“…ควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้เกิดความมีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการป้องกันภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจแทรกแซงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ร่วมกับการดำเนินร่วมมือด้านการข่าวและความมั่นคง…”
..............................
แม้ว่ากระแสความหวั่นวิตกว่า ประเทศไทยอาจถูก ‘ชาติมหาอำนาจ’ แทรกแซงกิจการภายใน หากพรรค ‘ก้าวไกล’ ได้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะเปิดให้สหรัฐฯเข้ามาตั้ง ‘ฐานทัพ’ ในประเทศไทย นั้น จะได้รับการปฏิเสธจาก รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง
ในขณะที่ นิโคล ฟ็อกซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ชี้แจงกับสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ ว่า สหรัฐจะเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ว่า “…สหรัฐฯไม่มีฐานทัพในไทย และไม่มีการหารือเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพในไทย…”
แต่กระนั้น คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความเชื่อหรือข้อสังเกตของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ว่า ‘สหรัฐ’ พยายามจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐ-จีน’ จะยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจถูกปลุกขึ้นมาเป็นกระแสได้ทุกเมื่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ ‘ชาติมหาอำนาจ’ และโจทย์ท้าทายของประเทศไทยในระยะต่อไป ผ่าน ‘รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ’ ประจำปี 2565 จัดทำโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค.2565 สรุปได้ดังนี้
@ดัชนีความสุขคนไทยลดลงจากการแพร่ระบาดโควิด-19
ผลการดำเนินงานตาม ‘แผนแม่บท’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (01) ด้านความมั่นคง
ภาพรวมการพัฒนาในห้วง 5 ปีแรก (พ.ศ.2561-2565) ของยุทธศาสตร์ชาติ ‘ด้านความมั่นคง’ ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านความมั่นคง ‘ค่อนข้างคงที่’ จากปัญหาอันเกิดจากความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและหลากหลาย มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และนาโนเทคโนโลยี
ส่งผลให้เกิดพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรูปแบบสงครามในอนาคต และการแสวงหาประโยชน์จากห้วงอวกาศของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลให้ความอยู่ดีมีสุขของประชากรไทยลดลง รวมถึงมีความขัดแย้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ขณะที่เมื่อพิจารณาจาก ‘ค่าใช้จ่ายทางทหาร’ ซึ่งเป็นปัจจัยภายใต้ ‘ดัชนีสันติภาพโลก’ มีสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาผลการดำเนินการตาม ‘เป้าหมายระดับประเด็น’ ของยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มี 5 เป้าหมายการพัฒนา รวมถึง ‘เป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อย’ ที่มี 10 แผนแม่บทย่อย สรุปได้ดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาที่ 1 ‘ประชาชนอยู่ดี กินดีและมีความสุข’ โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรไทย จัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งพิจารณาจาก 6 ปัจจัย ได้แก่ รายได้ต่อหัว, การได้รับสวัสดิการและสนับสนุนจากภาครัฐ, การมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาวะที่ดี, การมีสิทธิและเสรีภาพ, ความเอื้ออาทรต่อกัน และการอยู่ในสังคมที่ปลอดการทุจริต
พบว่า ประชาชนอยู่ดีมีความสุข ‘ลดลง’ โดยใน พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีอันดับและคะแนนความสุข ลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 61 จากทั้งหมด 146 ประเทศ และมีค่าคะแนน 5.891 คะแนน ลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ในอันดับที่ 54 จากทั้งหมด 149 ประเทศ และมีค่าคะแนนอยู่ที่ 5.985 คะแนน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความสุขที่ลดลงทั่วโลก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ในขณะที่ผลการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทย่อย ด้าน ‘ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น (010101)’ ซึ่งพิจารณาจากระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจระดับสากล (WISPI) พบว่า สถานการณ์ในช่วง พ.ศ.2561-2565 อยู่ในระดับ ‘คงที่’
อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจไทย (WISPI) มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปัจจัย
แต่ใน พ.ศ. 2565 ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจไทย (WISPI) กลับปรับระดับลดลง โดยอยู่ในระดับร้อยละ 52.67 ซึ่งลดลงจากปี 2564 (ร้อยละ 60.0) จากปัจจัยที่สำคัญ อาทิ อัตราการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีระดับคะแนนลดลง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และคดีปล้นทรัพย์
ส่วนผลการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทย่อยด้าน ‘การเมืองมีเสถียรภาพและธรรมาภิบาลสูงขึ้น (010103)’ พบว่า สถานการณ์ในช่วง พ.ศ.2561–2564 แม้ว่าจะอยู่ในระดับ ‘คงที่’ แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิผลของรัฐบาล จากการประเมินของ 'ธนาคารโลก' พบว่า มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดย พ.ศ. 2564 มีคะแนนอยู่ที่่ร้อยละ 60.58 ลดลงจากช่วง พ.ศ.2561–2563 (ร้อยละ 66.83 65.87 และ 63.46 ตามลำดับ) อยู่ในอันดับที่่ 73 จาก 192 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่่ 67 ใน พ.ศ. 2563
@ไทยได้คะแนน‘ดัชนีสันติภาพโลก’ดีขึ้น-กองทัพพร้อมรับมือภัยคุกคาม
เป้าหมายการพัฒนาที่ 2 ‘บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ’ โดยพิจารณาจาก ‘ดัชนีสันติภาพโลก’ จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ซึ่งวัดจากปัจจัยที่ส่งผลต่อวามสงบสุขของประเทศ 3 ปัจจัย
ได้แก่ (1) ปัจจัยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในและระหว่างประเทศที่ยังดำรงอยู่ (2) ปัจจัยความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม และ (3) ปัจจัยการขยายอิทธิพลทางทหาร (คะแนนยิ่งน้อยยิ่งดี หากมากกว่า 5 หมายถึง ไม่สงบสุข) พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีสันติภาพโลก ‘ดีขึ้น’
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับลดลงในปี พ.ศ. 2562 โดยลดลงมาอยู่ในอันดับ 166 แต่ในปี พ.ศ.2563 อันดับของประเทศไทย ก็ดีขึ้นเรื่อยมา จนใน พ.ศ.2565 ไทยอยู่ที่อันดับ 103 เพิ่มขึ้น 10 อันดับจากปี พ.ศ. 2564 และมีคะแนน 2.098 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่ดีที่สุดของประเทศไทยนับตั้งแต่เริ่มใช้ดัชนีสันติภาพโลก (ปี พ.ศ.2563 ได้ 2.245 คะแนน ,ปี พ.ศ.2563 ได้ 2.205 คะแนน และปี พ.ศ.2565 ได้ 2.098 คะแนน)
เป้าหมายการพัฒนาที่ 3 ‘กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง’ ซึ่งพิจารณาจากปัจจัย ‘การขยายอิทธิพลทางทหาร’ ภายใต้ดัชนีสันติภาพโลก
พบว่า ในขณะที่อัตรากองกำลังติดอาวุธและค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายทางทหารต่อ GDP ของประเทศทั่วโลกลดลงตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้คะแนน 1.480 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 20 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี พ.ศ.2564) ที่มีคะแนน 1.562 คะแนน และอยู่ในอันดับ 29
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาผลการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทย่อย ‘กองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง มีความพร้อมสูงขึ้นที่จะเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทุกมิติ และทุกระดับความรุนแรง (010302)’ พบว่า สถานการณ์ในช่วง พ.ศ.2561–2565 อยู่ในระดับ ‘ดีขึ้น’
โดยพิจารณาจาก (1) ความร่วมมือด้านความมั่นคง อาทิ ความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกอาเซียน มิตรประเทศ และประเทศมหาอำนาจ ได้มีการประชุมความร่วมมือทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐฯ (THAI-TAC) โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในการการบรรลุข้อตกลงในการจัดนายทหารติดต่อไปประจำ ณ กองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก
(2) การใช้กำลัง การเตรียมกำลัง และการผนึกกำลัง เพื่อการป้องกันประเทศ อาทิ พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของกำลังพลสำรอง เพื่อให้สามารถนำกำลังพลสำรองตามบัญชีบรรจุกำลังที่มีอยู่
(3) ขีดความสามารถเพื่อรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติ อาทิ การพัฒนาระบบการควบคุมอาวุธยุทธภัณฑ์ และการออกใบอนุญาตด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ National Single Window
และเมื่อพิจารณาเทียบเคียงจากอันดับความแข็งแกร่งด้านการทหาร พบว่า ใน พ.ศ.2564-2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 140 ประเทศ และอันดับที่ 29 จาก 142 ประเทศ ตามลำดับ ลดลงจากในช่วงพ.ศ.2561-2563 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 อันดับที่ 26 และอันดับที่ 23 จาก 138 ประเทศ ตามลำดับ
เนื่องจากกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องระดมสรรพกำลัง และปรับลดงบประมาณอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ.2563-2565 มาสนับสนุนภารกิจในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทย่อย ด้าน ‘ประเทศไทยมีความมั่นคงและสามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอกได้ทุกรูปแบบสูงขึ้น (010401) พบว่า
ในช่วง พ.ศ.2561-2565 ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกมิติ กับประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ และภัยความมั่นคงที่ซับซ้อนและเชื่อมโยง
โดยส่งเสริมการยกระดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่มีวัตถุประสงค์ สารัตถะ คู่เจรจา ภาคีที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบของความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิ การเยือน ความร่วมมือ และกิจกรรมที่สะท้อนการยกระดับความสัมพันธ์ ซึ่งในช่วง พ.ศ.2561–2565 มีการเยือน/ความร่วมมือ/กิจกรรม เฉลี่ยปีละ 335.6 ครั้ง มากขึ้นจาก พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นปีฐาน (มีกิจกรรม 161 ครั้ง) ร้อยละ 108.45 ต่อปี
ในขณะที่คะแนนของ ‘ดัชนีรัฐเปราะบาง’ จัดทำโดย Fund for Peace ที่พิจารณาจากใน 4 มิติ ได้แก่ การสอดประสาน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พบว่า คะแนนของประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2561-2565 มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่่ 75.0 คะแนน จาก 73.1 คะแนน 70.8 คะแนน 70.9 คะแนน และ 70.0 คะแนน ตามลำดับ สะท้อนว่าประเทศไทย 'มีความเปราะบางลดลง' และ 'มีความยั่งยืนสูงขึ้น'
@ฟื้นความสัมพันธ์‘ไทย-ซาอุฯ’ เพิ่มโอกาสการค้า-ร่วมมือด้านพลังงาน
เป้าหมายการพัฒนาที่ 4 ‘ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ’ ซึ่งพิจารณาจากความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกมิติกับประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ พบว่า สถานการณ์ในภาพรวม ‘ดีขึ้น’
โดยใน พ.ศ. 2561-2565 โดยประเทศไทยสามารถฟื้นฟูความสมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียได้สำเร็จเมื่อเดือน ม.ค.2565 อันนำมาซึ่งโอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน และโอกาสของแรงงานไทย
นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมบทบาทเชิงรุกที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงบทบาทในเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ
ผ่านการจัดประชุมกลไกทวิภาคีกับประเทศต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าร่วมและจัดประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงการเป็นประธานอาเซียน ใน พ.ศ. 2562 การเป็นประธานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ใน พ.ศ.2565
สอดคล้องกับผลการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทย่อย ‘ประเทศไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการกำหนดทิศทางและส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียน (010402)’ ซึ่งพบว่า สถานการณ์ในช่วง พ.ศ.2561-2565 อยู่ในระดับ ‘ดีขึ้น’
สะท้อนได้จากจำนวนข้อเสนอ/ข้อริเริ่มมากขึ้น 18 โครงการ เฉลี่ยปีละ 3.6 โครงการ มากขึ้นจากปี 2560 ซึ่งเป็นปีฐาน (มีข้อเสนอ/ข้อริเริ่ม 3 โครงการ) ร้อยละ 20 ต่อปี
@กลไกบริหารจัดการ‘ความมั่นคง’ มีประสิทธิภาพ ‘ดีขึ้น’
เป้าหมายการพัฒนาที่ 5 ‘การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ’ ซึ่งพิจารณาเทียบเคียงจากดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) จัดทำโดย Economist Intelligence Unit
พบว่า ใน พ.ศ.2561 ประเทศไทยมีคะแนน 4.63 ทำให้ตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ที่มีการปกครองกึ่งอำนาจ’ แต่ใน พ.ศ.2562 มีคะแนน 6.32 เนื่องจากประเทศไทยได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น จึงได้รับการประเมินสูงขึ้น และขยับขึ้นมาเป็นประเทศ ‘ที่มีประชาธิปไตยที่มีความบกพร่อง’
และถึงแม้ว่าใน พ.ศ.2563 ประเทศไทยจะมีคะแนนลดลงมา แต่ใน พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีประชาธิปไตยอยู่ในระดับคงที่ 6.04 คะแนน ได้คะแนนเท่ากับ พ.ศ.2563 ขณะที่ในปี พ.ศ. 2565 ไทยได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งเป็นการจัดทำโดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทย่อย ด้าน ‘กลไกการบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (010501)’ ซึ่งพิจารณาจากระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานด้านการจัดการความมั่นคงในช่วงปี 2561–2565 พบว่า สถานการณ์มีแนวโน้ม 'ดีขึ้น' อย่างต่อเนื่อง
โดยพิจารณาจาก (1) แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง อาทิ จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงใน 2 ระดับ คือ กลไกระดับนโยบาย และกลไกระดับอำนวยการขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) ระบบบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม อาทิ ได้จัดหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคง (ระดับต้น) และ (3) ระบบการจัดการขอมูลด้านความมั่นคง อาทิ มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง
@4 ปัจจัยท้าทายเป้าหมาย ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ด้านความมั่นคง
รายงานฉบับนี้ ได้มีการระบุถึงประเด็นที่ท้าทายที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ‘ด้านความมั่นคง’ ใน 4 ประเด็น ได้แก่
(1) สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์การเมืองโลกยังคงมีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก ช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้น ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อม และพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเมืองโลกที่เกิดขึ้น
(2) สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองและการทหาร ที่ยังมีความขัดแย้งภายในประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งทางความคิด จากความเห็นต่างของความคิด ความเชื่อ และทัศนคติ สู่การกดดันเรื่อง ‘สถาบันฯ’ ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน
(3) สถานการณ์สภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดภัยจากไซเบอร์ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความเกลียดชังในสังคมออนไลน์ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และสร้างความรับรู้ในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น
(4) ความพร้อมของบุุคลากรของหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงควรมีการร่วมมือและบูรณาการกันอย่างแท้จริง และพัฒนาขีดความสามารถของบุุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นท้าทายของประเทศไทย ภายใต้ ‘แผนแม่บทย่อย’ ในด้าน ‘การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ (010401)’ พบว่า มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ
โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวระบุว่า การกำหนดท่าทีของไทยได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในห้วงถัดไป
โดยการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศที่่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ได้นำมาซึ่งการแข่งขันในการสร้างศักยภาพทางทหารในภูมิภาคเพื่อป้องปราม เป็นเครื่องมือในการสร้างดุลอำนาจ และต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการดำรงความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกมิติกับประเทศมหาอำนาจ และประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการสร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความแม่นยำ เพื่อให้สามารถกำหนดท่าที ยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการของไทยได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้เกิดความมีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการป้องกันภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจแทรกแซงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ร่วมกับการดำเนินร่วมมือด้านการข่าวและความมั่นคง
การหารือพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน และการดำเนินการมาตรการภายในประเทศให้สอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในห้วงถัดไปได้ เป็นต้น
เหล่านี้เป็นสถานการณ์ด้าน ‘ความมั่นคง’ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ 'ชาติมหาอำนาจ' ที่สะท้อนผ่าน ‘รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ’ ประจำปี 2565 ก่อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะส่งไม้ต่อการบริหารประเทศให้ว่าที่ 'รัฐบาลใหม่' ที่มี 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เป็นแคนดิเดตนายกฯ ท่ามกลางการแข่งขันของ ‘ชาติมหาอำนาจ’ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกนาที!
อ่านประกอบ :
ส.ว.สหรัฐฯยินดี ก้าวไกลชนะเลือกตั้งไทย-ขอทุกฝ่ายร่วมเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ
ฐานทัพของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อโลกและประเทศเจ้าบ้าน
ผ่า'ร่างแผนความมั่นคงฯ' 5 ปี มองไทยในวงล้อม 2 มหาอำนาจ 'สังคมเหลื่อมล้ำ-ทุจริตทุกระดับ'