เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯฉบับเต็ม! คดีสร้างโรงพัก ตร. ยกฟ้อง ‘สุเทพ-พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ’ กับพวก พร้อมผู้รับเหมา
วันที่ 20 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาศาลยกฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก รวม 6 คน คดีที่คณะกรรมการป้องกันและและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) จำเลยทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 , พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2 , พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3 , พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4 , บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5 และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6 (คดีหมายเลขแดงที่ อม.21 /2565 วันที่ 20 ก.ย.2565)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เสนอข่าวและสรุปคำพิพากษาตามเอกสารเผยแพร่ของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมารายงานไปก่อนหน้านี้
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ'กับพวก คดีสร้างโรงพักทดแทน
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ' กับพวก คดีสร้างโรงพัก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษาจากทั้งหมด 36 หน้ากระดาษมารายงาน
@คำฟ้อง ป.ป.ช.
โจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ขออนุมัติหลักการในการดำเนินการประกวดราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกแนวทางในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) และอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยไม่ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการ จัดจ้างก่อสร้างโครงการ
จำเลยที่ 1 อนุมัติตามเสนอ ซึ่งการเสนอเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ กระทบต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางที่กำหนดขึ้นหรืองบประมาณที่สูงขึ้นเป็นเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 6,100,538,900 บาท
การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคา กับกรรมการและเลขานุการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างที่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ยื่นว่าถูกต้องครบถ้วนและราคาที่เสนอมีความเหมาะสมหรือไม่
หากไม่ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่เหมาะสมประการใด จะต้องสั่งให้แก้ไขหรือเจรจาต่อรองราคาต่อไปตามเอกสารการประกวดราคาจ้าง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ไม่ตรวจสอบพิจารณาแจ้งหรือนัดหมาย หรือนำเสนอคณะกรรมการประกวดราคาเพื่อพิจารณา ทั้งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ให้ได้รับการคัดเลือก ในการเสนอราคาและเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ในการคิดคำนวณส่วนต่าง กรณีมีงานลดหรืองานเพิ่มจากการตอกเสาเข็มได้ครบจำนวนตามแบบของงานก่อสร้างทั้ง 396 หลัง อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าว
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
อ่านคำวินิจฉัยทีละประเด็น
@ ครม.อนุมัติหลักการจัดสรรงบฯตาม สตช.เสนอ-ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า จําเลยที่ 1 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (1) กําหนดให้ การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้เสนอได้เฉพาะเรื่อง ที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี และ มาตรา 10 กําหนดให้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องกําหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจน ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องที่เสนอ ให้ถือว่ามติของคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันเฉพาะหลักการ แห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ เห็นชอบ หรือมีมติ และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ข้อ 13 กําหนดว่า ในหนังสือนําส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องสรุป เรื่องให้ชัดเจนและครบถ้วน โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสําคัญเป็น (1) เรื่องเดิม (ถ้ามี) ... (9) รายละเอียดที่ประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ให้ความเห็นชอบหรือมีมติ โดยให้ระบุให้ชัดเจนและแยกเป็นข้อ ๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องต่อ คณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 เป็นการกําหนดหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและอํานาจของคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติ
สําหรับการเสนอโครงการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัตินั้น สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีบันทึกข้อความ ที่ 0009.6/0158 ลงวันที่ 9 มกราคม 2552 เอกสารหมาย จ.9 เสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อ้างข้อเท็จจริงตามบันทึกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งบันทึกข้อความดังกล่าวถูกแบ่งเป็น 4 ข้อ กล่าวคือ ข้อ 1 เรื่องเดิม กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 อนุมัติในหลักการให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติและบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จํากัด ร่วมกันดําเนินโครงการก่อสร้าง และแต่งตั้ง คณะทํางานพิจารณาดําเนินโครงการก่อสร้าง ข้อ 2 ข้อเท็จจริง กล่าวถึง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ข้อ 3 ข้อพิจารณา กล่าวถึงสํานักงานตํารวจแห่งชาติรวบรวมข้อมูลโครงการเสนอ เนื่องจากเป็นแนวทางที่เกิด ประโยชน์ต่อทางราชการสูงสุด และยังเป็นการกระจายงานและรายได้รวมสู่ท้องถิ่น เพื่อให้โครงการ ดําเนินการต่อไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ที่ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติศึกษารายละเอียดในการดําเนินโครงการ สํานักงานตํารวจแห่งชาติจึงเสนอขอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามข้อ 3 โดยข้อ 3.1 ระบุว่า อนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนิน โครงการสถานีตํารวจเพื่อประชาชน (ทดแทน) โดยเป็นโครงการผูกพัน 3 ปี ตั้งงบประมาณ 2552 - 2554 ข้อ 3.1.1 ในปีงบประมาณ 2552 การใช้จ่ายงบประมาณให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ปรับแผนงบประมาณซึ่งได้รับจัดสรรในปี 2552 เป็นจํานวนเงิน 5% ของวงเงินก่อสร้างโครงการ ดังกล่าว (จํานวน 332 ล้านบาท) โดยได้จัดลําดับความสําคัญของโครงการ ข้อ 3.1.2 ระบุว่า
สําหรับปีงบประมาณ 2553 และ 2554 ให้สํานักงบประมาณจัดสรรให้ปีละ 47.5% ของ โครงการในแต่ละปี โดยได้จัดลําดับความสําคัญของโครงการ และข้อ 4 ข้อเสนอ กล่าวถึง หากเห็นชอบขอได้โปรดอนุมัติหลักการตามข้อ 3 และนําเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อความตามบันทึกดังกล่าวสํานักงานตํารวจแห่งชาติประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินโครงการสถานีตํารวจเพื่อประชาชน (ทดแทน) โดยเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งงบประมาณปี 2552 ถึง 2554
บ่งชี้ว่า สํานักงานตํารวจแห่งชาติประสงค์ให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จํากัด เสนอ เป็นโดยวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีเท่านั้น แม้บันทึกดังกล่าวมีข้อความในข้อพิจารณา กล่าวถึง สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ดําเนินการรวบรวมข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการ สถานีตํารวจ (ทดแทน) เสนอ เนื่องจากเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อทางราชการสูงสุด และ ยังเป็นการกระจายงานและรายได้ลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้โครงการดังกล่าวดําเนินการต่อไปตามนัย มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผล ประกอบการพิจารณาที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอขออนุมัติเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐ เท่านั้น ประกอบกับระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และ ข้อ 29 กําหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อพิจารณา หนังสือของสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย จ.14 ที่แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ มีข้อความเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีตามเอกสาร หมาย จ.6 หน้า 597 ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานี ตํารวจ (ทดแทน) ... ตามที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอ โดยให้ดําเนินการตามความเห็นของ สํานักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง การปรับปรุง แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในข้อ 1.2 และข้อ 1.6 ตามหนังสือสํานักงบประมาณที่ นร 0704/097 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นว่า เมื่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้วควรดําเนินการรื้อถอน อาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมและดูแลรักษาไปพิจารณาดําเนินการด้วย ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่า ด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 10 กําหนดว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในเรื่องที่เสนอให้ถือว่ามติดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติหรือมีมติ ดังนี้ แสดงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ตามที่ สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอ โดยไม่ได้อนุมัติเกี่ยวกับรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือ วิธีการจัดจ้าง
นอกจากนี้ ยังได้ความจากหนังสือสํานักงบประมาณที่เสนอความเห็นประกอบการ พิจารณาของคณะรัฐมนตรีว่า เห็นควรอนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินโครงการก่อสร้าง อาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) โดยเห็นควรให้ดําเนินการในส่วนที่จําเป็นเร่งด่วนในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2552 – 2554) โดยค่าใช้จ่ายใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เห็นควรให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2552 จากงบดําเนินงานผลผลิต การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาดําเนินการในวงเงินร้อยละ 5 ของ วงเงินค่าก่อสร้างโครงการดังกล่าว จํานวน 333,600,000 บาท งบประมาณส่วนที่เหลือผูกพัน งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และ 2554 โดยเห็นควรให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีเพื่อรองรับค่างานตามสัญญาต่อไป ตามเอกสาร หมาย จ.6 หน้า 557 ถึง 559
ซึ่งทางไต่สวนได้ความจากนางสาวชวนชม กิจพันธ์ ขณะเกิดเหตุ ดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณชํานาญการพิเศษ สํานักงบประมาณ รับผิดชอบจัดทํา และวิเคราะห์งบประมาณของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เบิกความและให้การตามเอกสารหมาย จ.92 หน้า 1545 ถึง 1548 ว่า พยานเป็นผู้ร่างหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0707/085 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 เอกสารหมาย จ.6 หน้า 557 ถึง 559 ให้ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ลงนาม มีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องเดิมตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 และ สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีความเห็นว่าหากมีการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่ ก็จะทําให้โครงการสําเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งข้อความส่วนนี้เป็นข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือของสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่ได้แสดงเหตุผลประกอบเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ และอนุมัติงบประมาณเท่านั้น มิใช่ความเห็นของสํานักงบประมาณ มติคณะรัฐมนตรีที่ว่า โดยให้ ดําเนินการตามความเห็นของสํานักงบประมาณนั้น ความเห็นของสํานักงบประมาณเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินงบประมาณว่าจะใช้วงเงินรวมทั้งหมดเป็นจํานวนเท่าไร ผูกพันงบประมาณข้ามปี 3 ปี อย่างไร ในปี 2552 จะใช้เงินจากที่ไหน ปี 2553 ถึง 2554 สํานักงานตํารวจแห่งชาติต้องขอตั้ง งบประมาณรายจ่ายประจําปีอย่างไร โดยระบุว่าต้องตกลงรายละเอียดกับสํานักงบประมาณและ ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่ หน้าที่ของสํานักงบประมาณ แต่เป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบสํานัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 ที่กําหนดให้ผู้อํานวยการมีอํานาจหน้าที่ เกี่ยวกับงบประมาณเท่านั้น และได้ความจากนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ ขณะเกิดเหตุดํารงตําแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กับนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ขณะเกิดเหตุดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ สํานักพัฒนายุทธศาสตร์และติดตามนโยบายพิเศษ เบิกความและให้การตามเอกสารหมาย จ.66 หน้า 1100 ถึง 1103 และ จ.145 หน้า 3495 ถึง 3504 ทํานองเดียวกันว่า เรื่องที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นเรื่องของการดําเนินโครงการและขอให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเท่านั้น มติคณะรัฐมนตรีไม่รวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วย เพราะ การจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่อํานาจของคณะรัฐมนตรี ส่วนข้อความที่ว่า ทั้งนี้หากมีการกระจายการจัดซื้อ จัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัดตามพื้นที่ที่จะก่อสร้างสถานีตํารวจต่าง ๆ ได้มากเท่าไร ก็จะทําให้โครงการสําเร็จเป็นรูปธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น
ตามบันทึกข้อความสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 เอกสารหมาย จ.8 และหนังสือสํานักงบประมาณ ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 เอกสารหมาย จ.6 หน้า 557 ถึง 559 นั้น เป็นเพียงเหตุผลประกอบเพื่อการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีว่าจะอนุมัติงบประมาณให้หรือไม่ นางสาวชวนชมรับผิดชอบจัดทํา และวิเคราะห์งบประมาณ ส่วนนายสุรชัยและนายธีระพงษ์เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยตรง เชื่อว่าเบิกความและให้การตามความเป็นจริง ทั้งทางไต่สวนยังได้ความว่า หลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) แล้ว สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดําเนินการจัดจ้างโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ตามเอกสารหมาย จ.15 หน้า 815 ถึง 816 สนับสนุนให้เห็นว่าสํานักงานตํารวจแห่งชาติไม่ได้ขออนุมัติรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะรัฐมนตรี
@สุเทพ อนุมัติจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ไม่ผ่านครม. ไม่ผิด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ โครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) เฉพาะเรื่องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐ จากเดิมโดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จํากัด เสนอ เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีตามที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอเท่านั้น โดยไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการจัดจ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และข้อ 29
การที่จําเลยที่ 1 มีอํานาจหน้าที่ในการกํากับทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการของ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ อนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ยกเลิกแนวทางในการจัดจ้างโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) และอนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ดําเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,398,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สํานักงานส่งกําลังบํารุง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกัน ในครั้งเดียว โดยไม่ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีนําเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวอีกครั้ง จึงไม่เป็นการกระทําโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จําเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
@ พล.ต.อ.ปทีป ปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชา
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จําเลยที่ 2 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) โดยวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปี ตามที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติเสนอ ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการ จัดจ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบตามระเบียบสํานัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และข้อ 29 ประกอบกับโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง มีวงเงิน 6,298,000,000 บาท อันเป็นการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป จึงต้องดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 4 วรรคแรก เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ให้จัดหาด้วยวิธีการอื่นได้
ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 พันตํารวจเอกปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองโยธาธิการ (รรท.ผบก.ยธ.) ทําบันทึกข้อความ ยธ. ด่วนที่สุด ที่ 0008.322/393 เรียน ผู้บัญชาการสํานักงานส่งกําลังบํารุง (ผบช.สกบ.) เรื่อง ขออนุมัติหลักการในการดําเนินการประกวดราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอขออนุมัติให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติยกเลิกแนวทาง ในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลางแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) และอนุมัติให้ สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทําการ สถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สํานักงาน ส่งกําลังบํารุง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ขอความเห็นชอบต่อพลตํารวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ ผู้บัญชาการสํานักงานงบประมาณรักษาการ ในตําแหน่งผู้บัญชาการสํานักงานส่งกําลังบํารุง (ผบช.สงป.รกน.ผบช.สกบ.) ตามเอกสารหมาย จ.129 หน้า 2692 ถึง 2697 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 พลตํารวจโทธีรยุทธเห็นชอบตาม เสนอตามเอกสารหมาย จ.129 หน้า 2698 แล้วทําบันทึกข้อความ สกบ. ด่วนที่สุด ที่ 0008.322/183 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เสนอรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจ แห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร) เพื่อเห็นชอบโดยเสนอผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ วันเดียวกัน พลตํารวจโทพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เสนอความเห็นว่า เรียน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นควรดําเนินการตามเสนอสํานักงานส่งกําลังบํารุง และ ลงนามในหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีตามที่ได้แนบมาพร้อมด้วยแล้ว จําเลยที่ 2 ลงนามในวันเดียวกันตามเอกสารหมาย จ.129 หน้า 2779 ถึง 2785 และทําบันทึกข้อความสํานักงาน ตํารวจแห่งชาติ ด่วนที่สุดที่ 0008.322/6847 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 กราบเรียน นายกรัฐมนตรี ขออนุมัติ ข้อ (3) ให้ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ยกเลิกแนวทางในการจัดจ้าง โดยส่วนกลางแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) และอนุมัติให้สํานักงานตํารวจ แห่งชาติ ดําเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สํานักงานส่งกําลังบํารุง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกัน ในครั้งเดียวตามเอกสารหมาย จ.129 หน้า 2786 ถึง 2792 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 จําเลยที่ 1 มีคําสั่งว่า อนุมัติตามข้อ 3 ให้ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) กําชับห้ามซื้อ ทุบทิ้ง อาคารเดิม ให้เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะในอนาคตของบสร้างใหม่ยากตามเอกสารหมาย จ. 129 หน้า 2792 สอดคล้องกับคําเบิกความและคําให้การของพลตํารวจโทธีรยุทธ ตามเอกสาร หมาย จ.67 หน้า 1105 ถึง 1107 และหน้า 1117 ถึง 1129 และคําเบิกความของจําเลยที่ 2 ประกอบกันว่า การเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างมีกระบวนการเริ่มต้นจากกองโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดําเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) และเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ พันตํารวจเอกปัทเมฆ มีหนังสือเสนอพลตํารวจโทธีรยุทธในฐานะ รักษาการผู้บัญชาการ สํานักงานส่งกําลังบํารุง พลตํารวจโทธีรยุทธพิจารณาแล้วเห็นควรใช้วิธีการ จัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางครั้งเดียวเสนอราคาครั้งเดียวซึ่งเป็นวิธีการจัดจ้างที่ถูกต้อง และเป็น วิธีการจัดจ้างที่คณะกรรมการซึ่งมีพลตํารวจโทพงศพัศเป็นประธานมีความเห็นว่าสามารถ ดําเนินการได้ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกอบกับ
พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2553 เป็นโครงการเดียวผูกพัน งบประมาณ 3 ปี การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างดังกล่าวเป็นการดําเนินการตามขั้นตอนปกติของ การจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่พัสดุ ไม่มีใครสั่งการให้ทําการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง ผู้ปฏิบัติ ยืนยันว่าไม่สามารถดําเนินการตามแนวทางเดิมได้ หากดําเนินการตามแนวทางเดิมอาจก่อให้เกิดปัญหา พลตํารวจโทธีรยุทธจึงนําปัญหาเรียนแก่จําเลยที่ 2 พร้อมทั้งนําเจ้าหน้าที่พัสดุไปชี้แจงถึง เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างในประเด็นต่าง ๆ ทั้งข้อกฎหมาย ทางปฏิบัติ ข้อดี และข้อเสียแล้ว ได้ความว่า วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่อนุมัติไว้เดิมมีปัญหา 3 เรื่อง ปัญหาเรื่องที่ 1 เกี่ยวกับกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็น ราคาภาค (ภาค 1 - 9) แต่ตามร่างขอบเขตของงาน (TOR) ตามเอกสารหมาย จ.129 หน้า 2739 ถึง 2756 กําหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาในแต่ละภาคไว้แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นการจัดจ้าง ก่อสร้างอาคารแบบเดียวกันทั้ง 3 ขนาด (ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่) จํานวน 396 หลัง จึงอาจทําให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเสนอราคาระหว่างผู้มีสิทธิเสนอราคา อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และหากจะกําหนดให้คุณสมบัติของผู้เสนอราคาทุกภาคเหมือนกันก็ไม่สามารถ กระทําได้เช่นกันเนื่องจากแต่ละภาคมีจํานวนอาคารไม่เท่ากัน และขนาดอาคารไม่เท่ากัน จึงทําให้ วงเงินรวมแต่ละภาคไม่เท่ากัน ปัญหาเรื่องที่ 2 เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ การเสนอราคาเป็นรายภาค แต่ละภาคใช้เวลาเสนอราคา 30 นาที เมื่อสิ้นสุดการเสนอราคา แต่ละภาคจะหยุดพักเพื่อทดสอบ ระบบ 15 นาที สําหรับการเสนอราคาครั้งต่อไป จึงอาจทําให้เกิดปัญหาเรื่องการรักษาความลับ เปิดโอกาสให้มีการสมยอมกันด้านราคา หากจะแก้ไขโดยให้เสนอราคาในเวลาเดียวกันทั้ง 9 ภาค โดยไม่ต้องหยุดพักเพื่อทดสอบระบบ สํานักงานตํารวจแห่งชาติจะต้องจัดห้องให้ครบตามจํานวน ผู้เข้าเสนอราคาทั้ง 9 ภาค และหากการประกวดราคาของภาคใดภาคหนึ่งมีปัญหา หรือไม่สามารถ ดําเนินการประกวดราคาได้ ก็ยังเป็นปัญหาว่าสํานักงานตํารวจแห่งชาติจะต้องยกเลิกการประกวดราคาเฉพาะภาคนั้น หรือจะต้องยกเลิกการประกวดราคาทั้งหมด และปัญหาเรื่องที่ 3 เกี่ยวกับ งบประมาณ
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง เป็น โครงการเดียว ผูกพันงบประมาณ 3 ปี แต่ตามร่างขอบเขตงาน (TOR) แบ่งงบประมาณรวมทั้ง โครงการออกเป็น 9 กอง แต่ไม่ได้แบ่งงบประมาณผูกพันในแต่ละปีออกเป็น 9 กอง จะทําให้เกิด ปัญหาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณผูกพันของแต่ละสัญญาในแต่ละปี เพราะไม่มีวงเงินงบประมาณ ผูกพันสําหรับแต่ละสัญญาไว้ หลังจากประชุมหารือได้ข้อสรุปดังกล่าวและจําเลยที่ 2 เห็นด้วยว่า มีความจําเป็นตามที่เสนอแล้ว พลตํารวจโทธีรยุทธจึงจัดทําบันทึกเสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการ จัดจ้างมาเพื่อพิจารณาตามลําดับชั้น ดังนี้ เห็นได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง ได้รับการพิจารณาเหตุผลความจําเป็น โดยมีมูลเหตุข้อขัดข้องในทางกฎหมาย แล้วเสนอขึ้นมา ตามลําดับบังคับบัญชา ซึ่งผู้บังคับบัญชาในแต่ละลําดับชั้น รวมทั้งพลตํารวจโทธีรยุทธ และ พลตํารวจโทพงศพัศต่างพิจารณาให้ความเห็นขอบโดยให้ดําเนินการตามที่สํานักงานส่งกําลังบํารุง เสนอ โดยพลตํารวจโทพงศพัศเคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดําเนินการจัดจ้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้พิจารณา ข้อดีข้อเสีย 4 แนวทาง อันรวมถึงแนวทางวิธีการจัดจ้างที่เสนอมาใหม่ในครั้งนี้ด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ ๒ ใช้อํานาจครอบงําสั่งการให้มีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง หรือมีพฤติการณ์ ที่มิชอบแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ใช้ดุลพินิจให้ความ เห็นชอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และข้อ 29 ทั้งการกําหนดรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง และวิธีการจัดจ้าง มิใช่เรื่องที่ต้องเสนอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาดังวินิจฉัยข้างต้น แม้จําเลยที่ 2 ขออนุมัติต่อจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กํากับดูแล สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ให้ยกเลิกแนวทางการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานี ตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง โดยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการครั้งเดียวแยกการ เสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) เป็นการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทําการ สถานีตํารวจ (ทดแทน) ดังกล่าว ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีกองโยธาธิการ สํานักงาน ส่งกําลังบํารุง สํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยไม่เสนอให้นายกรัฐมนตรีนําเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจําเลยที่ 1 เคยอนุมัติวิธีการจัดจ้างตามที่พลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติในขณะนั้นเสนอมาก่อนแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.17 การเสนอดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชา เท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจําเลยที่ 1 จะอนุมัติตามที่จําเลยที่ 2 เสนอหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบ ของจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ดังนี้ การกระทําของจําเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทําโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จําเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
@พล.ต.ต.สัจจะ-พ.ต.ท.สุริยา –ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารู้มีฮั้วประกวดราคา
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทําความผิด ตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคาโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง วงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจําเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 เป็นกรรมการและเลขานุการ จําเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549ระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกาศสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เรื่อง ประกาศ ประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 และเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ตามเอกสารหมาย จ.42 หน้า 915 ถึง 927 ซึ่งระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 11 (5) กําหนดว่า คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ดูแลการเสนอราคา ทุกขั้นตอนที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของตนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เป็นธรรม และต้องวาง มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตและการสมยอมในด้านราคา ไม่ว่าของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้มีสิทธิ เสนอราคา ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเอกสารประกวดราคา ข้อ 4.2 กําหนดว่า ผู้เสนอ ราคาจะต้องกรอกปริมาณวัสดุในบัญชีรายการก่อสร้างให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการประกวด ราคาและผู้เสนอราคาได้ยืนยันราคาครั้งสุดท้ายตามข้อ\ 4.7 (7) แล้ว ผู้เสนอราคาที่ชนะ การประกวดราคาจะต้องจัดทําบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน โดยวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 เป็นวันเสนอราคา
ซึ่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จําเลยที่ 5 จัดทําบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง ราคารวม 5,848,000,000 บาท เอกสารหมาย จ.125 ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้ จําเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในระยะเวลาที่กําหนด โดยวันสุดท้ายที่ยื่นได้คือวันที่ 1 สิงหาคม 2553 ตรงกับวันอาทิตย์ จึงยื่นในวันทําการถัดไปได้ จําเลยที่ 3และที่ 4 จึงมีหน้าที่ต้องนําบัญชีแสดง ปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างของจําเลยที่ 5 เสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา ตามเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ข้อ 4.2 แต่จําเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นําบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและ ราคาในการก่อสร้างดังกล่าวเสนอคณะกรรมการประกวดราคา โดยรายการในส่วนของงานฐานราก ที่เสนอราคาเสาเข็มตอกรูปสี่เหลี่ยมตัน ขนาด 0.30 X0.30 x 21 เมตร ราคาหน่วยละ 2,520 บาท ตามเอกสารหมาย จ.125 มีราคาต่ำกว่าราคากลางของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่กําหนดราคาไว้หน่วยละ 6,360 บาท ตามเอกสารหมาย จ.122 และต่ำกว่าราคาของกองดัชนี เศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กําหนดราคาไว้หน่วย 8,050 ตามเอกสารหมาย จ.121 ซึ่งเอกสารการประกวดราคาฯ ข้อ 6.1กําหนดว่า สํานักงานตํารวจแห่งชาติจะพิจารณา ตัดสินด้วยราคารวม และข้อ6.5 วรรคสองกําหนดว่า ในกรณีที่ผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอราคาต่ำ จนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดําเนินงานตามสัญญาได้ คณะกรรมการประกวดราคา หรือสํานักงาน ตํารวจแห่งชาติจะให้ผู้เสนอราคานั้นชี้แจงและแสดงหลักฐานที่ทําให้เชื่อได้ว่า ผู้เสนอราคาสามารถ ดําเนินงานตามการประกวดราคาจ้างฯ ให้เสร็จสมบูรณ์ หากคําชี้แจงไม่เป็นที่รับฟังได้ สํานักงาน ตํารวจแห่งชาติมีสิทธิที่จะไม่รับราคาของผู้เสนอราคารายนั้น ดังนั้น ราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่า ไม่อาจดําเนินงานตามสัญญาได้จึงต้องพิจารณาจากราคารวมเป็นสําคัญ การพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคาจึงต้องพิจารณาในภาพรวมตามความเหมาะสมและอยู่ภายในวงเงิน ที่จําเลยที่ 5 เสนอราคา และภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากราชการ ซึ่งสอดคล้องกับ ที่นายลิขิต อุไรรางกูล นักวิชาการคลังชํานาญการ กรมบัญชีกลาง เบิกความว่า ราคากลางของวัสดุ จะมีทุกรายการ แต่ละรายการจะมีการคํานวณราคาสินค้าที่เป็นส่วนเพิ่ม ได้แก่ ต้นทุน พร้อม ค่าภาษีที่เกี่ยวข้อง และกําไร ซึ่งกําหนดรวมไว้ในอัตราร้อยละ 20 ถึง 25 ผู้เสนอราคาจึงสามารถ ลดส่วนกําไรในส่วนนี้เพื่อสามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาได้ ส่วนการพิจารณาความแตกต่างด้านราคา ให้ดูภาพรวม มิใช่ดูแต่ละรายการ หากมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ผู้เสนอราคาต้องจัดทํา รายการราคาตามลําดับวัสดุเป็นลําดับไป ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับลดราคาเพื่อให้เกิดความสมดุลและให้ราคารวมตามบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างอยู่ที่ราคาที่ประมูลงาน มาได้ ประกอบกับทางไต่สวนได้ความว่า เกี่ยวกับงานฐานรากของอาคาร รายการวิศวกรรมโยธา ประกอบแบบกําหนดว่า อาคารสถานีตํารวจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ งานฐานรากของ อาคาร มีแบบการใช้ 3 แบบ แบบที่ 1 ฐานรากแบบตอกเสาเข็ม แบบที่ 2 ฐานรากแบบเสาเข็ม เจาะ และแบบที่ 3 ฐานรากแบบไม่ตอกเสาเข็ม โดยให้มีขนาดและความยาวและคุณสมบัติตามที่ กําหนด อาคารทั้ง 3 ขนาดในเบื้องต้นกําหนดให้ใช้ฐานรากแบบที่ 1 เพื่อให้ผู้รับจ้างใช้ประกอบการ เสนอราคาต่อทางราชการ เมื่อวิศวกรผู้ออกแบบได้ตรวจสอบรายงานผลการเจาะสํารวจดินได้ข้อมูล เป็นที่แน่ชัดแล้ว จะกําหนดแบบของการใช้ฐานรากที่เหมาะสมให้ต่อไป โดยหากแบบการใช้ฐานราก ที่ให้ผู้รับจ้างใช้จริงนี้ แตกต่างกับแบบการใช้ฐานรากที่ผู้รับจ้างใข้เสนอราคาต่อทางราชการ
เมื่อเปรียบเทียบราคาส่วนต่างของค่าก่อสร้างแล้วมีค่างานตามสัญญาลดลง ผู้รับจ้างยินยอมให้ ทางราชการหักคืนเงินตามค่างานที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้เสนอไว้กับทางราชการตามส่วน ตามเอกสารหมาย ล.3/17 เห็นได้ว่าเมื่อวิศวกรสํารวจพื้นที่แล้วเปลี่ยนรูปแบบเสาเข็ม จึงไม่จําต้อง ใช้เสาเข็มฐานรากแบบที่ 1 เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการคํานวณราคาวัสดุเพื่อเสนอราคา การกําหนดราคาเสาเข็มต่อหน่วย จึงเป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างต้องไปบริหารต้นทุนและกําไรของตน เพื่อให้ไม่เกิน ไปกว่าราคาที่ได้รับการยืนยันราคาครั้งสุดท้าย และที่โจทก์ฟ้องว่า การกระทําของจําเลยที่ 3 และ ที่ 4 เป็นเหตุให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติหักค่าเสาเข็มได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริง ทําให้จําเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับประโยชน์จากการถูกหักเงินค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนน้อยกว่าราคาตามท้องตลาด หรือราคาที่แท้จริง เป็นเหตุให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติและราชการได้รับความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง นั้น เห็นว่า การหักค่าเสาเข็มเป็นเรื่องที่ต้องกําหนดไว้ในสัญญาจ้างว่า หากมีงานเพิ่มหรืองานลด จากที่กําหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้ว คู่สัญญาจะตกลงให้ใช้อัตราค่าจ้างใดคิดคํานวณในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงและให้คิดคํานวณอย่างไร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่แยกต่างหากจากขั้นตอนการประกวด ราคาจ้างและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกวดราคา ทั้งอยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติตาม สัญญาจ้างยากที่คณะกรรมการประกวดราคาผู้พิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างเบื้องต้นจะคาดการณ์ได้ จึงไม่อาจนํามาเชื่อมโยงเป็นความเสียหายในประการที่น่าจะเกิดจากการกระทําของจําเลยที่ 3 และ ที่ 4 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ราคารวมที่จําเลยที่ 5 เสนอต่ำกว่าราคากลาง 540,000,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.45 ไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่กําหนดไว้ในมาตรการป้องกันหรือ ลดโอกาสการสมยอมกันเสนอราคาตามมติคณะรัฐมนตรี เอกสารหมาย ล.5/1 ที่จะต้องจัดทําบันทึกคําชี้แจงส่งให้สํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถือว่าไม่ใช่ราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจ ดําเนินงานตามสัญญาได้ และบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างระบุราคารวมไม่เกิน ราคารวมที่จําเลยที่ 5 เสนอยืนราคาครั้งสุดท้าย
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าการที่ จําเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นําเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างเสนอให้ คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณาความเหมาะสมของราคาต่อหน่วยในแต่ละรายการ ย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 กระทําการ ดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสําหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทําของจําเลยที่ 3 และ ที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 เมื่อทางไต่สวน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 รู้หรือควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนี้มีการกระทําความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกระทําโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้ออํานวยแก่จําเลยที่ 5 เข้าทําการเสนอราคา การกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และ มาตรา 12 เช่นกัน
@ บ.พีซีซีฯ-กก.ผู้จัดการ ไม่ผิดข้อหาสนับสนุน จนท.ทุจริต
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จําเลยที่ 5 และที่ 6 กระทําความผิด ตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนจําเลยที่ 3 และที่ 4 ใน การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทําความผิดดังวินิจฉัย ข้างต้น จึงฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดจําเลยที่ 3 และที่ 4 จําเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง และองค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า กรณีไม่จําต้อง วินิจฉัยข้อต่อสู้อื่นของจําเลยที่ 2 ถึงที่ 6 อีก เพราะไม่มีผลทําให้คําพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ
- ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ'กับพวก คดีสร้างโรงพักทดแทน
- ศาลฎีกานัด ‘สุเทพ-ปทีป’ พิพากษา คดีก่อสร้างโรงพัก
- 'สุเทพ-พล.ต.อ.ปทีป'ถูกฟ้องผิด ม.157 คดีโรงพักทดแทน ศาลพิจารณานัดแรก 17 ก.พ.65
- มติทางการ!ป.ป.ช.ฟัน‘สุเทพ-ปทีป’คดีโรงพัก-แฟลต เสียหาย 5.7 พันล.-ดาบ ตร.เรียกเงิน 91 ล.
- พลิกคำชี้แจง‘สุเทพ’อนุมัติสร้างโรงพัก 5.8 พันล. ผ่าน ผบ.ตร.3 ยุค ทำตาม กม.
- เปิดคำสั่งตั้ง กก.ไต่สวนคดีโรงพัก 396 แห่ง ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย-นายพล ตร. 6
- พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3
- เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’
- หลักฐานสำคัญ! หนังสือ ‘สุภา’ ติง 4 ข้อปมก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง
- ปมโรงพัก 396 แห่ง ผู้ชนะต่ำกว่าราคากลาง 450 ล.-ทำสัญญาหลังประกวด 8 เดือน
- เผยโฉมสัญญารับเหมาโรงพัก 396 แห่ง จ่ายเงินล่วงหน้า 877.2 ล.
- เปิดคำชี้แจงผู้แทน สตช. เปลี่ยนวิธีจ้างโรงพัก 396 แห่ง ยุคปทีป - สุเทพ เห็นชอบ
- เปิดสถานะ ผู้รับเหมาโรงพัก 396 หลัง คู่สัญญารัฐหมื่นล. ล่าสุดเหลือรายได้ 14.2 ล.