ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยืน ยกฟ้องสุเทพ-พร้อมจำเลยรวม 6 ราย คดีโรงพัก-แฟลตตำรวจ หลังพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง-เจ้าตัวชี้ 'ทักษิณ' ทำถูกแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต. สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท. สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)
สำหรับคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค. สรุปได้ว่านายสุเทพไม่มีความผิดเนื่องจากว่าศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่านายสุเทพไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด เนื่องจากเข้าใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณามาดีแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะที่ในฝ่ายของเอกชนผู้ที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวัสดุนั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
โดยรายละเอียดคำพิพากษาระบุว่าองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์โจทก์ จำเลยเห็นว่า จำเลยที่ 1 นายสุเทพ รองนายกฯในขณะนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติลงบันทึกข้อความเสนอต่อนายกฯและคณะรัฐมนตรีในโครงการจัดสร้างโรงพักทดแทนฯ โดยให้คำนึงถึงความเห็นของสำนักงบประมาณและมติครม. ที่ผ่านมาการที่จำเลยอนุมัติรวมสัญญาครั้งเดียวโดยไม่ได้นำเสนอต่อ ครม. ย่อมมีประเด็นพิจารณาว่ามติครม.ครั้งที่ 7/2552 ได้อนุมัติโดยกำหนดให้จำเลยต้องเสนออนุมัติโดยแก้ไขหรือไม่ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าว มีข้อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีมติให้ชัดเจน แต่ไม่มีข้อความระบุชัดเจนถึงการจัดซื้อจัดจ้างว่าให้ดำเนินการอย่างไรมติดังกล่าวเพียงเก่าแต่เรื่องการหรือถอนโครงสร้างเดิมและการผูกพันงบประมาณข้ามปีเท่านั้นโดยมีพยานที่เกี่ยวข้องทั้งสองปากเบิกความยืนยันน่าเชื่อถือว่ามติครม. ไม่ได้ระบุถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยกำหนดให้เป็นเรื่องของหน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อีกทั้งสำนักงบประมาณก็มีหนังสือยืนยันความเห็นควรอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอภายในกรอบ6.6พันล้านบาท ผูกพันงบประมาณ3 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2554 ดังนั้นข้อความตามมติครม. ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอ แม้จำเลยที่ 1 เคยเสนอให้กระจายสัญญาเป็นรายภาคแต่ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอรวมไว้ที่ส่วนกลางกรณีจึงเป็นอำนาจของจำเลยที่1 ที่อนุมัติได้เองและไม่พบข้อเท็จจริงข้อพิรุธที่จำเลยที่1 จะเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่อนุมัติเพราะเชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบถูกต้องเหมาะสมแล้ว กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าการรวมสัญญาไม่ทำให้การเสนอราคาไม่เป็นธรรมเสมอไปส่วนผู้ก่อสร้างที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปด้วยว่าเป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่หนึ่งในการอนุมัติโดยไม่เสนอ ครม.การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่2 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่2ต้องปฏิบัติตามมติครม. จำเลยที่2เสนอการจัดจ้างต้องประกาศราคาในครั้งเดียว โดยใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเป็นธรรมแม้สอตอชอจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่สองแต่ก็ยังมีการใช้ประกวดราคาเช่นเดิมแค่เปลี่ยนจากปลายภาคเป็นรวมกันครั้งเดียวซึ่งมีการศึกษาข้อดีข้อเสียมาแล้วกรณีจึงมีเหตุผลในการที่เสนอวิธีเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะเสนอเพียงหนึ่งวันก่อนอนุมัติก็ไม่ถือเป็นพิรุธ และไม่ปรากฏว่าการเสนอดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝงข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่2 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ในส่วนจำเลยที่3-4องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ซึ่งตามมติสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุไม่ได้มีข้อกำหนดใดชัดแจ้ง แม้ จำเลยที่5 จะเสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาทแต่กรณีไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่5 เสนอราคาต่ำจนก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากผู้เสนอราคาสามารถปรับลดบริหารได้ การที่จำเลยที่5 เสนอเสาเข็มถูกกว่าราคาตลาดมากรายการเดียว จำเลยที่5 ก็มีธุรกิจเสาเข็มดูแล้วจึงสามารถปรับลดราคาสินค้าบางอย่างได้ เพื่อให้เสนอราคาอย่างเสรีลำพังการที่ราคาเสาเข็มราคาต่ำกว่าราคาทั่วไปมาก ไม่เป็นเหตุที่จำเลยที่จำเลยที่ 3-4 จะไม่รับการประกวดราคาของจำเลยที่4-5 และไม่ถึงกับเป็นเหตุสำคัญที่ต้องเรียกจำเลยที่5 มาตรวจสอบถึงเรื่องราคาเสาเข็ม และไม่มีข้อพิรุธว่าเป็นกรณีการปกปิดข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่3-4 กระทำโดยทุจริตฯ พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่3-4 กระทำผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่5-6 เมื่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1-4 การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องวินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่5-6เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยมาเเล้ว
องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่1-6
ซึ่งคำพิพากษาสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดยกฟ้องจำเลยทั้งหก
สำหรับที่ไปที่มาของคดีนี้ ป.ป.ช. โจทก์ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552 - 18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว
และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมา จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด
@สุเทพชี้ทักษิณทำถูกแล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้าที่นายสุเทพจะเข้าฟังคำพิพากษา นายสุเทพได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับมาประเทศไทยว่า เป็นสิ่งที่ดีที่นายทักษิณคิดได้ และตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ผมกับคุณทักษิณอายุเท่ากัน เกิดปีเดียวกันเดือนเดียวกันห่างกัน 19 วัน เราก็ทำงานการเมืองเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผมเคารพในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคารพในอำนาจตุลาการ เคารพในระบบศาลยุติธรรม พวกผมเวลาถูกดำเนินคดี ข้อหาหนักกว่าคุณทักษิณ คุณทักษิณตอนนั้น ตอนที่คนเสื้อแดงโดนข้อหาก่อการร้าย ซึ่งนายชัยเกษมเป็นคนสั่งฟ้อง ส่วนตนและพวกก็โดนฟ้องไปนอนคุกมาแล้ว เราเลือกที่จะปฏิบัติตามและเคารพกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสิ่งที่พูดนี้ไม่ได้เป็นการไปยกตนข่มท่าน เพียงแต่จะบอกกับคุณทักษิณว่าคิดถูกแล้วที่ตัดสินใจกลับมาประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผมไม่มีความโกรธเคืองชิงชัง เป็นการส่วนตัว
เพียงแต่ผมและพี่น้องประชาชน กปปส.ในคราวนั้น มองว่าคุณทักษิณใช้อำนาจโดยมิชอบ ด้วยกฏหมายและมีการทุจริตคอรัปชั่น เราจึงออกมาต่อต้านทำหน้าที่ของประชาชน เดินขบวนต่อต้านระบอบทักษิณเพราะเห็นว่าระบอบทักษิณไม่เคารพระบบประชาธิปไตยหรือไม่เคารพหลักการที่แท้จริงของระบบประชาธิปไตย” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า วันนี้คงไม่ได้เจอกับนายทักษิณที่ศาลเพราะว่ามีการแยกห้องพิจารณากัน แต่ถึงไม่เจอก็ถือโอกาสนี้ บอกว่านายทักษิณคิดถูกแล้วที่เคารพระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเคารพกระบวนการยุติธรรม
“ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข มีเงินเป็นแสนล้าน หรือล้านๆ ก็ไม่มีความสุข” นายสุเทพ อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามว่า มีกระแสหรือการจับตามองว่านายทักษิณ อาจไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแต่เชื่อมั่นในขั้วอำนาจที่จะมาอยู่ในมือของตัวเอง จึงกลับมาในช่วงนี้
นายสุเทพ กล่าวว่า เราเห็นสถานการณ์ของประเทศในช่วงนี้ ทุกฝ่ายพยายามมองโลกในแง่ดี มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ส่วนความเป็นจริงอะไรจะเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของพวกเราคนไทยที่ต้องแก้ไข
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า วันนี้ก็มองในแง่ดีว่าหลังจากที่นายทักษิณหนีคดีไปเกือบ 20 ปี แล้วตัดสินใจกลับมา ยืนยันคำเดิมว่านายทักษิณคิดถูก ส่วนตัวไม่มีความสงสัยว่านายทักษิณกลับมาเพราะเหตุผลอะไร แต่ว่าถ้านายทักษิณมาแล้ว"ระบอบทักษิณ" ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก คงจะมีประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่ เหมือนก่อนหน้านี้