"...ผู้อํานวยการเขต (ซึ่งหมายถึงจําเลยที่ 1) กล่าวว่า "ปกตินี่นะ โดยปกติน้อยอ่ะ น้อย เราก็เคยทํามาหลายทัวร์นะ ไม่ใช่ไม่เคยทํา ก็อย่างนี้ก็เคยจัดไม่ใช่ไม่เคยจัด อย่างนี้เขาจะจัดได้ เยอะกว่านี้ พูดถึงว่าโดยปกติเขาจัดให้ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 15 นะ พูดตรง ๆ นะ”...และยังกล่าวอีกว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่เรียกว่า 15 เปอร์เซ็นต์นะ มันต้องสอง สอง และก็ สก. ต้องดูแล เค้าไปสิบ...และเราเก็บไว้สิบ เราก็มีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ แต่นี่คุณมาจัดอย่างนี้ สก ก็ได้แค่ 5 และก็จัดซื้อของเครื่องใช้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เราว่ามัน......คุณลองไปจัดที่อื่นดูสิ เฉพาะส.ก. นะ ไม่คิดถึงเขตนะ...”
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นกับการกระทําของจําเลยที่ 2 ที่เรียกรับเงินจากนาย ก. 15 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากทางราชการในส่วนค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่พัก และค่าจ้างเหมารถยนต์
การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้
ในการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดการพิจารณาพยานเอกสารหลักฐานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก่อนจะมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ จำคุก คนละ 5 ปี นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ จำเลยที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร นายชยุตพงศ์ เปียสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตคลองสาน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีกล่าวหาเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้บริษัท เจซีทัวร์ จำกัด ได้เข้าเป็นผู้รับจ้างเหมางานโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชน ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 149 และ มาตรา 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบัน พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ) ตอนที่แล้ว ซึ่งมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ นาย ว. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และ นาย ส. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในขณะนั้น ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ดำเนินการฝาก ให้บริษัท เจซีทัวร์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้ประสานงานดําเนินโครงการเพื่อประสานในส่วนของค่าอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่ม และที่พัก ด้วย
ก่อนที่จะเกิดปัญหาการเรียกรับเงินจํานวน 15 เปอร์เซ็นต์ และมีการไปขอเรียกเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงมีการยกเลิกงานโครงการฯ ในเวลาต่อมา
- คุกคนละ 5 ปี! อดีตผอ.เขตคลองสาน กทม.- พวก เรียกสินบนจ้างจัดสัมมนาดูงาน
- พลิกปูม! คดีอดีต ผอ.เขตคลองสาน - พวก เรียกสินบน 3.5 แสน โดนคุกคนละ 5 ปี
- ขอ15%-แบ่งจ่าย2ครั้ง! พฤติการณ์ อดีต ผอ.เขตคลองสาน-พวก คดีเรียกสินบน โดนคุกคนละ 5 ปี (1)
- สส.-ส.ก.ปริศนาโผล่ฝากงานให้เอกชน! (2) พฤติการณ์อดีตผอ.เขตคลองสาน-พวก คดีเรียกสินบน
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลรายละเอียดการพิจารณาพยานเอกสารหลักฐานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางส่วนที่เหลือ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคลิปเสียงบทสนทนาการเรียกรับเงินที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดีด้วย
ปรากฏรายละเอียดดังนี้
ในคำพิพากษาของศาลฯ ส่วนนี้ ระบุว่า สําหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะดําเนินโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชน รุ่นที่ 1 ที่โรงแรมเอกไพลิน ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 นั้น
@ เรียกไปพบ ขอเพิ่มอีก 5 %
ศาลฯ ได้ความตามที่ นาย ก. ให้ถ้อยคําต่อคณะพนักงานไต่สวนและบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงว่า ช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว พยานได้รับแจ้งจาก นางสาว ว. ว่าของรางวัลที่ใช้แจกชาวบ้านมีน้อยไม่พอแจกและขอเงินเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 20 เปอร์เซ็นต์
ต่อมาช่วงเย็นมีการจัดเลี้ยงสัมมนาที่ห้องจัดเลี้ยงของโรงแรม จําเลยทั้งสอง ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงด้วยเวลาประมาณ 21 นาฬิกา พยานและนางสาว พ. ไปพบจําเลยทั้งสองเพื่อสอบถามการเรียกเงินเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์
จําเลยทั้งสองแจ้งว่า ปกติเค้าจัดให้กัน 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 15 เปอร์เซ็นต์ และยืนยันว่าต้องจ่ายเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์
พยานและนางสาว พ. จึงแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวให้ได้ ซึ่งตรงกับที่นางสาว ว. ให้ถ้อยคําต่อคณะพนักงานไต่สวนและและบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงว่า ขณะมีการดําเนินโครงการในรุ่นที่ 1 จําเลยที่ 2 โทรศัพท์มาแจ้งว่าจําเลยที่ 1 ให้ขอรางวัลเพิ่มอีก 3 ถึง 5 ชิ้น
พยานจึงเดินไปหา นายก ก. และนางสาว พ. เพื่อต่อโทรศัพท์ให้จําเลยที่ 2 คุยกับนางสาว พ.
หลังจากคุยโทรศัพท์แล้วนางสาว พ. แจ้งพยานว่า ไม่สามารถจัดหาของรางวัลเพิ่มให้ได้
@ เปิดคำให้การมัคคุเทศก์อิสระ
นอกจากนี้ ยังได้ความจากนางสาว ส. ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์อิสระที่ได้รับการชักชวนจากนาย ก. ให้มาร่วมทํางานในโครงการสัมมนาศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชนดังกล่าวที่ให้ถ้อยคำต่อคณะพนักงานไต่สวน ว่า พยานทําหน้าที่มัคคุเทศก์ในโครงการสัมมนาศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2556 ของสํานักงานเขตคลองสาน รวม 2 รุ่น
ส่วนรุ่นที่เหลือได้ยกเลิกไป
โดยนาย ก. แจ้งว่าได้จ่ายเงินสินบนให้จําเลยที่ 1 จํานวน 15 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณโครงการดังกล่าว หลังจากดําเนินโครงการไป 2 รุ่น มีการเรียกเงินเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 20 เปอร์เซ็นต์
แต่นาย ก. ไม่สามารถจ่ายเงินที่เรียกเพิ่มได้ เนื่องจากจะทําให้ขาดทุน
@ เสียงคลิปเสียงมัด ปกติจัดให้ 20 %
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนาย ก. นางสาว พ. นางสาว ว. และนางสาว ส. ประกอบรายงานเรื่องร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่สํานักงานเขตคลองสานเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนจากการให้เป็นผู้รับงานจ้างเหมาโครงการค่าใช้จ่ายในการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พบว่าคณะกรรมาธิการป้องกันและการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรสรุปเฉพาะเนื้อหาที่นาย ก. และนางสาว พ. พูดคุยกับจําเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556
ตอนหนึ่งว่า
ผู้อํานวยการเขต (ซึ่งหมายถึงจําเลยที่ 1) กล่าวว่า "ปกตินี่นะ โดยปกติน้อยอ่ะ น้อย เราก็เคยทํามาหลายทัวร์นะ ไม่ใช่ไม่เคยทํา ก็อย่างนี้ก็เคยจัดไม่ใช่ไม่เคยจัด อย่างนี้เขาจะจัดได้ เยอะกว่านี้ พูดถึงว่าโดยปกติเขาจัดให้ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 15 นะ พูดตรง ๆ นะ”
และยังกล่าวอีกว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่เรียกว่า 15 เปอร์เซ็นต์นะ มันต้องสอง สอง และก็ สก. ต้องดูแล เค้าไปสิบ
และเราเก็บไว้สิบ เราก็มีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ แต่นี่คุณมาจัดอย่างนี้ ส.ก. ก็ได้แค่ 5 และก็จัดซื้อของเครื่องใช้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เราว่ามัน......คุณลองไปจัดที่อื่นดูสิ เฉพาะสก. นะ ไม่คิดถึงเขตนะ”
ซึ่งรายละเอียดของการสนทนาดังกล่าว นางสาว พ. ให้ถ้อยคําต่อคณะพนักงานไต่สวนรับว่า พยานกับนางสาว ส. เป็นผู้บันทึกเสียงสนทนาดังกล่าว
เนื่องจากในการคุยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการมีข้อปลีกย่อยมาก เกรงว่าจะไม่สามารถบันทึกหรือจดจําไม่หมด จึงได้บันทึกเสียงการสนทนาไว้ ไม่มีเจตนาที่จะนําคลิปเสียงที่อัดไว้มาเป็นพยานหลักฐาน
แต่เมื่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎรเรียกให้ไปให้ถ้อยคํา จึงได้มอบคลิปเสียงพร้อมกับบันทึกเอกสารที่ถอดข้อความสนทนาดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร
ย่อมมีน้ำหนักสนับสนุนให้เห็นว่า จําเลยทั้งสองได้พูดคุยกับนาย ก. และนางสาว พ. เกี่ยวกับการเรียกรับเงิน 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 และเรียกเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ดังที่โจทก์ฟ้องจริง
@ เป็นการกระทำผิด ตามมาตรา 149
การกระทําของจําเลยทั้งสอง จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือ มิชอบด้วยหน้าที่
เมื่อการกระทําของจําเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วกรณีไม่จําเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก
@ ข้ออ้างเงินวางหลักประกันฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จําเลยทั้งสองอ้างว่าไม่ได้เรียกรับเงินจากนาย ก. 15 เปอร์เซ็นต์ ของยอดเงินที่นาย ก. ได้รับจ้างเหมาดําเนินการในส่วนค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก และค่าจ้างเหมารถยนต์เป็นเงิน 355,650 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้ให้นาย ก. เข้ามาเป็นผู้ประสานงานโครงการดังกล่าว แต่เงินจํานวนดังกล่าวเป็นกรณีที่นาย ก. วางหลักประกันเพื่อป้องกันไม่ให้กรุงเทพมหานครเสียประโยชน์หรือเสียหายจากกรณีที่นาย ก. ทิ้งงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงทําความตกลงให้นาย ก.วางหลักประกันการทํางานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของวงเงินค่าจ้างนั้น
เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกฎข้อบัญญัติหรือหลักฐานให้ผู้รับจ้างเหมาต้องวางหลักประกัน เมื่อจําเลยทั้งสองอ้างว่านาย ก. เข้ามาเป็นผู้ประสานโครงการเฉพาะค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก และค่าจ้างเหมารถยนต์ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ฝากมาเป็นจัดการในเรื่องดังกล่าว
กรณีจึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องให้นาย ก. นําเงินมาวางเป็นหลักประกัน
เพราะผู้ที่ฝากนาย ก. มารับเหมาจ้างในโครงการดังกล่าวเป็นนักการเมืองซึ่งมีความน่าเชื่อถือ มิฉะนั้นจําเลยทั้งสองคงไม่ยินยอมให้นาย ก. เข้ามารับจ้างเหมาในโครงการดังกล่าว ทั้งยังอาจปฏิเสธเสียได้และสามารถให้เจ้าหน้าที่ในฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังเช่นในปีที่ผ่านๆ มา
ที่จําเลยทั้งสองอ้างว่าในช่วงเวลาดังกล่าวฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมมีงานในโครงการที่จะต้องทําจํานวนมาก เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ดูสมเหตุสมผลเท่านั้นแต่ไม่สามารถรับฟังเป็นความจริงได้
@ หากไม่ถูกเรียกเงินคงไม่ถูกร้องเรียน
ส่วนที่จําเลยทั้งสองอ้างว่าไม่ได้เรียกรับเงินจากนาย ก. เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2556 นั้น เห็นว่า หากจําเลยทั้งสองไม่ได้เรียกเงินจากนาย ก. เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ นาย ก. คงไม่ไปร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังที่ปรากฏในบันทึกค่าให้การของนางสาว ส. และคงไม่เป็นมูลเหตุให้จําเลยที่ 2 เสนอเรื่องต่อจําเลยที่ 1 เพื่อยกเลิกการดําเนินโครงการในรุ่นต่อ ๆ ไปที่เหลือ
แต่หากนาย ก. ยอมให้เงินเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์แก่จําเลยทั้งสอง หรือหากไม่มีการเรียกเงินเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว การสัมมนาในโครงการนั้นย่อมดําเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น
เมื่อการยกเลิกโครงการโดยไม่ปรากฏเหตุเป็นอย่างอื่นนอกจากเรื่องดังกล่าว ย่อมสนับสนุนให้ฟังได้ว่าจําเลยทั้งสองเรียกรับเงินจาก นาย ก. เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์จริงข้ออ้างของจําเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น และที่จําเลยทั้งสอง อ้างทํานองว่าหากจําเลยที่ 2 มีเจตนาเรียกรับเงินจากนาย ก. คงต้องทําในที่ลับและไม่ให้บุคคลอื่นล่วงรู้ ทั้งคงไม่ให้นางสาว ว. จัดทําใบแสดงรายละเอียดงบประมาณการรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานมัดตนในภายหลังได้นั้น
เห็นว่า การจัดทําโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชนปี พ.ศ. 2556 มีที่มาตามที่จําเลยทั้งสองชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่ากรณีสํานักงานเขตคลองสานมอบหมายให้บริษัทเจซีทัวร์ จํากัด โดยนาย ก. เป็นผู้ดําเนินโครงการนั้น
สืบเนื่องจากนาย ส. สมาชิกสภา กรุงเทพมหานครขณะนั้น โทรศัพท์มาแจ้งว่านาย ว. ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น ฝากประสานให้นาย ก.มารับงานในโครงการนี้ ต่อมานาย ก. เข้ามาพบจําเลยที่ 2 เพื่อขอรับงานโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชนดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อจําเลยทั้งสองทราบมาแต่แรกว่าการรับงานจ้างเหมาโครงการดังกล่าว มีนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติฝากนาย ก. มาเป็นผู้ดําเนินโครงการ
@ ชี้วิธีหลบเลี่ยง กลัวคู่สัญญามาขอเงินคืน
จําเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าหากเรียกรับเงินจากนาย ก. เพื่อเป็นการตอบแทนให้เป็นผู้รับงาน อาจถูกสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเป็นหลักฐานเอาผิดกับตนได้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจคาดหมายได้เช่นนั้น
จําต้องวางแผนจัดทําหลักฐานการรับเงินขึ้นมาในรูปของไปแสดงรายละเอียดงบประมาณ โดยให้นางสาว ว. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการเข้ามารับรู้และจัดทําเอกสาร พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ เป็นผู้รับเงินและให้นาย ก.ลงลายมือชื่อเป็นผู้จ่ายเงิน เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในภายหลังหากมีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้น ซึ่งหากเงินที่นาย ก. มอบให้จําเลยที่ 2 นั้นเป็นเงินที่จําเลยทั้งสองอ้างว่าเป็น การวางหลักประกันในการทํางาน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะระบุชื่อในเอกสารนั้นว่าใบแสดงรายละเอียดงบประมาณคงต้องระบุให้ชัดเจนว่า เป็นเงินวางหลักประกันการทํางาน ดังที่ปรากฏในแบบของเอกสารประกอบการทําสัญญาจ้างทั่วไป ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า หาจําต้องทําให้ซับซ้อนและตีความเป็นอย่างอื่น
แต่กระนั้นหากจําเลยทั้งสองจะจัดทําเอกสารโดยระบุว่าเป็นเงินที่วางเพื่อเป็นหลักประกันการทํางานก็เกรงว่าอาจจะเป็นหลักฐานให้นาย ก. ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทําของยกขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อขอรับเงินคืนได้
จึงต้องใช้วิธีหลบเลี่ยงการกระทําผิดดังกล่าว
ข้ออ้างของจําเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลยทั้งสอง จึงต้องให้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยทั้งสอง
@ บทสรุปคำพิพากษา
พิพากษาว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทําของจําเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินสําหรับ ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
จําคุกคนละ 5 ปี
คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
************
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลรายละเอียดการพิจารณาพยานเอกสารหลักฐานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางส่วนที่เหลือ ก่อนจะมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ จำคุก คนละ 5 ปี นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ และ นายชยุตพงศ์ เปียสวัสดิ์ โดยไม่รอลงอาญา ในคดีกล่าวหาเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้บริษัท เจซีทัวร์ จำกัด ได้เข้าเป็นผู้รับจ้างเหมางานโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชน ปี พ.ศ. 2556 ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนออย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติ เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
ถ้าฝ่ายจำเลย ไม่อุทธรณ์สู้ คดีก็คงเป็นที่สิ้นสุด
แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง ไม่ให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป