"...สิ่งที่ต้องวัดใจคือ กลหมาก ‘ก้าวไกล’ ตานี้ จะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ส.ว.จะยอมโหวต ‘พิธา’ นั่งนายกฯหรือไม่ และ ‘บางพรรค’ จะเพิ่มเติมเงื่อนไขอะไรให้ ‘ก้าวไกล’ ต้องยอมอ่อนข้อมากกว่านี้หรือเปล่า คงต้องรอดูกันถัดจากนี้..."
วันที่ 22 พ.ค. ได้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว
เหตุผล เป็นเพราะ
หนึ่ง เป็นวันครบรอบ 9 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557
อีกหนึ่ง เป็นวันที่ 8 พรรคการเมือง ประกาศเจตนารมณ์ก่อตั้ง ‘รัฐบาลแห่งความหวัง’ ของประชาชน ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ รวมเสียง 313 ส.ส.
เป้าหมายเพื่อผลักดันโหวต ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พ.ค.2566 ดังกล่าว 8 พรรคการเมือง ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU ประกาศวาระ 23 ข้อ และ 5 แนวทางปฏิบัติหากเป็นรัฐบาล
นัยสำคัญที่น่าสนใจ คือ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 22 พ.ค. มีความเคลื่อนไหวว่า แกนนำ ‘ก้าวไกล’ ดอดเข้าหารือ ‘ทางลับ’ กับแกนนำ ‘เพื่อไทย’ เพื่อตกลง ‘ใส้ใน’ ของ MOU ฉบับนี้ ควรมีทิศทางออกมาในรูปแบบไหน
กระทั่งการหารืออย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เวลา 15.30 น.ของวันเดียวกัน ลากยาวเกือบ 2 ชั่วโมง จนต้องเลื่อนการแถลงข่าวมาเป็นเวลา 16.50 น. จากเดิมที่นัดสื่อ 16.30 น.
บรรยากาศในการประชุมครั้งนี้ แหล่งข่าวจาก 8 พรรคการเมือง ที่เข้าร่วมหารือ เล่าให้ฟังว่า เป็นไปอย่างเคร่งเครียดกว่าจะได้ ‘ข้อสรุป’ ออกมาแถลงให้แก่สาธารณชนรับทราบกัน
โดยมีการ ‘รื้อ’ ร่าง MOU ร่างเดิม ปรับเปลี่ยนใหม่ใน 2 ส่วนสำคัญคือ
1.เพิ่มเติมคำว่า “ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะ อันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
จากเดิมในร่าง MOU ไม่มีท่อนนี้
2.ตัดเนื้อหาในข้อ 2. ของร่างเดิมออก ที่ระบุว่า “เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา” และไปเพิ่มเนื้อหาในข้อ 20. ที่ระบุว่า “ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ” แทน
ทั้ง 2 เนื้อหาที่ถูก ‘เติม-ตัด’ ล้วนมีความสำคัญในทางการเมืองอย่างมาก
ว่ากันว่าสาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มเติมความในประเด็น 'เชิดชู' สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เพราะมีบางพรรคยืนยันหนักแน่นว่า หากไม่เติมถ้อยความในส่วนนี้ลงไป จะไม่ยอมลงนาม MOU ด้วย ทำให้ ‘ก้าวไกล’ ต้องยอม ‘อ่อนข้อ’ เติมเนื้อความให้
ส่วนกรณีการ ‘นิรโทษกรรม’ นั้น บางพรรคเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ และหวั่นว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย กรณี ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ แบบปี 2556 จนเป็นชนวนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้งได้ จึงเสนอให้ไม่ใส่ใน MOU
แต่เป็น ‘วาระเฉพาะ’ ของแต่ละพรรคการเมืองไป โดยเปลี่ยนเป็นกฎหมายในการชงเข้าสู่สภาฯแทน
ที่น่าสนใจกว่านั้น ‘ก้าวไกล’ ในฐานะพรรคการเมืองลำดับ 1 ได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 152 คน และมี ‘ป๊อปปูล่าร์โหวต’ กว่า 14 ล้านเสียง กลับ ‘ยอมถอย’ ทั้ง 2 เรื่อง
ทั้งที่ก่อนการเลือกตั้งเคยหาเสียงเป็น ‘นโยบาย’ ทั้งกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่การหาเสียง ‘พิธา’ ถึงขั้นแปะสติ๊กเกอร์เห็นด้วยกับการ ‘ยกเลิก’ มาตรา 112 รวมถึงการนิรโทษกรรมทางการเมือง ที่เสนอให้ย้อนหลังไปถึงปี 2557 (ต่อมามีการแก้ไขให้ย้อนไปไกลถึงปี 2549 เพราะถูกบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่แกนนำสีส้มบางคนที่โดนคดี)
เพียงไม่นานหลังแถลง MOU เสร็จ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ถึงกับโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเชิง ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการ ‘เติม-ตัด’ 2 ประเด็นดังกล่าว
เพราะอาจกลายเป็น ‘บ่วงรัดคอ’ พรรคก้าวไกลเสียเอง
โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจทำให้การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่ ‘ก้าวไกล’ จะชงเข้าสภาฯ ‘ส่อแท้ง’ ได้ เนื่องจากเคยลงนาม MOU ดังกล่าวไว้แล้ว
นอกจากนี้ การตัดประเด็น ‘นิรโทษกรรม’ คดีทางการเมืองออกไป โดยให้เป็น ‘วาระเฉพาะ’ แต่ละพรรค อาจทำให้ไม่มีน้ำหนัก หรือเสียงมากพอในการโหวตกฎหมายนี้ในสภาฯ
เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘ด้อมส้ม’ จำนวนไม่น้อย คือหนึ่งในมวลชนของ ‘ม็อบราษฎร’ ที่เคลื่อนไหวให้มีการ ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หลายคนมีคดีความ ถูกจับกุมคุมขัง และหลายคดียังไม่สิ้นสุด หากไม่มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น พวกเขาคง ‘ติดคุกฟรี’ และในการเลือกตั้งครั้งหน้า คะแนนเสียงกลุ่มนี้อาจไม่โหวตให้ ‘ก้าวไกล’ ก็เป็นไปได้
โดยตรงกับมุมมองของ ‘ปิยบุตร’ ก่อนหน้านี้ที่บอกว่า เกมการต่อสู้เป็น ‘เกมยาว’ ไม่ได้หวังผลแค่การเลือกตั้ง 2566 แต่ยังมองไปถึงปี 2570, 2574 และอีกหลาย ๆ ปีถัดจากนี้
ทว่าการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ของ ‘ปิยบุตร’ อาจไม่ใช่หวังผลกระตุกแค่ ‘ก้าวไกล’ แต่อาจ ‘กระทบชิ่ง’ บางพรรคกลาย ๆ ว่า เป็นต้นเหตุให้ต้องมีการ ‘เติม-ตัด’ 2 ประเด็นเหล่านี้ออก เพื่อหวังให้การเปลี่ยนผ่านจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น
ที่น่าสนใจกว่านั้น ไฉน ‘ก้าวไกล’ จึงยอมละทิ้ง 2 ประเด็นสำคัญเหล่านี้ แทนที่จะกลายเป็น ‘ฉันทามติ’ 8 พรรคร่วมรัฐบาล คงเหลือแค่ ‘วาระเฉพาะ’
แน่นอนว่าคงจะมีแค่ ‘ก้าวไกล’ พรรคเดียวที่จะ ‘ลุยเดี่ยว’ เสนอกฎหมาย 2 ฉบับเข้าสภาฯ และคงแน่นอนอีกว่า 152 เสียงของ ‘ก้าวไกล’ คงไม่อาจดันกฎหมาย 2 ฉบับให้ผ่านทั้ง 3 วาระได้
ในฉากหน้าบางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ก้าวไกล’ ยอม ‘กลืนเลือด’ ตัวเอง ทำทุกวิถีทางเพื่อขอให้ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน
แต่เบื้องหลังว่ากันว่า แกนนำ ‘ก้าวไกล’ คงประเมินพร้อมสรรพแล้วว่า ยอมลดแรงเสียดท้านในประเด็นอ่อนไหวทั้งกรณีการแก้ไขมาตรา 112 และเรื่องนิรโทษกรรม น่าจะดีกว่า ‘ดื้อดึง’ แล้วถูก ‘โดดเดี่ยว’ กลายเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคเดียว
เพราะถึงแม้ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะประกาศปฏิเสธเป็นรอบที่ 502 ว่า ‘เพื่อไทย’ ไม่มีทางตั้งรัฐบาลแข่งกับ ‘ก้าวไกล’ และไม่มี ‘ดีลลับ’ อะไรทั้งสิ้น
แต่ในทางการเมืองอย่างที่รู้ว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ‘เพื่อไทย’ ในฐานะพรรคอันดับ 2 กุม ส.ส.ในมือ 141 คน ‘ป๊อปปูล่าร์โหวต’ กว่า 10 ล้านเสียง แถมยังมีพรรคพันธมิตรแนบแน่นอย่าง ‘ประชาชาติ-เพื่อไทรวมพลัง-พลังสังคมใหม่’ ยังรอ ‘ส้มหล่น’ หวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ หาก ‘ก้าวไกล’ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
ตัวแปรสำคัญทางการเมือง ณ เวลานี้คือ ส.ว. ซึ่ง ‘ก้าวไกล’ ยังขาดอีก 63 เสียงที่จะดีลมาร่วมโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ โดยขณะนี้สามารถเจรจา ส.ว.สายนักวิชาการ-นักธุรกิจ ได้ราวไม่เกิน 20 เสียงเท่านั้น ยังขาดอีกกว่า 40 เสียง
เห็นได้จากในวันที่ 23 พ.ค. ‘พิธา’ นั่งวินมอเตอร์ไซค์ ไปหารือกับภาคเอกชนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยหล่นบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า เพราะที่นี่ (ส.อ.ท.) เคยมี ส.ว.หลายคนมาทำหน้าที่ และหลายคนคุ้นเคยกับตนเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นอายุ 20 กว่าปี จึงต้องมาเข้าพบเพื่ออธิบายให้เข้าใจ
แม้ว่าจะมี ‘มวลชน’ เคลื่อนไหวกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ว.ก็ตาม แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่านับตั้งแต่ปี 2562 มวลชนเหล่านี้มีพลังลดน้อยถอยลงมาก เนื่องด้วยหลายปัจจัย
ดังนั้นการ ‘ลดเพดาน’ ใน MOU ลง เพื่อเป็นข้อเสนอกลาย ๆ ขอให้ ส.ว.ช่วยโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ นั่นเอง และลดแรงเสียดทานจากพรรคร่วม โอกาสการถูก ‘โดดเดี่ยว’ ต้องกลายเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ จะลดน้อยลง
เพราะไม่แน่ไม่นอนว่า ‘เพื่อไทย’ จะมีเจรจาลับ จริงหรือไม่จริง แต่ที่แน่ ๆ ‘นักการเมือง’ แบบเดิม ล้วนมอง ‘ก้าวไกล’ เป็น ‘เด็กดื้อ’ แหวกขนบการเมืองไทย หากปล่อยให้มี ‘แต้มต่อ’ คอนโทรลจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง
อาจผลักดันนโยบาย หรือเสนอกฎหมายบางอย่างไม่ผ่านก็เป็นไปได้
สิ่งที่ต้องวัดใจคือ กลหมาก ‘ก้าวไกล’ ตานี้ จะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ส.ว.จะยอมโหวต ‘พิธา’ นั่งนายกฯหรือไม่ และ ‘บางพรรค’ จะเพิ่มเติมเงื่อนไขอะไรให้ ‘ก้าวไกล’ ต้องยอมอ่อนข้อมากกว่านี้หรือเปล่า คงต้องรอดูกันถัดจากนี้
แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :
- ฉบับเต็ม! MOU '8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล' เชิดชูพระมหากษัตริย์-ทำงานซื่อสัตย์สุจริต
- เบื้องลึก! สายสัมพันธ์ 3 พรรคเล็ก ลูกไม้ใต้ต้น ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ฟอร์มทีม รบ. 'พิธา'
- 'แก้ ม.112-ทักษิณ กลับบ้าน-แบ่งเค้ก รมต.' สารพัดโจทย์ (หิน) 8 พรรคร่วม ตั้งรบ 'ก้าวไกล'