"...ในกรณีที่คนแสดงความคิดเห็นเรื่องกิจการสาธารณะ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นของการชั่งน้ำหนักของคนสองคน กับคนที่กล่าวหาและคนที่ถูกกล่าวหา ถ้าเป็นเรื่องประเด็นสาธารณะ เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการผูกขาดในกิจการเอกชนต่าง ๆ มันน่าจะเป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายที่น่าจะรับรู้และประโยชน์ต่อสังคมที่จะต้องถกเถียงกันในเรื่องอย่างมีเหตุมีผล..."
ปัญหาการฟ้องปิดปาก หรือ การฟ้อง SLAPP ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการต้านทุจริต เพราะคนที่ออกมาเปิดเผยส่วนใหญ่มักจะถูกฟ้องปิดปาก และทำให้สังคมเกิดภาวะชะงักงันในการแสดงความคิดเห็นต่อกลุ่มทุนผูกขาด ที่ไม่ได้ต้องการชัยชนะ แต่เป็นเพียงการข่มขู่ กลั่นแกล้ง และปิดปาก
ล่าสุด น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถูกบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf Energy Development) ฟ้องคดีหมิ่นประมาท ทั้งในคดีแพ่งและอาญา พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยอ้างว่า น.ส.สฤณี ได้เขียนกล่าวหาว่าบริษัท กัลฟ์ ผูกขาดโรงไฟฟ้า
น.ส.สฤณี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ว่า การถูกฟ้องดังกล่าว เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 โดยเป็นโพสต์ที่ไม่ได้พูดถึงบริษัทไหนโดยเฉพาะ แต่เป็นโพสต์ที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุค่าไฟแพง
"ในฐานะที่ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาหลายปี มองจากมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ถ้าไปดูตามหลักเกณฑ์ บริษัทที่ประกาศว่าเคารพสิทธิมนุษยชนจะไม่ไล่ฟ้องคนวิจารณ์ ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ปัญหาของการที่องค์การใหญ่ที่มีทรัพยากรเยอะมากฟ้องในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออก โดยส่วนใหญ่คดีประเภทนี้มีระยะเวลานาน โดยในระหว่างที่ใช้เวลาคนที่ถูกฟ้องคงไม่สามารถพูดอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า มันเป็นปัญหา และยังมีผลต่อการแสดงออกของคนที่ถูกฟ้องด้วย" น.ส.สฤณี กล่าว
น.ส.สฤณี กล่าวเสริมว่า ศาลควรจะมีแนวทางหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน หรือแยกแยะตั้งแต่ต้นทางเลย เพื่อไม่ให้เสียเวลาสู้กันยาวนาน ส่วนตัวเห็นว่าคดีแนวนี้ในการแสดงออก ลักษณะข้อความมันปรากฏอยู่แล้วว่าเขียนว่าอะไร มันไม่เหมือนกับคดีอาชญากรรมที่ต้องไปสืบสวน หาพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้นจากข้อมูลที่ปรากฏ เช่นการกล่าวโดยไม่มีมูล หรือเป็นกล่าวโดยมีอ้างอิง สิ่งเหล่านี้มันน่าจะเป็นการแสดงออกที่ใช้พิจารณาได้ว่าเข้าลักษณะเป็นการจงใจใส่ความหรือไม่
น.ส.สฤณี ทิ้งท้ายว่า ต่อให้เราไม่มีกฎหมาย เราน่าจะมีกำหนดแนวทางที่ชวนแยกแยะในการไต่สวนมูลฟ้องคดีฟ้องปิดปาก กับคดีหมิ่นประมาทได้
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ประเทศไทยมีการผลักดันมาเป็นเวลาหลายปี โดยทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และมีมติอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 ก่อนจะนำไปเสนอให้รัฐสภาต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม โดยกำหนดมาตรการหรือกลไกในการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่มีในร่างดังกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งได้กำหนดให้มี กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) และสอดคล้องกับมาตรา 63 ประกอบมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดยกฎหมายดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก อันเนื่องจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีบทบาทสำคัญต่อต่อกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพราะมีอำนาจในการใช้กลไกทางกฎหมาย และพิจารณาว่าบุคคลใดสมควรได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือในกรณีที่ถูกฟ้องคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา รวมถึงการถูกดำเนินการทางวินัย
นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยความคืบหน้ากฎหมายดังกล่าว ว่า ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอตัวร่างกฎหมายไปให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจารณา ในส่วนของรายละเอียด ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการตรวจข้อความ ตรวจสาระสำคัญครบถ้วนแล้ว โดยเน้นว่าจะให้มีกระบวนการ ในเรื่องป้องกันการฟ้องปิดปากเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการทุจริต สนับสนุนให้คนกล้าแจ้งเบาะแส และเป็นพยานเรื่องทุจริตต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
"ส่วนในเรื่องของกรอบระยะเวลา ขณะนี้เนื่องจากเป็นช่วงยุบสภา เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ คงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้หยิบยกขึ้นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีการเปิดสภาครั้งแรก" นายภูเทพ ระบุ
นายภูเทพ กล่าวต่อว่า หากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้แล้ว การใช้จะมีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น เดิมบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณากันไว้เป็นพยานก็จะได้รับการคุ้มครอง ทั้งในเรื่องของทางแพ่งและทางอาญา แต่ว่าในส่วนที่ผ่านมาอาจจะไม่มีเรื่องของรายละเอียดของค่าใช้จ่าย หน่วยงานที่จะมาดำเนินงานงานช่วยเหลือด้านเขาถูกดำเนินคดีอาญา แพ่ง หรือวินัย
ส่วนในตัวร่างกฎหมายฉบับนี้จะบอกรายละเอียดว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือ ทั้งเรื่องแก้ต่าง หรือทำหน้าที่แทนทนายความประจำตัวพยานบุคคลที่แจ้งเบาะแสมาและถูกดำเนินคดี
นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก เคยยื่นเข้าสู่สภาแล้วหลายรอบแล้ว ซึ่งตัวกฎหมายยังอยู่ในสภา และเมื่อเราเป็นรัฐบาล กฎหมายที่เราเคยยื่นไป แน่นอนต้องผลักดันต่อ ดังนั้นกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากจะเป็นหนึ่งในกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันต่อ
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนขอบเขตกฎหมายดังกล่าวจะเป็นอย่างไร เบื้องต้น กฎหมายของพรรคก้าวไกลในเรื่องป้องกันการฟ้องปิดปาก คือ ไม่ต้องการให้มีการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากอีกต่อไป ประชาชนมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ไปเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเราเองก็ให้ความสำคัญตรงนั้น
โดยกฎหมายของเราจะพยายามมาแก้ไขเรื่องเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องปิดปาก ซึ่งคงจะทำให้กระบวนการของศาล หรือกระบวนการของคดีความ อาจจะมีความรวดเร็วมากขึ้น และทำให้อำนาจในการยกฟ้องในกรณีที่มีการฟ้องปิดปากจะทำให้ยกฟ้องได้ง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป
เมื่อถามถึงเคยมีกรณีที่เคยฟ้องกับนายรังสิมันต์แบบนี้บ้างไหม
"หลังจากมีการตรวจสอบหรือทำหน้าที่ของผม โดยเฉพาะในสภา ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกฟ้อง หลาย ๆ คนน่าจะทราบนะครับว่า ผมตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา จะมีการฟ้องดำเนินคดีอยู่ เช่น คดีป่ารอยต่อ เป็นการฟ้องหมิ่นประมาท แล้วก็จะมีในเรื่องของ ส.ว.อุปกิต ซึ่งกรณีเหล่านี้เกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ของผมในสภา" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะ ในเรื่องที่มีคอร์รัปชันเกิดขึ้น หรือเรื่องเกิดเหตุการณ์ที่มิชอบของบริษัทเอกชน
แต่อีกมุมหนึ่ง ทุกคนก็มีสิทธิในชื่อเสียง เกียรติยศของตัวเอง เช่น คนทุกคนมีเกียรติยศ ใครก็ตามจะมากล่าวหา หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็ไม่ได้
ดังนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านี้เท่ากัน ก็อยู่ที่ศาลในการตัดสินใจ ในการชั่งน้ำหนักว่าตกลงแล้ว คุณใช้สิทธิโดยสุจริตในการติดตามหรือไม่ ถ้าใช่ สุจริต ฝั่งประชาชนแสดงความคิดเห็นก็ชนะไป ถ้าคุณใช้สิทธิไม่สุจริต มันก็กลายเป็นหมิ่นประมาท ก็ต้องยอมรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการไปทุจริตและไปแกล้งปรักปรำกล่าวหาคนอื่นเขา
"ในกรณีที่คนแสดงความคิดเห็นเรื่องกิจการสาธารณะ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นของการชั่งน้ำหนักของคนสองคน กับคนที่กล่าวหาและคนที่ถูกกล่าวหา ถ้าเป็นเรื่องประเด็นสาธารณะ เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการผูกขาดในกิจการเอกชนต่าง ๆ มันน่าจะเป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายที่น่าจะรับรู้และประโยชน์ต่อสังคมที่จะต้องถกเถียงกันในเรื่องอย่างมีเหตุมีผล" ดร. ปกป้อง กล่าว
ดร. ปกป้อง กล่าวเพิ่มว่า ในต่างประเทศมีกฎหมายที่เรียกว่า Anti-SLAPP Law คือกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนแสดงความคิดเห็นในเรื่องประเด็นสาธารณะ แล้วถูกฟ้องปิดปากเรียกค่าเสียหาย จะให้โอกาสคนที่แสดงความคิดเห็นยื่นคำร้อง โดยศาลบอกว่า เขากำลังใช้ความคิดเห็นโดยสุจริตในเรื่องสาธารณะ แล้วถ้าศาลเห็นจริง เขาจะยกฟ้องหมิ่นประมาทไปเลย แล้วบอกว่าเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ธุรกิจเอกชนรายดังกล่าวจะต้องยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาท
แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้เพื่อคุ้มครองคนที่กล่าวหา ไม่ได้คุ้มครองคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ในการที่ทุกคนสามารถแสดงออกในเรื่องสาธารณะเพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ทำให้บริหารจัดการดีขึ้นในสังคม
"เพราะฉะนั้นกฎหมายดังกล่าวที่มีอยู่ในบางประเทศเรียกว่า 'กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก' หมายความว่า ไม่ได้ห้ามฟ้องปิดปาก คนที่ถูกหมิ่นประมาท คนที่ถูกกล่าวหา รู้สึกไม่เป็นธรรมก็ยังฟ้องได้ เพียงแต่เขามีกลไกอะไรบางอย่างให้ยุติคดีอย่างรวดเร็ว โดยอ้างเหตุผลว่าที่เราพูดไป เราใช้สิทธิโดยสุจริต กำลังทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ศาลก็จะเข้ามามีบทบาทเข้ามายุติการดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว นี่คือลักษณะกฎหมายการป้องกันการฟ้องปิดปาก"
"ส่วนการฟ้องปิดปากในไทยมี 2 แบบ คือดำเนินคดีอาญา เรื่องข้อหาหมิ่นประมาท หรือดำเนินคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย" ดร. ปกป้อง ระบุ
ดร. ปกป้อง กล่าวเสริมว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายเหมือนในต่างประเทศ ที่เข้ามาป้องกันการฟ้องปิดปาก แต่กระบวนการยุติธรรมของศาลไทย สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการฟ้องปิดปากให้ดีขึ้นได้คือสามารถมาพิจารณาว่าเรื่องนี้ คนที่เขาพูด ที่เขาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องต่าง ๆ เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาทำโดยสุจริต ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น
ถ้าศาลเห็นแบบนั้น มันก็มีกลไกในกฎหมายไทยอยู่หลายมาตรา ที่สามารถเข้ามายุติคดีหมิ่นประมาทได้ โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาดำเนินคดีนาน ๆ สามารถยกข้อกฎหมายเบื้องต้นและชี้ขาดโดยเบื้องต้นได้ในคดีแพ่ง สามารถอ้างว่าใช้สิทธิโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ตามคดีอาญา มาตรา 329 (3) ของประมวลกฎหมายอาญาได้ เพื่อทำให้คดีมันยุติไปอย่างรวดเร็ว เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ถึงแม้ไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ แต่มันก็ยังมีทางออกในการใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรม
รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ การผลักดันกฎหมายดังกล่าว ไม่เพียงแต่เฉพาะ ป.ป.ช. ภาคประชาชน หรือ ผู้เรียกร้องจากผลกระทบเท่านั้น แต่ในรายงานปฏิรูปประเทศล่าสุด ได้มีการเสนอให้ภาครัฐผลักดันประเด็นป้องกันฟ้องปิดปากเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไร