"...จากการไต่สวนข้อกล่าวหานี้ จึงยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่พอรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาในคดีอาญา และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ข้อกล่าวหาที่ 1 เรื่องการอนุมัติสินเชื่อซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอ..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเอกชน ในคดีทุจริตเกี่ยวกับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้เอกชนนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปก่อนหน้านี้แล้วว่า คดีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ข้อกล่าวหาหลัก คือ
ข้อกล่าวหาที่ 1 เรื่องการอนุมัติสินเชื่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอ
ข้อกล่าวหาที่ 2 เรื่องการเรียก รับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ราย คือ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2 และนายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ (เอกชนผู้สนับสนุน)
ข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2
สำหรับผู้ถูกกล่าวหากลุ่มเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปร้องทุกข์กล่าวหาในข้อหาฉ้อโกง กับเอกชนจำนวน 2 ราย คือ นายมนตรี อึ้งอักษรไพโรจน์ ผู้สำรวจโครงการก่อสร้าง/พนักงาน บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลเชิงลึก ข้อกล่าวหาที่ 2 เรื่องการเรียก รับ ยอดวงเงิน 3 แสนบาท มานำเสนอเป็นทางการไปแล้ว
- โดนอาญา 2 ราย! ป.ป.ช.ชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อ-บ.เจอฉ้อโกง
- คอนเฟิร์ม! เลขาฯ ป.ป.ช. ยืนยันมติชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อเอกชน
- อ้างกู้ยืม 3 แสน! ไขข้อกล่าวหาที่ 2 ปมเรียกรับสินบน คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อ ธ.อิสลาม
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อดังกล่าว เป็นกรณีเบิกเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการเดอะพอร์ท แกรนด์ ริเวอร์ ฟร้อนท์ ซึ่งเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 80 ล้านบาท ของบริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อและคณะอนุกรรมการบริหารได้พิจารณาและอนุมัติสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่อง กระบวนการอำนวยสินเชื่อฯ ของสายงานสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และSMEs และฝ่ายบริหารความเสี่ยงสินเชื่อ (RM CM และ CR) ที่ กกร.(บ.) 983/2558 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2558 กระบวนการปฏิบัติงานด้านการอำนวยสินเชื่อก่อนอนุมัติ และการพิจารณาเป็นไปตามคู่มือปฏิบัติงาน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 ที่ กกร.(บ.)64/2560 ลงวันที่ 24 มกราคม 2560 สำหรับการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในแต่ละงวด การประเมินหลักประกันประกอบคำเสนอขอวงเงินสินเชื่อ กรณีวงเงินที่นำเสนอสูงกว่า 50 ล้านบาท ฝ่ายประเมินราคาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้คัดเลือกบริษัทประเมินราคาภายนอก ตามระเบียบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 17 ว่า ด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพเพื่อประเมินราคาหลักทรัพย์ พ.ศ.2554 ที่ รบ (บ.) 537/2554 ลงวันที่ 18 ก.ค.2554
ในส่วนการตรวจงานก่อสร้างในการเสนอขออนุมัติเบิกจ่ายในแต่ละงวดเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวหมวดที่ 7 การตรวจการก่อสร้าง ข้อ 11 "การตรวจการก่อสร้างให้ดำเนินการโดยบริษัทประเมินราคาภายนอกให้ถือเอาความสมบูรณ์ของการก่อสร้าง ณ วันตรวจสอบโดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการอนุมัติรับรองราคาโดยให้หน่วยงานอำนวยสินเชื่อเป็นผู้พิจารณกับงวดงานในการเบิกจ่ายเงินให้ลูกค้าอยู่ในเกณฑ์การให้สินเชื่อ"
กรณีโครงการเดอะพอร์ทฯ ใช้ผู้ประเมินราคาภายนอก 1 บริษัท เป็นผู้ตรวจสอบการก่อสร้าง โดย บจก.พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส มีคุณสมบัติเป็นผู้ประเมินราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับธนาคาร ลูกหนี้ และหลักประกัน เป็นผู้ประเมินราคาภายนอกของธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ประเมินราคาและเป็นคู่สัญญากับธนาคารฯ ให้กับผู้ขอสินเชื่อรายนี้ ซึ่งบจก.พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารเป็นคู่สัญญารับงานประเมินของธนาคารรวมกว่า 300 โครงการ
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีข้อสังเกต (ตรวจสอบเพียงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561) ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ลูกหนี้ได้เบิกใช้เงินครบทุกวงเงินแล้ว แต่โครงการดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
คณะกรรมการสอบสวนของธนาคารฯ ได้ตรวจสอบโดยสำรวจและถ่ายภาพโครงการ เมื่อ 12 กันยายน 2561 แล้วปรากฏว่า หน้าต่างบางห้องบางชั้นยังไม่ประกอบกรอบอลูมิเนียมและยังไม่ติดตั้งบานกระจก นอกจากนี้ รั้วรอบโครงการยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ
กรณีดังกล่าวจากการตรวจสอบภาพถ่ายประกอบคำขออนุมัติเบิกจ่ายค่างวดงานก่อสร้าง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ปรากฏว่าพื้นที่ภายนอกนั้นมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% มีการทาสี ติดตั้งกรอบหน้าต่างอลูมิเนียมและกระจกเรียบร้อยแล้ว ไม่มีนั่งร้านหรืออุปกรณ์ก่อสร้างตั้งวาง ซึ่งภาพถ่ายเป็นมุมเดียวกันกับภาพถ่ายของคณะกรรมการสอบสวนธนาคารฯ
จึงรับฟังได้ว่าโครงการได้ตั้งนั่งร้านขึ้นใหม่และมีการรื้อถอนกรอบหน้าต่างอลูมิเนียมและกระจกเดิมออกภายหลังจากการตรวจงวดงานที่ 8 และในส่วนของแนวรั้วรอบโครงการ รับฟังได้ว่ามีการรื้อถอนกำแพงและทุบเสารั้วที่สร้างเสร็จ ตั้งแต่การตรวจงวดงานที่ 6 ออกไป
มิใช่เกิดจากการที่รั้วสร้างไม่แล้วเสร็จตามที่ได้ตั้งข้อสังเกต
อีกทั้งโครงการได้รับอนุญาตการใช้อาคาร (แบบ อ.6) จากสำนักงานเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญหน่วยงานราชการออกให้เพื่อแสดงว่า อาคารได้สร้างเสร็จสมบูรณ์มีความปลอดภัยและพร้อมเปิดให้พักอาศัยแล้ว
ประกอบกับจากการตรวจสอบสถานะการชำระหนี้ของบริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อยู่ในสถานะปกติ โครงการสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเบิกใช้วงเงินทุกงวดได้อย่างครบถัวนโดยไม่พบข้อพิรุธ ทั้งในส่วนการขายห้องชุดและการ ปลอดจำนอง
ป.ป.ช.ระบุว่า จากการไต่สวนข้อกล่าวหานี้ จึงยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่พอรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาในคดีอาญา และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ข้อกล่าวหาที่ 1 เรื่องการอนุมัติสินเชื่อซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอ
แต่การดำเนินการของ ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ SMEs มีความผิดวินัยร้ายแรง จึงเห็นควรแจ้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วน นายมนตรี อึ้งอักษรไพโรจน์ ผู้สำรวจโครงการก่อสร้าง/พนักงาน บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปร้องทุกข์กล่าวหาในข้อหาฉ้อโกงด้วย (ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อ นายมนตรี อึ้งอักษรไพโรจน์ และผู้บริหารบริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเป็นทางการ)
ขณะที่ บริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และผู้บริหารบริษัทฯ ไม่ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดด้วยแต่อย่างใด
กล่าวสำหรับ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 1 ใน 3 ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ถูกชี้มูลความความผิดวินัยร้ายแรง จากข้อกล่าวหาที่ 3 นััน
สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหา ในข้อกล่าวหาที่ 2 เรื่องการเรียก รับ พร้อมกับ นายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ เป็นกรณีการเรียกรับเงินสินบน จำนวน 3 แสนบาท จากการอำนวยสินเชื่อให้กับบริษัท ศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่า มีการโอนเงินจำนวน 3 แสนบาท ให้กันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่มีการอนุมัติสินเชื่อของบริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
เบื้องต้น ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีการชี้แจงว่า การโอนเงินจำนวน 3 แสนบาทดังกล่าว เป็นการกู้ยืมเงินกัน ไม่ใช่การเรียกรับเงิน และการให้ยืมก็เกิดขึ้นภายหลังสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว
จึงไม่มีความจำเป็นในการเรียกรับ หรือให้สินบนดังกล่าว
แต่คณะไต่สวน เห็นว่า คำชี้แจงดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากกรณีนี้ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ สำหรับตนเองและผู้อื่น
อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาที่ 2 นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดเฉพาะ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และ นายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ เท่านั้น
ส่วน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัทศรีสมุทร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ไม่ได้ถูกชี้มูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในคดีทุจริตเกี่ยวกับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้เอกชนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเอกชน ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลหรือการสอบสวนทางวินัยได้อีก