เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งลงโทษจำคุก 9 ปี 'ไพร พัฒโน' คดีหาทุนซื้อทองปิดองค์พระ-ริบเงิน 14.5 ล. ชี้ผิด 2 ปม เรื่องอำนาจอนุมัติใช้จ่ายเงิน เผยเจ้าตัวร้องขอให้รอการลงโทษอ้างประวัติการทํางานเคยได้รับรางวัลด้วย แต่ศาลไม่ให้
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 9 ปี นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กรณีถูกกล่าวหาดำเนินงานโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองหาดใหญ่ ‘พระพุทธมงคลมหาราช’ ของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อปี 2547 เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำผิดหลายกรรม และริบเงินที่เกี่ยวข้องในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนที่ขาดไปจำนวน 14,500,000 บาท หลังก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมีคำพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต่อมาอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งให้ฎีกานั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลในคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่ามีการระบุถึงข้อมูล นายไพร พัฒโน จําเลย ได้แก้ฎีกาในคดีนี้ด้วยว่า หากฟังว่าการกระทําของจําเลยเป็นความผิดก็ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษด้วย แต่ศาลฎีกา เห็นว่า การกระทําความผิดของจําเลยเป็นความผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการที่จงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ทําให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง
แม้จําเลยมีประวัติการทํางานและเคยได้รับรางวัลตามที่จําเลยแก้ฎีกาก็ไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษหรือรอการกําหนดโทษให้แก่จําเลยได้
ส่วนโทษจำคุก 9 ปี ของ นายไพร พัฒโน เป็นผลมาจากการพิจารณาคำฟ้อง ข้อ 1. ว่า นายไพร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และนายไพร ยังมีความผิดตามฟ้องข้อ 5 , 6 กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 9 ปี ไม่รอลงอาญา
โดยความผิดตามฟ้องข้อ 1. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจอนุมัติใช้จ่ายเงิน ซึ่งสาระสําคัญของโครงการจัดหาทุนซื้อทองคําปิดองค์พระประจําเมืองหาดใหญ่ คือ การจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเพื่อนํารายได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลไปซื้อทองคําเพื่อปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราชโดยใช้เงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นทุนในการจัดสร้างวัตถุมงคล แม้ตามโครงการระบุว่าให้ดําเนินการขออนุมัติยืมเงินสะสมเพื่อเป็นทุนดําเนินการ แต่กลับปรากฏตามรายงานการประชุมสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2547 มีระเบียบวาระ 11 เป็นญัตติที่นายกเทศมนตรีขออนุมัติสภาเทศบาลจ่ายขาดเงินสะสมของเทศบาลสนับสนุนการดําเนินการสร้างวัตถุมงคลเพื่อหารายได้ไปบูรณะซ่อมแซมและปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราช และจําเลยในฐานะนายกเทศมนตรีได้แถลงขออนุมัติสภาจ่ายขาดเงินสะสมจํานวน 20,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการสร้างวัตถุมงคล และสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามญัตติที่จําเลยเสนอ
ญัตติของจําเลยเป็นการขออนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่จึงมิใช่การยืมเงินสะสมของเทศบาลนครหาดใหญ่ตามที่ระบุในโครงการ การดําเนินการตามโครงการของจําเลยมุ่งประสงค์ใช้เงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจําปีของเทศบาลนครหาดใหญ่ไปดําเนินการจัดจ้างทําวัตถุมงคล
เมื่อเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 6 ซึ่งบัญญัติว่า“ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งดําเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ เงินนอกงบประมาณ เงินยืมเงินสะสมเว้นแต่ได้มีการกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น” โดยผลของกฎหมายจําเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่จึงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และมีหน้าที่ในการจัดจ้างทําวัตถุมงคลให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
การที่จําเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้การจัดจ้างทําวัตถุมงคลมิได้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายสุรพันธุ์ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับผู้อื่น
จึงเป็นการกระทําโดยทุจริต
ในส่วนความผิดตามฟ้องข้อ 5 , 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ศาลฎีกา ระบุว่า ตามสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนระบุว่า วันที่ 17 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 24 เมษายน 2550 จําเลยถอนเงิน 3,000,000 บาท และ 3,900,000 บาท จากบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษมชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เลขที่ XXX ให้นายสุรพันธุ์ โดยมีนายสุรพันธุ์ เป็นผู้รับมอบฉันทะในการถอนเงิน และนายสุรพันธุ์ออกใบเสร็จรับเงินให้ปรากฏตามใบถอนเงินและใบเสร็จรับเงิน กับใบถอนเงิน
และใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ ซึ่งสอดคล้องกับรายการถอนเงินตามสมุดบัญชีเงินฝากจําเลยมอบเงินทั้งสองจํานวนเพิ่มเติมให้แก่นายสุรพันธุ์เป็นค่าจัดหาวัตถุมงคล ตามที่นายสุรพันธุ์มีหนังสือขอเบิกเงินจากจําเลย
โดยจําเลยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ที่จําเลยแก้ฎีกาว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม ชื่อบัญชี “มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ เลขที่ XXX เป็นของมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจึงไม่ใช่เงินของเทศบาลนครหาดใหญ่นั้น
ข้อเท็จจริงได้ความตามสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วยว่า วันที่ 1 ธันวาคม 2547 จำเลยมีหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารกรุงไทยขอเปิดบัญชีดังกล่าว และจ่าเลยเป็นผู้ที่มีอํานาจถอนเงินร่วมกับนางวิไลซึ่งเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และนางสาวโสภาผู้อํานวยการส่วนพัฒนารายได้ โดยมีเงื่อนไขการถอนเงินว่าจะต้องลงลายมือชื่อสองในสามคน และ จําเลยต้องลงลายมือชื่อทุกครั้งโดยไม่ปรากฏว่ามูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว ทั้งมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เป็นเพียงผู้รับดําเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ เงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลก็เพื่อนําไป บูรณะซ่อมแซม และซื้อทองคํามาปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราช
ที่จําเลยอ้างว่าเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลแล้วนําไปฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นของมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ จึงฟังไม่สมเหตุผล
เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและผู้มีอํานาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลที่ฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่เพื่อนําเงินไปดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและซื้อทองคํามาปิดทององค์พระพุทธมงคลมหาราชตามที่จําเลยได้รับอนุมัติให้ใช้เงินสะสม
ที่จําเลยแก้ฎีกาว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวบางส่วนเป็นเงินจองวัตถุมงคลนั้น เห็นว่า คําแก้ฎีกาของจําเลยดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจําเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่า สํานักการศึกษาตรวจสอบจากสํานักการคลังได้รับแจ้งว่าบัญชี“มงคลมหาราช” เทศบาลนครหาดใหญ่ มีเงินสดจากการให้เช่าวัตถุมงคล 3,917,849.04 บาท จึงมิใช่เป็นเงินจอง
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่ามีเงินบางส่วนในบัญชีเงินฝากเป็นเงินจอง
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ดังกล่าว เป็นเงินที่ได้จากการจําหน่ายวัตถุมงคลที่เป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่
การที่จําเลยถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวสองครั้งรวมเป็นเงิน 6,900,000 บาท และมอบให้แก่นายสุรพันธุ์เพื่อเป็นค่าจ้าง วัตถุมงคลเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินที่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ ได้จ้างนายสุรพันธ์ จึงเป็นการใช้จ่ายเงินที่เป็นรายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่
จําเลยในฐานะนายกเทศมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 เมื่อจําเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เทศบาลนครหาดใหญ่เสียหาย
การกระทําของจําเลยตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นการกระทําต่างกรรมต่างวาระกันจึงเป็นความผิดรวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี
รวมลงโทษจำคุก 9 ปี ไม่รอลงอาญา
สำหรับคดีความอื่นๆ ของนายไพร นั้น สำนักข่าวอิศรารายงานไปแล้วว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อมูลเรื่องร่ำรวยผิดปกติเกี่ยวกับรายได้จากการเป็นนายหน้าขายที่ดิน 30 ล้าน' และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จกรณีไม่แสดงเงินฝาก-เงินลงทุน' อีก 1 คดี
อ่านประกอบ :
- คดีมีมูล!ป.ป.ช.ออกหมายเรียก'ไพร พัฒโน-พวก แจงกรณีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมืองปี47
- ข้องใจท่าที สถ.!'ไพร'แจงทำตามระเบียบแต่ถูกแจ้ง ป.ป.ช.สอบคดีบูรณะพระประจำเมืองหาดใหญ่
- ล้วงข้อมูลป.ป.ช.สอบไพร-พวก!ตีเช็ค20ล.ปลุกเสกหลวงพ่อทวดแทนบูรณะพระประจำเมือง
- คุก 2 ปี! 'ไพร พัฒโน' คดีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระ 27ล.-ได้ประกันตัวสู้ชั้นอุทธรณ์
- สดจากหาดใหญ่! เปิดใจ 'ไพร พัฒโน' โดนคุก 2 ปี คดีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระ 27 ล.
- เฉลย! 'ไพร พัฒโน' อดีตบิ๊ก อปท.สงขลาโดนชี้มูลคดียื่นบัญชีฯเท็จ-สอบค่านายหน้าขายที่ 30 ล.