“...ผมมั่นใจมาตลอด ในสิ่งที่ผมทำ คือผมได้เปรียบอย่างหนึ่งคือตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรี เวลาสั่งการอะไรไป ผมเก็บเอกสารไว้ทั้งหมด ดังนั้นเวลามีคนกล่าวหา จึงสามารถเข้าถึงหลักฐานแบบนี้ และสามารถสู้คดีได้...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต. สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท. สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)
สำหรับคำพิพากษาของศาลฯ สรุปได้ว่านายสุเทพไม่มีความผิดเนื่องจากว่าศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่านายสุเทพไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด เนื่องจากเข้าใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณามาดีแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะที่ในฝ่ายของเอกชนผู้ที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวัสดุนั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ตัดสินในคดีนี้ฉบับเต็ม ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.11/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. /2566 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ 1 พลตำรวจเอกปที่ป ตันประเสริฐ ที่ 2 พลตำรวจตรีสัจจะ คชหิรัญ ที่ 3 พันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ ที่ 4 บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ 5 นายวิศณุ วิเศษสิงห์ ที่ 6 จำเลย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 รักษาราชการแทนบัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงิน 6,298,000,000 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดโดยมีจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4
กล่าวคือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ โดยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัด(ตำรวจภูธรภาค และตำรวจภูธรจังหวัด) มติคณะรัฐมนตรีย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีบันทึกขออนุมัติยกเลิกแนวทางการจัดจ้างแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค และ ขออนุมัติประกวดราคาจัดจ้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว จำเลยที่ 1 อนุมัติโดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มีผลทำให้ราคากลางมีวงเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิม 6,100,538,900 บาท และทำให้ไม่สามารถคัดเลือกผู้เสนอราคาเพื่อดำเนินการตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้
เนื่องจากจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 เสนอราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ต่อมาจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ยื่นบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง (Bill of Quantities หรือ BOQ) เสนอราคาของเสาเข็มต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงหน่วยละ 3,840 บาท และต่ำกว่าราคาของกองดัชนีเศษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงหน่วยละ 5,530 บาท จำเลยที่ 3 รับเอกสารของจำเลยที่ ไว้แล้วมอบให้จำเลยที่ 4 โดยไม่นำเสนอบัญชีปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างต่อคณะกรรมการประกวดราคา เป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 ในการคิดคำนวณส่วนต่างกรณีมีงานลดหรืองานเพิ่มจากการตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
วันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เมื่อวันที่ และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์เมื่อวันที่
@ คำพิพากษาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า มติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ได้อนุมัติหลักการซึ่งรวมถึงวิธีการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัดในภูมิภาคด้วย อันมีผลผูกพันให้จำเลยที่ มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 10 กำหนดว่า ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องกำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบหรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจน ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องที่เสนอ ให้ถือว่ามติคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ เห็นชอบ หรือมีมติ แสดงว่ารายละเอียดข้อใดที่มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนย่อมไม่ถือว่ามีผลผูกพัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 3/2552 แล้ว
ไม่มีข้อความระบุอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะต้องดำเนินการโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1- 9) ซึ่งได้ความจากนาย ส. และนาย ธ. อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้าง พยานทั้งสองปากมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนข้อความในมติคณะรัฐมนตรีตอนถัดไปที่ว่า "...โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ" นั้น ย่อมหมายถึงความเห็นที่อยู่ในหน้าที่ของสำนักงบประมาณเท่านั้น นอกจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้ขออนุมัติในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง อันสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 4 ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเอง
@ จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เสนอครม.เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
กรณีรับฟังได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ ไม่รวมถึงวิธีการจัดจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจทบทวนได้ แม้จำเลยที่ 1 จะใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 วันก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฎข้อพิรุธผิดปกติวิสัยส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปมีส่วนริเริ่มหรือใช้ให้เจ้าพนักงานเสนอความเห็นเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าแบบใดต่างก็เลือกดำเนินการได้และมีขั้นตอนประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมได้ ไม่อาจฟังดังที่โจทก์อ้างว่า การรวมการจัดจ้างไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเสมอไป
ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดจำนวน 6,100,538,900 บาท ก็ดี หรือผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ก็ดี ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปรับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์มิได้ไต่สวนและฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดจากข้อทักท้วงของผู้ปฏิบัติงานเองที่เสนอมาตามขั้นตอนปกติตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีการมอบหมายงานตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 579/2552 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 แล้ว โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมาแต่แรก และข้อทักท้วงของเจ้าหน้าที่พัสดุข้อหนึ่งก็สอดคล้องกับที่กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือตอบข้อหารือระบุว่า กรณีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในครั้งเดียวกัน หากไม่มีเหตุผลประการใดที่ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการในครั้งเดียวกันได้แล้วส่วนราชการต้องจัดซื้อหรือจัดจ้างในครั้งเดียวกัน
และเมื่อพิจารณาต่อไปเห็นได้ว่า การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่ 2 นั้นยังคงใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประกวดราคาเช่นเดิมซึ่งจำเลยที่ 1 เคยมีคำสั่งเห็นชอบมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 คงเสนอขอเปลี่ยนแปลงจากการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) มาเป็นการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งวิธีการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ได้เคยมีการศึกษาข้อดีข้อเสียกันมาแล้วตั้งแต่ในคราวก่อน กรณีจึงมีเหตุผลและข้อมูลที่จำเลยที่ 2 จะเสนอให้จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบเช่นเดิม นอกจากนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเห็นชอบแล้วก็ยังต้องมีขั้นตอนการประกาศประกวดราคาต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าได้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกัน 5 ราย และแข่งขันสู้ราคากันถึง 73 ครั้งฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ถึงขั้นใกล้ชิดต่อผลสำเร็จในการกำหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้าหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นได้
เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้กระทำการอื่นใดนอกเหนือจากไปนี้อีก พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินสูงกว่าราคากลางเดิมนั้น ก็เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง และได้ความว่าเหตุที่ราคากลางสูงขึ้นเป็นผลมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้าง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเดิม ราคากลางใหม่มิได้มีผลกระทบทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดส่วนที่ต่อมาผู้เสนอราคาไม่ดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการบริหารสัญญา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) หรือเป็นกรณีเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ตาม ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 คาดเห็นได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นกระทำความผิดตามฟ้องอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ จำเลยที่ 3 และ 4 ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว6 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 เรื่อง การประเมินราคาในงานประกวดราคาจ้างก่อสร้าง เอกสารหมาย จ.116 มิได้มีข้อกำหนดโดยชัดแจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ต้องพิจารณารายละเอียดและราคาต่อหน่วยของวัสดุแต่ละ รายการที่ปรากฏในบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา สำหรับเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เลขที่15/2553 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ คดีนี้เมื่อพิจารณาจากราคารวมแล้วปรากฎว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคารวม เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง จำนวน 540,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.45 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคาต่ำจนถึงขั้นคาดหมายได้ว่าจะไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้
นอกจากนั้น โจทก์คงกล่าวหาว่าบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง ( BOQ) ของจำเลยที่ 5 มีรายการผิดปกติเพียงรายการเดียวคือ รายการเสาเข็มมีราคาต่ำ โดยจำเลยที่ 5 ยื่นเสนอราคาเสาเข็ม ราคาหน่วยละ 2,520 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 6,360 บาทและต่ำกว่าราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 8,050 บาท แต่ข้อนี้ได้ความว่าผู้เสนอราคาสามารถปรับลดราคาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบางรายการลงได้ตามศักยภา พในการบริหารต้นทุนราคา และกำไรของผู้เสนอราคา เพียงแต่จะต้องอยู่ภายในกรอบวงเงินที่เสนอและได้รับการยืนราคาครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 5 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 5 จะปรับลดราคาในส่วนเสาเข็มตอกให้เหลือหน่วยละ 2,520 บาท ได้ อันเป็นวิสัยของการเสนอราคาที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเสรีตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น
อีกทั้งค่างานเสาเข็มเป็นเงินทั้งสิ้น 233,089,387.50 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจ้างตามสัญญาจ้าง จำนวน 5,848,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณอัตราร้อยละ 3.98 ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าลำพัง เฉพาะราคาเสาเข็มรายการเดียวยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องเสนอไม่รับราคารวมทั้งหมดของจำเลยที่ 5 นอกจากนั้นกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องเสนอราคาสูงผิดปกติและรายการเสาเข็มก็ไม่ใช่รายการที่เป็นหัวข้อใหญ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว6 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 เรื่อง การประเมินราคาในงานประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ย่อมไม่มีเหตุที่คณะกรรมการประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 5 มาเจรจาปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างเสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่ก็ไม่มีข้อพิรุธประการใดว่าจะเป็นการปกปิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักค่าเสาเข็มได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริงนั้น ไม่ปรากฏว่าโดยปกติทั่วไปผู้ประกอบการจะคำนึงถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ในชั้นยื่นเสนอราคา จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาวางแผนเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 นอกจากเรื่องราคาเสาเข็มดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่ามีการกำหนดตัวจำเลยที่ 5 ไว้เป็นผู้รับจ้างล่วงหน้า หรือสมรู้ร่วมคิดกันกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโดยเฉพาะเจาะจง อันจะเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ จำเลยที่ 3 และ 4 ไม่ผิดจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 5 และ 6
ปัญหาสุดท้ายว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ซึ่งการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้นจะต้องมีผู้อื่นเป็นตัวการในการกระทำผิด หากเป็นกรณีที่ไม่มีตัวการกระทำผิดในความผิดดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในความผิดนั้น ก็ย่อมไม่มีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน
เมื่อคดีนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่ จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และอุทธรณ์จำเลยที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
พิพากษายืน
*********
@ แนวทางต่อสู้ 'สุเทพ-พวก'
ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ภายหลังฟังคำพิพากษาจากศาลฎีกา ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองในขั้นอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาว่า ตนและจำเลยคนอื่นๆ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้อง ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา ถือว่าคดีนี้สิ้นสุด ใครที่เคยกล่าวหาสงสัยตนมาเป็น 10 ปี วันนี้ก็ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างชัดเจนแล้ว ตนขอใช้โอกาสนี้กราบขอบคุณพี่น้องประชาชน ผู้ที่หวังดีทั้งหลาย คนที่เคารพนับถือที่ให้ความเชื่อมั่นในตัวตนมาโดยตลอด และได้ให้กำลังใจ และที่มาให้กำลังใจที่นี่ในวันนี้ ตนขอกราบขอบคุณ และซาบซึ้งในน้ำใจ
"มีความภาคภูมิใจในชีวิตที่เป็นนักการเมือง ไม่เคยทำทุจริต ไม่เคยทำการคอร์รัปชั่นใดๆ แม้จะถูกรุมใส่ร้าย ด้วยความตั้งใจที่จะเล่นงานตนเอง ท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ก็ได้ให้ความเป็นธรรม สมกับที่เคารพในหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคารพในศาลยุติธรรม"
@ สุเทพ เทือกสุบรรณ
"กรณีนี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย ควรจะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง คนที่ควรจะต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งวันนี้ คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดูข้อเท็จจริงดีทุกอย่าง แต่ก็ยังดำเนินคดีกับผม ทั้งที่ศาลฎีกา แถลงคดีอาญา ตัดสินแล้วว่าไม่มีความผิด ก็ยังยื่นอุทธรณ์อีก จึงอยากให้ทาง ป.ป.ช. พิจารณาตนเอง สร้างความเสียหายให้กับผม ทำให้ผมเดือดร้อนมาเป็น 10 ปี เสียชื่อเสียเสียงไม่รู้เท่าไหร่"
"เรื่องนี้จะเยียวยาหรือไม่ ไม่สนใจ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะไปเรียกร้อง แต่จะปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมาย ถ้ามีช่องทางที่จะดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. ได้ จะดำเนินคดี ไม่ใช่ความโกรธเคืองแต่อย่างใด"
“ผมมั่นใจมาตลอด ในสิ่งที่ผมทำ คือผมได้เปรียบอย่างหนึ่งคือตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรี เวลาสั่งการอะไรไป ผมเก็บเอกสารไว้ทั้งหมด ดังนั้นเวลามีคนกล่าวหา จึงสามารถเข้าถึงหลักฐานแบบนี้ และสามารถสู้คดีได้” นายสุเทพระบุ
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้คดีทุจริตในประเทศไทย ที่ต้องบันทึกไว้อีกหนึ่งคดี
อ่านประกอบ :
- ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ'กับพวก คดีสร้างโรงพักทดแทน
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ' กับพวก คดีสร้างโรงพัก
- เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! คดีสร้างโรงพัก ‘สุเทพ-พล.ต.อ.ปทีป’กับพวก ไม่ผิด