"....ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม ของศาลฎีกา ที่พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 9 ปี นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กรณีถูกกล่าวหาดำเนินงานโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองหาดใหญ่ ‘พระพุทธมงคลมหาราช’ ของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อปี 2547 เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำผิดหลายกรรม และริบเงินที่เกี่ยวข้องในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนที่ขาดไปจำนวน 14,500,000 บาท ปิดฉากคดีสำคัญ ที่ใช้เวลาการต่อสู้มายาวนานถึง 3 ศาล รวมถึงชีวิตเส้นทางการเมืองของ นายไพร พัฒโน นักการเมืองชื่อดังในภาคใต้ ด้วย..."
กรณี นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ถูกศาลฎีกา พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 9 ปี นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กรณีถูกกล่าวหาดำเนินงานโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองหาดใหญ่ ‘พระพุทธมงคลมหาราช’ ของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อปี 2547 เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำผิดหลายกรรม และริบเงินที่เกี่ยวข้องในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนที่ขาดไปจำนวน 14,500,000 บาท หลังก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมีคำพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต่อมาอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งให้ฎีกานั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินคดีนี้ มาเสนอไปแล้วว่า
1. โทษจำคุก 9 ปี ของ นายไพร พัฒโน เป็นผลมาจากการพิจารณาคำฟ้อง ข้อ 1. ว่า นายไพร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และนายไพร ยังมีความผิดตามฟ้องข้อ 5 , 6 กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 9 ปี
2. ขณะที่ นายไพร พัฒโน จําเลย ได้แก้ฎีกาในคดีนี้ด้วยว่า หากฟังว่าการกระทําของจําเลยเป็นความผิดก็ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษด้วย
แต่ศาลฎีกา เห็นว่า การกระทําความผิดของจําเลยเป็นความผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการที่จงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ทําให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง แม้จําเลยมีประวัติการทํางานและเคยได้รับรางวัลตามที่จําเลยแก้ฎีกาก็ไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษให้แก่จําเลยได้
- คุก 9 ปี! ศาลฎีกาฯ สั่งลงโทษ'ไพร พัฒโน'คดีหาทุนซื้อทองปิดองค์พระ-ริบเงิน 14.5 ล.
- เบื้องลึก! ศาลฎีกาพิพากษากลับสั่งจำคุก 9 ปี 'ไพร' อ้างทำงานมีรางวัลขอรอลงอาญาแต่ไม่ได้
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม ของศาลฎีกา ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้
*************
คดีนี้โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันในศาลชั้นต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลย ดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลนครหาดใหญ่ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และคําสั่งของทางราชการ รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541
จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จําเลยได้อนุมัติโครงการจัดหาทุนซื้อทองคําปิดองค์พระประจําเมืองหาดใหญ่ พระพุทธมงคลมหาราช ด้วยการสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่น “มงคลมหาราช” เพื่อหาทุนซื้อทองคําน้ำหนักประมาณ 1,500 บาท ไปปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราช ระยะเวลาดําเนินการ 11 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 ถึง 30 กันยายน 2548 โดยเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
งบประมาณที่ใช้ดําเนินการให้เสนอญัตติขอความเห็นชอบจากสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ยืมเงินสะสม 20,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการดําเนินการ ซึ่งเป็นโครงการที่นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ ขณะเกิดเหตุรักษาการผู้อํานวยการสํานักการศึกษาเสนอและนายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ รองนายกเทศมนตรีเห็นชอบอันเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในอํานาจหน้าที่ของเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 56 (8)
@ จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 1 หรือไม่
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 1 หรือไม่
ในประเด็นข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ตามสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า หลังจากจําเลยอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 จําเลยมีหนังสือถึงผู้อํานวยการมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ ให้รับเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแทนเทศบาลนครหาดใหญ่
วันที่ 2 ธันวาคม 2547 สํานักงานมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ มีหนังสือถึงจําเลยรับเป็นผู้ดําเนินการให้พร้อมรายละเอียดการสร้างวัตถุมงคล 21 รายการ ใช้เงินทุน 35,096,000 บาท ให้เทศบาลนครหาดใหญ่สนับสนุนเงินเบื้องต้น 20,000,000 บาท เมื่อสร้างวัตถุมงคลเสร็จจะมอบวัตถุมงคลทั้งหมดให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่เพื่อนําออกให้เช่า
วันที่ 13 ธันวาคม 2547 สภาเทศบาลนครหาดใหญ่อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม 20,000,000 บาท เพื่อจัดสร้างวัตถุมงคล
วันที่ 7 มกราคม 2548 จําเลยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ข้อ 65
วันที่ 24 มกราคม 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีหนังสือถึงจําเลยอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทําและประสานแผนพัฒนาขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ข้อ 35 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 และที่ 3) พ.ศ. 2543 ข้อ 9 และข้อ 34 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ข้อ 65
วันที่ 25 มกราคม 2548 นายวิพัฒน์ บุญรัตน์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ทําบันทึกขออนุมัติเบิกเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ โดยมิได้เสนอ ให้ดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 จําเลยอนุมัติ เบิกจ่ายเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ โดยจัดทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่าย และจําเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาหาดใหญ่ เลขที่ XXX วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 จํานวน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ออกใบอนุโมทนาบัตร มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ได้ว่าจ้างโรงงานพัฒนช่างเป็นผู้รับจ้างสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 นายสุรพันธุ์ อติชาตนันท์ ผู้จัดการโรงงานพัฒนช่างทําหนังสือถึงพระธรรมวราจารย์ผู้อํานวยการมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ขอเบิกเงินล่วงหน้าในการจัดสร้างวัตถุมงคล 1,500,000 บาท พระธรรมวราจารย์จึงแจ้งให้จําเลยทราบ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2548 มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้โอนเงิน 16,500,000 บาท ให้แก่นายสุรพันธุ์ รวมเป็นเงิน 18,000,000 บาท
ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2549 มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ มีหนังสือแจ้งผู้อํานวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดทําวัตถุมงคลเป็นเงิน 19,873,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือ 126,700 บาท ได้โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาเพชรเกษม ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เรียบร้อยแล้ว
สําหรับบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาเพชรเกษม ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นบัญชีที่จําเลยเปิดเพื่อรับฝากเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่น มงคลมหาราช ผู้มีอํานาจเบิกจ่ายเงินคือ จําเลย นางวิไล สายสุนทร เลขานุการนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และนางสาวโสภา วรานุศิษฎ์ ผู้อํานวยการส่วนพัฒนารายได้ มีเงื่อนไขต้องลงลายมือชื่อสองในสามคน แต่จ๋าเลยต้องลงลายมือชื่อด้วยทุกครั้ง
เห็นว่า สาระสําคัญของโครงการจัดหาทุนซื้อทองคําปิดองค์พระประจําเมืองหาดใหญ่ คือการจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเพื่อนํารายได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลไปซื้อทองคําเพื่อปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราชโดยใช้เงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นทุนในการจัดสร้างวัตถุมงคล
แม้ตามโครงการระบุว่าให้ดําเนินการขออนุมัติยืมเงินสะสมเพื่อเป็นทุนดําเนินการ
@ ไพร พัฒโน / ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ไพร พัฒโน
@ ญัตติของจําเลยเป็นการขออนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม
แต่กลับปรากฏตามรายงานการประชุมสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2547 มีระเบียบวาระ 11 เป็นญัตติที่นายกเทศมนตรีขออนุมัติสภาเทศบาลจ่ายขาดเงินสะสมของเทศบาลสนับสนุนการดําเนินการสร้างวัตถุมงคลเพื่อหารายได้ไปบูรณะซ่อมแซมและปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราช และจําเลยในฐานะนายกเทศมนตรีได้แถลงขออนุมัติสภาจ่ายขาดเงินสะสมจํานวน 20,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการสร้างวัตถุมงคล และสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามญัตติที่จําเลยเสนอ
ญัตติของจําเลยเป็นการขออนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่จึงมิใช่การยืมเงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่ตามที่ระบุในโครงการ การดําเนินการตามโครงการของจําเลยมุ่งประสงค์ใช้เงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจําปีของเทศบาลนครหาดใหญ่ไปดําเนินการจัดจ้างทําวัตถุมงคล
เมื่อเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 6 ซึ่งบัญญัติว่า“ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งดําเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ เงินนอกงบประมาณ เงินยืมเงินสะสม
เว้นแต่ได้มีการกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น” โดยผลของกฎหมายจําเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่จึงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และมีหน้าที่ในการจัดจ้างทําวัตถุมงคลให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
การที่จําเลยอนุมัติและจ่ายเงิน 20,000,000 บาท จากเงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจําปีของเทศบาลนครหาดใหญ่ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เพื่อไปดําเนินการจ้างโรงงานพัฒนช่างของนายสุรพันธ์ ให้เป็นผู้รับจ้างสร้างวัตถุมงคล จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
ที่จําเลยแก้ฎีกาว่า การอนุมัติและจ่ายเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ เป็นการให้เงินอุดหนุน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ
ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 นั้น เห็นว่า การใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลเพื่อให้เงินอุดหนุน ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2559 แม้ขณะจําเลยอนุมัติและจ่ายเงินขาดสะสม 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ยังไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับดังที่จําเลยอ้าง
แต่ขณะเกิดเหตุมีหนังสือ ที่ มท 0808.2/ว 2611 ที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกําหนดหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุน โดยให้หน่วยงานที่ขอรับการอุดหนุนจัดทําโครงการพร้อมรายละเอียด วัตถุประสงค์และค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เสนอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาดําเนินการจัดตั้งงบประมาณ โดยมีหลักการเดียวกันกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559
เมื่อได้ความว่าจําเลยมีหนังสือถึงผู้อํานวยการมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ให้รับเป็นผู้ดําเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแทนเทศบาลนครหาดใหญ่
@ พฤติการณ์แห่งคดีชี้ชัดมิใช่การให้เงินอุดหนุน
พฤติการณ์แห่งคดีจึงชี้ชัดว่าจําเลยจงใจให้มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เป็นตัวแทนในการจัดจ้างทําวัตถุมงคลแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ อันเป็นการดําเนินการเกี่ยวกับการพัสดุมิใช่โครงการของหน่วยงานที่ขอรับการอุดหนุนจัดทําโครงการพร้อมรายละเอียดวัตถุประสงค์และค่าใช้จ่าย ตามบันทึกข้อตกลงการขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การที่จําเลยอนุมัติและจ่ายเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ก็เพื่อให้ดําเนินการเกี่ยวกับการพัสดุแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงมิใช่การให้เงินอุดหนุนดังที่จําเลยแก้ฎีกา
แม้ได้ความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีหนังสืองจําเลย แจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาอาศัยอํานาจตามข้อ 5 วรรคสอง แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทําและประสานแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 และคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 393/2541 จึงอนุมัติให้เทศบาลนครหาดใหญ่ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทําและประสานแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ข้อ 35 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 และ 3) พ.ศ. 2543 ข้อ 9 และข้อ 34 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ข้อ 65 ตามที่จําเลยแก้ฎีกาก็เป็นเพียงการใช้ดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ยกเว้นการจัดทํางบประมาณรายจ่ายที่ไม่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจําปี
จําเลยจึงมีอํานาจใช้จ่ายเงินสะสมซึ่งมิใช่งบประมาณรายจ่ายประจําปีเพื่อดําเนินการตามโครงการดังกล่าวได้โดยชอบเท่านั้น แต่หาได้เป็นเหตุให้การดําเนินการตามโครงการดังกล่าวจําเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มุ่งประสงค์ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาพัสดุต้องดําเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ที่จําเลยแก้ฎีกาว่า สภาเทศบาลนครหาดใหญ่อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม 20,000,000 บาท เพื่อจัดสร้างวัตถุมงคล และนายพงษ์ศักดิ์กวีนันทชัย กับนางพรสวรรค์ ศรีสุพรรณ ข้าราชการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเบิกความทํานองเดียวกันว่า การตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงิน 20,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ เป็นการให้เงินอุดหนุน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 นั้น เห็นว่าการที่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 หรือไม่ ต้องเป็นไปโดยผลของกฎหมาย
@ ชี้เป็นการกระทําโดยทุจริต
เมื่อไม่มีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของสภาเทศบาลและความเห็นของข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่มีผลลบล้างหน้าที่ตามกฎหมายของจําเลยที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
การที่จําเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้การจัดจ้างทําวัตถุมงคลมิได้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายสุรพันธุ์ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับผู้อื่น
จึงเป็นการกระทําโดยทุจริต
เมื่อสภาเทศบาลนครหาดใหญ่มีมติอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม 20,000,000 บาทเพื่อจัดสร้างวัตถุมงคล จําเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดการทรัพย์สินของเทศบาลนครหาดใหญ่ ด้วยการใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลเพื่อจัดสร้างวัตถุมงคล การที่จําเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 จึงเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่เทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วจึงไม่ต้องปรับบทลงโทษจําเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปอีก
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
@ ไพร พัฒโน / ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ไพร พัฒโน
@ จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 หรือไม่
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 หรือไม่
เห็นว่า การกระทําของจําเลยตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 ที่จําเลยมีหนังสือหรือคําสั่งให้มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ โอนเงินรวมสามครั้ง จํานวน 1,373,300 บาท 400,000 บาท และ 1,600,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จําเลยเบิกจ่ายขาดเงินสะสมที่ฝากไว้ที่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ให้แก่นายจักรกฤษณ์ ทวนทอง เป็นค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์การจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้โอนเงินรวมสามครั้งดังกล่าวให้แก่นายจักรกฤษณ์
แม้จําเลยไม่ได้ดําเนินการจัดจ้างการประชาสัมพันธ์โครงการจัดสร้างวัตถุมงคล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 แต่เงินที่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ โอนให้แก่นายจักรกฤษณ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 20,000,000 บาท ที่จําเลยอนุมัติให้จ่ายจากเงินสะสมที่เป็นเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจําปีของเทศบาล นครหาดใหญ่ตามฟ้องข้อ 1
ดังนั้น การกระทําตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการหาประโยชน์จากเงิน 20,000,000 บาท ที่จําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง ข้อ 1 แล้ว ไม่ทําให้เทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับความเสียหายเพิ่มอีก
การกระทําของจําเลยตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 มานั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 ฟังไม่ขึ้น
@ จําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง ข้อ 5 และข้อ 6 หรือไม่
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง ข้อ 5 และข้อ 6 หรือไม่
ในประเด็นข้อนี้นอกจากเงิน 20,000,000 บาท ที่จําเลยอนุมัติเบิกจ่ายให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ตามฟ้องข้อ 1 แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน ยังฟังได้ตามสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า วันที่ 17 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 24 เมษายน 2550 จําเลยถอนเงิน 3,000,000 บาท และ 3,900,000 บาท จากบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษมชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เลขที่ XXX ให้นายสุรพันธุ์ โดยมีนายสุรพันธุ์ เป็นผู้รับมอบฉันทะในการถอนเงิน และนายสุรพันธุ์ออกใบเสร็จรับเงินให้ปรากฏตามใบถอนเงินและใบเสร็จรับเงิน กับใบถอนเงินและใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ ซึ่งสอดคล้องกับรายการถอนเงินตามสมุดบัญชีเงินฝากจําเลยมอบเงินทั้งสองจํานวนเพิ่มเติมให้แก่นายสุรพันธุ์เป็นค่าจัดหาวัตถุมงคล ตามที่นายสุรพันธุ์มีหนังสือขอเบิกเงินจากจําเลย
โดยจําเลยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ที่จําเลยแก้ฎีกาว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เลขที่ XXX เป็นของมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจึงไม่ใช่เงินของเทศบาลนครหาดใหญ่นั้น
ข้อเท็จจริงได้ความตามสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วยว่า วันที่ 1 ธันวาคม 2547 จำเลยมีหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารกรุงไทยขอเปิดบัญชีดังกล่าว และจ่าเลยเป็นผู้ที่มีอํานาจถอนเงินร่วมกับนางวิไลซึ่งเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และนางสาวโสภาผู้อํานวยการส่วนพัฒนารายได้ โดยมีเงื่อนไขการถอนเงินว่าจะต้องลงลายมือชื่อสองในสามคน และ จําเลยต้องลงลายมือชื่อทุกครั้ง
โดยไม่ปรากฏว่ามูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว ทั้งมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เป็นเพียงผู้รับดําเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ เงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลก็เพื่อนําไป บูรณะซ่อมแซม และซื้อทองคํามาปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราช
ที่จําเลยอ้างว่าเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลแล้วนําไปฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นของมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ จึงฟังไม่สมเหตุผล
เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและผู้มีอํานาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลที่ฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่เพื่อนําเงินไปดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและซื้อทองคํามาปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราชตามที่จําเลยได้รับอนุมัติให้ใช้เงินสะสม
ที่จําเลยแก้ฎีกาว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวบางส่วนเป็นเงินจองวัตถุมงคลนั้น เห็นว่า คําแก้ฎีกาของจําเลยดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจําเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่า สํานักการศึกษาตรวจสอบจากสํานักการคลังได้รับแจ้งว่าบัญชี“มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ มีเงินสดจากการให้เช่าวัตถุมงคล 3,917,849.04 บาท จึงมิใช่เป็นเงินจอง
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่ามีเงินบางส่วนในบัญชีเงินฝากเป็นเงินจอง
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ดังกล่าว เป็นเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลที่เป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่ การที่จําเลยถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวสองครั้งรวมเป็นเงิน 6,900,000 บาท และมอบให้แก่นายสุรพันธุ์เพื่อเป็นค่าจ้าง วัตถุมงคลเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินที่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้จ้างนายสุรพันธ์
จึงเป็นการใช้จ่ายเงินที่เป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่
จําเลยในฐานะนายกเทศมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 เมื่อจําเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เทศบาลนครหาดใหญ่เสียหาย
การกระทําของจําเลยตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการกระทําต่างกรรมต่างวาระกันจึงเป็นความผิดรวม 2 กระทง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาด้วยนั้น ปรากฏตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 ว่า ฟ้องมิได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 ว่า จําเลยมีหน้าที่ ซื้อ ทํา จัดการ และรักษาทรัพย์สิน จึงไม่อาจลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ตามที่โจทก์ฎีกาได้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อ 5 และข้อ 6 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 ฟังขึ้น
@ จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 7 หรือไม่
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 7 หรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2550 จําเลยเบิกถอนเงิน 600,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เลขที่ XXX และจําเลยมอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่นายสุรพันธุ์เป็นค่าจ้างทําวัตถุมงคล
ในประเด็นข้อนี้ปรากฏตามสมุดบัญชีเงินฝาก ว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2550 มีรายการถอนเงิน 500,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)ดังกล่าว
แต่ตามสํานวนไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานใบถอนเงินและใบเสร็จรับเงินแตกต่างจากกรณีตามฟ้องข้อ 5 และ ข้อ 6
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยได้มอบเงิน500,000 บาท ให้แก่นายสุรพันธุ์ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจําเลยตามฟ้องข้อ 7 ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อ 7 มานั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ตามฟ้องข้อ ฟังไม่ขึ้น
@ ยกฎีกาจำเลยขอรอลงอาญา
ส่วนที่จําเลยแก้ฎีกาว่าหากฟังว่าการกระทําของจําเลยเป็นความผิดก็ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษนั้น
เห็นว่า การกระทําความผิดของจําเลยเป็นความผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการที่จงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ทําให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง
แม้จําเลยมีประวัติการทํางานและเคยได้รับรางวัลตามที่จําเลยแก้ฎีกาก็ไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษให้แก่จําเลยได้
@ ไพร พัฒโน / ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ไพร พัฒโน
@ ริบเงินส่วนที่ขาด14,500,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 52 บัญญัติว่า “บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด”
เหตุคดีนี้เกิดระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ถึงเดือนกรกฎาคม 2550 ก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ต้องบังคับใช้ตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนที่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แต่ต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพ.ศ. 2559 ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สินตามมาตรา 31 บัญญัติว่า “การริบทรัพย์สินในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ว่าโจทก์จะมีคําขอหรือไม่ก็ตาม นอกจากศาลจะมีอํานาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด ...(2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิดหรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทําความผิด..." อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งประสงค์มิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทําความผิดมีโอกาสได้ประโยชน์จากทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มาโดยมิชอบ และตามมาตรา 33 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีหรือภายหลังจากนั้น ถ้าความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคําขอของโจทก์ว่าสิ่งที่ศาลจะสั่งริบหรือได้สั่งริบโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนําสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจําหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควรหรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกําหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคํานึงถึงราคาท้องตลาด
ในวันที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งและสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกําหนด” ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อบังคับให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ศาลสั่งริบ และมาตรา 48 บัญญัติว่า “การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีของศาลฎีกาให้นําบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นฎีกามาใช้บังคับโดยอนุโลม”
เห็นว่า เหตุที่จําเลยกระทําความผิดโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2535 ส่งผลให้นายสุรพันธ์ และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้เงินไปจากเทศบาลนครหาดใหญ่ตามฟ้องข้อ 1 ข้อ 5 และข้อ 6 จึงเป็นทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์อันอาจคํานวณราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิด เมื่อเงินตามฟ้องข้อ 1 ข้อ 5 และข้อ 6 ที่นายสุรพันธุ์และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้ไปเป็นประโยชน์นั้นเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทําความผิดของจําเลย
แม้ภายหลังจะนําเงินดังกล่าวไปสร้างวัตถุมงคลและนําไปมอบให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่ ก็ไม่ลบล้างประโยชน์ที่นายสุรพันธุ์และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยได้รับไปแล้ว ประโยชน์ที่นายสุรพันธุ์และมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ได้รับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,900,000 บาท
แม้โจทก์ไม่มีคําขอให้ริบ แต่เพื่อมิให้ผู้ที่กระทําความผิดได้ประโยชน์จากเงินที่ได้มาจากการ กระทําความผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรริบตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้ความจากรายงานและสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่า นางภรณ์นภัส ตั้งพิทยาเวทย์ ผู้อํานวยการสํานักการคลังเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้ถ้อยคําว่า หลังจากมีการ นําเงินที่ได้จากการเช่าวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดรุ่นมงคลมหาราช เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว
ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2557 และวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ได้มีการโอนเงิน 6,400,000 บาท และ 6,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,400,000 บาท จากบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่เข้าบัญชีรายรับของเทศบาลนครหาดใหญ่
เมื่อเทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับเงินจากการจําหน่ายวัตถุมงคลคืนมาบางส่วนแล้ว จึงเห็นควรให้ริบเฉพาะผลประโยชน์อันอาจคํานวณราคาเงินได้ที่เทศบาลนครหาดใหญ่ยังไม่ได้รับคืนเป็นเงิน 14,500,000 บาท โดยให้จําเลยส่งเงินที่ริบด้วยการชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในระยะเวลาที่กําหนดหากไม่ชําระภายในระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยชําระดอกเบี้ยผิดนัดจนกว่าจะชําระเสร็จสิ้น
อนึ่ง ภายหลังการกระทําความผิดมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26 ) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 151 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน
ปรากฏว่าโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จ๋าเลย จึงต้องใช้ตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
@ บทสรุปคำพิพากษาศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) ตามฟ้องข้อ 1 จําคุก 5 ปี
จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 รวม 2 กระทง จําคุกกระทงละ 2 ปี รวมเป็นโทษจําคุก 9 ปี และให้รับเงินที่เป็นประโยชน์อันอาจคํานวณราคาเงินได้ 14,500,000 บาท โดยให้จําเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินที่ศาลสั่งริบชําระเป็นเงิน 14,500,000 บาท แทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่อ่านคําพิพากษาศาลฎีกาให้จําเลยฟัง
หากไม่ชําระภายในระยะเวลาที่กําหนด ให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสามต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนลดลงหรือ เพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีจนกว่าจะชําระเสร็จสิ้น
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์
*************
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม ของศาลฎีกา ที่พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 9 ปี นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กรณีถูกกล่าวหาดำเนินงานโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองหาดใหญ่ ‘พระพุทธมงคลมหาราช’ ของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อปี 2547 เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำผิดหลายกรรม และริบเงินที่เกี่ยวข้องในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนที่ขาดไปจำนวน 14,500,000 บาท
ปิดฉากคดีสำคัญ ที่ใช้เวลาการต่อสู้มายาวนานถึง 3 ศาล รวมถึงชีวิตเส้นทางการเมืองของ นายไพร พัฒโน นักการเมืองชื่อดังในภาคใต้ ด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญให้ไม่ให้ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหาร อปท. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป
อ่านประกอบ :
- คดีมีมูล!ป.ป.ช.ออกหมายเรียก'ไพร พัฒโน-พวก แจงกรณีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองปี47
- ข้องใจท่าที สถ.!'ไพร'แจงทำตามระเบียบแต่ถูกแจ้ง ป.ป.ช.สอบคดีบูรณะพระประจำเมืองหาดใหญ่
- ล้วงข้อมูลป.ป.ช.สอบไพร-พวก!ตีเช็ค20ล.ปลุกเสกหลวงพ่อทวดแทนบูรณะพระประจำเมือง
- คุก 2 ปี! 'ไพร พัฒโน' คดีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระ 27ล.-ได้ประกันตัวสู้ชั้นอุทธรณ์
- สดจากหาดใหญ่! เปิดใจ 'ไพร พัฒโน' โดนคุก 2 ปี คดีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระ 27 ล.
- เฉลย! 'ไพร พัฒโน' อดีตบิ๊ก อปท.สงขลาโดนชี้มูลคดียื่นบัญชีฯเท็จ-สอบค่านายหน้าขายที่ 30 ล.