"...การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาศาลยกฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก รวม 6 คน คดีที่คณะกรรมการป้องกันและและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)
จำเลยทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 , พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2 , พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3 , พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4 , บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5 และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษา มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.23/2564 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก รวม 6 คน จำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
ย้อนที่มาคำฟ้อง
โดยโจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ขออนุมัติหลักการในการดำเนินการประกวดราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกแนวทางในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) และอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยไม่ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการ จัดจ้างก่อสร้างโครงการ
จำเลยที่ 1 อนุมัติตามเสนอ ซึ่งการเสนอเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ กระทบต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางที่กำหนดขึ้นหรืองบประมาณที่สูงขึ้นเป็นเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 6,100,538,900 บาท
การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคา กับกรรมการและเลขานุการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างที่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ยื่นว่าถูกต้องครบถ้วนและราคาที่เสนอมีความเหมาะสมหรือไม่
หากไม่ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่เหมาะสมประการใด จะต้องสั่งให้แก้ไขหรือเจรจาต่อรองราคาต่อไปตามเอกสารการประกวดราคาจ้าง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ไม่ตรวจสอบพิจารณาแจ้งหรือนัดหมาย หรือนำเสนอคณะกรรมการประกวดราคาเพื่อพิจารณา ทั้งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ให้ได้รับการคัดเลือก ในการเสนอราคาและเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ในการคิดคำนวณส่วนต่าง กรณีมีงานลดหรืองานเพิ่มจากการตอกเสาเข็มได้ครบจำนวนตามแบบของงานก่อสร้างทั้ง 396 หลัง อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าว
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
‘สุเทพ’กำกับดูแลทั่วไป ไม่ถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (1) และมาตรา 10 กับระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ข้อ 13 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณา และอำนาจของ ครม.ในการอนุมัติ ประกอบบันทึกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 9 ม.ค.2552 ที่อ้างข้อเท็จจริงตามบันทึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 11 พ.ย.2551 เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม. ขออนุมัติให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้ ครม.อนุมัติ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินโครงการสถานีตำรวจเพื่อประชาชน
(ทดแทน) โดยเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งงบประมาณปี 2552-2554 ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาและระเบียบดังกล่าว
นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสงค์ขอเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และข้อ 29
กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ที่ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ...ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552 เรื่อง การปรับปรุง แก้ไขมติ ครม.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ ในข้อ 1.2 และ ข้อ 1.6 ตามหนังสือสำนักงบประมาณที่ นร 0704/097 ลงวันที่ 28 พ.ย.2551 ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้ว
ควรดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแชมและดูแลรักษาไปพิจารณาดำเนินการด้วย
เป็นการอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) เฉพาะเรื่องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากเดิม โดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เสนอ เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเท่านั้น ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้างแนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ไม่ปรากฎ ‘พล.ต.อ.ปทีป’ ใช้อำนาจครอบงำสั่งการ
ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างได้รับการพิจารณา เหตุผลความจำเป็นโดยมีมูลเหตุข้อขัดข้องในทางกฎหมาย แล้วเสนอขึ้นมาตามลำดับบังคับบัญชาจนถึงจำเลยที่ 2 โดยผู้บังคับบัญชาในแต่ละลำดับชั้น รวมทั้งพลตำรวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ เจ้าหน้าที่พัสดุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโทพงศพัศ พงษ์เจริญ ต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยให้ดำเนินการตามที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงเสนอ
ซึ่งพลตำรวจโทพงศพัศเคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทาง
ดำเนินการจัดจ้างที่เคยพิจารณาข้อดีข้อเสียของแนวทางวิธีการจัดจ้างที่เสนอมาใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่อาจเป็นไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้มีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างหรือมีพฤติการณ์ที่มิชอบแต่อย่างใด
แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลพินิจให้
ความเห็นชอบการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และ ข้อ 29 แล้ว ทั้งการกำหนดรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง และวิธีการจัดจ้าง มิใช่เรื่องที่ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา แม้จำเลยที่ 2 ขออนุมัติต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องแก่ ครม.ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เคยอนุมัติวิธีการจัดจ้างตามที่ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเสนอมาก่อนแล้ว การเสนอดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชาเท่านั้น
ซึ่งไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะอนุมัติตามที่จำเลยที่ 2 เสนอหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ไม่ปรากฏ ‘พล.ต.ต.สัจจะ-พ.ต.ท.สุริยา’ แสวงหาประโยชน์
จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคา และจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการและเลขานุการฯ โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ประกาศประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 29 มิ.ย.2553 และเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 24 มิ.ย.2553
เมื่อจำเลยที่ 5 จัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง ( Bill of Quantities หรือ BOQ) ราคารวม 5,848,000,000 บาท ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในระยะเวลา
ที่กำหนด จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีหน้าที่ต้องนำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างของจำเลยที่ 5 เสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา
แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างดังกล่าวเสนอคณะกรรมการประกวดราคา โดยรายการในส่วนของงานฐานรากที่เสนอราคาเสาเข็มตอกรูปสี่เหลี่ยมตัน ขนาด 0.30 x 0.30 x 21 เมตร มีราคาต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้
เมื่อพิจารณาเอกสารการประกดราคา ข้อ 6.1 และข้อ 6.5 วรรคสอง แล้วเห็นได้ว่าราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ ต้องพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ การพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคา จึงต้องพิจารณาในภาพรวมตามความเหมาะสมและอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 5 เสนอราคา และภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากราชการ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอต่ำกว่าราคากลาง 540,000,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.45 ไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันหรือลดโอกาสการสมยอมกันเสนอราคาตามมติ ครม. ที่จะต้องจัดทำบันทึกคำชี้แจงส่งให้สำนักงานตรวจ เงินแผ่นดิน ถือว่าไม่ใช่ราคาต่ำเกินสมควรจนคาดหมายไม่ได้ว่าอาจดำเนินงานตามสัญญาได้ และบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างระบุราคารวมไม่เกินราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอยืนราคาครั้งสุดท้าย
พฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้หรือควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนี้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 เข้าทำการเสนอราคา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ด้วย
จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดจำเลยที่ 3-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ
- ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 'สุเทพ'กับพวก คดีสร้างโรงพักทดแทน
- ศาลฎีกานัด ‘สุเทพ-ปทีป’ พิพากษา คดีก่อสร้างโรงพัก
- 'สุเทพ-พล.ต.อ.ปทีป'ถูกฟ้องผิด ม.157 คดีโรงพักทดแทน ศาลพิจารณานัดแรก 17 ก.พ.65
- มติทางการ!ป.ป.ช.ฟัน‘สุเทพ-ปทีป’คดีโรงพัก-แฟลต เสียหาย 5.7 พันล.-ดาบ ตร.เรียกเงิน 91 ล.
- พลิกคำชี้แจง‘สุเทพ’อนุมัติสร้างโรงพัก 5.8 พันล. ผ่าน ผบ.ตร.3 ยุค ทำตาม กม.
- เปิดคำสั่งตั้ง กก.ไต่สวนคดีโรงพัก 396 แห่ง ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย-นายพล ตร. 6
- พลิกคดีโรงพักฉาวในมือ ป.ป.ช. สูญเสียพันล. 5ปียังไร้บทสรุป-‘สุเทพ’ แจงหน 3
- เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’
- หลักฐานสำคัญ! หนังสือ ‘สุภา’ ติง 4 ข้อปมก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง
- ปมโรงพัก 396 แห่ง ผู้ชนะต่ำกว่าราคากลาง 450 ล.-ทำสัญญาหลังประกวด 8 เดือน
- เผยโฉมสัญญารับเหมาโรงพัก 396 แห่ง จ่ายเงินล่วงหน้า 877.2 ล.
- เปิดคำชี้แจงผู้แทน สตช. เปลี่ยนวิธีจ้างโรงพัก 396 แห่ง ยุคปทีป - สุเทพ เห็นชอบ
- เปิดสถานะ ผู้รับเหมาโรงพัก 396 หลัง คู่สัญญารัฐหมื่นล. ล่าสุดเหลือรายได้ 14.2 ล.