"...ประเด็นสำคัญ ข้อกล่าวหานี้ คือ มีการตรวจสอบพบว่า มีการโอนเงินจำนวน 3 แสนบาท ให้กันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่มีการอนุมัติสินเชื่อของ บริษัท ศ. เบื้องต้น ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีการชี้แจงว่า การโอนเงินจำนวน 3 แสนบาทดังกล่าว เป็นการกู้ยืมเงินกัน ไม่ใช่การเรียกรับเงิน และการให้ยืมก็เกิดขึ้นภายหลังสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นในการเรียกรับ หรือให้สินบนดังกล่าว แต่คณะไต่สวน เห็นว่า คำชี้แจงดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากกรณีนี้ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ สำหรับตนเองและผู้อื่น..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเอกชน ในคดีทุจริตเกี่ยวกับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้เอกชน เบื้องต้น นายนิวัตไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาบางรายในคดีนี้ไปแล้วจริง
"กรณีดังกล่าว จะส่งเรื่องให้ทางอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องในศาลอาญาคดีทุจริตที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ปฎิบัติงาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ จึงถือว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้" เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุ
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ข้อกล่าวหา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก มีมติดังนี้
ข้อกล่าวหาที่ 1 เรื่องการอนุมัติสินเชื่อ เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอ
ข้อกล่าวหาที่ 2 เรื่องการเรียก รับ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา จำนวน 2 ราย คือ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2 และนายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ
ข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อ ถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2
สำหรับผู้ถูกกล่าวหากลุ่มเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปร้องทุกข์กล่าวหาในข้อหาฉ้อโกง กับเอกชนจำนวน 2 ราย คือ นายมนตรี อึ้งอักษรไพโรจน์ ผู้สำรวจโครงการก่อสร้าง/พนักงาน บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย คือ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เห็นควรให้ชี้มูลความผิดอาญาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด
- โดนอาญา 2 ราย! ป.ป.ช.ชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อ-บ.เจอฉ้อโกง
- คอนเฟิร์ม! เลขาฯ ป.ป.ช. ยืนยันมติชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อเอกชน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียด ข้อกล่าวหาที่ 2 ในคดีนี้ เรื่องการเรียก รับ ว่า เป็นกรณีการเรียกรับเงินสินบน จำนวน 3 แสนบาท จากการอำนวยสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง มีชื่อ ย่อว่า ศ. ซึ่งเป็นลูกค้า ของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
โดยในชั้นไต่สวน มีการเสนอชื่อผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 4 ราย คือ เป็นผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 1 ราย คือ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2
ส่วนที่เหลือ 3 ราย เป็นเอกชน คือ นายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ , นาย ด. (ชื่อย่อ) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศ. และบริษัท ศ.
ประเด็นสำคัญ ข้อกล่าวหานี้ คือ มีการตรวจสอบพบว่า มีการโอนเงินจำนวน 3 แสนบาท ให้กันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่มีการอนุมัติสินเชื่อของ บริษัท ศ.
เบื้องต้น ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีการชี้แจงว่า การโอนเงินจำนวน 3 แสนบาทดังกล่าว เป็นการกู้ยืมเงินกัน ไม่ใช่การเรียกรับเงิน และการให้ยืมก็เกิดขึ้นภายหลังสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว
จึงไม่มีความจำเป็นในการเรียกรับ หรือให้สินบนดังกล่าว
แต่คณะไต่สวน เห็นว่า คำชี้แจงดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากกรณีนี้ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ สำหรับตนเองและผู้อื่น
อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาที่ 2 นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดเฉพาะ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2 และ นายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ เท่านั้น
ส่วน นาย ด. กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศ. และบริษัท ศ. ไม่ได้ถูกชี้มูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ คดีทุจริตเกี่ยวกับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้เอกชน ของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยังไม่จบ
ยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ ข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ
อีกชุดหนึ่ง ซึ่งข้อมูลเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหา ที่ 1 และยังเกี่ยวข้องกับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปร้องทุกข์กล่าวหาในข้อหาฉ้อโกง กับเอกชนจำนวน 2 ราย คือ นายมนตรี อึ้งอักษรไพโรจน์ ผู้สำรวจโครงการก่อสร้าง/พนักงาน บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท พรสยามคอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ด้วย
ยอดวงเงินสินเชื่อ ประมาณ 80 ล้านบาท
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลหรือการสอบสวนทางวินัยได้อีก