"...ในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อมูลปรากฏว่า หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ยอมรับว่า ได้ลงนามเพื่อรับเงินจากบริษัททัวร์ จำนวนกว่า 350,000 บาทจริง โดยอ้างว่า เป็นเงินค่าค้ำประกันที่บริษัทจ่ายให้สำนักเขตล่วงหน้า เพื่อเอาไปสำรองจ่ายในกิจกรรมที่จัดขึ้น..."
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุกคนละ 5 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ตัดสินลงโทษในคดีกล่าวหา นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตคลองสาน สังกัดกรุงเทพมหานคร กับพวก คือ นายชยุตพงศ์ เปียสวัสดิ์ เรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้บริษัท เจซีทัวร์ จำกัด ได้เข้าเป็นผู้รับจ้างเหมางานโครงการสัมมนาและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชน ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 149 และ มาตรา 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบัน พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ ในการเผยแพร่ข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ยังมิได้มีการเปิดเผยรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองมากนัก
แต่สำนักข่าวอิศราสืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า คดีนี้เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่ ในช่วงเดือนมีนาคม 2556 โดยคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ที่มีพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีมีผู้กล่าวอ้างว่า ผู้อำนวยการเขตคลองสาน และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน เรียกรับสินบนเป็นเงิน 350,000 บาท จากบริษัททัวร์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงาน โครงการจัดสัมมนาของสำนักเขตคลองสาน และมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูล
โดยในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อมูลปรากฏว่า หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ยอมรับว่า ได้ลงนามเพื่อรับเงินจากบริษัททัวร์ จำนวนกว่า 350,000 บาทจริง โดยอ้างว่า เป็นเงินค่าค้ำประกันที่บริษัทจ่ายให้สำนักเขตล่วงหน้า เพื่อเอาไปสำรองจ่ายในกิจกรรมที่จัดขึ้น
แต่คณะกรรมาธิการฯพบความผิดปกติหลายประเด็น เช่น เสียงสนทนาจากเครื่องบันทึกเสียงที่มีคำว่า "15 เปอร์เซนต์" และพยานบุคคลอีก 4 ปาก รวมทั้ง การส่งเงินจำนวนดังกล่าว เข้าสำนักการคลังย้อนหลัง ในช่วงการตรวจสอบเรื่องนี้
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเชิญนายชยุตพงศ์ เปียสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตคลองสาน เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย โดยกมธ. ได้ซักถาม เกี่ยวกับเอกสารค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานและการเรียกเก็บเงินประกันว่ามีจุดพิรุธ หลายอย่าง และมีเอกสารในการเบิกจ่ายหรือไม่ มีใบเสร็จย้อนหลังหรือไม่ และผู้ประสานงานที่อ้างนายชยุตพงศ์ อ้างถึง มีรายได้จากตรงไหน และได้ขอคำยืนยันจากนายชยุตพงศ์ ว่า เอกสารที่นำมาแสดงต่อกมธ.เป็นเอกสารจริง และมีการเซ็นรับรองหรือไม่ เพราะหากเอกสารเป็นเท็จ จะโดนข้อหาจำคุก 7 ปี และจำนวนเงินประกัน 15 % ที่เรียกเก็บกับผู้ประสานงาน เรียกเก็บเพราะอะไร และทำไมต้องเอาเงินประกันไปหักภาษี ณ ที่จ่าย และทำไมต้องจ่ายเงินให้ผู้ประสานงาน และมอบอำนาจให้มากขนาดนั้น ทั้งที่เป็นเอกชน
ขณะที่นายชยุตพงศ์ ชี้แจงว่ายืนยันว่า เอกสารที่นำมา เป็นของจริง และได้เซ็นชื่อกำกับไว้แล้ว ส่วนเอกสารย้อนหลังไม่มี เพราะไม่ได้เก็บไว้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้ประสานงานเป็นคนไปจ่าย และแต่ละโครงการจะมีเจ้าหน้าที่รับไป ส่วนเงิน 15 % ยึดไว้เพื่อ เป็นเงินหลักประกันความเสียหาย และเงินก็ได้เก็บไว้ที่คลังเขตและยังอยู่ครบ ยังไม่มีการเบิกจ่าย ส่วนที่จ่ายไปก็ได้สำรองจ่ายไปก่อน
ขณะที่ นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ผู้อำนวยเขตคลองสาน เคยยืนยันเรื่องนี้ต่อสาธารณะว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจผิด พร้อมยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ใช่การเรียกรับสินบน แต่เงินจำนวนดังกล่าว ทางบริษัททัวร์วางค้ำประกันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดงาน โดยบริษัททัวร์รับผิดชอบดูแลด้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมด 180 คน ส่วนตัวเลขที่กล่าวอ้างว่า ได้เรียกรับสินบนร้อยละ 15 ข้อเท็จจริงคือ ขอให้บริษัททัวร์จัดหาของขวัญเพิ่มจาก 10 เป็น 15 ชิ้น เพื่อนำมาให้ผู้เข้าอบรมเท่านั้น
ก่อนที่กรุงเทพมหานคร จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการ
หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
จนกระทั่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ข้อมูลผลคำตัดสินคดีนี้ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นทางการตามข่าวที่เสนอไปข้างต้น
กล่าวสำหรับ นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการเขตคลองเตย ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 จากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4786/2561 แต่งตั้งให้เป็นเป็นผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561
สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติ เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
ถ้าฝ่ายจำเลย ไม่อุทธรณ์สู้ คดีก็คงเป็นที่สิ้นสุด
แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง ไม่ให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน