"...2.ผลกระทบทางสังคม: ฐานทัพในต่างประเทศอาจนำไปสู่ความตึงเครียดกับประชากรในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรมหรือหากฐานทัพที่ตั้งนั้นขัดขวางเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตในท้องถิ่น ในบางกรณี การมีเจ้าหน้าที่ทหารต่างชาติเข้ามาในพื้นที่อาจแสดงท่าทีที่ขัดกับวิถีของคนในท้องถิ่นจนอาจเกิดปัญหาสังคมได้ เช่น การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมหรือการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยในกรณีของฐานทัพโอกินาวานั้น ชนวนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงจากประชาชนท้องถิ่นคือ คดีการข่มขืนที่ก่อเหตุโดยทหารสหรัฐฯ ที่มาประจำการในฐาน..."
นับแต่สหรัฐฯ เป็นเอกราชจากอังกฤษในเวลาไม่ถึง 3 ศตวรรษ ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้กลายเป็นมหาอำนาจโลกในทุกด้าน เดิมทีสหรัฐฯ เป็นดินแดนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวทางทหารกับโลกภายนอกมากนัก เนื่องจากภูมิศาสตร์ทวีปที่เป็นเกาะอยู่ห่างไกลจากยุโรปและเอเชียทำให้ยากที่จะมีใครเข้ามาโจมตีได้ การขยายฐานทัพออกไปนอกดินแดนของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวางบนพื้นทวีปเอเชียและแอฟริกาได้เริ่มต้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนหน้านี้แม้มีปฏิบัติการทางทหารนอกดินแดนบ้างแต่ก็ไม่ออกไปจากทวีปอเมริกานัก
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฐานทัพนอกดินแดนสหรัฐฯ
ในที่นี้อาจจะแบ่งพัฒนาการออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน
ระยะแรกคือการทำสงครามกับสเปนในปี 1898 สหรัฐฯ ช่วยคิวบาประกาศเอกราชตัวเองจากการปกครองของสเปน และเข้ายึดอาณานิคมของสเปนหลายแห่งรวมถึงฟิลิปปินส์ นี่จึงได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสหรัฐอเมริกาให้กลายเป็นเจ้าอาณานิคม ต่อเนื่องถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสหรัฐฯ ส่งทหารเข้าร่วมทำสงครามในปีที่ 3 ของสงครามi ในครั้งนั้นยุโรปอันเป็นสมรภูมิหลักเสียหายจากสงครามอย่างหนัก ทำให้สหรัฐฯ เริ่มมีบทบาทเป็นผู้นำโลก สันนิบาตชาติ (League of Nations) ถูกตั้งขึ้นโดยการผลักดันของประธานาธิบดี วูดโรล์ วิลสัน เพื่อเป็นองค์กรกลางระดับโลก แต่สหรัฐฯ กลับไม่เข้าร่วมด้วยเนื่องจากสภาคองเกรสไม่ผ่านมติii ซึ่งขณะนั้นนำโดยฝ่ายที่ไม่ต้องการนำประเทศไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในภาคพื้นยุโรป
ต่อมาระยะที่สองเกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มด้วยเหตุการณ์ที่นาซีบุกยึดฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯในปี 1940 และการโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ บนดินแดนสหรัฐฯ เมื่อปี 1941 การโจมตีครั้งนั้นมีชาวสหรัฐฯเสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน ทำลายเครื่องบินรบกว่า 180 ลำ ในขณะที่ญี่ปุ่นสูญเสียเครื่องบินรบเพียง 29 ลำ และมีทหารเสียชีวิตเพียง 64 นายiii ความเสียหายเหล่านี้ได้ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีบทบาทด้านทหารนอกดินแดนของตนในฐานะผู้จัดระเบียบโลก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยชัยชนะของสหรัฐฯ ในปี 1945 โดยมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรกลางในการจัดระเบียบและสร้างสันติภาพโลก ในครั้งนี้สหรัฐฯ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทอย่างสำคัญ ต่อมาสงครามเย็นก็ได้เกิดขึ้นแทบจะทันทีในปี 1947 ซึ่งสงครามดังกล่าวที่มีลักษณะเป็น Proxy war เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งมีบทบาทในการตั้งฐานทัพที่ไกลจากมาตุภูมิออกไปอีกเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ ทำให้ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ มีฐานทัพต่างแดนมากถึง 1,600 ฐานใน 40 ประเทศiv
ระยะที่สาม ระยะสุดท้ายภายหลังการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์โจรกรรมเครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึกดังกล่าว และอาคารเพนตากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ซึ่งสร้างความเสียหายและความหวาดกลัวมากกว่าเหตุการณ์เพิร์ลฮาเบอร์เสียอีก เนื่องจากเป็นการโจมตีอาคารสำคัญของพลเรือนที่ตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ค นั่นทำให้เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นให้ปฏิบัติการนอกดินแดนของตนอย่างเต็มพิกัด และขีดเส้นแบ่งชัดเจนให้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือไม่ก็เป็นศัตรู เริ่มด้วยสงครามบุกอัฟกานิสถาน ตามมาด้วยสงครามอิรักที่ในครั้งนี้แม้มติสหประชาชาติจะไม่ยินยอมก็ไม่เป็นผลที่จะสกัดไม่ให้สหรัฐฯ ยกพลรวมแล้วกว่า 130,000 นายv บุกอิรักและตั้งค่ายทหารอยู่นานหลายปีจนมีการถอนทหารออกจากตะวันออกลางในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง แสดงถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจนำอย่างไม่มีชาติใดเทียบ
สถานการณ์ภาพรวมของฐานทัพสหรัฐฯ ในโลก
จากข้อมูลของ David Vine ศาสตราจารย์จาก American University ระบุว่าในตอนนี้ฐานทัพสหรัฐฯ ที่สืบค้นพบมีด้วยกันราว 750 แห่งทั่วโลกซึ่งนับเป็นจำนวน 90% ของฐานทัพต่างแดนทั้งหมดในโลก โดยตั้งอยู่ใน 80 ประเทศ ประมาณได้ว่า 40% ของประเทศในโลกมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่vi (ภาพที่ 1) ทำให้สหรัฐฯ เป็นชาติที่มีจำนวนฐานทัพมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงของภูมิภาค การก่อร่างสร้างชาติที่ล่มสลายจากสงคราม หรือการป้องปรามศัตรูของสหรัฐฯ ในต่างแดน ก่อนที่จะมีศักยภาพมาก่อเหตุในดินแดนมาตุภูมิ ในขณะที่ชาติอื่น ๆ มีฐานทัพต่างแดนรวมกันเพียง 70 แห่งเท่านั้น จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 2 มีฐานทัพในจิบูติเพียงแห่งเดียวvii เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนในแอฟริกาเนื่องจากจีนให้ชาติแอฟริกากู้เงินจำนวนมาก อนึ่ง จำนวนฐานทัพนี้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล จึงขึ้นอยู่กับการสำรวจข้อมูลของแต่ละแหล่งข้อมูล ในความเป็นจริงสหรัฐฯ อาจมีฐานทัพอื่น ๆ อีกมากก็เป็นได้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสต่อทั้งประชาชนสหรัฐฯ และประชากรโลกเอง
การก่อสงครามแต่ละครั้งของสหรัฐฯ สร้างความเสียหายทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก มีการประเมินว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 9 แสนคน และใช้งบประมาณมากถึง
8 ล้านล้านเหรียญฯviii ซึ่งใช้เงินภาษีจากประชาชนสหรัฐฯ แทนที่จะใช้เงินตรงนี้ในการแก้ปัญหาในประเทศ อีกทั้งเมื่อพิจารณาในระยะยาวแล้วการก่อสงครามที่อ้างว่าจะสร้างสันติภาพให้กับทั้งสหรัฐฯ และโลกนั้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น สงครามมีการยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนานและเป็นเหตุให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายใหม่ขึ้น การตั้งฐานทัพในที่ต่าง ๆ ในอีกแง่หนึ่งจึงเป็นการยั่วยุให้เกิดการโจมตีและก่อสงครามได้ และบางครั้งฐานทัพเช่นนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญเนื่องจากการโจมตีฐานทัพในเขตแดนสหรัฐฯ ทำได้ยาก จึงทำให้ในระยะหลังมานี้กระแสเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดขนาดกองทัพลงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการตั้งฐานทัพตามภารกิจ เมื่อสิ้นสุดภารกิจก็ควรถอนฐานทัพออกไป แต่ฐานทัพจำนวนมากที่ตั้งอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองและยุคสงครามเย็น
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งและจำนวนฐานทัพของสหรัฐฯ ทั่วโลก สถิติ 2020ix
อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามให้เหตุผลที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งฐานทัพอยู่เช่นเดิม ประการแรกคือ ช่วยยืนยันถึงการเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ชาติที่ไม่ยินยอมให้มีการตั้งฐานทัพย่อมแสดงถึงการไม่ใช่มิตรแท้ที่พร้อมให้สหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติการทางทหารอย่างรวดเร็ว และอาจจะเป็นชาติที่พร้อมสลับขั้วไปมาระหว่างมหาอำนาจอื่นที่ยื่นผลประโยชน์เฉพาะหน้าได้ การมีสิ่งปลูกสร้างถาวรทางทหารถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสัมพันธภาพที่ดีมากเสียกว่าคำสัญญาใด ๆ ประการต่อมา ไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่าโลกจะไม่เกิดสงครามขึ้นอีก หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์จะเห็นว่าโลกอยู่ระหว่างช่วงสันติภาพและช่วงของการก่อสงครามสลับกันไปมา เมื่อวันหนึ่งสหรัฐฯ และจีนมีความขัดแย้งกันรุนแรงกว่านี้ หรือความขัดแย้งเรื่องไต้หวันที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกทหารแก่ไต้หวันอยู่เนือง ๆ แม้จะยอมรับอธิปไตยจีนเหนือไต้หวันก็ตาม อาจก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ในเอเชีย หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน หากความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อมากกว่านี้ และรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูตินต้องการรื้อฟื้นจักวรรดิโซเวียตตามที่มีข้อกล่าวหา การมีฐานทัพของสหรัฐฯ และ NATO อยู่ ย่อมเป็นเครื่องป้องกันที่ดี วาทะกรรมที่กล่าวว่าในยุคทุนนิยมนี้จะรบกันด้วยเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจไม่จริงอีกต่อไป ประการที่สาม การรบภาคพื้นดินยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการยึดพื้นที่แม้เทคโนโลยีทางทหารจะก้าวหน้ามากก็ตาม โดยเฉพาะในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลทะเลเช่น ใจกลางยุโรป การมีฐานทัพอย่างถาวรจะช่วยให้การลำเลียงกำลังพลเป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงสามารถสนับสนุนยุทโธปกรณ์หนักเช่น รถถัง รถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ ได้ดีกว่าฐานทัพที่ตั้งขึ้นชั่วคราวตามภารกิจเฉพาะหน้า ประการสุดท้าย ข้อกล่าวอ้างที่ว่าใช้งบประมาณสูงโดยไม่คุ้มค่านั้น ต้องพิจารณาถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหากเกิดสงครามแล้วสหรัฐฯ ไม่มีฐานทัพส่วนหน้าคอยรับมือ และอาจเจรจาให้ประเทศต้นทางร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นบางส่วนด้วย เช่น ฐานทัพในยุโรปที่ชาติยุโรปก็พอจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไม่น้อย ปัจจุบันมีอยู่สองภูมิภาคที่ฐานทัพสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างสูงคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป และในอนาคตอันใกล้คาดว่า ฟิลิปปินส์จะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะกลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ขนาดใหญ่เนื่องจากปัจจัยความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่ร้อนระอุ
อิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
สหรัฐฯ ได้เข้าไปตั้งฐานทัพในญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเข้าไปวางโครงสร้างทางการเมืองการปกครองใหม่ก็ว่าได้ ฐานทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในเมืองโอกินาวา โดยเมื่อญี่ปุ่นได้เอกราชเหนือโอกินาวาในปี 1972 ฐานทัพมีขนาดถึง 28,000 เฮคเตอร์ แต่ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นค่อย ๆ ดำเนินการจนประสบความสำเร็จทำให้มีขนาดเหลือ 18,000 เฮคเตอร์ ลดลงราว 35%x (ภาพที่ 2) ซึ่งที่ดินสำคัญต่อชาวโอกินาวะมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากและมีอัตราการว่างงานสูง หากนำมาคืนให้ประชาชนได้อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ภาพที่ 2 ขนาดที่ดินซึ่งถูกครอบครองโดยฐานทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวาxi
ที่มา : https://www.nippon.com/en/japan-data/h01329/
นอกจากผลกระทบเรื่องที่ดินแล้ว ยังมีมลพิษทางเสียงจากยุทโธปกรณ์ มลพิษ อุบัติเหตุและอาชญากรรม และเกรงว่าหากเกิดสงครามแล้วโอกินาวาจะกลายเป็นสมรภูมิอีกครั้งเช่นสมัยสงครามโลกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน ซึ่งกว่าครึ่งคือประชาชนทั่วไป ทำให้ประชากรท้องถิ่นมองว่ารัฐบาลกลางยังเจรจากับสหรัฐฯ ไม่มากพอที่จะแก้ปัญหา ส่งผลให้มีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดคือเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 50 ปีของการได้เกาะโอกินาวะคืนxii
โอกินาวายังคงเป็นฐานทัพที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงคาบสมุทรเกาหลีและอ่าวไต้หวัน ฉะนั้น สหรัฐฯ ย่อมไม่ถอนทัพออกไปโดยเฉพาะในช่วงที่ไต้หวันมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้นภายหลังวันที่ 2 สิงหาคม 2022 ปีที่ผ่านมา แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก อีกทั้งก่อนหน้านี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศนโยบายต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ โดยเรียกจีนว่าเป็น “ความท้าทายต่อระเบียบโลกอย่างมากในระยะยาว”xii นั่นทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนยังสนับสนุนการตั้งฐานทัพนี้ไว้ เพราะเชื่อว่าหากเกิดสงครามขึ้นจริงสหรัฐฯ จะปกป้องญี่ปุ่นได้ดีกว่ากองกำลังป้องกันตนเองซึ่งไม่สามารถสร้างกองทัพเต็มรูปแบบได้
สำหรับเกาหลีใต้ สถานการณ์ค่อนข้างจะต่างออกไป เพราะความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ทำให้กระแสต่อต้านจากประชาชนมีไม่มากนัก กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ตกลงจ่ายเงินเพิ่มสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการประจำการของทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ ภายใต้สัญญาฉบับใหม่ที่ทำไว้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมีอายุ 6 ปี โดยจะถูกนำมาใช้แทนข้อตกลงฉบับเดิม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายของประเทศที่เป็นที่ตั้งของกองทัพสหรัฐฯ เวลานี้มีทหารอเมริกันประจำการในเกาหลีใต้ราว 28,500 นาย วัตถุประสงค์หลักคือ การป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ การเจรจาเรื่องเพิ่มส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายสำหรับทหารอเมริกันที่ประจำการในเกาหลีใต้ชะงักงันมาตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธข้อเสนอของเกาหลีใต้ที่จะจ่ายส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีก 13% เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยอดีตผู้นำสหรัฐฯ ต้องการให้เพิ่มเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากระดับ 920 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบันxiv
ค่าย Humphreys ในเกาหลีใต้ปัจจุบันถือเป็นฐานทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่กว่า 1,398 เฮคเตอร์ ตั้งอยู่ทางทางใต้ของกรุงโซลซึ่งอยู่ห่างจากเขตปลอดทหารเกาหลี (Korean Demilitarized Zone หรือ DMZ) ประมาณ 100 กิโลเมตร มีอาคารที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตกว่า 500 หลัง มีความพร้อมสนับสนุนทางอากาศด้วยรันเวย์ที่ยาวถึง 2,476 เมตรxv ทำให้รันเวย์ในฐานทัพนี้เป็นหนึ่งในรันเวย์ที่ถูกใช้งานมากที่สุด และยังพร้อมสำหรับการสนับสนุนการรบในหลายรูปแบบ
อิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในยุโรป
ในปี 2020 ยุโรปมีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ไม่น้อยกว่า 60,000 นาย โดยราวครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเคยมีจำนวนมากถึง 72,400 นายในปี 2006 ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงมา ตามมาด้วยอิตาลีที่มีจำนวน 12,300 นาย และอังกฤษที่มีจำนวน 9,300 นายxvi แต่ด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซีย ทำให้นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีทหารประจำการในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100,000 นาย รวมถึงการสนับสนุนยุทโธปกรณ์ซึ่งครอบคลุมการสนับสนันการรบในทุกรูปแบบxvii ทำให้การประเมินของรัสเซียที่จะจบสงครามลงด้วยชัยชนะในเวลาไม่กี่เดือนกลายเป็นจริง และสร้างความเสียหายต่อทุกฝ่าย นำมาสู่มุมมองที่ต่างกันว่าสหรัฐฯ ควรแทรกแซงความขัดแย้งนี้หรือไม่ ด้านหนึ่งก็คือการเคารพในอธิปไตยของยูเครนที่สามารถเข้าร่วม NATO ได้อย่างอิสระ และหากในอนาคตรัสเซียต้องการจะผนวกยูเครนกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรื้อฟื้นสหภาพโซเวียต การเป็นสมาชิกของ NATO ย่อมประกันอธิปไตยของชาติได้ดี แม้จะทำให้สงครามไม่สามารถจบลงได้ก็ตาม ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มองว่าการเข้ามาของสหรัฐฯ คือการยั่วยุให้รัสเซียรบแบบเต็มขั้นและขยายเป้าหมายมากกว่าการยึดแคว้นบาสก์ในตอนแรก ชนวนของรัสเซียเกรงว่าการเข้าร่วม NATO นั้นจะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลในฐานทัพใกล้ชายแดนรัสเซีย ซึ่งมีพิสัยที่สามารถทำลายเป้าหมายในกรุงมอสโคว์ได้ในเวลา 10 นาที อันเป็นความเสี่ยงอย่างสูงต่อรัสเซียเพราะไม่มีทางที่รัสเซียจะโจมตีดินแดนของสหรัฐฯ ได้ในเวลาเท่ากัน
อิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์
เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ราว 30 ปีก่อน สหรัฐฯได้ถอนฐานทัพที่ประจำการในภูมิภาคนี้ออกไป เช่น ฐานทัพอากาศ Clark และฐานทัพเรือในอ่าว Subic ของฟิลิปปินส์ และฐานทัพอู่ตะเภาของไทย แต่ยังคง
มีการซ้อมรบร่วมกันเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอทุกปีเพื่อแสดงถึงการเป็นพันธมิตรระหว่างกัน อย่างไรก็ตามด้วยอิทธิพลของจีนที่แผ่เข้ามายังภูมิภาคนี้มากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ มีแผนที่จะกลับมารื้อฟื้นฐานทัพเรืออ่าว Subic อีกครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งฐานทัพนี้เคยมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับเกาะสิงคโปร์ แต่สุดท้ายเมื่อภัยสงครามเย็นเริ่มสงบลง ก็ต้องถอนกำลังออกไปเพราะไม่สามารถตกลงเรื่องค่าเช่าได้ โดยความร่วมมือครั้งใหม่นี้มีขึ้นเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กามาลา ฮาริส เป็นผู้ที่เดินทางมายังกรุงมะนิลาเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดี เฟอดินาน มากอส จูเนียร์ ด้วยตนเองเมื่อปี 2022 พร้อมส่งสัญญานไปถึงจีนว่าการโจมตีใด ๆ ที่กระทบฟิลิปปินส์เป็นการเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาร่วมป้องกันฟิลิปปินส์ด้วยxviii ในความเป็นจริงนับแต่ปี 2014 ได้มีการตกลงระหว่างกันให้สหรัฐฯ สามารถส่งทหารหมุนเวียนมาประจำการในฐานทัพของฟิลิปปินส์ได้ และสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างตลอดจนที่พักอาศัยได้ แต่ทั้งหมดจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2016 หลังประธานาธิบดีดูแตเต้ขึ้นครองอำนาจ ข้อตกลงดังกล่าวก็ถูกพับไปเพราะดูแตเต้ต้องการสร้างสมดุล ด้านความสัมพันธ์กับประเทศจีนxix จนกระทั่งในปีที่ผ่านมาเมื่อฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่จึงมี การรื้อฟื้นข้อตกลงนี้อีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่ทุกกลุ่มในประเทศที่จะนิยมในอิทธิพลของสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคือพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ (The Communist Party of the Philippines) ที่มีเป้าหมายหลักคือการลบล้างอิทธิพลของสหรัฐฯ และสร้างรัฐบาลใหม่ที่นำโดยชนชั้นแรงงาน โดยพรรคนี้ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลกลางเป็นระยะๆxx สำหรับการตั้งฐานทัพ Subic ก็เช่นกัน (ภาพที่ 3) มีนักวิเคราะห์มองว่าหากการตั้งฐานทัพเกิดขึ้นจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ทางการจีนด้วย และอาจเป็นชนวนที่เพิ่มความขัดแย้งให้ตึงเครียดขึ้นไปอีก
ภาพที่ 3 ฐานทัพ Subic ในอดีต ก่อนจะถูกรื้อถอนไปหลังสงครามเย็น
ที่มา : South China Morning Post, 2022xxi
ผลกระทบจากการตั้งฐานทัพในต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อประเทศเจ้าบ้าน
1.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: การรักษาฐานทัพในต่างประเทศอาจมีราคาแพง ทั้งในแง่ของต้นทุนโดยตรงในการสร้างและดำเนินการของฐานทัพ รวมถึงต้นทุนทางอ้อมในการสนับสนุนกำลังพลและครอบครัวที่ประจำการอยู่ที่นั่น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจสร้างความตึงเครียดให้กับงบประมาณทางทหารและอาจหันเหทรัพยากรไปจากลำดับความสำคัญอื่นๆ ซึ่งในระยะหลังมานับแต่ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ทำให้ชาติยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมากให้กับสหรัฐที่มาตั้งฐานทัพ
2.ผลกระทบทางสังคม: ฐานทัพในต่างประเทศอาจนำไปสู่ความตึงเครียดกับประชากรในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรมหรือหากฐานทัพที่ตั้งนั้นขัดขวางเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตในท้องถิ่น ในบางกรณี การมีเจ้าหน้าที่ทหารต่างชาติเข้ามาในพื้นที่อาจแสดงท่าทีที่ขัดกับวิถีของคนในท้องถิ่นจนอาจเกิดปัญหาสังคมได้ เช่น การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมหรือการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยในกรณีของฐานทัพโอกินาวานั้น ชนวนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงจากประชาชนท้องถิ่นคือ คดีการข่มขืนที่ก่อเหตุโดยทหารสหรัฐฯ ที่มาประจำการในฐาน
3.ผลกระทบทางวัฒนธรรม: การมีฐานทัพในต่างประเทศสามารถนำไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศเจ้าภาพอาจรู้สึกว่าวัฒนธรรมและค่านิยมของตนกำลังถูกคุกคามจากการมีอยู่ของบุคลากรทางทหารต่างชาติ ในบางกรณี ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างบุคลากรทางทหารและประชาชนในพื้นที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้งได้
4.ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยตรงแล้ว ยังมีผลที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังเช่นกองทัพสหรัฐฯ ที่ประจำการในอัฟกานิสถานมาเกือบ 2 ทศวรรษ ซึ่งมีขยะที่เกิดขึ้นหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือขยะที่เป็นสารพิษก่อมะเร็งและยากจะทำลายได้ บางส่วนถูกเผาทำลายทำให้เกิดควันพิษที่กระจายไปทั่วบริเวณ เช่น ยางรถยนต์และยางเครื่องบินเก่า พลาสติคห่อหุ้มอาหารซึ่งมีจำนวนมากดังรายงานของผู้ตรวจราชการพิเศษสำหรับการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน (the Special Inspector General for Afghanistan Reconstruction) หรือ SIGAR ที่กล่าวว่าการสูดดมสารพิษเหล่านี้จะนำไปสู่ผลร้ายต่ออวัยวะและระบบร่างกาย เช่น ต่อหมวกไต ไต ตับ และกระเพาะอาหารxxii และเมื่อเริ่มมีการถอนทหารและรื้อถอนฐานทัพซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดการเพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นที่กังขาว่าสหรัฐฯ จะยอมจ่ายเพื่อรักษามาตรฐานนี้หรือไม่ และมีหน่วยงานใดคอยมากำกับควบคุมให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เนื่องจากระเบียบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งระบุไว้นับแต่ยุคสงครามเย็นว่า ไม่อนุญาตให้กระทรวงสนับสนุนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมในฐานทัพที่ยุติการใช้งานแล้ว เว้นเสียแต่จะมีการทำข้อตกลงกับประเทศเจ้าบ้านเสียก่อน ทำให้มาตรการที่ปฏิบัติมักจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้นxxiii ไม่สามารถคาดหวังให้อัฟกานิสถานซึ่งบอบช้ำจากสงครามจะสามารถจัดการปัญหาได้เองอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่การรักษาสิ่งแวดล้อมของฐานทัพที่ตั้งในเขตแดนสหรัฐฯ กลับเป็นไปด้วยมาตรฐานขั้นสูงและมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ สะท้อนถึงการดำเนินการที่เป็นสองมาตรฐานอย่างยิ่ง
5.ผลกระทบต่อความสูญเสียชีวิต เหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนกองทัพสหรัฐฯ ในอดีตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1950 จนถึงปัจจุบันได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากนั้น จะขอหยิบยกเหตุการณ์มากล่าว 2 ช่วง คือ 1)ช่วงค.ศ. 1955-1975 เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ยังคงดำเนินไปและเริ่มก่อหวอดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ความขัดแย้งหลักทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือต้องเผชิญหน้ากับเวียดนามใต้และพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ กองทหารสหรัฐฯ กว่า 3.4 ล้านนายถูกส่งไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนกว่า 3,000,000 คนรวมถึงชาวอเมริกันกว่า 58,000 คนเสียชีวิตในสงคราม 2) ช่วงค.ศ. 2001-2021 เป็นช่วงเวลาหลังการโจมตี 9/11 และการประกาศสงครามกับทั้งอัฟกานิสถานในปี 2011 และอิรักในปี 2003 ทำให้มีกองกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในต่างประเทศ ชาวอเมริกันอย่างน้อย 800,000 คนรับใช้อยู่ในอัฟกานิสถานและมากกว่า 1.5 ล้านคนในอิรักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนมนุษย์จากสงคราม ประมาณการณ์ว่าได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากกว่า 900,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นพลเรือน
6.ความสูญเสียค่าใช้จ่าย จากรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการทหารของสหรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งมากขึ้นหลังปี 2000 ที่มีเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ค่าใช้จ่ายเริ่มก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบัน (ภาพที่ 4 ) ล่าสุดในปี 2020 สหรัฐฯ ใช้เงิน 7.78 แสนล้านดอลลาร์ไปกับกองทัพของตน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายด้านการทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมากกว่า 10 ประเทศถัดไปรวมกัน (ดูภาพที่ 5)
ภาพที่ 4 ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของสหรัฐฯ
ที่มา : The Stockholm International Peace Research Institute , 2021
ภาพที่ 5 การจัด 10 ลำดับแรกของประเทศที่ใช้จ่ายด้านการทหารสูงสุดของโลก
ที่มา : The Stockholm International Peace Research Institute , 2021
บทสรุป
สหรัฐฯ เริ่มส่งกำลังและจัดตั้งฐานทัพในประเทศต่าง ๆ มากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือ การขยายฐานทัพออกไปนอกดินแดนของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวางบนพื้นทวีปเอเชียและแอฟริกาได้เริ่มต้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นี้เอง ด้วยเหตุที่อ้างเพื่อต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการป้องปรามศัตรูโดยตรงของตน แม้ประเทศเจ้าบ้านจะไม่เต็มใจยินยอมเท่าใดนัก หรือการป้องปรามศัตรูของชาติพันธมิตร ซึ่งการแสดงบทบาทอย่างหลังนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือชาติต่าง ๆ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงยังคงมีฐานทัพตั้งอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในจุดภูมิรัฐศาสตร์สำคัญของโลก เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี ภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เนื่องจาก บริเวณดังกล่าวใกล้ชิดกับพรมแดนของมหาอำนาจอื่น เช่น รัสเซียและจีน
สำหรับมุมมองของประเทศเจ้าบ้านนั้น แม้ว่าในปัจจุบัน โลกจะเข้าสู่ยุคของการแข่งขันด้วยการค้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ปัจจุบันไม่มีสงครามระดับโลกก็ยังมีสงครามระดับภูมิภาคอยู่อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตที่จะมาถึงก็ไม่มีความชัดเจนว่าสงครามจะขยายตัวมากกว่านี้หรือไม่ ทำให้ชาติต่าง ๆ เกรงว่าลำพังกำลังทหารของตนยังไม่สามารถประกันความมั่นคงของชาติได้ การมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่จึงเหมือนเป็นหลักประกันที่ดีกว่าการพึ่งพากำลังของตนเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการยั่วยุให้ตกเป็นเป้าของสงครามจากความไม่ไว้วางใจของมหาอำนาจอื่น ๆ และมี ‘ต้นทุน’ ที่ประเทศเจ้าบ้านต้องจ่ายในราคาสูงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของงบประมาณ ซึ่งนับตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์เป็นต้นมา สหรัฐฯ เรียกร้องงบประมาณจากประเทศเจ้าของพื้นที่มากขึ้นหลายเท่าตัว และในแง่ของการเป็นเป้ายั่วยุความขัดแย้งจากศัตรูของสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลให้ชาติเจ้าของพื้นที่ถูกมองว่าเลือกข้างสำหรับความขัดแย้งไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในแง่อื่น ๆ ที่มิใช่ความมั่นคงโดยตรง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่สหรัฐฯ ไม่ได้เตรียมการป้องกันปัญหาเหล่านี้เท่าใดนัก
กล่าวได้ว่า การตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศอื่น มีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศเจ้าบ้านมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ตั้งและสถานการณ์แวดล้อมของฐานทัพนั้น ตลอดจนมุมมองและทัศนะของประเทศเจ้าบ้านว่าจะประเมินและให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ด้านใดสำหรับประเทศตนเองเป็นสำคัญ
ยุวดี คาดการณ์ไกล
อุสมาน วาจิ
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
อ้างอิง
- U.S. neutrality: 1914 – 1917. U.S. Neutrality: 1914 – 1917 - World War I Centennial. (n.d.). Retrieved January 2, 2023, from https://www.worldwar1centennial.org/index.php/edu-home/edu-topics/584-u-s-neutrality-1914-1917.html
- Khan Academy. (n.d.). The League of Nations (article). Khan Academy. Retrieved January 2, 2023, from https://www.khanacademy.org/humanities/us-history/rise-to-world-power/us-in-wwi/a/the-league-of-nations#:~:text=Overview,opposition%20from%20isolationists%20in%20Congress.
- 7 ธันวาคม 1941 กองทัพญี่ปุ่นโจมตีถล่ม “เพิร์ลฮาร์เบอร์”. https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_4636
- Chapter One: Overseas bases and US strategic posture. IISS. (n.d.). Retrieved January 3, 2023, from https://www.iiss.org/blogs/analysis/2022/09/overseas-bases-and-us-strategic-posture
- BBC. (2014, February 4). US Army rocked by Iraq War Recruitment Fraud Scheme. BBC News. Retrieved January 3, 2023, from https://www.bbc.com/news/world-us-canada-26041963
- Haddad, M. (2021, September 10). Infographic: History of US interventions in the past 70 years. Infographic News | Al Jazeera. Retrieved January 2, 2023, from https://www.aljazeera.com/news/2021/9/10/infographic-us-military-presence-around-the-world-interactive
- Robson, S. (2022, December 9). RAND report names four countries where China may seek to build military bases. Stars and Stripes. Retrieved January 3, 2023, from https://www.stripes.com/theaters/asia_pacific/2022-12-09/china-overseas-military-bases-rand-report-8356537.html#:~:text=China%20has%20only%20one%20overseas%20military%20base%20%E2%80%94%20in%20Djibouti%2C%20on,want%20to%20establish%20its%20forces.
- Costs of the 20-Year War on terror: $8 trillion and 900,000 deaths. Brown University. (2022, November 17). Retrieved January 3, 2023, from https://www.brown.edu/news/2021-09-01/costsofwar
- Haddad, M. (2021, September 10). Infographic: History of US interventions in the past 70 years. Infographic News | Al Jazeera. Retrieved January 3, 2023, from https://www.aljazeera.com/news/2021/9/10/infographic-us-military-presence-around-the-world-interactive
- Okinawa's US military base burden little changed since reversion 50 years ago. nippon.com. (2022, May 24). Retrieved January 3, 2023, from https://www.nippon.com/en/japan-data/h01329/
- Ibid.
- Yamaguchi, M. (2022, May 17). Okinawa marks 50 years of end to US rule amid protests. – The Diplomat. Retrieved January 3, 2023, from https://thediplomat.com/2022/05/okinawa-marks-50-years-of-end-to-us-rule-amid-protests/
- Deutsche Welle. (2022, May 26). Blinken warns China threat greater than Russia long term – DW – 05/26/2022. dw.com. Retrieved January 3, 2023, from https://www.dw.com/en/blinken-warns-china-threat-greater-than-russia-long-term/a-61941942
- Reuters. (2021, March 8). South Korea to boost funding for US troops under New Accord, US says. VOA. Retrieved January 3, 2023, from https://www.voanews.com/a/usa_south-korea-boost-funding-us-troops-under-new-accord-us-says/6203008.html
- Haddad, M. (2021, September 10). Infographic: History of US interventions in the past 70 years. Infographic News | Al Jazeera. Retrieved January 2, 2023, from https://www.aljazeera.com/news/2021/9/10/infographic-us-military-presence-around-the-world-interactive
- Ibid.
- Poland, U. S. M. (2022, June 29). Fact sheet - U.S. defense contributions to Europe. U.S. Embassy & Consulate in Poland. Retrieved January 2, 2023, from https://pl.usembassy.gov/factsheet_us_defense_contributions/
- Widakuswara, P. (2022, November 22). Attack on Philippines would invoke US mutual defense, says Harris in signal to China. VOA. Retrieved January 25, 2023, from https://www.voanews.com/a/attack-on-philippines-would-invoke-us-mutual-defense-says-harris-in-signal-to-china/6843270.html
- A US return to Philippines' Subic Bay: The result of China's 'coercion'? South China Morning Post. (2022, December 4). Retrieved January 25, 2023, from https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3201826/south-china-sea-us-eyes-subic-bay-return-was-chinese-coercion-philippines-reason
- Examining the military's soft power challenge in the southern philippines. United States Institute of Peace. (2022, February 17). Retrieved January 25, 2023, from https://www.usip.org/publications/2022/02/examining-militarys-soft-power-challenge-southern-philippines
- A US return to Philippines' Subic Bay: The result of China's 'coercion'? South China Morning Post. (2022, December 4). Retrieved January 25, 2023, from https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3201826/south-china-sea-us-eyes-subic-bay-return-was-chinese-coercion-philippines-reason
- Atherton, K. D. (2021, August 30). U.S. forces are leaving a toxic environmental legacy in Afghanistan. Scientific American. Retrieved January 23, 2023, from https://www.scientificamerican.com/article/u-s-forces-are-leaving-a-toxic-environmental-legacy-in-afghanistan/
- Ipsadmin. (2014, May 7). Overseas military bases and environment. Institute for Policy Studies. Retrieved January 24, 2023, from https://ips-dc.org/overseas_military_bases_and_environment/