“...ตลอดเวลาที่ผ่านมาเด็กถูกเลี้ยงดูตามกิจกรรมที่จัดไว้ให้ เมื่อเด็กเหล่านี้ออกจากสถานดูแลมาใช้ชีวิตด้วยตนเองทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย จนต้องกลับมาอยู่ที่สถานดูแลอีกครั้ง นอกจากนี้เด็กที่โตนอกบ้านยังมีภาวะผูกพันผิดปกติหรือภาวะพร่องรัก เกิดจากกิจกรรมที่คล้ายกับการท่องเที่ยวในสถานสงเคราะห์ เช่น การให้อาหารกลางวัน การแจกขนม การทำกิจกรรมระยะสั้น เป็นต้น…”
องค์การยูนิเซฟเผยแพร่งานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับเด็กที่เติบโตนอกบ้านและอาศัยอยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศกว่า 120,000 คน มีความเป็นไปได้ว่าหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่าง ๆ คาคว่าจำนวนที่แท้จริงของเด็กที่โตนอกบ้านภายใต้สถานรองรับประเภทต่าง ๆ จะสูงกว่านี้มาก โดยสถานรองรับเหล่านี้ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัด ศาสนสถาน และสถานที่ประเภทอื่น ๆ ที่รับเด็กไว้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดการติดตามและกำกับดูแล
จำนวนเด็กที่เติบโตนอกบ้านเหล่านี้ ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แยกจากครอบครัว โดยเฉพาะในสถานรองรับที่มีเด็กจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ของเด็กในระยะยาว เนื่องจากเด็กเหล่านั้นไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคง พัฒนาทักษะทางสังคม หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งทางสุขภาพกายและจิตใจอย่างที่ควรจะได้รับในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว
ข้อมูล สถิติผู้ใช้บริการบ้านพักเด็กและครอบครัว 2565 โดยกรมกิจการเด็ก ระบุว่า มีเด็กจำนวน 24,654 คน ที่เข้าใช้บริการบ้านพัก โดย 5 จังหวัดที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น 1,260 ราย อุตรดิตถ์ 1,108 ราย อุดรธานี 965 ราย นนทบุรี 961 ราย สมุทรปราการ 827 ราย
อ.ดร.กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
@การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวคือทางออก
อ.ดร.กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้วิจัย 'เด็กโตนอกบ้าน...ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น' กล่าวว่า 2 สาเหตุหลักที่มีเด็กโตนอกบ้านจำนวนมาก ได้แก่ 1.ความยากจน 2.การที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา อีกทั้งในปัจจุบันยังพบเด็กที่มีอาการทางจิตเวชหรืออาการออทิสติกเทียมในเด็กโตนอกบ้านมากขึ้น แนวปฏิบัติที่รัฐบาลควรใช้แก้ปัญหานี้ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่นำเด็กไปไว้ในสถานรับเลี้ยง เช่น ถ้าครอบครัวยากจนก็มีกระบวนการสร้างอาชีพ เป็นต้น จะสามารถลดจำนวนเด็กโตนอกบ้านในปัจจุบันได้
ในปัจจุบันการบริการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวมีทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กร NGO เข้ามาช่วยส่งเสริม แต่อย่างไรก็ตามก็การดำเนินการดังกล่าวควรดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายการให้บริการไปยังครอบครัวที่เปราะบางได้เร็วที่สุด
“เรารู้สึกว่าต้องเอาไปจ่อประตู เพราะครอบครัวกำลังเปราะบาง กำลังเครียด จะไปหาสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่อยู่ในศูนย์กลางของจังหวัด อยู่ในศาลากลางมันไม่ทัน มันต้องจ่อไปที่ชุมชน” อ.ดร.กัณฐมณีระบุ
ในปัจจุบันภาครัฐมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ดำเนินการโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน วิธีที่หน่วยงานดังกล่าวใช้ช่วยเหลือบ่อยที่สุด คือ เงินช่วยเหลือคนยากจนครั้งละ 1,000 บาท 1 ปีรับได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กในครอบครัว แต่วิธีการนี้ยังขาดความหลากหลายและเข้าถึงได้ไม่มากพอในการแก้ปัญหา เนื่องปัญหาแต่ละครอบครัวประสบแตกต่างกัน บางปัญหาก็ไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การแก้ปัญหาที่มีความยั่งยืน เป็นต้น
“อยากจะเรียกร้องให้รัฐเพิ่มบริการ คือเพิ่มจำนวนสิ่งบริการที่มีอยู่ แล้วก็เพิ่มความหลากหลายของบริการ โดยเฉพาะในปัจจุบัน คือ เรื่องจิตเวช”
จากการลงพื้นที่ทำงานพบว่าในชุมชนหนึ่งจะต้องมีอย่างน้อย 700-800 ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยจิตเวชแต่ไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้รักษาต่อเนื่อง ซึ่งรัฐไม่มีการบริการที่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยจิตเวช การจะคาดหวังให้ครอบครัวเข้มแข็งจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ถ้ารัฐมองภาพใหญ่แล้วลงทุนกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว จะช่วยการแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เช่น การเฝ้าระวัง การให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพราะแค่หน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้
“ความคิดของรัฐเป็นการแบ่ง คือ เรื่องเด็กต้องไปทางนี้ เรื่องคนพิการต้องไปทางนั้น เรื่องคนแก่ไปอีกทาง ในขณะที่ครอบครัวมีทุกอย่าง ไม่ได้มองธรรมชาติของครอบครัวที่ควรได้รับความช่วยเหลือรอบด้าน ทั้งที่รัฐมีมือมีไม้อยู่แล้ว แต่ว่าควรจะมีการบูรณาการแล้วก็ครอบคลุมบริการเหล่านี้”
@อีกทางหนึ่ง คือ เพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์
ในกรณีที่ไม่สามารถนำเด็กส่งคืนครอบครัวได้ ก็สามารถส่งเด็กให้ครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งในประเทศไทยมีครอบครัวอุปถัมภ์ที่ผ่านการทำงานของภาครัฐประมาณ 300-400 ครอบครัว โดยครอบครัวเหล่านี้เป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยแต่อย่างใด การเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์อาจจะใช้มาตรการที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนมากขึ้น การลดหย่อนภาษี การได้เข้าเฝ้า เป็นต้น
@ผลกระทบระยะยาวถ้ามีเด็กโตนอกบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อ.ดร.กัณฐมณี อธิบายว่า ข้อจำกัดของสถานรองรับ คือ ผู้ดูแลไม่สามารถดูแลเด็กจำนวนมากเหมือนที่เลี้ยงดูเด็กในครอบครัวที่มีความเอาใจใส่บุตรหลานได้ ประกอบกับการดูแลที่มีกิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัดทำให้เด็กขาดทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการใช้เงิน ทักษะในการตัดสินใจ เป็นต้น และยังรวมไปถึงการบอกความต้องการของตนเอง ทำให้เด็กรู้สึกกดดันจากภายในไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาถูกเลี้ยงดูตามกิจกรรมที่จัดไว้ให้ เมื่อเด็กเหล่านี้ออกจากสถานดูแลมาใช้ชีวิตด้วยตนเองทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย จนต้องกลับมาอยู่ที่สถานดูแลอีกครั้ง
นอกจากนี้เด็กที่โตนอกบ้านยังมีภาวะผูกพันผิดปกติหรือภาวะพร่องรัก เกิดจากกิจกรรมที่คล้ายกับการท่องเที่ยวในสถานสงเคราะห์ เช่น การให้อาหารกลางวัน การแจกขนม การทำกิจกรรมระยะสั้น เป็นต้น
“ตอนที่มาครั้งแรกพวกเขาจะรู้สึกดีใจมากที่มีคนมาสนใจ เขาจะผละไปจากคนที่เลี้ยงดูในทุกวัน เพื่อวิ่งไปหาแขกแปลกหน้า เพราะเขารู้สึกว่าแขกแปลกหน้าต้องการ Attention เพราะแขกเหล่านั้นชมเขาว่าน่ารัก ชมเขาว่าเป็นเด็กดี กอดเขา ให้ขนมเขา แล้วแขกแปลกหน้าก็ไป ทุกครั้งที่ไปเขาจะเรียนรู้ถึงการพรากจากคนที่นึกว่าจะรักเขาจริง แล้วการถูกพรากจากซ้ำ ๆ ทำให้เขามีภาวะผูกพันผิดปกติ คือเขาไม่สามารถผูกพันกับใครได้นาน เพราะเขารู้สึกว่าจะมีใครรักฉันจริงบ้างไหม ทุกคนมาแล้วก็ไป นี่คือการท่องเที่ยวในสถานสงเคราะห์ที่เราไม่เห็นด้วยมาก ๆ เพราะเป็นการรบกวนเด็กในเชิงจิตวิทยาและมีผลต่อการพัฒนาการของเด็กโดยตรง” อ.ดร.กัณฐมณีกล่าว
ในทางกลับกันถ้าเป็นกรณีของเด็กเล็กในระดับทารกและเด็กอ่อนซึ่งเป็นวัยที่ต้องการการสัมผัสจากผู้ใหญ่ในเวลาที่เขาร้องไห้ หรือต้องการการตอบสนองเพื่อพัฒนาพัฒนาการของเด็ก ซึ่งสถานสงเคราะห์มีเด็กจำนวนมากกลับมีผู้ดูแลน้อยทำให้การดูแลไม่ทั่วถึงและล่าช้า เมื่อเด็กเหล่านั้นร้องไห้แต่ไม่มีคนมาดูแล เด็กจะเรียนรู้ได้ว่าร้องไห้ไปก็ไม่มีความหมาย แล้วเขาก็จะไม่ร้องไห้อีกต่อไป ซึ่งต่างจากเด็กที่อยู่กับครอบครัวหรือครอบครัวอุปถัมภ์ที่เมื่อเด็กร้องไห้ก็จะมีคนเข้ามาหาทันที มีการหยอกล้อเล่นกับเด็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของสมองทำให้สมองของเด็กที่ขาดการดูแลฝ่อ มีขนาสมองเล็กกว่าสมองของเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
“เรากำลังพูดถึงอันตรายและความเสี่ยงของการเอาทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศไทยไปอยู่ในสภาวะที่ทำให้เขาสมองฝ่อโดยไม่จำเป็น”
“ถ้าเด็กโตนอกบ้านเยอะ ๆ ระยะยาวถ้าไม่แก้อะไรเลยจะส่งผลกระทบยังไง เราก็จะมีเด็ก Generation หนึ่งซึ่งมีจำนวนพอสมควรที่ไม่ได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ในขณะที่เราต้องการกำลังคนอย่างมากในอนาคตโดยเฉพาะในภาคส่วนแรงงาน ซึ่งเราไม่จำเป็นที่ต้องสูญเสียศักยภาพของเด็กเหล่านั้น” อ.ดร.กัณฐมณีระบุ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายกฎหมาย
@ว่าที่รัฐบาลพร้อมแก้ปัญหาเด็กโตนอกบ้านด้วยการศึกษา
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่ากระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีและการแบ่งภาระหน้าที่การรับผิดชอบในกระทรวงจะออกมาอย่างไร แต่ใน MOU ของการร่วมรัฐบาลกล่าวถึงปัญหานี้ไว้ 3 ข้อ ได้แก่
1. MOU ข้อที่ 21 เรื่องของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าถ้ามีการกระจายการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น จะช่วยลดจำนวนเด็กที่ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำ หรือสถานสงเคราะห์
2. MOU ข้อที่ 6 เรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่จะเป็นการกระจายภาระงาน งบประมาณ และกำลังคน ซึ่งรวมถึงระบบการคัดกรองและช่วยเหลือเด็ก ที่ถ้าทำต้นทางออกมาดีจำนวนเด็กที่โตนอกบ้านก็จะลดลง
3. MOU ข้อที่ 14 เรื่องของระบบสวัสดิการดูแลเด็กแรกเกิด ดูแลครอบครัวไปจนถึงเรื่องผู้สูงอายุ เชื่อมั่นว่าระบบสวัสดิการต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ปกครองมีศักยภาพในการดูแลเด็กมากขึ้น
“ตอบในภาพใหญ่ รัฐบาลที่น่าจะนำโดยพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเด็ก ทราบถึงปัญหา รู้ถึงผลกระทบว่าเวลาที่เด็กไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ มีผลกระทบอย่างไร จึงเน้นไปที่การลดความเสี่ยงที่จะนำเด็กมาสู่ระบบเหล่านี้มากกว่า แต่ต้องยอมรับว่ามีเด็กบางคนที่จำเป็นต้องมาอยู่จริง ๆ เช่น ถูกทารุณกรรมจนไม่สามารถอยู่บ้านได้ ไม่มีผู้ปกครองดูแล เป็นต้น ตรงนั้นอาจต้องมาพูดคุยในรายละเอียดว่าจะผลักดันเพิ่มเติมเป็นนโยบายในระดับปฏิบัติการได้อย่างไร” นายณัฐวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตามการลดจำนวนเด็กโตนอกบ้านจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป