“…จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก อันเนื่องจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. …”
.........................................
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นเรื่องเสร็จที่ 1501/2565
โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มกลไกและมาตรการในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
อันเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าว อาจถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดีทางอาญา ถูกฟ้องคดีทางแพ่ง หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว (การถูกฟ้องคดีปิดปาก หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAAP) รวมทั้งสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ดังนี้
@เพิ่มกลไกคุ้มครอง ‘ผู้ให้ถ้อยคำ-ผู้แจ้งเบาะแส-แสดงความเห็น’
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังต่อไปนี้
(1) แก้ไขเพิ่มเติมบทยกเว้นความรับผิดของผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 132)
(2) กำหนดกระบวนการ ขั้นตอน และมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคล ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (เพิ่มมาตรา 132/1 และมาตรา 132/2)
(3) กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (เพิ่มมาตรา 132/3)
(4) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 162 (2))
เหตุผล
โดยที่มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่โดยที่ปัจจุบันยังขาดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว
สมควรกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 132 ผู้ใดให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากได้กระทำโดยสุจริต ผู้นั้นย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เฉพาะส่วนความรับผิดที่เกิดจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะได้รับการกันไว้เป็นพยานและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 135”
@กำหนดแนวทางคุ้มครองฯ กรณีถูกฟ้องคดี-ดำเนินการทางวินัย
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 132/1 มาตรา 132/2 และมาตรา 132/3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
“มาตรา 132/1 ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ว่าโดยทางใดๆ ว่า บุคคลตามมาตรา 132 ถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัย อันเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตรา 132 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 132 หรือไม่ แล้วเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยพลัน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 132 ให้สำนักงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไปโดยเร็ว
มาตรา 132/2 ในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรา 132/1 ให้สำนักงานกระทำได้ตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ในกรณีถูกฟ้องคดีแพ่ง ได้แก่
(ก) การมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ต่างให้การจัดหาทนายความให้ หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความ
(ข) การสนับสนุนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี
(2) ในกรณีถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องคดีอาญา ได้แก่
(ก) กรณีอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ได้แก่ การส่งข้อมูลและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 132 ไปให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณา โดยให้ถือว่าข้อมูลและมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ข) กรณีถูกฟ้องคดีอาญาในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ได้แก่ การมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ต่างให้ การจัดหาทนายความให้ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความ หรือการขอให้พนักงานอัยการเข้าแก้ต่างให้
(ค) กรณีถูกฟ้องคดีอาญาและผู้ได้รับความช่วยเหลืออยู่ในอำนาจของศาล ได้แก่ การแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 132 ให้ศาลทราบ
(ง) การสนับสนุนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี
(จ) การช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราว
(3) ในกรณีถูกดำเนินการทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งมติที่วินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 132 ไปให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยทราบ และให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวยุติการดำเนินการทางวินัยในเรื่องนั้นทันที แต่ในกรณีที่ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ถูกดำเนินการทางวินัยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และดำเนินการทางวินัยต่อไป เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติให้กันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานตามมาตรา 135 ก็ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยยุติการดำเนินการทางวินัย
เมื่อมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ต่างให้ตาม (1) (ก) หรือ (2) (ข) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีอำนาจแก้ต่างในศาลได้เช่นเดียวกับทนายความ
ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นสมควรรับแก้ต่างให้ตาม (2) (ข) ให้พนักงานอัยการมีอำนาจแก้ต่างได้ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ การขอรับความช่วยเหลือ และการยกเลิกการให้ความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ในกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเงิน ให้จ่ายจากเงินกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
มาตรา 132/3 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราวแก่บุคคลซึ่งถูกควบคุมอยู่ในชั้นสอบสวน ให้สำนักงานแจ้งมติดังกล่าวไปให้พนักงานสอบสวนทราบ และให้พนักงานสอบสวนสั่งปล่อยชั่วคราวบุคคลนั้นไปโดยไม่ต้องมีประกัน
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลดังกล่าวอยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการหรือศาล พนักงานอัยการหรือศาลจะสั่งปล่อยชั่วคราวบุคคลนั้นโดยไม่มีประกันก็ได้ แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการหรือศาลเห็นสมควรจะให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันให้สำนักงานมีอำนาจประกันหรือวางหลักประกันดังกล่าวได้”
@เพิ่มวัตถุประสงค์ใช้เงิน ‘กองทุนฯ’ ช่วยเหลือผู้ได้รับการคุ้มครองฯ
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 162 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนตามมาตรา 131 การให้ความช่วยเหลือตามมาตรา 132/2 และเงินรางวัลตามมาตรา 137”
มาตรา 6 ให้บทบัญญัติมาตรา 132/1 มาตรา 132/2 และมาตรา 132/3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มีผลใช้บังคับแก่การให้ความช่วยเหลือผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่คดีจะถึงที่สุดหรือมีการลงโทษทางวินัยแล้ว
มาตรา 7 ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
@พบปัญหา 'ฟ้องคดีปิดปาก' ยังยั้งการมีส่วนร่วมปกป้องปย.สาธารณะ
ขณะเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
สภาพปัญหา สาเหตุและผลกระทบของปัญหา
ปัจจุบันพบว่ามีการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ (Judicial Harassment) เพื่อระงับยับยั้งประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ
โดยวิธีการที่เรียกว่า ‘การฟ้องปิดปาก’ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP) มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในทางอาญา ทางแพ่ง ทางวินัยหรือปกครอง จนเกิดเป็นคดีจำนวนมาก โดยผู้ฟ้องคดีมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษหรือให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการเยียวยาความเสียหายในทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวาง ข่มขู่ ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะ
นอกจากนี้ จากการศึกษากฎหมายของประเทศไทยพบว่า การแสดงความเห็น การให้ข้อมูลเบาะแส หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ อันอาจนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ นั้น
ยังขาดกลไกทางกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องคดีปิดปากโดยการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ ในลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบบุคคลดังกล่าวหรือโดยมุ่งหวังผลประโยชน์อย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ
ฉะนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีปิดปากในลักษณะดังกล่าว และเพิ่มมาตรการป้องกันการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีปิดปากเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการมุ่งคุ้มครองปกป้องประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อกำหนดให้มีกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
อันเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว โดยสมควรกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีมาตรการในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี ในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้มีการบังคับใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ หรือขาดกลไกเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเห็นควรกำหนดกลไกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพด้วย...
จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก อันเนื่องจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์หรือความใกล้เคียงกับกฎหมายอื่น
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... เป็นการกำหนดหลักการใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
โดยมีการสร้างกลไกให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดีทั้งทางอาญา ทางแพ่ง หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว
รวมทั้งกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่เข้ามามีส่วนช่วยในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตได้รับความคุ้มครองจากรัฐ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรอง
ซึ่งหลักการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก มีความแตกต่างจากหลักการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งเป็นหลักการมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน แก่ผู้แจ้งเบาะแสข้อมูล แต่ไม่รวมถึงการคุ้มครองช่วยเหลือผู้แจ้งข้อมูลเบาะแส จากการถูกฟ้องคดีที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อยับยั้ง ข่มขู่ หรือขัดขวาง การเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามการทุจริตของรัฐแต่อย่างใด
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
กฎหมายนี้จำกัดสิทธิและเสรีภาพ หรือก่อให้เกิดหน้าที่หรือภาระอะไรแก่ใครบ้าง?
กฎหมายฉบับนี้มีหลักการเพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี และกำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือโดยกำหนดให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ในส่วนความรับผิดที่เกิดจากการผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแส ข้อมูล เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิในการฟ้องคดี เพื่อคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในการพิจารณาขอบเขตการคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก จึงได้มีการพิจารณาที่กลไกและมาตรการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนของการคุ้มครองกับการกระทบสิทธิของบุคคลแล้ว
กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ มีกำหนดกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกำหนดให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าบุคคลใดสมควรได้รับความคุ้มครอง โดยมีขั้นตอนการเริ่มต้นกระบวนการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะได้ยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือหรือเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
โดยการพิจารณาให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการโดยรวดเร็วให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีมติให้ได้รับความคุ้มครอง กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป (ร่างมาตรา 132/1)
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ร่วมทั้งหน่วยงานฝ่ายปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อมูลและมติที่ได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและสั่งคดีตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
โดยให้ถือว่าข้อมูลและมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งยังกำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ตามสมควรด้วย เช่น การแก้ต่างหรือการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี การสนับสนุนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี การช่วยเหลือในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น (ร่างมาตรา 132/2 และร่างมาตรา 132/3)
กฎหมายนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ สังคม หรือประชาชนอย่างไร?
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการกำหนดกลไกทางกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องคดีปิดปาก โดยการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ ในลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกสั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบบุคคลดังกล่าวหรือโดยมุ่งหวังผลประโยชน์อย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ
และเพิ่มมาตรการป้องกันการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีบิดปากเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการมุ่งคุ้มครองปกป้องประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอันก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ประเทศ สังคมและประชาชนอย่างยิ่ง
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้เมื่อไหร่ หลังจากเมื่อต้นปี 2565 ครม.ได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....ไปแล้ว 1 ฉบับ
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก พนง.รัฐผิดโดนโทษ 2 เท่า
ป.ป.ช.เชิญประชาชนแสดงความเห็นแก้ กม.ฟ้องปิดปาก หวังปฏิรูปป้องกันทุจริต
เปิดรายงานวิจัย 'คดีฟ้องปิดปาก' พบไทย 1 ใน 4 เกี่ยวข้องเเสดงความเห็นออนไลน์