องใช้อำนาจปกครองแต่อย่างใด จึงตกลงกันว่า ทรัพย์สินที่ นางศศิธร ภรรยาคนที่ 2 ของนายอนุทิน แจ้งต่อกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตกลงให้เงินแก่ นางศศิธร เป็นเงิน 50 ล้านบาท แบ่งจ่าย 5 งวด งวดละ 10 ล้านบาท จ่ายทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2562-2566 อีกทั้งจะมีการจ่ายเงิน 300,000 บาท โอนเข้าบัญชีของภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป และให้สิ้นสุดลงเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงแก่กรรม หรือคู่สัญญาฝ่ายที่สองสมรสใหม่ หรือมีคู่ครองใหม่โดยพฤติกรรม รวมไปถึงชำระเงินค่าเบี้ยประกันสุขภาพรายปีของ นางศศิธร โดยให้สิ้นสุดลงเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงแก่กรรมหรือคู่สัญญาฝ่ายที่สองสมรสใหม่ หรือมีคู่ครองใหม่โดยพฤติกรรม และยังให้เงิน 5 ล้านบาท ช่วยปรับปรุงตกแต่งบ้าน ให้ห้องชุด บ้านไข่มุก คอนโดมิเนียม เนื้อที่ 242 ตารางเมตร ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายอนุทิน เข้าสู่วงการการเมืองเมื่อปีพ.ศ. 2539 โดยรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ประจวบ ไชยสาส์น) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2547) ต่อมาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทย และหลังจากพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นบิดา ที่ย้ายมาจากพรรคพลังประชาชนร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนวิน และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคต่อจากบิดา
จากนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 นายอนุทิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อต่อรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) ซึ่งหลังการเลือกตั้ง นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 2 และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และยังดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขอีกตำแหน่งหนึ่ง
การเลือกตั้งปีพ.ศ. 2566 นายอนุทิน ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และต่อมาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
5. พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เกิดวันที่ 22 มีนาคม 2492 เป็นบุตรคนที่ 3 ของพลตรี ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ กับนางสายสนี วงษ์สุวรรณ มีพี่น้อง 4 คน คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ และ พันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ
จบการศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเตรียมทหาร ปริญญาตรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พลตำรวจเอก พัชรวาท สมรสกับนางสมถวิล วงษ์สุวรรณมีธิดา 2 คนได้แก่ พ.ต.ต. ภญ.พัชรา วงษ์สุวรรณ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลตำรวจ และ ร.ต.อ.หญิง นวพร วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วย นว. (สบ.1) ผบช.สตม.
โดยรับราชการตำรวจ ในตำแหน่ง รอง สว. กองบังคับการการสนับสุนนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, รอง สว. กองทะเบียน แล้วย้ายมาดูงานกำลังพลที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.), สว. ธุรการ กองกำกับการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง, ผกก.5 และ ผกก. 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, ผู้บังคับการกองพลาธิการ กรมตำรวจ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3, ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 35 ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552
พลตำรวจเอก พัชรวาทเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553
นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2549 , กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ทั้งนี้ พลตำรวจเอก พัชรวาท ยังเป็นกรรมการในบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดัง อาทิ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
6. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน
นายพีระพันธุ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
นายพีระพันธุ์มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริงๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551
ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ส่วนจุดพลิกผันทางการเมือง เกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทำการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ ภายหลังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ได้ ส.ส.เพียง 52 ที่นั่ง โดยมีแคนดิเดตร่วมท้าชิงคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายกรณ์ จาติกวณิช นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แต่คนที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายจุรินทร์
ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายพีระพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมีชื่อถูกแต่งตั้งให้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 และย้ายสังกัดเข้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งสร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย ในปี 2563
จากนั้นในเดือนเมษายน 2565 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2565 จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีเป้าหมายคือ จะรวบรวมคนทำงานทั้ง ส.ส. รุ่นใหม่ รุ่นเก่ามารับใช้ประชาชน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565 ก็มีข่าวว่า ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ลอตใหญ่เตรียมเลือดไหลย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และในช่วงปลายเดือนก็มีกระแสข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมจะลา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อมาสังกัดกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นเดียวกัน
@ ประวัติรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2500 เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครของพรรคเพื่อไทย
นางพวงเพ็ชรจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีและชีววิทยา จาก North Texas State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จาก Southeastern Oklahoma State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
นางพวงเพ็ชร เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรก โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเลยเมื่อปี 2538 ต่อมาในปี 2539 นางพวงเพ็ชร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย ซึ่งเป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกของเจ้าตัว
ต่อมาในปี 2548 นางพวงเพ็ชร ย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย พร้อมดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีหลายกระทรวง แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ขึ้น นางพวงเพ็ชร จึงถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในขณะนั้น
ในปี 2556 นางพวงเพ็ชร กลับเข้าสู่วงการการเมืองอีกครั้ง หลังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักษาชาติในปี 2561 พร้อมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ และได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า 'มาดามนครบาล'
@ ประวัติรัฐมนตรีกลาโหม
นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายสุทิน เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2504 ที่อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม นายสุทิน สมรสกับ นางฉวีวรรณ คลังแสง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ มีบุตร 2 คน คือ นายรัฐ คลังแสง (สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย) และนางสาวฐาธิปัตย์ คลังแสง
นายสุทิน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ระดับปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ Doctor of Philosophy Magadh University ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย จากสถาบันพระปกเกล้า
นายสุทิน เข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ 2548 ต่อมาจึงได้มาสมัครในระบบเขตเลือกตั้งที่จังหวัดมหาสารคาม ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
ในปี 2562 นายสุทิน ได้รับเลือกเป็น สส. จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวิปฝ่ายค้าน) โดยเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการทำหน้าที่อภิปรายในสภา ในการตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายครั้ง
เช่น การอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การกล่าวอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 การอภิปรายระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การอภิปรายพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ
ในปี 2563 นายสุทิน คลังแสง ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป 2566 นายสุมินได้รับเลือกตั้งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
@ ประวัติรัฐมนตรีช่วยคลัง
1. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เกิดวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2506 สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย New Haven สหรัฐอเมริกา
หลังจบศึกษาจากสหรัฐก็เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ผ่านงานด้านกฎหมายและวิชาการ โดยช่วงระหว่างปี 2555-2557 เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน กระทรวงการคลัง ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘อธิบดี’ เริ่มจากผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( 4 ก.ค.2557-1 ต.ค.2560 ) , อธิบดีกรมสรรพสามิตประมาณ 1 ปี (1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย.2561) ,อธิบดีกรมศุลกากรประมาณ 2 ปี (1 ต.ค. 2561 – 30 ก.ย.2563 ) และดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตการเป็นข้าราชการก็คือ ‘ปลัดกระทรวงการคลัง’ (1 ต.ค.2563 - 30 ก.ย.2566) ซึ่งจะครบ 3 ปี และเกษียณในวันที่ 30 กันยายน 2566
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้แก่ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , ประธานกรรมการ บริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ,กรรมการกำหนดค่าตอบแทน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) , คณะกรรมการ บริษัทท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
รวมทั้งเป็นประธานคณะกรรมการในหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กองทุนวินาศภัย กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนประกันชีวิต
2. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดเชียงใหม่ เกิดวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2518 เป็นบุตรชายของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี(สมัยนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์) และนางเพ็ชรี อมรวิวัฒน์ นอกจากนี้ เขายังเป็นหลานของพลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
นายจุลพันธ์สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายจุลพันธ์สมรสกับนางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
นายจุลพันธ์ หรือที่รู้จักในนาม ‘สส. หนิม’ อมรวิวัฒน์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ติดต่อกันถึง 5 สมัย โดยเขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในนามพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ โดยสามารถเอาชนะยงยุทธ สุวภาพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น สส.คนเดียวของประชาธิปัตย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 30 ปี
ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 นายจุลพันธ์เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ที่บริเวณสนามโรงเรียนบ้านวังจ๊อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสส.ในนามพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 เขาได้รับตำแหน่ง ‘รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจเป็นพิเศษ
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. 2566 ขณะที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้พรรคคู่แข่งในหลายพื้นที่ นายจุลพันธ์ยังสามารถคว้าชัยชนะอย่างเหนียวแน่น ได้เข้าเป็นสส.ในสภาเป็นสมัยที่ 5 โดยเป็นหนึ่งในสอง สส. จังหวัดเชียงใหม่ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ (อีกคนคือ ศรีโสภา โกฎคำลือ)
@ ประวัติรัฐมนตรีการต่างประเทศ
นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายจักรพงษ์ เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปี2553-2556, 2561- ปัจจุบัน อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(ฝ่ายเศรษฐกิจ) และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายจักรพงษ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการบริหาร จาก มหาวิทยาลัยโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา
@ ประวัติรัฐมนตรีท่องเที่ยว-กีฬา
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล หรือชื่อเล่นว่า ปุ๋งเป็นลูกสาวของ ‘กำนันป้อ’ หรือ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม และ รมช.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจ้าของโรงแป้งเอี่ยมเฮง ในจังหวัดนครราชสีมา และ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารสาวนจังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เคยดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ในช่วงที่พ่อและแม่ลงสนามเข้าสู่การเมือง
เมื่อปี 2562 นายวีรศักดิ์ นำทัพ สส. การเมือง ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทย ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ร่วมงานกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเป็นรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในคณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน
@ ประวัติรัฐมนตรีพม.
นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวราวุธ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2516 เป็นบุตรชายคนเล็กของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางสุวรรณา ศิลปอาชา นายกสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย/กรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีบุตรด้วยกัน 3 คน
นายวราวุธ จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี B.Eng. (Mechanical Engineering) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ประเทศอังกฤษ และระดับปริญญาโท MBA in Finance and Banking มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายวราวุธ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองตามบิดา โดยการเป็น สส.สุพรรณบุรี ในปี 2544, 2548 และ 2550 สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากนั้นในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค และปี 2557 นายวราวุธได้รับการเลือกตั้งเป็นสส.สุพรรณบุรี แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ต่อมาในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสส.แบบบัญชีรายชื่อ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในปี 2566 นายวราวุธ ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่ออีกสมัย และต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอล 'สุพรรณบุรีเอฟซี' สโมสรดังประจำบ้านเกิด และเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
@ ประวัติรัฐมนตรีอุดมศึกษา
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นางสาวนางสาวศุภมาส อิศรภักดี มีชื่อเล่นว่า ผึ้ง เกิดวันที่ 3 เมษายน 2516 สมรสกับ พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ รอง ผบก.ทท.1 มีบุตรด้วยกัน 1 คน นอกจากนี้ทั้งคู่ยังตัดสินใจอุปการะเด็กชายคนหนึ่งไว้
นางสาวนางสาวศุภมาส จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวิศวกรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสาวนางสาวศุภมาส ทํางานบริษัทในเครือ ปตท. เป็นเวลาเกือบ 5 ปี จากนั้นได้ตัดสินใจไปเป็นผู้สมัคร สส. พรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 13 (หลักสี่) พรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 ด้วยอายุ 28 ปี ทั้งที่ลงสมัครครั้งแรก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2554 ได้สมัครลงชิงเก้าอี้ สส. กรุงเทพมหานคร เขต 11 แต่ก็แพ้ให้กับนายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย โดยได้คะแนนไปเป็นอันดับ 3 อย่างไรก็ตามนางสาวศุภมาส ก็ยังได้รับบทบาทสำคัญทางการเมืองภายในพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคภูมิใจไทย
ในการเลือกตั้ง ปี 2557 นางสาวศุภมาส ได้เปลี่ยนจากผู้สมัคร สส.เขต มาเป็น แบบบัญชีรายชื่อ ถูกวางตัวไว้ในอันดับที่ 9 และได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส. บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้รับเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 นางสาวศุภมาส ถูกวางตัวเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ไว้ในลำดับที่ 10 ของพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ยังคงเป็นบุคคลที่มีบทบาทในพรรค โดยช่วงก่อนเลือกตั้งมักติดตามนายอนุทิน ไปภารกิจสำคัญเสมอ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ทางพรรคภูมิใจไทย กลับได้เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อเพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้ นางสาวศุภมาส พลาดเก้าอี้ สส.
@ ประวัติรัฐมนตรี-รัฐมนตรีช่วยเกษตร
1. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร้อยเอก ธรรมนัส เกิดวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (รวมเหล่ารุ่นที่ 2) ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกับพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ปริญญาโทพุทธศาสนมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ประเทศสหรัฐ
ในการศึกษาระดับปริญญาเอก ร้อยเอกธรรมนัสได้ทำวิทยานิพนธ์ชื่อ "The Forms of the Local Performance Development and Promotion with Image and Identity in Order to Increase the Value Added and Value Creation: A Case Study of Phayao Province." (รูปแบบของการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นและการส่งเสริมภาพลักษณ์รวมถึงอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าเชิงการสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา) ร่วมกับคณะอีก 4 คน เผยแพร่ในเว็บไซต์วารสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งยุโรป (European Journal of Scientific Research) เมื่อปี พ.ศ. 2557
ก่อนหน้าที่จะเป็นนักการเมือง ร้อยเอกธรรมนัสเคยเป็นประธานกรรมการบริษัทในเครือธรรมนัสกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ที่สำคัญคือการถือหุ้นใน บจก.รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด ซึ่งมีพลเอกไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท และ หจก.ขวัญฤดี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ นอกจากนี้ร้อยเอกธรรมนัสยังเคยเป็นประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพะเยา
ร้อยเอกธรรมนัสเริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ธรรมนัสได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1 โดยชนะอรุณี ชำนาญยา เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติขับเขา และ ส.ส. อีก 21 คน ออกจากพรรค และในวันที่ 10 มิถุนายน ปีเดียวกัน เขาได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย ให้เป็นหัวหน้าพรรค สืบต่อจากพลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ลาออกไปก่อนหน้านั้น
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เขาได้กลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม สองเดือนต่อมาเขาได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้กลับเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นในวันที่ 1 กันยายนปีเดียวกัน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สองวันถัดมาเขาประกาศลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 4 กันยายน เพื่อแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ
ร้อยเอกธรรมนัส ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 จังหวัดพะเยา สังกัดพรรคพลังประชารัฐ → พรรคเศรษฐกิจไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จังหวัดพะเยา สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
ร้อยเอกธรรมนัส สมรสกับนางอริสรา (หรือธนสร) พรหมเผ่า และใช้ชีวิตคู่ร่วมกับนางธนพร ศรีวิราช เหรัญญิกพรรคเศรษฐกิจไทย และ นางสาวไทยประจำปี 2559 มีบุตร 7 คน ก่อนดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมีทรัพย์สินรวม 866 ล้านบาท และหลังพ้นจากตำแหน่งมีทรัพย์สินรวม 702.92 ล้านบาท
ในเดือนมีนาคม 2564 เขาได้รับพระราชทานกระเช้าของขวัญจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศ ร้อยโท พชร พรหมเผ่า (ชื่อในขณะนั้น) เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ซึ่งต่อมาในโลกโซเชียลต่างแชร์พระบรมราชโองการดังกล่าว ซึ่งต่อมานายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นว่า ส่วนนั้นก็เป็นไปตามระบบราชการ สามารถไปดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่ามีการประกาศพระบรมราชโองการว่าอย่างไร โดยก่อนหน้านั้น ร้อยเอกธรรมนัสเคยถูกปลดออกจากราชการในปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากหนีราชการในเวลาประจำการ แต่ร้อยเอกธรรมนัส ก็ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการใหม่ทั้งสองครั้ง
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562 เฟซบุ๊กเพจ "CSI LA" ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของธรรมนัส ซึ่งระบุในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ว่าแท้จริง ธรรมนัสสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติคาลามัส (Calamus International University) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการยอมรับวุฒิการศึกษาในหลายประเทศ ด้านธรรมนัสได้นำหลักฐานมาแสดงเพื่อตอบโต้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าเว็บไซต์ที่เผยแพร่วิทยานิพนธ์ของธรรมนัสและคณะนั้น ถูกระบุว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่เปิดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยการเก็บค่าตีพิมพ์จากผู้เขียน โดยไม่ได้ให้บริการในการแก้ไขและตีพิมพ์ตามหลักของวารสารวิชาการ และเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว อาจเข้าข่ายการคัดลอกงานวิชาการ
ยังมีรายงานว่า คนใกล้ชิดของธรรมนัสเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัยระหว่างการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย แม้ตัวผู้ช่วยคนดังกล่าวจะแถลงต่อสื่อว่าเขาไม่รู้จักกับศรสุวีร์ ภู่รวีรรัศวัชรี ซึ่งอ้างว่ากักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายหลายล้านชิ้น แม้มีภาพถ่ายออกมาว่าทั้งสองพบกัน
ทั้งนี้ร้อยเอกธรรมนัสยังแต่งตั้งคู่ชีวิตเป็นข้าราชการ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นางธนพร ศรีวิราช อดีตนางสาวไทย คู่ชีวิตของธรรมนัส ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ร้อยเอกธรรมยังมีคดีนำยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลีย โดยเอกสารทางการออสเตรเลียระบุว่าร้อยเอกธรรมนัสขณะใช้ชื่อเดิมถูกพิพากษาจำคุกฐานนำเฮโรอีนน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัมเข้าประเทศออสเตรเลียกับพวกรวม 4 คนเมื่อปี 2536 มีคำพิพากษาในปี 2537 จากนั้นถูกปล่อยตัวหลังรวมเวลาจำคุกได้ 4 ปีและเนรเทศออกนอกประเทศ ศาลยังระบุว่าเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้จัดหาเฮโรอีนในประเทศไทยในการลักลอบนำเข้าประเทศออสเตรเลียด้วย ในปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าธรรมนัสรับว่าตนได้กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียจริง แต่สมาชิกภาพ สส. และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างหลักอธิปไตยทางศาลและหลักต่างตอบแทน
2. นายไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายไชยา พรหมา เกิดวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2503 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรของนายพิจิตร กับนางบัวไหล พรหมา สำเร็จการศึกษา บริหารธุรกิจบัณฑิต (บัญชี) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ด้านครอบครัว สมรสกับนางอัญชลี พรหมา (สกุลเดิม เทือกต๊ะ) มีบุตรสาว 1 คนคือ นางสาวอธิษฐาน พรหมา
นายไชยาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในการเลือกตั้ง มีนาคม พ.ศ. 2535/1 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และ การเลือกตั้ง กันยายน พ.ศ. 2535/2 สังกัด พรรคชาติพัฒนา ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 ได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู สังกัดเดิม และได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคเสรีธรรม ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย นายไชยา จึงย้ายมาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 การเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 (สังกัดพรรคพลังประชาชน) และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้ง ส.ส. 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย
ในปี พ.ศ. 2554 นายไชยา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2562 เป็นประธานกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณและในปี พ.ศ. 2563 ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันพระปกเกล้า
ในปี 2563 นายไชยาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
3. นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอนุชา นาคาศัย มีชื่อเล่นว่า ‘แฮงค์’ เกิดวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2503 ที่ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรของนายสุธน นาคาศัย กับนางสุจิตรา นาคาศัย จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2527 มีน้องชายสอง คนชื่อนายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาทและนายกสมาคมกีฬาชัยนาท และ นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายอนุชา สมรสกับนางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีบุตร-ธิดา 2 คน ปัจจุบันหย่ากับภรรยานางพรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล
นายอนุชา นาคาศัย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคไทยรักไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 นายอนุชา ยังเคยให้การสนับสนุนทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีอดีตภรรยาเป็นเลขาธิการพรรคอีกด้วย
ใน พ.ศ. 2561 นายอนุชาได้ย้ายมาร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ต่อมาในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นายอนุชาได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
@ ประวัติรัฐมนตรี DE
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2503 ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาโท จบด้านสาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นายประเสริฐ เคยดำรงตำแหน่ง สจ.นครราชสีมา 2 สมัย ต่อมาได้เป็น สส.นครราชสีมา พรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ปี 2544, 2548, 2550, 2554, 2562 ร่วม 5 สมัยด้วยกัน
ในปี พ.ศ. 2554 นายประเสริฐ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด ประจำสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในปี พ.ศ. 2563 นายประเสริฐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จนถึงปัจจุบัน
@ ประวัติรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป จำกัด เจ้าของตลาดศรีเมือง ตลาดค้าส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่ ในจังหวัดราชบุรี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนดรุณาราชบุรี ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ในจังหวัดราชบุรี ระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายนภินทร เริ่มก้าวเข้าสู่การเมืองในปี 2543 ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี และในปี 2554-2556 เป็นสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในยุคสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายนภินทร ได้เว้นว่างทางการเมืองเป็นเวลานานถึง 4 ปี โดยกลับไปบริหารธุรกิจครอบครัว ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารตลาดศรีเมือง
จนกระทั่งในปี 2561 นายนภินทร ได้เข้าสมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 และหลังภูมิใจไทย จับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นายนภินทร ก็ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น ซึ่งสังกัดพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกัน
@ ประวัติรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย
1. นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เกิดวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านศิลปศาสตร์ และปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
นายเกรียง มีบุตรสาว 1 คน(เสียชีวิต) และมีบุตรชาย 2 คน คือ วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี และนาย อภิสิทธ์ กัลป์ตินันท์
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยสามารถเอาชนะ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เจ้าพ่ออีสานใต้ในยุคนั้น นับเป็นการโชว์ฝีไม้ลายมือในสนามการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสมัยแรก
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 แต่ได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ และย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ซึ่งนายเกรียงเป็นหนึ่งในนั้น
จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 นายเกรียง นั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 42
ภายหลัง รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ผบ.มทบ. 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เรียก นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายวรสิทธิ์ และนางพิทยา กัลป์ตินันท์ (ภรรยานายวรสิทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี) เข้าพบเพื่อพูดคุยถึงนโยบายเรื่องผู้มีอิทธิพล นายเกรียงลาออกจากพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และเข้าสมัครเป็นสมัครพรรคเพื่อไทยใน วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 10 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในปี 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง
ปี 2566 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ กลับเข้าสภาด้วยการเป็น สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 6 ของพรรคเพื่อไทย
2. นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายทรงศักดิ์ ทองศรี มีชื่อเล่นว่า ป้อม เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2501 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียและระดับปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี ซึ่งในขณะนั้นนายทรงศักดิ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จึงถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปีเช่นเดียวกับคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นอีก 36 คน
นายทรงศักดิ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
นายทรงศักดิ์ เป็นหนึ่งในสมาชิก สส.กลุ่ม 16
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 3 และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 6
ในปี 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
3. นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายชาดา เกิดวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2504 เป็นบุตรของเดชา กับนางปาลี้ ไทยเศรษฐ์ พี่ชายชื่อ ชัยยศ ไทยเศรษฐ์ และน้องสาวชื่อ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายชาดา มีบุตรชายและบุตรสาวทั้งหมด 7 คน เป็นบุตรในสมรส 4 คน และเป็นบุตรนอกสมรสที่รับรองแล้วอีก 3 คน
นายชาดา เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคถิ่นไทย และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ในระหว่างดำรงตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎร นายชาดา ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎร และ กรรมาธิการงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2561 ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี ในปี 2562
@ ประวัติรัฐมนตรียุติธรรม
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง มีชื่อเล่นว่า ฟิล์ม หรือ บิ๊กวี เกิดวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2502 ที่บ้านท่าจันทร์ ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รุ่นที่ 37 และปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พันตำรวจเอกทวี เข้ารับราชการตำรวจเป็นรองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่งเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม และในปี พ.ศ. 2547 ได้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในปี พ.ศ. 2551 แทน สุนัย มโนมัยอุดม
ต่อมาย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี พ.ศ. 2554 ดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2557 จึงถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2561
ในปี พ.ศ. 2561 พันตำรวจเอกทวี ได้เข้าร่วมกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ โดย พันตำรวจเอกทวี รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ของพรรคประชาชาติ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาชาติได้รับที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ พ.ต.อ.ทวี ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคประชาชาติได้ สส.บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง ซึ่ง พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ของพรรคประชาชาติ ทำให้เขาได้รับเลือกตั้ง และต่อมามีการจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2/2566
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยของชุดที่ 26 โดยที่ประชุมมีมติเลือก พันตำรวจเอกทวี อดีตเลขาธิการพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนตำแหน่งเดิมคือเลขาธิการพรรค เป็นของนายซูการ์โน มะทา น้องชายของวันมูหะมัดนอร์
@ ประวัติรัฐมนตรีแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เกิดวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาเป็นบุตรของนายสุทัศน์ และนางกุยเฮียง รัชกิจประการ และเป็นพี่ชายของนายพิบูลย์ รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล สังกัดพรรคภูมิใจไทย สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลา ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงสมรสกับนางนาที รัชกิจประการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย
นายพิพัฒน์ สืบทอดธุรกิจกลุ่มเรือประมงในเขตน่านน้ำอันดามันของครอบครัว ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ พีทีจี เอ็นเนอยี
นายพิพัฒน์ เริ่มต้นงานการเมืองโดยการชักชวนของ วัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งก่อตั้งพรรคมหาชน เมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นกรรมการบริหารพรรค
ในปี พ.ศ. 2562 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ โดยเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายพิพัฒน์ ได้รับโควตาพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกับ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ หลังภริยา นางนาที รัชกิจประการ ถูกตัดสิทธิ์กรณีแจ้งบัญชีเท็จในปี 2562
นอกจากนี้นายพิพัฒน์ยังเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ในปี 2564 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค
@ ประวัติรัฐมนตรีวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เกิดวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรของนายจำรัส กับนางพริ้ง พงษ์พานิช มีพี่น้อง 9 คน หนึ่งในนั้นคือ นายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมรสกับ นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช (อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดขอนแก่น) มีบุตร 3 คน หญิง 2 คน ชาย 1 คน ซึ่งบุตรชายคือ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ
นายเสริมศักดิ์ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) และนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่
- รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยโคสต์ไลน์ สหรัฐอเมริกา
- รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาชนบท) มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในระหว่างรับราชการ ได้เข้ารับการศึกษา อบรมหลักสูตรต่างๆ ได้แก่
- หลักสูตรโรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 18
- หลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 20
- หลักสูตรฝ่ายอำนวยการอาสารักษาดินแดน ชุดที่ 5
- หลักสูตรผู้บริหารระดับ 9 ของกระทรวงมหาดไทย
- หลักสูตรผู้บริหารระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทย
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 39
นายเสริมศักดิ์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และเป็นปลัดอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (ไปแก้ไขปัญหากรณีนายอำเภอคนก่อนเสียชีวิตจากการวางระเบิด ของ ผกค.) นายอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ นายอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี นายอำเภอเมืองราชบุรี และผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดปทุมธานี และตำแหน่งอธิการวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จากนั้นได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น อธิบดีกรมโยธาธิการ และตำแหน่งสุดท้าย คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามชั้นต้น สั่งเพิกถอนคำสั่งที่นายเสริมศักดิ์ แต่งตั้งข้าราชการระดับ 8 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอื้อพวกพ้อง
นายเสริมศักดิ์ เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2548) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และ เสริมศักดิ์ ได้เข้าร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3)
@ ประวัติรัฐมนตรี-รัฐมนตรีช่วยศึกษา
1. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เกิดวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กับ นางละออง ชิดชอบ เป็นพี่ชายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นางอุชษณีย์ ชิดชอบ สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 8
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน จบการศึกษาปริญญาตรีในสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เริ่มเส้นทางตำรวจที่สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ จากนั้นในยุคที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูนเป็นผู้บังคับการกองตรวจราชการ 2 จเรตำรวจ และเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง กทม.แต่ต่อมาในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกย้ายจาก ตม. ไปเป็นอำนวยการจเรตำรวจ
จากนั้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้เป็นจเรตำรวจ (สบ.8) ก่อนขยับมารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฤดูกาลโยกย้ายปี 2562 กระทั่งในปี 2564 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน เกษียณอายุราชการตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเข้าสู่แวดวงการเมือง
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน เป็นที่รู้จักของสังคมจากกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง 'บอส' วรยุทธ อยู่วิทยา ในข้อหาเมาแล้วขับซึ่งทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ลงนามแทน ผบ.ตร. ในการไม่เห็นแย้ง ทำให้คดียุติลงทันที
2. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2519 เป็นบุตรของนาย วีระชัย พันธ์เจริญวรกุล อาชีพรับเหมาก่อสร้าง และนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา มีพี่น้อง 5 คน เช่น นางสมศรี ต้นจรารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลลำตาเสา, นางสาวสุวิมล พันธ์เจริญวรกุล อดีต ส.ส. พระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย และนางสาวนภัสวรรณ พันธ์เจริญวรกุล ภรรยาร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช
นายสุรศักดิ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ประกาศนียบัตรวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา วาสุกรี และ บริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาการจัดการจาก มหาวิทยาลัยรังสิต สมรสกับ นางสาวสุรภา ศิริจินดาชัย
นายสุรศักดิ์เคยเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย เขต1 ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน แทนนางสาวสุวิมล พี่สาว ซึ่งเป็นอดีต สส. พรรคไทยรักไทย
@ ประวัติรัฐมนตรี-รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข
1. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว มีชื่อเล่นว่า ไหล่ เกิดวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ที่ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นบุตรของนายใจ และนางหมาย ศรีแก้ว สำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. 2529 (ร่วมรุ่นกับ นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์) และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2542
นายแพทย์ชลน่านใช้ชีวิตคู่ร่วมกับแพทย์หญิงนวลสกุล บำรุงพงษ์ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรธิดา 2 คน
นายแพทย์ชลน่าน เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ระว่างปี พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2543 ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดน่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย
ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปี พ.ศ. 2548 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยมี ศาสตราจารย์ น.พ สุชัย เจริญรัตนกุล เป็น รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ในรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นอกจากนั้นแล้ว เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในระยะหนึ่งอีกด้วย
ปลายปี พ.ศ. 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายานักการเมือง โดยให้ฉายานายแพทย์ชลน่านเป็น ‘ดาวสภาฯ’ ด้วยบทบาทการอภิปรายโดยมุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทะศิลป์
นายแพทย์ชลน่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อจากสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และเนื่องจากในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในขณะนั้น จึงทำให้เขาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไปโดยปริยาย โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564
หลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2566 ชลน่านเป็นผู้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายเศรษฐา ทวีสิน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และ 22 สิงหาคม ตามลำดับ โดยพิธาได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมติรัฐสภาในสัปดาห์ถัดมา ห้ามการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ ส่วนเศรษฐาได้รับเสียงเห็นชอบเกินเกณฑ์ที่กำหนด และได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม พรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังจากนำพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้สังคมทวงถามสัญญาที่นายแพทย์ชลน่านให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าหากพรรคเพื่อไทยนำทั้ง 2 พรรคเข้าร่วมรัฐบาล จะลาออกจากหัวหน้าพรรค ส่งผลให้แฮชแท็ก #ชลน่านลาออกกี่โมง ติดอันดับในทวิตเตอร์ ต่อมานายแพทย์ชลน่านได้กล่าวว่าตนจะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 น. นายแพทย์ชลน่านได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ได้มีมติเลือกรองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 60 วันคือภายในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566
2. นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายสันติ พร้อมพัฒน์ เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 เป็นบุตรของนายโซกเฮี้ยง แซ่เล้า กับนางซิวแฮ้ แซ่ลิ้ม สมรสกับนางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ (สกุลเดิม ทองแถม) มีบุตรด้วยกัน 2 คน
นายสันติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2545) ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2547) และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 11 (2549-2550)
นายสันติ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ในปี 2552
นายสันติ ประกอบธุรกิจ เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภท พัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) ในปี พ.ศ. 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ จากนั้นได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งและเป็น ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ 2 สมัย คือ ในปี พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539
ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิ สันติ พร้อมพัฒน์
จากนั้นจึงได้ย้ายเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพรรคไทยรักไทย และลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี พ.ศ. 2548 และระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ. 2550 จนกระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นหนึ่งในแนวร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดทางให้มีการเลื่อนบุคคลอื่นขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน กระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 นายสันติได้รับแต่งตั้งให้ปรับไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกเหนือจากการทำงานการเมืองแล้ว นายสันติ พร้อมพัฒน์ ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2540-2543
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 15 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั้งราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายสันติ พร้อมพัฒน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายสันติได้ย้ายมาสังกัด พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับสมาชิกกลุ่มสามมิตรกว่า 60 คน และเขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในปี 2565 ซึ่งในปีต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
@ ประวัติรัฐมนตรีอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล หรือ สส.ปุ้ย เกิดวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ที่ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรสาวของ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล กับ นางสำรวย วิชัยกุล เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
นางสาวพิมพ์ภัทราสมรสกับนายนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน
นางสาวพิมพ์ภัทรา ประกอบธุรกิจบริษัท วอเตอร์เทสท์ จำกัด ต่อมาเข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช แทนบิดาซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ก็ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3 และยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ต่อมาในปี 2563 มีข่าวว่าจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ปฏิเสธ
นางสาวพิมพ์ภัทรา เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่ม กปปส. กระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นางสาวพิมพ์ภัทราได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดเดิมในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ได้รับเลือกตั้งก่อนหน้านั้น และได้รับการเลือกตั้ง โดยเป็น สส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพียงคนเดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งหมดนี้ คือ ประวัติโดยสังเขปของรัฐมนตรีภายใต้การทำงานของครม.ชุดปัจจุบัน เศรษฐา 1 ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมานำเสนอต่อสาธารณชน ณ ที่นี้
ส่วนผลการทำงานนับจากนี้ ใครจะ "โดดเด่น" "ทรงพลัง" "ทรงคุณค่า" หรือ 'โลกลืม'
อีกไม่สังคมคงได้รู้คำตอบกัน