ยูนิเซฟเผยงานวิจัยใหม่ 'เด็กโตนอกบ้าน...ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น' มีจำนวนมากกว่า 120,000 คน ชี้เด็กไม่ได้โตกับครอบครัวมีพัฒนาการช้า กระทบทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตมีคุณภาพลดลง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 องค์การยูนิเซฟประเทศไทย จัดแถลงข่าวเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยชิ้นใหม่ซึ่งเผยแพร่วันที่ 20 เม.ย. 2566 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายและยูนิเซฟ พบว่า ปัจจุบันมีเด็กที่เติบโตนอกบ้านและอาศัยอยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศกว่า 120,000 คน ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่าง ๆ คาคว่าจำนวนที่แท้จริงของเด็กที่โตนอกบ้านภายใต้สถานรองรับประเภทต่าง ๆ จะสูงกว่านี้มาก โดยสถานรองรับเหล่านี้ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัด ศาสนสถาน และสถานที่ประเภทอื่น ๆ ที่รับเด็กไว้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดการติดตามและกำกับดูแล
งานวิจัยใหม่ 'เด็กโตนอกบ้าน...ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น' พบว่า ปัจจุบัน เด็กกว่า 6,000 คนอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ และอีกประมาณ 43,000 คนเติบโตในโรงเรียนประจำของภาครัฐ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเด็กพิเศษจำนวน 12,000 คน นอกจากนี้ยังมีเด็กกว่า 33,000 คนบวชเป็นเณรและอีก 2,000 คนที่อาศัยอยู่ที่วัด ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กประมาณ 39,000 – 77,000 คนที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย โดยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีจำนวนสถานสงเคราะห์เอกชนมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทั้งหมดทั่วประเทศ
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานรองรับเหล่านี้สูงจนน่าตกใจ เพราะการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งแยกจากครอบครัว โดยเฉพาะในสถานรองรับที่มีเด็กจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ของเด็กในระยะยาว เนื่องจากเด็ก ๆ ไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคง หรือพัฒนาทักษะทางสังคม หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งทางสุขภาพกายและจิตใจอย่างที่พวกเขาจะได้รับในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการขาดระบบกำกับดูแลตรวจสอบสถานรองรับเหล่านี้
"นั่นแปลว่า เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเด็ก ๆ มีความเป็นอยู่แบบไหน ได้รับการดูแลอย่างไร หรือมีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง การถูกทำร้ายหรือถูกละเลยทอดทิ้งหรือไม่" นางคยองซอนระบุ
นางคยองซอน กล่าวต่อว่า ยูนิเซฟเน้นย้ำเสมอว่า ในกรณีที่เด็กไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ สถานรองรับหรือสถานสงเคราะห์ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายและควรอาศัยอยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ งานวิจัยพบว่าเด็กที่เติบโตในสถานเหล่านี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ เมื่อเติบโตขึ้น เช่น ปัญหาด้านสุขภาพจิต การเรียน หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนากลไกเพื่อติดตามและกำกับดูแลสถานรองรับเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อพัฒนาการของพวกเขา ในขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม ควรต้องร่วมมือกันกำกับดูแลสถานรองรับรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัดและศาสนสถาน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเด็กทุกคนควรได้เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจโดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีสถานรองรับเหล่านี้ ทั้งนี้ ยูนิเซฟกำลังดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกพรากจากครอบครัว พร้อมกับส่งเสริมให้เด็กได้อาศัยอยู่กับญาติหรือครอบครัวอุปถัมภ์ในกรณีที่พ่อแม่ของเด็กไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก (พ.ศ. 2565-2569) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัวและปรับปรุงมาตรฐานการดูแลเด็ก ควบคู่ไปกับลดการพึ่งพิงการดูแลในรูปแบบสถานสงเคราะห์
“เด็กทุกคนควรเติบโตในครอบครัวที่รักและดูแลเอาใจใส่ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนโยบายเหล่านั้นถูกนำมาปฏิบัติจริง ยูนิเซฟพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมที่เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริง” นางคิมกล่าว
อ.ดร.กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวว่า สถานรองรับ คือ สถานที่ให้การเลี้ยงดูกลุ่มเด็กในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากครอบครัว ที่เน้นการดูแลด้านกายภาพ ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนส่งผลเด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน ขาดทักษะในการใช้ชีวิตไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ และสุดท้ายต้องกลับมาที่สถานรับรอง โดยข้อกังวลเกี่ยวกับการที่เด็กเติบโตในสถานที่ฯที่ไม่มีใครมองเห็น ไดแก่
- ข้อจำกัดในความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้มีสมองที่ต่างกับเด็กที่โตในครอบครัวทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า
- ข้อจำกัดในด้านความผูกพันที่ไม่มั่นคง ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีและอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการเข้าไปทำบุญในสถานสงเคราะห์ที่ผู้ใจบุญมีความสัมพันธ์ในระยะสั้นทำให้โอกาสในการสร้างทักษะสร้างความผูกพันของเด็กลดลง
- ข้อจำกัดของสถานรับรองขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงที่เด็กจะถูกทารุณกรรมในสถานรองรับ อีกทั้งเด็กยังขาดทักษะในการตัดสินใจ เพราะไม่มีประสบกรณ์ในการตัดสินใจเนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาโดยไม่มีการให้ตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ โดยสถานรองรับควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการส่งเด็กไปดูแล
อ.ดร.กัณฐมณี กล่าวต่อว่า ในปี 2559 พบสถานสงเคราะห์เด็กที่ดำเนินการนอกกรอบกฎหมายอย่างน้อย 240 แห่ง โดยร้อยละ 63 อยู่ในภาคเหนือ ซึ่งสถานสงเคราะห์ส่วนใหญ่ถูกตั้งตามความต้องการของผู้ที่ให้การช่วยเหลือ ยกตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่มีเด็กประมาณ 300,000 คน มีสถานสงเคราะห์ 205 แห่ง แต่จังหวัดบุรีรัมย์มีเด็กประมาณ 300,000 คน แต่มีสถานสงเคราะห์ 1 แห่ง
"ยิ่งมีเด็กโตนอกบ้านจำนวนมาก ยิ่งทำให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลในอนาคต" อ.ดร.กัณฐมณีระบุ